๏ พระภรัตดาบสโพ้น พากเพียร นักนอ
ตำหรับปรอทเรียน รอบรู้
โรคลมจุกเสียดเบียฬ บำบัด องค์เอย
นั่งคุกกดเข่าคู้ หัตถ์ค้ำคางหงายฯ

พระมหาช้าง เปรียญ

ตามรอยฤๅษีดัดตน - ภรัต

(ถอดความ)ฤๅษีภรัต เป็นผู้มีความเพียรอย่างยิ่ง ท่านเป็นต้นตำหรับวิชาปรอท เมื่อเกิดลมจุกเสียดขึ้น ท่านรักษาตนเองด้วยการนั่งคุกเข่าข้างหนึ่ง งอขาอีกข้าง พร้อมกับใช้มือดันคางให้หน้าหงายขึ้น

ใน “เนมิราชชาดก” ตอนหนึ่ง (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) พระเนมิราชโพธิสัตว์ทรงสงสัยว่าทานหรือพรหมจรรย์มีอานิสงส์มากกว่ากัน พระอินทร์จึงเสด็จลงมาอธิบายให้พระโพธิสัตว์ฟังถึงผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ โดยยกตัวอย่างฤๅษีเจ็ดตน ซึ่งเมื่อพิจารณาว่าใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ออกนามฤๅษีกลุ่มนี้ไว้มาก่อนแล้ว นาม “ภรัต” ย่อมต้องตรงกับภรตฤๅษีที่กล่าวถึงในเนมิราชชาดก เพื่อให้ครบถ้วนทั้งเจ็ดตน

แต่อย่างไรก็ดียังมีประเด็นน่าสงสัยว่าท่านผู้นี้ดูๆ ไป ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มเจ็ดฤๅษี คือในคำโคลงกล่าวเพิ่มเติมขึ้นไปอีกว่า ภรัตฤๅษีเป็นต้นตำรับวิชาปรอท อันเป็นการ “เล่นแร่แปรธาตุ” อย่างหนึ่ง คนโบราณเชื่อกันจริงจังว่าถ้าสามารถ “หุง” ปรอท อันเป็นโลหะสีเงินยวงที่อยู่ในสภาพของเหลว ให้กลายเป็นของแข็งขึ้นมาได้ ผู้ครอบครองจะเกิดมีอิทธิฤทธิ์ เช่นอยู่ยงคงกระพัน ล่องหนหายตัว เหาะเหินเดินอากาศ ย่อย่นระยะทาง ฯลฯ

คำไทยโบราณเรียกว่า “สำเร็จปรอท”

ความหมกมุ่นในการหุงปรอทมีบันทึกไว้ชัดเจนในหนังสือ “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) หนึ่งในพจนานุกรมเล่มแรกๆ ของไทย พิมพ์ขึ้นเมื่อปี ๒๔๑๖ ต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ในหนังสืออธิบายคำนี้ (สะกด “ปรอด”) ว่า “คือของเหลวเหมือนดีบุกละลายคว่าง, คนทำให้มันแขงยากหนัก”

ใน “นิราศวัดเจ้าฟ้า” ซึ่งเชื่อกันว่ามหากวีสุนทรภู่แต่งขึ้นในระหว่างที่บวชเป็นพระภิกษุ ยังเล่าถึงการเดินทางแสนทุรกันดารไปที่วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ (ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหนแน่ หรือเป็นแค่สถานที่ในจินตนาการของกวี) เพื่อทำพิธีเรียกปรอท แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพบกับความผิดหวัง


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ