๏ นักสิทธิ์สมาบัติสร้าง สร่างเกลศ
กาละกุรักข์รบือเดช เพรียกพร้อง
กดผากกดท้ายเกศ บาทขัด คุกแฮ
รงับโรคลมไหล่ท้อง อุระด้วยดังแผนฯ

กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

(ถอดความ)ฤๅษีผู้บำเพ็ญญาณสมาบัติเพื่อให้ละจากกิเลศตนนี้ มีนามว่ากาละกุรักข์ ผู้มีฤทธิ์เดชเป็นที่เลื่องลือ ท่านทำท่านั่งคุกเข่า ไขว้ข้อเท้า มือหนึ่งกดหน้าผาก อีกมือดันที่ท้ายทอย ท่านี้ใช้แก้ลมไหล่ ลมท้อง ลมในอก

(ถอดความ)ฤๅษีผู้บำเพ็ญญาณสมาบัติเพื่อให้ละจากกิเลศตนนี้ มีนามว่ากาละกุรักข์ ผู้มีฤทธิ์เดชเป็นที่เลื่องลือ ท่านทำท่านั่งคุกเข่า ไขว้ข้อเท้า มือหนึ่งกดหน้าผาก อีกมือดันที่ท้ายทอย ท่านี้ใช้แก้ลมไหล่ ลมท้อง ลมในอก

ใน “เนมิราชชาดก” ตอนหนึ่ง (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) พระเนมิราชโพธิสัตว์ทรงเกิดข้อสงสัยว่าระหว่างทานกับพรหมจรรย์ อย่างใดมีอานิสงส์มากกว่ากัน พระอินทร์จึงเสด็จลงมาอธิบายให้พระเนมิราชโพธิสัตว์ฟังถึงผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ โดยยกตัวอย่างฤๅษีทั้งเจ็ด

“ฤๅษีผู้ไม่มีเหย้าเรือนเหล่านี้บำเพ็ญตบธรรม ได้ก้าวล่วงกามาวจรภพแล้วโดยแท้ คือฤๅษี ๗ ตน อันมีนามว่า ยามหนุฤๅษี โสมยาคฤๅษี มโนชวฤๅษี สมุททฤๅษี มาฆฤๅษี ภรตฤๅษี และกาลปุรักขิตฤๅษี”

กามาวจรภพ หรือฉกามาพจร คือสวรรค์หกชั้นที่ยังข้องเกี่ยวในกาม หรือยังอยู่ใน “กามภูมิ” พระอินทร์จึงยกตัวอย่างฤๅษีเหล่านี้ในฐานะของท่านผู้ “ก้าวล่วง” คือข้ามพ้นฉกามาพจรไปแล้ว

นาม “กาละกุรักข์” ในที่นี้ น่าจะตรงกับกาลปุรักขิตฤๅษี เพราะในโคลงภาพฤๅษีดัดตนยังปรากฏนามฤๅษีตนอื่นๆ จากกลุ่มฤๅษีทั้งเจ็ดนี้ครบชุด


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ