๏ พระโสณสันโดษด้าว ดงครึม
ภูตโขมดโฆษครหึม กู่ก้อง
ล้มไข้ขบเศียรซึม ยอกขัด แขนนา
ยกศอกขึ้นเข่าจ้อง จรดซ้ายเปลี่ยนขวาฯ
พระองค์เจ้าทินกร
(ถอดความ)ฤๅษีโสณะ ถือสันโดษอยู่เพียงลำพังในป่าดง ท่านเกิดจับไข้ ขัดยอกตามแขน เนื่องจากเสียงร้องก้องกระหึ่มของเหล่าภูตผี (“โขมด” ในคำเขมรเป็นชื่อผีชนิดหนึ่ง แต่ไทยนำคำนี้มาใช้ในความหมายทั้งผีป่าและผีทั่วๆ ไปด้วย) ท่านี้ใช้บรรเทาอาการเหล่านั้น ด้วยการนั่งยองๆ ใช้มือข้างหนึ่งกดข้อศอกอีกแขน สลับซ้ายขวาไปมา
บางท่านว่านามนี้มีที่มาจากในพระไตรปิฎก คือเรื่อง “โสณกชาดก” เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าอรินทมะแห่งกรุงพาราณสี มีเพื่อนเก่าแต่ครั้งเยาว์วัยคือโสณกกุมาร ผู้ได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วมาตักเตือนสหายคือพระเจ้าอรินทมะ ให้เห็นในโทษของการเป็นผู้ครองเรือน เห็นโทษแห่งกาม กระทั่งพระองค์พิจารณาแล้วเกิดเบื่อหน่ายในราชสมบัติ ออกผนวชเป็นฤๅษี
แต่การตีความดังกล่าวยังน่าสงสัย เพราะตามท้องเรื่องในชาดก โสณกกุมารมิได้ออกบวชเป็นฤๅษี หากแต่ตรัสรู้เป็น “พระปัจเจกพุทธเจ้า” คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว มิได้สั่งสอนผู้ใด ตามคัมภีร์กล่าวว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ามีรูปกายเฉกเช่นเดียวกับพระภิกษุ ดังเมื่อพระเจ้าอรินทมะได้พบโสณกะอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี ตรัสคาถารำพึงว่า (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๑” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย)
“ภิกษุนี้เป็นคนกำพร้าหนอ ศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ไม่มีมารดา ไม่มีบิดา นั่งเข้าฌาน อยู่ที่โคนต้นไม้”
ดังนั้น ฤๅษีโสณะผู้อยู่ป่า (และถูกผีหลอก) ในโคลงบทนี้ จึงอาจมีที่มาจากแหล่งอื่น ที่เรายังค้นไม่พบก็เป็นได้
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ