๏ ปริพาชกนี้ชื่อ โยฮัน แลเฮย
น้ำพึ่งตั๊กแตนฉัน เช่นเข้า
อยู่ยังฝั่งโยระดัน หนังอูฐ ครองนา
นั่งหัดถ์ถ่างเท้า ขัดแข้งขาหายฯ
พระองค์เจ้าทินกร
(ถอดความ) ปริพาชก (นักบวชผู้ท่องเที่ยวไป ผู้จาริกไป) ท่านนี้ชื่อโยฮัน บริโภคน้ำผึ้งกับตั๊กแตนเป็นอาหารแทนข้าว ท่านอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโยระดัน นุ่งห่มหนังอูฐ นั่งกางขาใช้มือดัด เพื่อรักษาอาการขัดแข้งขัดขา
น่าสนใจว่า ท่านผู้แต่งโคลงฤๅษีดัดตนในสมัยรัชกาลที่ ๓ หยิบยืมนามนี้มาจากคัมภีร์ไบเบิล คือนักบุญโยฮัน หรือยอห์น บัปติสต์ (John the Baptist) ผู้ทำพิธีล้าง หรือ “บัปติศมา” ให้แก่พระเยซูคริสต์ในแม่น้ำจอร์แดน (โยระดัน)
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ นี่มิได้เป็นเพียงการหยิบยืมมาเฉพาะแต่ชื่อเท่านั้น (เข้าใจว่า “โยฮัน” เป็นการออกเสียงตามรากคำ Johannes ในภาษาละติน) หากแต่ยังแสดงให้เห็นภูมิรู้ว่าด้วยเรื่องคริสต์ศาสนาของกลุ่มชนชั้นนำชาวสยาม เพราะคำพรรณนาฤๅษีโยฮันในโคลงบทนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ “ฉัน” น้ำผึ้งกับตั๊กแตนเป็นอาหาร หรือการนุ่งห่มหนังอูฐ แทบเป็นเนื้อความเดียวกับในคัมภีร์ไบเบิล คือ “เสื้อผ้าของยอห์นผู้นี้ทำด้วยขนอูฐ และท่านใช้หนังสัตว์คาดเอว อาหารของท่านคือตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่า” (John’s clothes were made of camel’s hair, and he had a leather belt around his waist. His food was locusts and wild honey. Matthew 3:4)
อาจด้วยคนไทยยุคนั้นเห็นว่าคริสต์ศาสนาเป็นเรื่องของ “ฝรั่ง” ช่างเขียนจึงเขียนรูปฤๅษีโยฮันผู้นั่งอยู่ริมฝั่งน้ำโยระดัน โดยใช้ธรรมเนียมเขียนภาพฝรั่งตามขนบจิตรกรรมไทยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คือสวมหมวกปีกทรงสูง ไว้ผมยาวประบ่า มีเครา ใส่เสื้อซ้อนกันสองชั้น นุ่งกางเกงขายาว พร้อมทั้งสวมรองเท้า
โยฮันจึงเป็นฤๅษีเพียงหนึ่งในสองตนจากภาพชุดนี้ทั้งหมด ที่มีรองเท้าใส่
ส่วนอีกตนหนึ่งคือหลีเจ๋ง นักพรตจีน อันจะกล่าวถึงในโคลงบทต่อไป อันเป็นบทสุดท้ายในชุดฤๅษีดัดตน
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ