ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


indra paradise

เรื่องต้นปาริชาตนั้น ว่าที่จริงเมื่อค้นๆ ไปแล้วก็ยังดู “งงๆ” อยู่ เพราะในคัมภีร์กล่าวว่าต้นไม้สวรรค์นี้เกิดขึ้นด้วยกุศลของพระอินทร์ ด้วยผลบุญตั้งแต่อดีตชาติเมื่อยังเป็นมฆะมาณพ อยู่ที่หมู่บ้านอจละคาม ได้เคยปลูกต้นทองหลางไว้ให้ผู้คนไปมาอาศัยร่มเงา แต่ถ้าเหล่าอดีตเทวดา หรือ “อสูร” คุ้นเคยกับดอกปาริชาตมาแล้วแต่เก่าก่อน ก็ต้องแปลว่า ต้นปาริชาตย่อมต้องมีในสวรรค์ดาวดึงส์มาก่อนหน้าการรัฐประหารของ คสส. เรื่องนี้จึงยังน่าสงสัย

ในคัมภีร์โลกศาสตร์เล่าด้วยว่า นอกจากนายมฆะจะให้ปลูกต้นทองหลางไว้แล้ว ยังตั้งแท่นหินไว้ใต้ต้นทองหลางให้คนได้นั่งพักผ่อนด้วย อานิสงส์นั้นทำให้บังเกิดมีแท่นของพระอินทร์ที่เรียกว่า “บัณฑุกัมพล” (อ่านว่า บัน-ดุ-กำ-พน) ตั้งอยู่ใต้ต้นปาริชาตบนสวรรค์ดาวดึงส์

“สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พรรณนาไว้ว่า

 

“บัณฑุกัมพลอาสน์ศิลาทิพ           กำหนดสิบห้าโยชน์โดยหนา
กว้างสองหมื่นโยชน์เจษฎา       เป็นมหาบัลลังก์แก้วอำไพ
ยาวหกหมื่นโยชน์แดงก่ำ       ดังน้ำปัทมราชอันสุกใส
เจริญสวัสดิโสมนัสแก่หัสนัยน์       ชุ่มฤทัยไปด้วยรสสุมาลี ฯ”

 

ตรงนี้อ่านแล้วก็ไม่แน่ใจอีก ว่าเจ้าพระยาพระคลังท่าน “กลอนพาไป” หรือการคัดลอกต้นฉบับคลาดเคลื่อนอย่างไร เพราะถ้าแท่นบัณฑุกัมพลมีขนาดกว้าง ๒๐,๐๐๐ โยชน์ และยาวถึง ๖๐,๐๐๐ โยชน์ ก็จะใหญ่เกินพื้นที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไปเสียด้วยซ้ำ

เมื่อลองค้นต่อดู พบว่าใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ซึ่งแต่งขึ้นร่วมยุคกันในช่วงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าแท่นบัณฑุกัมพลมีขนาด ๕๐x๖๐ โยชน์เท่านั้น สอดคล้องกับ “ไตรภูมิกถา” หรือไตรภูมิพระร่วง ที่กล่าวถึงขนาดของแท่นบัณฑุกัมพลว่ากว้าง ๔๐๐,๐๐๐ วา ยาว ๔๘๐,๐๐๐ วา

คำนวณจากที่ว่า ๒๐ ศอกเป็น ๑ เส้น และ ๔๐๐ เส้นเป็น ๑ โยชน์ ดังนั้น ๑ โยชน์จึงยาวเท่ากับ ๘,๐๐๐ วา

๔๐๐,๐๐๐ วา คำนวณกลับไปก็คือ ๕๐ โยชน์ และ ๔๘๐,๐๐๐ วาก็เท่ากับ ๖๐ โยชน์ -ตรงกันเป๊ะ!

ปริศนาอีกประการหนึ่งคือ ราชบัณฑิตยสถานท่านแปลคำ “บัณฑุกัมพล” ไว้ในพจนานุกรมว่า “ผ้าขนสัตว์สีเหลือง” แต่ทั้ง “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” และคัมภีร์โลกศาสตร์ฉบับต่างๆ กล่าวตรงกันว่าแท่นบัณฑุกัมพลเป็นแผ่นหินสีแดงเข้ม

“ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่าแดงฉาน “ดั่งดอกสะเอ้ง” (ซึ่งไม่รู้ว่าหมายถึงต้นอะไรแน่) ส่วน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เปรียบเทียบดีกรีความแดงไว้กับสีดอกชบาหรือดอกหงอนไก่

แท่นนี้พิเศษตรงความนุ่มนิ่มระดับที่ว่า “ผิเมื่อพระอินทร์นั่งเหนือแผ่นศิลานั้น อ่อนจุลงไปเพียงสะดือ ผิเมื่อพระอินทร์ ธ ลุกลงจากศิลาๆ นั้นเต็มขึ้นมาดั่งก่อน” ถอดความให้อ่านง่ายขึ้นได้ว่า เมื่อพระอินทร์ประทับนั่งจะจมลงไปครึ่งตัวถึงระดับสะดือ แต่ทันทีที่ลุกขึ้นมา (ถ้าเป็นคนอย่างเราๆ น่าจะลุกขึ้นได้ยากพิลึก) แท่นจะเด้งคืนตัวขึ้นมาเหมือนเดิมทันที

แท่นบัณฑุกัมพลนี้เองคงเป็นแท่นเดียวกับ “ทิพอาสน์” ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ท่อนที่หลายคนท่องได้

“๏ มาจะกล่าวบทไป                   ถึงท้าวสหัสนัยน์ตรัยตรึงศา
ทิพอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา      กระด้างดังศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน        อมรินทร์เร่งคิดสงสัย
จึงสอดส่องทิพเนตรดูเหตุภัย    ก็แจ้งใจในนางรจนา
แม้นมิไปช่วยจะม้วยมอด           ด้วยสังข์ทองไม่ถอดรูปเงาะป่า
จำจะยกพหลพลเทวา               ลงไปล้อมพาราสามนต์ไว้”