กินนร-กินรีเป็นอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งในเขตหิมพานต์ ทางช่างไทยจึงนับเอากินนร-กินรีเป็น “สัตว์หิมพานต์” ประเภทหนึ่ง

ประชากรแห่งหิมพานต์ : กินนรฟ้อนโอ่ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 50

กินนร-กินรี มีลักษณะครึ่งคนครึ่งนก คือมีครึ่งบนเหมือนคน ทั้งหน้าตา ลำตัว แขนแมน แต่ร่างกายท่อนล่างกลับเป็นนก ในภาษาไทยดูเหมือนจะแบ่งคำเรียกไว้ตามเพศด้วย คือ “กินนร” สำหรับเพศชาย ส่วนเพศหญิงเรียกว่า “กินรี”

ตามความคิดของคนโบราณ เผ่าพันธุ์กินนร-กินรีนี้ มีรูปร่างหน้าตาสะสวยงดงาม อย่างในบทเกริ่นเปิดเรื่อง “พระอภัยมณี” ที่สุนทรภู่กล่าวถึงท้าวสุทัศน์ เจ้ากรุงรัตนา พระบิดาของพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ โดยบรรยายฮาเร็มของพระองค์ว่า “สนมนางแสนสุรางคนิกร ดังกินนรน่ารักลักขณา” คือเต็มไปด้วยนางสนมที่แลดูน่ารักน่าใคร่ราวกับนางกินรี

นอกจากนั้นแล้ว ยังถือกันว่าพวกกินนร-กินรี มีฝีมือในด้านขับร้อง-ฟ้อนรำ ดังเรามักพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนรูปนางกินรีร่ายรำอยู่เสมอ ในตำรารำของนาฏศิลป์ไทยยังนำเอาไปใช้เป็นชื่อท่ารำ เช่น “กินนรฟ้อนโอ่” และ “กินนรเลียบถ้ำ” หรือ “กินรินเลียบถ้ำ” ซึ่งไปปรากฏเป็นชื่อท่ารำในรำแม่บท ท่อนที่ว่า “สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน กินรินเลียบถ้ำอำไพ…”

“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่าพวกนี้อาศัยอยู่ในละแวกเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระปรเมศวร (พระอิศวร) แต่ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่ามีนครของกินนรโดยเฉพาะ อยู่บนยอดเขาไกรลาส ชื่อ “สุวัณณนคร” ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์กินนร ส่วนในชาดกเรื่องจันทกินนร กล่าวว่ากินนรและกินรีในเรื่องอาศัยอยู่ ณ เขาจันทบรรพต ดังมีเรื่องว่า

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งพาราณสี เสด็จโดยลำพังออกล่าสัตว์ พระองค์เดินทางลึกเข้าไปในป่าจนถึงต้นน้ำสายหนึ่ง เวลานั้นเป็นฤดูแล้ง กินนรกินรีที่อาศัยบนเขาจันทบรรพตจึงลงจากเขามาเที่ยวเล่นหากินกัน ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นจันทกินนรี มีภริยาคือนางจันทกินรี ลงมาหาเกสรดอกไม้เป็นอาหาร แล้วก็ชวนกันเก็บดอกไม้โปรยเล่นในลำธาร จากนั้น จันทกินนรก็เป่าขลุ่ยขับร้องเสียงเจื้อยแจ้ว ส่วนจันทกินรีก็ฟ้อนรำและคอยร้องเพลงคลอเป็นลูกคู่ พระเจ้าพรหมทัตแอบทอดพระเนตรเห็นนางกินรีเข้า เกิดมีใจรักใคร่ จึงยิงลูกศรใส่จันทกินนรผู้เป็นสามีจนล้มลงสลบ เลือดไหลนอง พระราชาเข้าใจว่าคงตายแล้ว จึงสำแดงพระองค์จากที่ซ่อน แล้วตรัสชักชวนให้นางกินรียอมไปเป็นอัครมเหสีในพระราชวัง

ทว่าด้วยความรักมั่นในสามี นางจันทกินรีปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย มิหนำซ้ำยังประกาศว่าตนเองพร้อมจะยอมตายเสียดีกว่าไปเป็นชายาของพระองค์ พระเจ้าพรหมทัตจึงเสด็จจากไป ทิ้งนางกินรีให้ร้องไห้รำพันในชะตากรรมของตน ว่าต่อไปเมื่อข้าจะไม่ได้เห็นสามีที่รักอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบนภูเขา เถื่อนถ้ำ ในลำธาร หรือแผ่นผาที่เต็มไปด้วยไม้ดอกไม้ผลที่เราสองเคยเที่ยวเล่นด้วยกัน ข้าจะทำฉันใดเล่า ฯลฯ จนร้อนอาสน์ถึงพระอินทร์ ต้องลงมาแปลงเป็นพราหมณ์ นำน้ำใส่หม้อน้ำมาราดรดลงบนบาดแผล จันทกินนรก็ฟื้นคืนสติ ส่วนบาดแผลก็หายสนิท จากนั้นพราหมณ์พระอินทร์แปลงก็ให้โอวาทว่า เจ้าทั้งสองอย่าลงมาในเขตที่มนุษย์เข้ามาถึงได้อีกเลย ให้อยู่แต่บนจันทบรรพตเถิด แล้วก็กลับขึ้นสวรรค์ไป

เช่นเดียวกับชาดกเรื่องพระสุธน-มโนราห์ มหากาพย์ว่าด้วยความรัก การพลัดพราก และการหวนคืนของความรักระหว่างมนุษย์คือพระสุธน กับนางมโนราห์ซึ่งเป็นกินรี ชาดกทั้งสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นเป็นนัยว่า ตามความคิดของคนโบราณ เผ่าพันธุ์กินนร-กินรีน่าจะมีลักษณะทางกายภาพที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มาก จนสามารถสื่อสารและอาจมีสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องพระสุธน-มโนราห์ ยังเล่าเหมือนกับว่า ปีกหางของนางกินรี ไม่ใช่อวัยวะจริงๆ แต่เป็นเหมือนเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เสริม (gadget) ที่สามารถถอดประกอบได้ ดังนั้น ในระหว่างที่นางกับพี่ๆ ถอดปีกถอดหางลงเล่นน้ำกัน พรานบุญจึงแอบย่องมาลักปีกหางของนางมโนราห์ไปซ่อนเสีย อันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวพิสดารที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง