ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา (CESD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : ภาพ

ย้อนเวลากลับไปในเดือนกันยายน 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบต่อ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำภูมิพล หรือรายงาน “EIA โครงการผันน้ำยวม” ถึงแม้ว่ารายงานฉบับนี้จะถูกภาคประชาสังคม นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมเรียกว่า “EIA ร้านลาบ”เนื่องจากเนื้อหาด้านในนำภาพการนัดกินข้าวกันตามปรกติในร้านลาบไปแอบอ้างว่าเป็นการนัดเก็บข้อมูลเพื่อรับฟังความคิดเห็น
“EIA โครงการผันน้ำยวม” จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของโครงการคือกรมชลประทาน น่าจะเป็นหนึ่งในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดฉบับหนึ่ง ถึงขนาดมี “ชื่อเล่น” ว่า “EIA ร้านลาบ”
โครงการผันน้ำยวมถูกออกแบบมาให้สูบน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินติดชายแดนไทย-พม่า ไปเติมน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลซึ่งตั้งอยู่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ตอนล่างของลุ่มน้ำปิง จำแนกออกเป็นการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม การขุดอุโมงค์ผันน้ำ ฯลฯ มีการทำรายงาน EIA มาตั้งแต่ ปี 2559-2563 เมื่อประชาชนในพื้นที่รู้ว่าจะมีโครงการก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมและขอข้อมูลมาตลอด แต่ถูกปฏิเสธ ครั้งหนึ่งเคยได้รับรายงานฉบับถมดำที่ป้ายแถบดำลงบนเนื้อหาบางส่วนจนไม่สามารถตรวจสอบได้ กว่าจะได้รับรายงานที่ไม่ปกปิดข้อมูลจากเจ้าของโครงการก็เข้าสู่ปี 2566 หรือร่วมสองปีภายหลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติผ่านความเห็นชอบแล้ว
เมื่อได้รับรายงาน EIA และอ่านเนื้อหา ประชาชนในพื้นที่ก็พบว่ารายงานฉบับนี้น่าจะยังมีปัญหาอีกหลายจุด นอกจากประเด็นนัดรับฟังความคิดเห็นที่ร้านลาบ ยังนำภาพงานเสวนาเรื่องเขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงมาระบุว่าเป็นการพูดคุยเสวนาเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนละวันเวลา จนนำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญของผู้ที่เกี่ยวข้อง
ปลายปี 2566 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน และประชาชนที่มีภูมิลำเนาและที่ทำกินอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน รวม 66 คน ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ขอให้พิพากษาว่าการจัดทำรายงาน EIA โครงการผันน้ำยวมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโครงการผันน้ำยวมเป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ หนึ่งในผู้ฟ้องคดีเล่าว่าที่ผ่านมามีหน่วยงานนำรูปของตนไปใช้แบบผิด ๆ เนื้อหาใน EIA ก็ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เมื่อเครือข่ายประชาชน 3 จังหวัด มีโอกาสอ่านรายงาน EIA ด้วยกัน ก็พบปัญหาคล้ายคลึงกันทุกพื้นที่
“การฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ผมไม่คิดว่าจะแพ้หรือชนะแต่ความจริงต้องถูกเปิดเผย เราสู้ลำพังไม่ได้ ต้องร่วมกันสู้ พี่น้องที่บ้านยังมีอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ พวกเขาอยู่ห่างไกล”
ควบคู่ไปกับการฟ้องร้องดำเนินคดี เครือข่ายผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันลงพื้นที่ศึกษาวิจัยวิถีการดำรงชีพชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในขอบเขตโครงการผันน้ำยวม
คณะผู้วิจัยนำโดยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่นบ้านแม่เงา (บ้านแม่สวดใหม่) และนักวิจัยท้องถิ่นบ้านแม่งูด ทั้งสองหมู่บ้านตั้งอยู่ตรงปากอุโมงค์และปลายอุโมงค์ส่งน้ำ ณ ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ตามลำดับ
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ที่ปรึกษาโครงการวิจัย และเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐ มีความหนาประมาณ 5,000 หน้า หน่วยงานที่รับผิดชอบดูเหมือนจะต้องการสร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเชิงปริมาณ แต่เมื่อพิจารณาจากมุมมองของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากรายงานดังกล่าวและมุมมองทางวิชาการ กลับพบว่ารายงานที่มีความยาวขนาดนี้ขาดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของโครงการต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในมิติทางสังคม วัฒนธรรมชาติพันธุ์ ขาดการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น อีกทั้งมีปัญหาเชิงระเบียบวิธีการวิจัย
ในการศึกษาวิจัย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนาเลือกใช้หลักการ “การร่วมผลิตสร้างความรู้กับชุมชน (co-production of knowledge) ตามหลักการนี้ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ ไม่ได้ออกไปเก็บหรือส่งนักวิจัยไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน แต่ให้ชาวบ้านเป็นผู้กำหนดการวิจัย เป็นทั้งผู้ให้ข้อมูล เก็บข้อมูล และร่วมวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งพบว่าชาวบ้านทั้งสองชุมชนได้ร่วมวิจัยอย่างกระตือรือร้นเพื่อแสดงตัวตน วิถีชุมชน ความรู้ และเรื่องราวเกี่ยวกับระบบนิเวศและทรัพยากรที่ขาดหายไปจาก EIA ของทางราชการ

การศึกษาวิจัยเกิดขึ้นระหว่างเดือนมกราคม 2565 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อแล้วเสร็จผ่านการเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือ วิถีการดำรงชีพชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ความยาว 118 หน้า โดย มาลี สิทธิเกรียงไกร สายพร อัสนีจันทรา สิงห์คาร เรือนหอม ศักดิ์ชัย แยมู และคณะ ซึ่งอาจนับว่าเป็นรายงาน “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน” หรือ “EIA ภาคประชาชน” (people’s EIA) ฉบับแรกของโครงการผันน้ำยวม
หากวัดกันที่ขนาดหนังสือ EIA ภาคประชาชนอาจเทียบไม่ได้กับ EIA ของทางราชการที่มีจำนวนมากถึง 7 เล่ม แบ่งออกเป็นรายงานฉบับหลัก 3 เล่ม รายงานฉบับภาคผนวก 2 เล่ม แผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 1 เล่ม และรายงานฉบับสรุปสำหรับผู้บริหารอีก 1 เล่ม แต่ละเล่มมีความยาวหลายร้อยหน้ากระดาษ แต่สิ่งที่ทำให้ต้องแปลกใจ คือมีข้อค้นพบสำคัญจากงานศึกษาวิจัยของคนท้องถิ่นหลายประเด็นไม่ถูกกล่าวถึงในรายงาน EIA ของหน่วยงานรัฐ
ยกตัวอย่าง ลำห้วยแม่งูดซึ่งตั้งอยู่ปากอุโมงค์ผันน้ำฝั่งเขื่อนภูมิพล มีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างฤดูฝนกับฤดูแล้ง
ในรายงาน EIA ช่วงฤดูแล้งลำห้วยแม่งูดจะแห้ง ตื้นเขิน มีการสะสมของตะกอนดินและทรายเนื่องจากการเกษตร ขณะที่ EIA ภาคประชาชนให้รายละเอียดเชิงลึกว่าความอุดมสมบูรณ์ของห้วยงูดมาจากลำน้ำสาขาที่อยู่เหนือขึ้นไปคอยเติมน้ำให้ตลอดเวลา ในฤดูฝนน้ำจะไหลแรงและมักพัดพาดินทรายจากดอยต่าง ๆ ลงมายังห้วยแม่งูด การเปลี่ยนแปลงของลำห้วยแม่งูดเริ่มขึ้นทีละน้อยต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2507 ตรงกับช่วงที่เขื่อนภูมิพลสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำเป็นต้นมา
“ตามธรรมชาติระดับน้ำห้วยแม่งูดจะอยู่สูงกว่าแม่น้ำปิง แต่เมื่อกระแสน้ำได้พัดพาทรายไปบริเวณสบแม่น้ำปิงและทับถมในแต่ละปีมากขึ้น ๆ ทำระดับแม่น้ำปิงบริเวณสบกับลำห้วยแม่งูดมีระดับที่สูงเกือบเท่ากับห้วยแม่งูด ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้เมื่อฝนตกในปีต่อมา กระแสน้ำจากห้วยแม่งูดจะไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำปิง ทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยแม่งูดสูงท่วมและมีทรายทับถมมากขึ้น และระดับน้ำจะยิ่งสูงมากขึ้นหากเขื่อนภูมิพลไม่เปิดประตูระบายน้ำให้น้ำได้ไหลอย่างอิสระ” นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด “หน่วยงานรัฐที่เข้ามาในพื้นที่ไม่เข้าใจที่มาและความเปลี่ยนแปลงของห้วยแม่งูดจึงได้ก่อสร้างฝายคอนกรีต 2 แห่ง ในปี 2538 …ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ทดน้ำทำนาเพียง 3 ปี หลังจากนั้นที่นาแถบนี้ถูกน้ำท่วม และมีทรายทับถมจนไม่สามารถทำนาได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฝายแห่งนี้ก็ไม่ได้ใช้งานและไม่ได้รับการดูแล ต่อมาในปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ฝายนี้ถูกน้ำป่าพัดพังเสียหาย เหลือเพียงเศษซากที่จมอยู่กับทรายกลางห้วยแม่งูด”

ในส่วนของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่งูด แบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 2 ประเภท คือ ป่าศักดิ์สิทธิ์ และป่าชุมชน หรือ ป่าใช้สอย ป่าทั้งสองมีคุณค่าและความหมายแตกต่างกัน
ป่าศักดิ์สิทธิ์มีชื่อเรียกในภาษากะเหรี่ยวโปว์ว่า “ป่าต่าแฉ่ผ่า” หรือ “ป่าผีเสื้อบ้าน” เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเจ้าป่าเจ้าเขาที่คอยคุ้มครองดูแลชุมชน ชาวบ้านกำหนดกฎระเบียบร่วมกันว่าห้ามไม้ให้ตัดต้นไม้และหาของป่าโดยเด็ดขาด ในแต่ละปีจะร่วมกันทำพิธี “หล่างข่าง” หรือเลี้ยงผีเสื้อบ้านปีละ 2 ครั้ง โดยมีตัวแทนจากทุกหลังคาเรือนเข้าร่วม
ทางด้านชุมชนบ้านแม่เงาซึ่งตั้งอยู่ปากอุโมงค์ผันน้ำฝั่งแม่น้ำเงาและแม่น้ำยวม รายงาน EIA ระบุว่าจะมีชาวบ้านแม่เงาได้รับผลกระทบจากพื้นที่ก่อสร้างถังพักน้ำและสถานีสูบน้ำ 4 ราย และมีชาวบ้านอีก 5 ราย ได้รับผลกระทบในพื้นที่จัดการวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ที่ 1 (จุดกองดินจุดที่ 1) ในที่นี้มี 1 คน ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากสถานีสูบน้ำและพื้นที่จัดการวัสดุ แต่ EIA ภาคประชาชนระบุว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบแค่นี้”
นอกเหนือจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่พบว่าปรากฏอยู่ใน EIA คณะวิจัยพบว่าชาวบ้านแม่เงาและชุมชนอื่น ๆ ยังมีคำถาม ว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐที่ต้องการเก็บรักษาต้นไม้ จึงประกาศพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นเขตอุทยาน กลับต้องการให้มีโครงการผันน้ำยวม ต้องตัดต้นไม้ สร้างเขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมผืนป่า เหตุใดหน่วยงานด้านอนุรักษ์ต่าง ๆ ถึงไม่ออกมาคัดค้าน ความย้อนแย้งนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบได้

หน้าท้าย ๆ ของ EIA ภาคประชาชน หัวข้อ บทสรุป วิถีการดำรงชีพและความรู้ของชาวกะเหรี่ยงที่ถูกละเลย จำแนกข้อมูลสำคัญที่ขาดหายไปใน EIA ของหน่วยงานรัฐ ออกเป็นมิติต่าง ๆ ดังนี้
มิติทางสังคมและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ อธิบายลักษณะเฉพาะของทั้งสองชุมชนอย่างเหมารวม เช่น “…การดำรงชีวิตส่วนมากยังคงเป็นแบบดั้งเดิมด้วยการหาของป่าต่าง ๆ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านปัจจัยสี่ที่จำเป็นในชีวิต เช่น การหาหน่อไม้ การหาเห็ด การล่าสัตว์ หรือจะเป็นการตัดไม้ไผ่ ต้นไม้ ใบตองตึง เพื่อใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัย…” หรือ “…ประชาชนในพื้นที่บางส่วนยังมีการใช้ประโยชน์จากป่า โดยส่วนมากจะใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่เป็นหลัก…” ทั้งที่ทั้งสองชุมชนมีความสัมพันธ์กับสังคมและตลาดมานานแล้ว
ข้อสังเกตด้านระเบียบวิธีการวิจัย น่าสังเกตว่า EIA ของหน่วยงานรัฐอ้างว่าใช้วิธีการวิจัยทางมานุษยวิทยาในการเก็บข้อมูล แต่ไม่มีรายละเอียดทาง “ชาติพันธุ์วรรณา” ที่เกี่ยวกับชาวบ้านและชุมชนทั้งสองแห่ง ที่สำคัญคือไม่ได้กล่าวถึง 1) บริบทชุมชน 2) วิถีการดำรงชีวิต พึ่งพา และสัมพันธ์กับทรัพยากรแม่น้ำและป่าไม้ผ่านความรู้ท้องถิ่น 3) ความสลับซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ยกตัวอย่างเรื่องความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของลำห้วยแม่งูดระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้ง
มิติด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน น่าสังเกตว่า EIA ของหน่วยงานรัฐระบุว่ามีการจัดเวทีพบปะหารือกับผู้นำชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านหลายครั้ง แต่จากการเก็บข้อมูลของคณะวิจัย พบว่าข้อมูลที่ชาวบ้านได้รับเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่ครบถ้วนรอบด้าน การประชุมชี้แจงเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพอีกทั้งไม่คำนึงถึงภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น
มิติความรู้ท้องถิ่นว่าด้วยระบบนิเวศ สำหรับบ้านแม่เงา ระดับน้ำและความเชี่ยวแรงของแม่น้ำเงา แม่น้ำยวม และแม่น้ำสาขาในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกัน ชาวบ้านพัฒนาเครื่องมือหาปลาให้เหมาะสมกับระบบนิเวศและลักษณะการไหลของน้ำ เครื่องมือจับสัตว์น้ำมีถึง 10 ชนิด แบ่งระดับชั้นของป่าและผลผลิตจากป่าออกเป็น 3 ระดับ คือ สันดอย ตะหล่ายดอน และฮิมน้ำ แต่ระละดับมีพรรณไม้ พืชผักแตกต่างกันไป การสร้างเขื่อนน้ำยวมอาจทำให้พื้นที่ป่าฮิมน้ำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ป่าทั้งหมดถูกน้ำท่วม ส่วนทางด้านบ้านแม่งูด วิถีชีวิตที่ผูกพันกับ “ป่าต่าแฉ่ผ่า” หรือ “ป่าผีเสื้อบ้าน” ก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงใน EIA
ข้อสังเกตด้านการผันน้ำ นักวิชาการประมงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักจากลุ่มน้ำสาละวินมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน-ลุ่มน้ำปิงตอนล่างว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่เล็ดลอดมาจากลุ่มน้ำผ่านทางอุโมงผันน้ำอาจจะทำให้ปลาและสัตว์น้ำท้องถิ่นอีกฝั่งถูกกินเป็นอาหารจนสูญพันธุ์ หรือผสมพันธุ์กันจนเกิดการกลายพันธุ์
หน้าท้าย ๆ ของ EIA ภาคประชาชน บันทึกข้อห่วงกังวลของผู้คนเอาไว้ว่า “เราอยู่ที่นี่ เราก็ไม่ได้ทำลายทรัพยากร แต่โครงการผันน้ำยวม-สาละวินจะทำให้ป่าไม้และทรัพยากรที่เราดูแลหายไป ทำไมป่าไม้และอุทยานจึงยอมให้โครงการผันน้ำสร้างบริเวณนี้”
เป็นข้อห่วงกังวลที่ตอกย้ำถึงความไม่ชอบมาพากล และกังขาว่าทำไมข้อค้นพบสำคัญหลายต่อหลายข้อจากการศึกษาวิจัยของคนท้องถิ่นจึงไม่ถูกบันทึกไว้ในรายงาน EIA ของหน่วยงานรัฐ

เอกสารประกอบการเขียน
ขอขอบคุณ
- สายพร อัสนีจันทรา