เราต่างเป็นมนุษย์ป้า

auntie01

เมื่อเปิดเพจเฟซบุ๊กของมนุษย์ป้า หน้าแรกมีคำนิยามมนุษย์ป้าจากมนุษย์ BTS, MRT และแคชเชียร์ ว่า “ชาติพันธุ์ที่เป็นอมตะ และตายยากที่สุด”

ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คำนิยามซึ่งแฝงอารมณ์ขันและการดูถูกที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนบางกลุ่ม เห็นจะไม่มีคำใดโดดเด่นเท่า “มนุษย์ป้า”

ก่อนหน้านี้ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอาจมีคำนิยามที่ใช้จัดกลุ่มและลดทอนความเป็นมนุษย์ให้ต่ำชั้นกว่าพวกตัวเอง อาทิ ไพร่ แมลงสาบ สลิ่ม ควายแดง ฯลฯ

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ปรากฏการณ์มนุษย์ป้าน่าจะเริ่มใช้ในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่พยายามอธิบายนิสัยหรือพฤติกรรมบางอย่างของผู้หญิงสูงวัยกลุ่มหนึ่งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แชร์ประสบการณ์ที่พบเจอ จนกลายเป็นที่มาของคำว่ามนุษย์ป้า และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วราวกับเชื้อไวรัสอีโบลาในสื่อออนไลน์

หากเสิร์ช “มนุษย์ป้า” ในกูเกิลจะพบว่าเป็นหัวข้อที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือมากกว่า ๖ ล้านรายการ  ในเพจเฟซบุ๊กมนุษย์ป้ามียอดกดไลก์เกือบ ๒ แสนคน โดยเนื้อหาเป็นการเปิดโปงการกระทำของมนุษย์ป้า มีหลักฐานทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และเรื่องเล่าที่ได้พบเจอ พร้อมคอมเมนต์กันอย่างสนุกสนาน

การแชร์ประสบการณ์รวมถึงการให้คำอธิบายลักษณะของมนุษย์ป้าหลายแบบ ส่วนใหญ่จะสังเกตพฤติกรรมของคนเหล่านี้ในที่สาธารณะ  เมื่อลองสรุปแล้วจะพบคุณสมบัติดังนี้

  • มนุษย์ป้าเป็นหญิงวัยกลางคน อายุประมาณ ๔๐-๕๐ ปีขึ้นไป มักทำอะไรเชยๆ หอบถุงพะรุงพะรังแบบบ้าหอบฟาง
  • ระดับการศึกษาไม่เกี่ยงว่าจะจบสูงหรือต่ำ คนผู้นั้นอาจเป็นมนุษย์ป้าหากคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำถูกต้องเสมอ
  • เชื่อว่าตัวเองผ่านโลกมาเยอะ จึงไม่ค่อยมีความละอายใจในสิ่งที่กระทำ
  • มีข้ออ้างในการเอาเปรียบ คือมีปัญหาด้านสุขภาพ หรืออายุมาก และเชื่อว่าสองสิ่งนี้จะเอาชนะทุกอย่างได้
  • รักษาสิทธิของตัวเองไม่ให้เสียเปรียบ แต่หากมีโอกาสก็จะเอาเปรียบคนอื่น
  • เชื่อว่าการพูดเสียงดังเป็นอาวุธอันทรงพลัง จึงสามารถโวยวายดังไปถึงดาวอังคารได้หากต้องทะเลาะกับใคร

“เจอกับตัวเองค่ะ มนุษย์ป้าสั่งกาแฟเย็นขอหวานๆ  พอคนทำตักน้ำตาลไปประมาณสามช้อนมั้ง  she ตวาดเลยค่ะ…” (คอมเมนต์ของบางคนในเฟซบุ๊กส่วนตัว)

auntie02

นอกจากนี้ยังพบเห็นมนุษย์ป้าได้ง่ายตามที่สาธารณะ เช่น

  • ในรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน จะเห็นมนุษย์ป้าแย่งที่นั่งหรือพยายามจับจองเบาะใกล้ประตู หากไม่มีที่นั่งก็จะกอดเสาไว้แน่นจนคนอื่นใช้ด้วยไม่ได้  บางครั้งยืนขวางทางเข้าประตูไม่ยอมเดินชิดใน
  • หากใช้บริการรถตู้สาธารณะ ก็จะนั่งที่นั่งใกล้ประตู สร้างความลำบากให้ผู้โดยสารคนอื่นขณะเข้าออก

“โดยสามัญสำนึกและมารยาทการนั่งรถทั่วไป คือ ขึ้นก่อน เข้าไปนั่งข้างใน เพื่อความสะดวกของคนมานั่งทีหลัง  แต่ดูเหมือนตรรกะนี้จะใช้ไม่ได้กับ “มนุษย์ป้า” ทั้งหลาย เพราะนางจะนั่งขวางลำตลอด และพร้อมจะทำหน้าเบื่อโลกออกอาการไม่พอใจหากมีคนจะมานั่งข้างๆ กรณีนี้มักเกิดขึ้นในการนั่งรถตู้เช่นกัน คือนั่ง ‘กั๊กที่’ บริเวณกลางรถ”(สเตตัสหนึ่งกล่าวไว้)

  • บริเวณที่มีการต่อแถวหรือเข้าคิวซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรือโรงหนัง จะพยายามลัดคิวเพื่อไม่ให้เสียเวลา
  • ชื่นชอบของฟรี และถ้ามีการเข้าแถวรับของแจกก็จะพยายามแซงแถวเพราะกลัวของหมด

“ถึงคนอื่นจะต่อแถวยาวเป็นสิบคน แต่ ‘มนุษย์ป้า’ มักมีสกิลพิเศษในการวาร์ปเร็วปาน ยูเซน โบลต์ (Usain Bolt) พร้อมทำหน้ามึนๆ เพื่อที่จะแทรกมาอยู่หน้าแถวตลอดเวลา ด้วยเหตุผลโลกแตกที่ว่าป้าของเยอะ ป้าแก่แล้ว  อ้าว…แล้วที่ป้าวิ่งลมกรดมาเมื่อกี้ล่ะ ?” (ความเห็นในโลกออนไลน์โพสต์)

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นพยายามอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมโดยคนรุ่นเยาว์ผู้มีทัศนคติต่อคนรุ่นอาวุโสกว่าที่ทำอะไรเชยๆ กึ่งเห็นแก่ตัว หรือบางคนให้คำจำกัดความว่า “หน้าด้าน หนังเหนียว” ซึ่งเอาเข้าจริงพฤติกรรมที่เอ่ยอ้างล้วนเป็นนิสัยทั่วไปของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดเชื้อชาติ ภาษา หรือวัฒนธรรมของผู้มีลักษณะเห็นแก่ตัว  ไม่ละอายในสิ่งที่กระทำ ไม่มีระเบียบวินัย ไม่รู้จักกาลเทศะ แต่งตัวไม่ทันสมัย แถมยังชอบโวยวายอีกต่างหาก

หรือพูดภาษาพระก็คือ ไม่มีหิริโอตัปปะ คือความกลัวและความละอายใจในการกระทำที่ไม่ดี

ถามว่าการแย่งที่นั่งในรถไฟฟ้า การแซงคิว การพูดจาโวยวาย เกิดจากผู้หญิงรุ่นป้าเท่านั้นหรือ คนรุ่นเด็ก รุ่นลุง หรือรุ่นหนุ่มสาว ไม่เป็นกันบ้างหรือ ก็เปล่าเลย

เพียงแต่คิดว่า คนรุ่นป้าอาจผ่านโลกมามากก็เลยไม่ค่อยอายเวลาทำอะไรผิดปรกติ  ทว่าคนรุ่นเด็กกว่า แม้นอยากจะแซงคิวหรือแย่งที่นั่ง แต่ไม่กล้าเพราะอายมากกว่าเช่นนั้นหรือ

แม้บางสเตตัสพยายามอธิบายว่ามนุษย์ป้าไม่ได้หมายถึงคนรุ่นป้า หากหมายรวมคนทุกกลุ่มทุกวัยที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว แต่ก็ยอมรับว่าคนรุ่นป้าเห็นเป็นแบบนี้เยอะที่สุด จึงเป็นที่มาของคำว่ามนุษย์ป้า

“มนุษย์ป้าไม่ได้พูดถึงแค่ผู้หญิงวัยกลางคนเท่านั้น แต่…ที่เรียกว่ามนุษย์ป้า เพราะจุดกำเนิดความนอยด์ (paranoid) เริ่มแรกมาจากคนวัยนี้ และที่เจอนั้นส่วนใหญ่เป็นคนวัยนี้ อาจเพราะเกิดมานาน รู้เยอะ ชอบใช้อภิสิทธิ์ คิดว่าสิ่งที่ทำจำเป็นกว่าที่เด็กทำ เลยแบบว่าต้องฉันก่อน เขาเลยเรียกว่ามนุษย์ ‘ป้า’  แต่หากมีเด็กที่ทำอะไรแบบนี้ เราก็เรียกได้ครับ 

“อ่อ… เราไม่ได้เรียกคนทำอะไรงกๆ เงิ่นๆ ว่ามนุษย์ป้าครับ ใช้เรียกเฉพาะคนไม่มีมารยาท เอาเปรียบผู้อื่นจ้า  เกิดมาก็นาน มารยาทน่าจะมีมากกว่าพวกเราๆ ที่เด็กกว่า แต่การเกิดนานไม่ได้ช่วยอะไรสินะ !!!! (สำหรับบางคน)  เราเปล่าทำสังคมแตกแยก แค่กำหนดคำนิยามสำหรับคนประเภทนี้” #ผู้พบเจอมนุษย์ป้าแทบทุกวัน

แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่า การตั้งฉายามนุษย์ป้าน่าจะเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยอคติ  การพยายามชี้นิ้วบอกว่านิสัยเชยๆ เห็นแก่ตัว ไม่รู้จักระเบียบหรือมารยาท เกิดเฉพาะกับผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป ทั้งๆ ที่ความจริงนิสัยดังกล่าวอาจเกิดจากคนทุกเพศทุกวัย ทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หลาน มนุษย์ลุง มนุษย์สาว มนุษย์หนุ่ม ฯลฯ

มนุษย์ผู้สูบบุหรี่รบกวนคนอื่น หนุ่มสาวที่เปิดสมาร์ตโฟนในโรงหนัง วัยรุ่นที่ขับรถปาดหน้า หรือไม่รู้จักหยุดรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย ฯลฯ ล้วนแต่เป็นนิสัยเห็นแก่ตัวเช่นกัน

ดังคำพูดที่ว่า ตามองเห็นคนอื่น แต่มองไม่เห็นขนตาตัวเอง

เพียงแต่กลุ่มคนวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวได้ยึดโลกออนไลน์มายัดเยียดและจัดกลุ่มให้คนรุ่นป้าที่ไม่ได้ทันสมัยในโลกนั้น ทั้งนำมาล้อเลียนด้วยความสนุกสนาน

สังคมแตกแยกพอแล้ว ยังป้ายสีให้ฉายาคนต่างวัยด้วยความสะใจ  จะไม่เหลือพื้นที่ให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเห็นอกเห็นใจบ้างเลยหรือไร

นิ้วชี้ด่าคนอื่นว่าเป็นมนุษย์ป้า อีกสี่นิ้วที่เหลือมันชี้กลับมาที่ตัวเราเองนะครับ

ที่มาภาพ : fbexternal-a.akamaihd.net, และ horonumber.com

 

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.