หมวกเหลืองและวินัยของเด็กญี่ปุ่น

“พื้นฐานของคนญี่ปุ่นคือวินัย แต่พื้นฐานของคนไทยคือเห็นแก่ตัว”

คนญี่ปุ่นผู้เคยทำงานในเมืองไทยหลายปีสรุปให้ฟังสั้น ๆ ต่อทัศนคติที่มีต่อคนไทยก่อนลากลับประเทศ

“คนไทยเห็นแก่ตัวมาก ไม่ยอมหยุดรถให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย ไม่ยอมเข้าคิว

“คนไทยจอดรถซื้อของในที่ห้ามจอดบนทางเท้า หรือจอดซ้อนเพื่อรอรับลูกหน้าโรงเรียนทุกวันโดยไม่สนใจว่ารถจะติดแค่ไหน

“ที่ญี่ปุ่นไม่มีแบบนี้ เรารีบตลอดเวลา แต่เราไม่เห็นแก่ตัวเหมือนคนไทย”

จริงหรือไม่จริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันในประเทศนี้น่าจะบอกอะไรได้

มาดูว่าวินัยพื้นฐานของคนญี่ปุ่นเขาสร้างกันอย่างไรตั้งแต่เด็ก

บ่ายวันหนึ่งขณะผมเดินไปตามถนนในเมืองฟุกุโอะกะสังเกตเห็นขบวนนักเรียนญี่ปุ่นตัวน้อยหลายคนเดินสวนมา เสียงพูดคุยเจื้อยแจ้ว ไม่มีใครแต่งเครื่องแบบนักเรียน แต่ที่เหมือนกันคือทุกคนสวมหมวกสีเหลือง มีผู้อาวุโสคนหนึ่งคุมขบวน

ด้วยความสงสัย ผมหาคำตอบจากคนแถวนั้น

เด็กโรงเรียนรัฐบาลของญี่ปุ่นไม่มีชุดเครื่องแบบ ใส่ชุดอะไรก็ได้ที่สุภาพ แต่หากเป็นโรงเรียนเอกชนจะมีเครื่องแบบนักเรียน เด็กนักเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่นจะเดินไปและกลับบ้านด้วยตัวเอง โดยทุกเช้าและเย็นเด็กตัวน้อย ๆ จะสวมหมวกสีเหลืองมารวมตัวตรงจุดนัดหมาย ก่อนจะเดินเป็นขบวนไปโรงเรียนพร้อมเพรียงกัน โดยมีอาสาสมัครในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยหรือ silver-san ผลัดกันมาช่วยนำทางและดูแลเด็กเหล่านั้น

ทุกวันเด็กต้องเดินมาถึงจุดนัดหมายตรงเวลาเพื่อไม่ให้เพื่อนต้องรอ เป็นการฝึกวินัยแต่เด็ก ๆ และฝึกให้เด็กเล็กช่วยเหลือตัวเอง ไม่มีพ่อแม่ขับรถไปรับส่งที่โรงเรียน

เด็กนักเรียนจะเรียนหนังสือที่โรงเรียนในชุมชนตัวเอง ไม่ไกลบ้าน การเดินไปโรงเรียนจึงเป็นเรื่องปรกติ ทุกเช้าพอถึงเวลาทุกคนจะเดินถึงจุดนัดพบ เมื่อมาครบแล้วเด็กโตจะอยู่หัวแถว เด็กเล็กอยู่ตรงกลาง ท้ายแถวเป็นเด็กรุ่นโตรองลงมา เดินไปด้วยกัน  เด็กโตจะถูกสอนให้มีหน้าที่ดูแลเด็กเล็ก สร้างนิสัยช่วยเหลือกัน ปกป้องคนอ่อนแอกว่า

หากข้ามถนนตรงสี่แยกจะมีคนโบกธงให้รถเห็นแต่ไกล เพื่อความปลอดภัยสูงสุด กฎหมายจะลงโทษรุนแรงมากหากไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนตรงทางข้าม และบางโรงเรียนพ่อแม่เด็กจะผลัดเวรกันโบกธงให้เด็ก ๆ ข้ามถนน

หมวกเหลืองเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวบ้านช่วยดูแลความปลอดภัยของเด็กเหล่านี้ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนชั้นประถมฯ ปีที่ ๑-๖ จะต้องสวมหมวกเหลืองอันเป็นสีที่โดดเด่นชัดเจน เพื่อให้คนภายนอกรู้ว่ายังเป็นลูกเจี๊ยบ  บางโรงเรียนจะให้เด็กติดแผ่นป้ายสีเหลืองและแขวนกระดิ่งด้านหลังกระเป๋านักเรียน เดินไปตามท้องถนน เตือนให้คนในชุมชนทราบว่า ขบวนลูกเจี๊ยบกำลังมาแล้ว เพื่อช่วยกันระวังความปลอดภัยให้เด็ก

ภาพของเด็กเล็ก ๆ สวมหมวกสีเหลืองส่งเสียงดังยังติดตาผม ภาพคนวัยเกษียณที่มาเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กสะท้อนความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอย่างชัดเจน ทุกคนต้องเสียสละเพื่อให้สังคมโดยรวมดีขึ้น

พ่อแม่ต้องเสียสละยอมให้ลูกรักเดินไปโรงเรียน

ถามว่าพ่อแม่เป็นกังวลไหม คงมีบ้าง แต่ด้วยแนวคิดว่า “Send the beloved child on a journey.” หรือ “จงส่งลูกรักสู่การผจญภัยในโลกกว้าง” สะท้อนแนวคิดคนญี่ปุ่นที่ต้องการให้เด็ก ๆ รู้จักการรับผิดชอบต่อตนเองผ่านการเดินทางไปโรงเรียน เริ่มตั้งแต่ชั้น ป. ๑ กันเลย เด็กถูกฝึกให้ตรงเวลา ถูกฝึกให้เดินวันละไม่ต่ำกว่า ๒-๓ กิโลเมตร เพื่อสร้างวินัย ช่วยเหลือตัวเอง ฝึกให้ช่วยเหลือคนอื่น

คนในชุมชนต้องเสียสละเวลามาคอยดูแลความปลอดภัยของเด็ก

ไม่แปลกใจที่พื้นฐานของคนญี่ปุ่นคือวินัย และการเสียสละเพื่อส่วนรวมที่ทุกคนมีส่วนร่วม

เมื่อเขาตั้งใจจะฝึกวินัยให้เด็กด้วยการเดินไปโรงเรียนเอง การสร้างความปลอดภัยให้เด็กว่าจะไม่ถูกทำร้าย ลักพาตัว หรือเกิดอุบัติเหตุ การสร้างความมั่นใจแก่พ่อแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐและคนในชุมชนต้องร่วมมือร่วมใจทำให้ รวมถึงการออกแบบถนน เส้นทางในเมือง  ออกแบบครบทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่นักเรียนมากที่สุด

สอบถามว่าเคยมีอุบัติเหตุหรือมีเด็กหายบ้างหรือไม่ จากสถิติที่ผ่านมาคือมีบ้าง แต่ต้องหาทางป้องกันต่อไป

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้ามาได้เพราะสร้างชาติจากวินัยและการเสียสละ แต่มิอาจสร้างได้จากความเห็นแก่ตัวของคนในชาติ

  • ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ 391 กันยายน 2560 

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.