เรื่องของฌูอาว

เรื่องของฌูอาว

นับช่วงชีวิตของการเป็น “นักเรียน” ผมพบว่าคนที่เกิดในครอบครัวคนชั้นกลางอย่างผม ต้องใช้เวลาเรียนในชั้นอนุบาล 2 ปี ประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี และสุดท้ายมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี 

สิริรวมทั้งหมด 18 ปี

คำนวณกันเล่นๆ ถ้าคนเราอายุขัยเฉลี่ย 60 ปี มันจะกินเวลาถึง 1 ใน 4 ของชีวิต

เป็นช่วงเวลาซึ่งรุ่นพี่ที่ผมหลายคนบอกว่าจงใช้อย่างคุ้มค่าเพราะนี่คือช่วงเวลาที่สนุกที่สุดเท่าที่มนุษย์จะพึงหาได้ในอายุอันแสนสั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในความทรงจำของเราเกี่ยวกับช่วงเวลาเหล่านี้นอกจากเรื่อง “เพื่อน” “แฟน” ยังมีเรื่อง “ครู” รวมอยู่ด้วย

นับกันตามความเป็นจริง เด็กคนหนึ่งต้องผ่านการสอนจากครูหลายร้อยคนในหลายร้อยวิชาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนจบปริญญาตรี 

แต่มีครูเพียงไม่กี่คนที่เขาจดจำ

และการจดจำครูสักคนนั่นหมายถึงครูคนนั้นเป็นครูคนสำคัญ


ชายในภาพ ชื่อ ฌูอาว อะซือเรดู สุภาพบุรุษชาวโปรตุกีสวัยกลางคน ใช้ชีวิตบางช่วงในโมซัมบิก โปรตุเกส มาเก๊า และสุดท้ายมามีครอบครัวและมีบ้านอยู่ที่เมืองไทย

เป็นชาวโปรตุเกสไม่กี่คนที่ผ่านเหตุการณ์โค่นล้มเผด็จการในบ้านเกิดตัวเองเมื่อปี 2517 (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ในเมืองไทยเพียงปีเดียว) ก่อนเดินทางมาทำงานวัฒนธรรมในเอเชียและตัดสินใจลงหลักปักฐานในเมืองไทย

แน่นอน ฌูอาวพูดไทยได้เพราะแกอยู่เมืองไทยมานานจนมีภรรยาเป็นคนไทย

ผมเจอฌูอาวครั้งแรกสมัยเป็นนักศึกษาปี 2 ที่ธรรมศาสตร์

ฌูอาวเป็นคนใจดี มีอารมณ์ขันตลอดเวลา

ที่ผมประทับใจคือ เขาไม่เคี่ยวเข็ญให้ใครซีเรียสในการพูดภาษาในวิชาที่เขาสอนตามแบบอย่างครูภาษาทั่วไป

แต่เขาก็มีนโยบายกดดันลูกศิษย์ทางอ้อม โดยไม่คิดจะพูดไทยกับลูกศิษย์เพื่อให้ลูกศิษย์สื่อสารด้วยภาษาโปรตุเกสที่เขาสอนให้ได้มากที่สุด อนุโลมเต็มที่ก็คือการใช้ภาษาอังกฤษ

และลูกศิษย์จอมเกเรอย่างผมสอบผ่านแบบฉิวเฉียดทุกครั้ง

“ผมเชื่อมั่นศักยภาพที่อยู่ในตัวคุณ พยายามต่อไป” หลังสอบผมมักจะได้รับคำตักเตือนและกำลังใจแบบนี้

ช่วงปี 2 ผมได้เรียนกับเขา แต่ช่วงปี 3 ฌูอาวก็มีอันต้องย้ายกลับไปประจำที่สถานทูตโปรตุเกสประจำมาเก๊า

และนั่นเป็นไม่กี่ครั้งที่ผมเห็นนักศึกษาจัดงานเลี้ยงส่งอาจารย์ฝรั่งคนหนึ่งอย่างอบอุ่นก่อนที่เขาจะจากเมืองไทยไป ก่อนที่จะต้องกลับมาผจญกับการสอนอันหฤโหดจากอาจารย์สาว (ป้า) ชาวโปรตุเกสคนใหม่ที่แตกต่างราวฟ้ากับเหว เพราะคุณเธอดุสุดๆ และใช้คำรวมไปถึงกิริยาไม่สุภาพกับนักศึกษาอย่างน่าเกลียดอาทิ Fuck และ etc….. แถมยังถือตัวสุดๆ

จนปีต่อมานั่นแหละที่ผมรู้สึกว่าพ้นนรก เพราะฌูอาวเพื่อนของเราได้ตัดสินใจขอย้ายกลับมาอยู่สถานทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยอีกครั้ง

นอกห้องเรียน ฌูอาวไม่เคยเรียกตัวเองว่าอาจารย์ เขาบอกกับลูกศิษย์ทุกคนว่าเขาคือ “เพื่อน” ที่มีสถานะเท่าเทียมกันกับทุกคน และทุกคนตักเตือนเขาได้ในทุกเรื่อง

หลายครั้งเขาชวนผมและเพื่อนๆ ในฐานะ “เพื่อน” ไปเล่นดนตรีด้วยกันอย่างไม่ถือตัว

บางที นี่คงเป็นตะกอนบางอย่างที่เหลืออยู่ในตัวชายคนหนี่งที่ผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติเพื่อก่อเกิดระบอบประชาธิปไตยของโปรตุเกส

แต่ตราบจนเรียนจบ ผมก็ยังพูดภาษาที่ฌูอาวสอนได้แบบกระท่อนกระแท่น พร้อมคำลาของฌูอาวตอนชั่วโมงสุดท้ายว่า “ฝึกพูดให้ได้ แล้ววันหนึ่งมานั่งกินเบียร์คุยเป็นภาษาโปรตุเกสกัน”

ก็นั่นแหละที่ทำให้ผมพยายามท่องภาษาโปรตุเกสสองสามประโยคง่ายๆ เผื่อไว้เจอแกแล้วจะไม่ทำให้แกเสียใจ (ทั้งที่ในความเป็นจริงลงหม้อไปแล้วหลังเฉดตัวเองออกมาพ้นรั้วมหาวิทยาลัยเกิน 3 ปี)

ครั้งหนึ่งหลังเรียนจบ ผมเคยกลับไปสัมภาษณ์อาจารย์เพื่อลงหนังสือที่ตัวเองทำงานอยู่ โดยยิงคำถามว่าอาจารย์คิดยังไงกับเมืองไทย

อาจารย์ตอบว่า “ที่นี่คือบ้าน” แถมทิ้งท้ายด้วยประโยคที่เลี่ยนสุดๆ คือ “หัวใจอยู่ที่ไหน บ้านก็อยู่ที่นั่น” (หมายถึงภรรยาอาจารย์)

แต่ผมไม่คาดคิดเลยว่านั่นจะเป็นการเจออาจารย์ครั้งสุดท้าย

กรกฏาคม ๒๕๕๑ วัดแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว

หลังรับโทรศัพท์แจ้งข่าวร้ายเมื่อหลายวันก่อน ผมก็พบตัวเองอยู่ในรถของเพื่อนอีกคน และต้องทำใจยอมรับว่าไปงานเผาศพอาจารย์สายสุดโต่งอย่างไม่น่าให้อภัยเนื่องจากความผิดพลาดเรื่องการฟังกำหนดการ

ถ้าอาจารย์ยังมีชีวิต คงได้เฉ่งกันว่าความประพฤตินายมันไม่ต่างจากสมัยเรียนที่เข้าห้องช้า จนในที่สุดผมก็ทำได้แค่ไปยืนส่งฌูอาวที่ประตูเชิงตะกอนที่ปิดสนิท

จากคำบอกเล่าของภรรยาอาจารย์ เมื่อเดือน ตุลาคม ๒๕๕๐ ฌูอาวปวดท้องอย่างรุนแรง และเมื่อให้แพทย์ตรวจก็พบว่าเกิดจากมะเร็งหน้าท้องระยะสุดท้าย

และสิ่งที่ทำให้ผมรู้ว่าอาจารย์ยังคงเป็นคนเดิมคือ การบอกหมอว่าให้พูดความจริงว่ามีหวังในการรักษาแค่ไหน – – “และถ้าไม่ ผมจะได้ทำสิ่งที่อยากทำก่อนจากโลกนี้ไป”

งานสอนที่ธรรมศาสตร์ยังดำเนินต่อไปพร้อมกับการชำระสะสางธุระปะปังต่างๆ โดยที่ลูกศิษย์รุ่นหลังหลายคนอาจจะไม่สังเกตว่าอาจารย์ผ่ายผอมลงเรื่อยๆ

จนวันหนึ่งก็ไม่สามารถมาสอนได้เนื่องจากอาการถึงขั้นวิกฤติ หลังจากนั้นอาจารย์ก็นอนโรงพยาบาลมาตลอดโดยที่ไม่เคยมีข่าวแจ้งให้กับลูกศิษย์ลูกหารับรู้แต่อย่างใด 

ก่อนจะจากไปอย่างเงียบๆ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา….

นับช่วงชีวิตการเป็น “นักเรียน” คนที่เกิดในครอบครัวคนชั้นกลางอย่างผม ต้องใช้เวลาเรียนในชั้นอนุบาล 2 ปี ประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี และสุดท้ายมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี 

คำนวณกันเล่นๆ ถ้าคนอายุขัยเฉลี่ย 60 ปี มันกินเวลาถึง 1 ใน 4 ของชีวิต 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในความทรงจำของเราเกี่ยวกับช่วงเวลาเหล่านี้นอกจากเรื่อง “เพื่อน” “แฟน” ยังมีเรื่อง “ครู” รวมอยู่ด้วย

เด็กคนหนึ่งต้องผ่านการสอนจากครูหลายร้อยคนในหลายร้อยวิชาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนจบปริญญาตรี 

แต่มีครูเพียงไม่กี่คนที่เขาจดจำ…

บ่ายวันนั้น ที่หน้าเชิงตะกอน ภายใน ร่างของอาจารย์กำลังมอดไหม้ ผมเคาะประตูเตาเผาศพเบาๆ ลาอาจารย์ครั้งสุดท้าย

“เราเป็นเพื่อนกัน” คำพูดของอาจารย์ฌูอาวยังแว่วอยู่ในสมอง

หลับให้สบายนะครับ “อาจารย์” และ “เพื่อนรัก” ไม่กี่คนในชีวิตของผม

ฌูอาว อะซือเรดู

Ate proxima – – จนกว่าเราจะพบกันอีก

————

* ขอบคุณคุณประเวช ตันตราภิรมย์ เอื้อเฟื้อภาพ

4 thoughts on “เรื่องของฌูอาว

  • Khun Suchen.. Good story. I also have teachers in mind. Great and small. Long lasting and forgettable. Depends on what he acts, teaches, and care for student. Some are English tutor but provided me a wide knowledge in English. Some are monks who taught me and other novices to be calm, and happy on what we are facing / working. Again, good story, and would love to discuss more in Thai sometimes. Either by e mail or post mail to Sarakadee. Somwut

  • มีครูดีๆ ในชีวิตสักคนนี่ดีนะครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นครูที่สอนวิชาความรู้ในห้องเรียน ก็ถือว่าเป็นครูได้

    หนึ่งในครูที่รักมากคนหนึ่งคือ จอห์น คีติ้ง จากภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society

Comments are closed.