กลับไปหน้า สารบัญ ห นึ่ ง ปี อ่ า ว ม า ห ย า แ ล ะ เ ด อ ะ บี ช
    กล่าวกันว่า ที่มาของความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดขึ้นในการถ่ายทำ ภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช (The Beach) ที่อ่าวมาหยา จนกลายเป็นข่าวอื้อฉาว เมื่อปีที่ผ่านมา มาจากบทภาพยนตร์ ไม่กี่บรรทัดเท่านั้น
เรื่องและภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์    นับเป็นเวลานานแล้ว ที่ประเทศไทย อนุญาตให้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ จากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองไทย อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง James Bond 007, Deer Hunter, Good Morning Vietnam, The Killing Fields ซึ่งก็ไม่เคยเกิดปัญหาอะไร แม้กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง Cutthroat Island ซึ่งมาถ่ายทำ ที่อ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี และใช้ตัวประกอบถึง ๕๐๐ คนก็ตาม แต่พอมาถึง เดอะบีช ภาพยนตร์เรื่องนี้ กลับกลายเป็นข่าวอื้อฉาวทันที
    เดอะบีช เป็นนิยายผจญภัย กล่าวถึงตัวเอกของเรื่อง ที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย ขณะพักผ่อนอยู่ในเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่ง ย่านถนนข้าวสาร พระเอกบังเอิญไปพบศพนักท่องเที่ยว ที่อยู่ห้องข้าง ๆ และได้แผนที่ลายแทงไปเกาะสวรรค์ ซึ่งอยู่ทางใต้ของอ่าวไทย การผจญภัยจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีเพื่อนร่วมทาง อีกสองคนชวนกันล่องใต้ ลงเรือข้ามทะเล ไปค้นหาเกาะสวรรค์ตามลายแทง -- เกาะซึ่งมีทั้งหาดทราย เซ็กซ์ กัญชา ฉลาม และศัตรูที่คาดไม่ถึง
    เดอะบีช เป็นนิยายขายดี ติดอันดับ ประพันธ์โดย อเล็กซ์ การ์แลนด์ นักเขียนหนุ่มชาวอังกฤษ
    เมื่อบริษัททเวนตี้เซนจูรี่ฟ็อกซ์ สนใจที่นำนิยายเรื่อง เดอะบีช มาสร้างเป็นภาพยนตร์ จึงส่งทีมงาน เข้ามาสำรวจสถานที่ถ่ายทำในประเทศไทย หาดมาหยา เกาะพีพีเล ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ถ่ายทำ
    การถ่ายทำ น่าจะดำเนินไปด้วยดี หากปราศจากประโยคสั้น ๆ เพียงไม่กี่บรรทัด ที่บรรยายฉากบางฉากไว้ว่า
    "ลากูนหรือทะเลใน ซึ่งซ่อนตัวลึกเข้าไปจากทะเล   และเรือซึ่งผ่านไปมา ลากูนนี้มีหน้าผาล้อมโดยรอบ หาดทรายขาวสะอาด และมีปะการังสวย ๆ เต็มไปหมด ไม่เคยถูกอวน หรือถูกระเบิดจนเสียหายแม้แต่น้อยนิด...
    "ระยะ ๒๐๐-๓๐๐ เมตรจากหาดเข้าไป เป็นระยะที่ทารุณที่สุด มีพุ่มไม้หนาม ซึ่งใบคม ราวกับมีดโกนเต็มไปหมด เราไม่สามารถทำอะไรได้ มากกว่าค่อย ๆ แหวกผ่านเข้าไป อย่างระมัดระวัง ยิ่งเดินลึกเข้าไป แผ่นดินก็ค่อย ๆ ลาดสูงขึ้น และมะพร้าวก็บางตาลงเป็นลำดับ"
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่
        ในหนังสือ ผู้ประพันธ์บรรยายไว้ว่า เกาะสวรรค์แห่งนี้ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ใกล้เกาะสมุย และเป็นชายหาด ที่เห็นดงมะพร้าวอยู่ด้านหลัง ล้อมรอบด้วยหน้าผา
    บังเอิญอ่าวมาหยา ที่อยู่ฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทย มีสภาพภูมิประเทศที่มี "หน้าผาล้อมรอบ" ถูกต้องตามเนื้อเรื่อง อ่าวมาหยาจึงถูกเลือก ให้เป็นโลเกชั่นถ่ายทำ แต่อ่าวนี้ไม่มีมะพร้าวขึ้น เพราะลมมรสุมแรงมาก ดังนั้นภารกิจสำคัญ ของกองถ่ายทำภาพยนตร์ คือ ดัดแปลงภูมิประเทศ โดยล้อมต้นมะพร้าว จากที่อื่นเข้ามาปลูก
    "ตอนนั้นน้ำลง หาดทรายจึงกว้างมาก แซลจัดให้เล่นฟุตบอล และทุกคนก็เข้าร่วมทีม เว้นแต่คิดตี้ ซึ่งไปนั่งดูบนโขดหินใหญ่ ทุกคนเชียร์กันกรี๊ดกร๊าดสนุกสนาน..."
    ในเมื่อนิยายเขียนไว้ว่า ตัวละครในเรื่อง ชวนกันเล่นฟุตบอลชายหาด ทีมงานจึงลำเลียงรถแบ็กโฮ มาที่หน้าหาด แล้วตักทราย ขยายชายหาด ที่แต่เดิมค่อนข้างแคบ ให้กว้างออกไป พอที่จะเล่นฟุตบอลชายหาดได
    ประโยคสั้น ๆ เหล่านี้เอง ที่ทำให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ เดอะบีช หาญกระทำ ในสิ่งที่กองถ่ายภาพยนตร์ จากต่างประเทศกองอื่น ๆ ไม่กล้าทำมาก่อน
คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติ ของชายหาดอ่าวมาหยา ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะพีพี อันเป็นการทำผิด พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔
    ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทย จึงถูกท้าทายด้วยบทภาพยนตร์ฝรั่ง ที่เคารพบทประพันธ์ชนิดเถรตรง คณะผู้สร้างภาพยนตร์ เดอะบีช ปฏิเสธที่จะแก้ไขบทภาพยนตร์ (เพียงไม่กี่ประโยค) ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ตามธรรมชาติของอ่าวมาหยา
    หนึ่งปีผ่านไปหลังกองถ่ายภาพยนตร์ เสร็จสิ้นภารกิจ และสัญญาว่า จะฟื้นฟูอ่าวมาหยา ให้กลับสู่สภาพเดิม ภายในเวลาหนึ่งปี
    อะไรเกิดขึ้นกับอ่าวมาหยาในวันนี้

สภาพการเตรียมการถ่ายทำ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     หมู่เกาะพีพี ซึ่งประกอบด้วย เกาะบิเดะนอก เกาะบิเดะใน เกาะยุง เกาะไผ่ เกาะพีพีดอน และเกาะพีพีเล ถือเป็นส่วนหนึ่ง ของอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี ได้รับการขนานนามว่า เป็นหมู่เกาะที่สวยติดอันดับ หนึ่งในสิบของโลก    
    ผู้เขียนมีโอกาสเห็น หมู่เกาะพีพีเป็นครั้งแรก ขณะอยู่บนเครื่องบิน ที่บินจากภูเก็ตมุ่งหน้าสู่นราธิวาส เพียงไม่กี่นาที ที่เครื่องบินเหินฟ้า จากสนามบินออกสู่ทะเล เกาะเล็ก ๆ หลายเกาะก็ปรากฏแก่สายตา วันนั้นท้องทะเล และท้องฟ้าสดใสเป็นสีเดียวกัน จนแยกไม่ออกว่าเส้นขอบฟ้าอยู่ที่ใด จนกระทั่งเครื่องบิน บินอยู่เหนือเกาะขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายตัว H อันเป็นลักษณะของเวิ้งอ่าวคู่ คืออ่าวต้นไทร และอ่าวโละดาลัม จึงรู้ว่านั่นคือเกาะพีพีดอน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๒๘ ตารางกิโลเมตร ใกล้ ๆ กันคือเกาะพีพีเล มีพื้นที่ ๖.๖ ตารางกิโลเมตร มองจากเครื่องบิน จะเห็นหน้าผาหินปูนสูงชัน ตั้งฉากกับทะเลโดยรอบ เกือบทั้งเกาะ มีอ่าวแห่งหนึ่งเว้าเข้าไปในแผ่นดิน โดยมีภูเขาล้อมเกือบรอบ จนดูเหมือนทะเลสาบ
    นี่เองคืออ่าวมาหยา ที่วันนี้กลายเป็นสถานที่ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
    หากถามคนที่เคยมาเที่ยวหมู่เกาะพีพีว่า ในบรรดาอ่าวต่าง ๆ ในหมู่เกาะแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอ่าวโละซามะ อ่าวปิเละ อ่าวต้นไทร หรืออ่าวโละดาลัม ซึ่งล้วนแต่งดงาม บางอ่าวมีปะการังสีสวย บางอ่าวมีชายหาดงดงาม แต่อ่าวใดที่สวยงามเป็นอันดับหนึ่ง มีครบทั้งหาดทรายสีขาวละเอียดยิบ น้ำทะเลใสราวกระจก ปะการังสีสวย ทัศนียภาพโดยรอบงดงามยิ่ง
    คำตอบ คือ อ่าวมาหยา ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ของนักท่องเที่ยว ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมของกรุ๊ปทัวร์ อ่าวมาหยาจึงเป็นอ่าวที่สงบเงียบ รักษาสภาพธรรมชาติ ไว้ได้อย่างวิเศษ จนกลายเป็นหาดในดวงใจ ของผู้ที่ได้มาเยือน และเป็นเหมือนเกาะสวรรค์ส่วนตัว ในจินตนาการของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง เดอะบีช
    อ่าวมาหยาจึงเหมาะสม ที่จะเป็นโลเกชั่นสำคัญ สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้
    ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ บริษัททเวนตี้เซนจูรีฟ็อกซ์ ส่งตัวแทนของบริษัท ในประเทศไทยมาติดต่อกับทางการ เพื่อขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช ในประเทศไทย ซึ่งได้กำหนดสถานที่ไว้หลายแห่ง บริเวณหนึ่งคือ อ่าวมาหยา โดยจะมีการปรับแต่งชายหาด เพื่อนำต้นมะพร้าวมาปลูกประมาณ ๑๐๐ ต้น (ภายหลังลดลงเหลือ ๖๐ ต้น) และขุดทรายหน้าหาด ปรับพื้นที่หาดทรายให้กว้างออกไปกว่าเดิม
    ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑ บริษัทฯ ยื่นหนังสือต่อกรมป่าไม้ เพื่อขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี กรมป่าไม้อนุญาต ให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว โดยในสัญญาระบุว่า มีเงินค้ำประกันความเสียหาย ๕ ล้านบาท เงินสนับสนุนกรมป่าไม้ ๔ ล้านบาท
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     ในขณะที่นักกฎหมายหลายคน ออกมาชี้ว่า กรมป่าไม้ไม่มีอำนาจอนุญาต ให้กองถ่ายนำอุปกรณ์ เข้าไปตกแต่งพื้นที่หาดมาหยา และปลูกมะพร้าว โดยนายพนัส ทัศนียานนท์ นักกฎหมาย จากศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม ได้ชี้ประเด็นว่า  "ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๑๖ ระบุว่า ภายในเขตอุทยาน ห้ามบุคคลใดเข้าไปเคลื่อนย้าย หรือทำให้เสื่อมค่า แก่หิน กรวด หินทราย ซึ่งระบุรวมถึง เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ด้วย แต่มาตรา ๑๙ ได้เว้นช่อง ให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ สามารถทำได้ เพื่อประโยชน์ ในการคุ้มครองอุทยาน  แต่มาตรา ๑๗ ก็ระบุด้วยว่า จะใช้มาตรา ๑๙ ได้ต้องเกี่ยวข้องกับ การคุ้มครองอุทยาน การให้การศึกษา หรืองานวิจัย เพื่อความสะดวก ในการทัศนาจร แต่การอนุญาตให้ถ่ายหนัง ไม่เกี่ยวกับข้อใดข้อหนึ่ง ในมาตรา ๑๗ กรมป่าไม้จึงไม่มีสิทธิ์อนุญาต ให้ใครไปถ่ายหนังในอุทยาน"
    เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร. วรพจน์ วิศรุษพิชญ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในตัวแทนของคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวน ๓๗ คน ที่ลงชื่อไม่เห็นด้วย กับการอนุญาตให้มีการถ่ายทำ ภาพยนตร์เรื่องนี้    
    "อธิบดีกรมป่าไม้ ไม่มีอำนาจในการอนุญาต เนื่องจากเป็นการอนุญาต ที่ผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ที่วางกรอบว่า สามารถอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์   แต่ไม่ใช่การเข้าไปแผ้วถาง เปลี่ยนสภาพพื้นที่อุทยาน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย เพราะแม้แต่พนักงานของรัฐ ก็ไม่สามารถทำได้"
    แต่นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้   ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมมีอำนาจตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ มาตรา ๑๙ ว่าด้วยการสนับสนุน ให้การศึกษา การท่องเที่ยว การอำนวยประโยชน์ การบริการในอุทยานแห่งชาติ โดยให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแล จึงอนุญาตให้บริษัท ดำเนินการใด ๆ ภายใต้การกำกับของกรมป่าไม้"
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความขัดแย้ง ระหว่างนักอนุรักษ์ และชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย กับการอนุญาต ให้มีการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ของหาดมาหยา เพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์ กับฝ่ายกรมป่าไม้ และตัวแทนกองถ่ายได้ระอุขึ้น มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อต่าง ๆ จนกระทั่งกรมป่าไม้ ได้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาผลกระทบ มี ดร. สุรพล สุดารา เป็นประธาน   และได้ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงชายหาด ของอ่าวมาหยา เพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์นั้น มีผลกระทบบ้าง แต่สามารถควบคุม และฟื้นฟูได้ จึงสมควรอนุญาตให้ถ่ายทำได้ ซึ่งนำไปสู่ ความชอบธรรมอีกครั้งหนึ่ง ในการถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่อง เดอะบีช ที่อ่าวมาหยา กรมป่าไม้ ได้ทำข้อตกลงเพิ่มเติม กับทางบริษัทฯ ว่า เมื่อการถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จสิ้น บริษัทฯ จะต้องรื้อถอนต้นมะพร้าว นำสิ่งก่อสร้าง ออกไปทั้งหมด และทำการฟื้นฟูอ่าวมาหยา ให้อยู่ในสภาพเดิม
    จากเดือนพฤศจิกายนปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชน คือ รถแบ็กโฮ เดินเครื่องขุดไถชายหาด, พืชชนิดต่าง ๆ ที่ปกป้องเนินทราย และชายหาด ให้รอดพ้นจากแรงลม ไม่ว่าจะเป็นพลับพลึงทะเล เตยทะเล รักทะเล ผักบุ้งทะเล ถูกขุดย้ายออกไป, เรือแพที่บรรทุกมะพร้าว ๖๐ ต้น แล่นผ่านแนวปะการังน้ำตื้นมาขึ้นหาด และเหตุการณ์ที่ขัดตา ขัดความความรู้สึก ของคนทั่วไป คือ การสั่งห้าม ไม่ให้นักท่องเที่ยว และบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต ขึ้นอ่าวมาหยาอย่างเด็ดขาด ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการสั่งห้าม ที่ผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง
    ดร. ปาริชาติ ทวีบุรุษ แห่งคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ซึ่งเคยเดินทาง มาสำรวจอ่าวมาหยา เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๒ ก่อนการถ่ายทำภาพยนตร์ ได้ทำรายงาน การสำรวจเบื้องต้นไว้ว่า
    "เนื่องจากมีการเปิดร่องสันทราย และขุดย้ายพืชคลุมดิน บริเวณสันทรายออกไป บริเวณสันทราย จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แนวสันทราย ความยาวประมาณ ๕ - ๑๐ เมตร ที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่บริเวณด้านขวา มีพรรณไม้หลากหลายชนิด จนจัดเป็นสังคมพืชชายหาด ได้ถูกกัดเซาะโดยคลื่น เพราะขาด พรรณพืชคลุมสันทรายเหมือนเดิม ประกอบกับ การเปิดร่องสันทรายออกไปสองบริเวณ เพื่อให้มองเห็นหาดทรายชัดขึ้น ตามบทภาพยนตร์ ทรายบนสันทรายดังกล่าว ยังไม่เกาะติดแน่น ตามลักษณะของสันทรายทั่วไป โอกาสที่จะถูกกัดเซาะยิ่งมากขึ้น ตามลำดับ...
    ปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติ ได้ถักทอให้เกิดแนวสันทรายตามธรรมชาติ ใช้เวลาหลายร้อยปี เท่าอายุของอ่าวมาหยา เมื่อถูกเปิดร่องสันทราย และขุดหน้าสันทราย ออกไปบางส่วน ความแข็งแรงจึงไม่คงเดิม กาลเวลาผ่านไป ยิ่งเมื่อฤดูมรสุมเข้ามา   แนวสันทราย จะถูกกัดเซาะอย่างหนัก ถ้าไม่มีแผนป้องกันที่ดีพอ แนวสันทราย ก็จะหายไปได้ในที่สุด"


คลิกเพื่อดูภาพใหญ่
    ฤดูมรสุมผ่านไป คนกลุ่มหนึ่งเดินทางไปเยือนหมู่เกาะพีพี ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๒ ครบหนึ่งปี หลังจากที่ กองถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช ได้รับอนุญาต ให้เข้ามาถ่ายทำ ที่อ่าวมาหยา
    อะไรเกิดขึ้น กับอ่าวมาหยาภายหลัง หนึ่งปีผ่านไป
    จากท่าเรือเจ้าฟ้า ในตัวเมืองกระบี่ ผู้เขียน, ดร. ปาริชาติ ทวีบุรุษ และคนในท้องถิ่น นั่งเรือเฟอรี่ปรับอากาศ ราคาค่าตั๋ว ๒๕๐ บาท มุ่งหน้าไปเกาะพีพีดอน ตลอดระยะทาง ๔๐ กิโลเมตร ทะเลไร้คลื่นลมรุนแรง ประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็ถึงอ่าวต้นไทร
    เรือเร็วที่อ่าวต้นไทร นำคณะแหวกคลื่นลม ไปสู่เกาะพีพีเล ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ ๒๐ นาที ก็ถึงอ่าวมาหยา ในเวลาเดียวกับที่เรือ อันดามันปรินเซส กำลังนำลูกทัวร์มาดำน้ำ ดูปะการัง และนอนเล่นที่ชายหาด ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร
    เครื่องยนต์เรือเบาเสียงลง เมื่อเรือมาลอยอยู่หน้าหาด น้ำทะเลใส เหมือนกระจก จนเห็นปะการังสีสวย และปลาแหวกว่ายไปมาชัดแจ๋ว ก้าวแรกที่เหยียบบนหาด รู้สึกได้ถึงความนุ่ม ของทรายสีขาวเม็ดละเอียด ที่เกิดจากซากปะการัง เมื่อมองขึ้นไปบนหาด ก็เห็นภาพหาดทราย ถูกคลื่นซัด จนแนวหาดร่นเข้าไป ๒ - ๓ เมตร เป็นแนวยาว สันทรายเบื้องหน้า อยู่ในสภาพทรุดโทรม จากการกัดเซาะของคลื่น จนสันทรายบางส่วน พังทลายลงมา ทำให้ต้นไม้หลายชนิด ที่ไม่มีทรายรองรับหักโค่นลง ดร. ปาริชาติตั้งข้อสังเกตว่า
    "แนวสันทรายแนวยาว ที่ถูกคณะถ่ายทำภาพยนตร์ เปิดออกสองตอน มีการพังทลาย ของทรายบริเวณนี้อย่างชัดเจน ประกอบกับสันทราย ขาดสิ่งยึด คือ ไม่มีพรรณไม้ หลากหลายชนิด ที่เคยมีอยู่เดิม ประสิทธิภาพ ในการคลุมสันทราย จึงลดน้อยลง ทำให้เกิดการพังทลายเร็วขึ้น และจะส่งผล ให้การกัดเซาะสันทราย ทวีความรุนแรงขึ้น ถ้าไม่ปรับปรุง หรือแก้ไข แนวสันทราย ก็จะหายไปในที่สุด"
    เราเดินลึกเข้าไปหลังแนวสันทราย ไม่พบต้นมะพร้าว หลงเหลืออยู่ แสดงว่า มีการนำออกไปตามสัญญา แต่ผลจากการขุดพื้นทราย เพื่อวางท่อรดน้ำต้นไม้ และขุดถอนต้นมะพร้าว ปรากฏว่า ไม่มีการปรับเกลี่ย สภาพพื้นดินแต่อย่างใด
    นายสันต์ เปสตันยี กรรมการผู้จัดการ บริษัทซันต้าอินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มโปรดักชั่น ซึ่งเป็นบริษัท ที่ประสานงาน กับกองถ่ายทำภาพยนตร์ เดอะ บีช และเป็นผู้รับผิดชอบ ในการฟื้นฟูสภาพหาดมาหยา
ได้กล่าวถึงปัญหา การพังทลายของชายหาดว่า
    "อ่าวมาหยามีลมค่อนข้างแรง คลื่นพายุค่อนข้างสูง ระดับคลื่นในอ่าว บางทีสูงถึง ๓-๔ เมตร ปีนี้มรสุมค่อนข้างแรง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาด เป็นแนวยาว แต่เป็นเรื่องของธรรมชาติ สภาพของหาด จะแปรไปตามลมมรสุม ในแต่ละปี"
    เช่นเดียวกับรายงานของกรมป่าไม้ ที่ระบุว่า สาเหตุที่ปีที่ผ่านมา หาดทรายถูกถล่มยาวลึกเข้าไป ๒ - ๓ เมตรนั้น เนื่องจากมีพายุ และลมมรสุมแรงกว่าทุกปี และทุกปีหาดทราย ก็ถูกถล่มเข้าไปประมาณ ๑ เมตร เป็นปรกติอยู่แล้ว ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ก็ไม่ได้โทษบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ แต่อย่างใด เพราะเข้าใจว่า เป็นเพราะพายุแรง
    เป็นที่น่าสังเกตว่า บริเวณที่กองถ่าย ขุดหาดทราย เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์นั้น ไม่ได้ขุดตลอดหาด แต่หาดทราย กลับถูกพายุถล่มพังหมดทั้งหาด
    ก่อนหน้านี้ ดร. สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ วิศวกรชายฝั่ง แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เดินทาง ไปสำรวจอ่าวมาหยาเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๒ และรายงานไว้ว่า
    "จากการตรวจสอบคุณลักษณะของทราย ที่ชายหาดด้านหน้า พบว่า ที่ความลึก ๓๐ เซนติเมตร เป็นชั้นทรายละเอียด และปานกลาง ในขณะที่ความลึก ๕๐ เซนติเมตร พบว่า เป็นชั้นเปลือกหอยหยาบ และมน ทำหน้าที่เสมือนฐานรองรับ ทรายชั้นบน การวางตัวเช่นนี้ จึงต้องระมัดระวัง ไม่ให้ผิวบนของหาดทราย ได้รับความกระทบกระเทือน เพื่อไม่ให้โครงสร้างเดิมเสียไป จากสภาพทั่วไป พบว่า มีการปรับแต่งชายหาด ทำให้เกิดการพังทลาย ของหน้าหาดลงมา และในช่วงลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ ปรกติถ้าลมพัด ด้วยความเร็ว ๗๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง จะเกิดคลื่นสูง ๒.๕ เมตร และคลื่นนี้ จะยกตัวขึ้น และแตกออก เหลือความสูงประมาณ ๑ เมตร เมื่อเคลื่อนเข้าสู่อ่าว ปะทะกับชายหาด อย่างไรก็ตาม คลื่นนี้จะแตกออก หรือสูญเสียพลังงาน เมื่อกระทบกับแนวปะการัง จะเห็นได้ว่า แนวปะการังมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการป้องกันชายหาด และทั้งหมดนี้ พอสรุปได้ว่า
    ในฤดูมรสุมจะเกิดคลื่นโถม และไถลเข้าสู่หาด อันเป็นมูลเหตุ ให้พันธุ์พืชที่รากไม่มั่นคง ถูกพัดพาไปได้
    ไม่ควรมีการปรับแต่งชายหาดด้านหน้า เพราะผิวบนเป็นทรายละเอียด ที่มีความหนาน้อยมาก
    การเปลี่ยนแปลงความลาดชันของหาดด้านหน้า จะทำให้ง่าย ต่อการกัดเซาะคลื่น และอาจก่อให้เกิด การพังทลายของหาดทรายด้านใน"
    ทางด้าน ดร. ฉวีวรรณ หุตะเจริญ ผู้อำนวยการ ส่วนวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่ติดตามการฟื้นฟูธรรมชาติ ที่อ่าวมาหยา ให้ความเห็นว่า
    "ตามข้อตกลง ทางบริษัทฯ ต้องฟื้นฟูธรรมชาติ ให้เหมือนเดิม เขาก็รักษาสัญญา ย้ายต้นมะพร้าวออกไปหมด โดยตัดออกเป็นท่อน ๆ แล้วห่อออกไป ช่วงที่ปลูก เขาก็ทำสปริงเกอร์ ไปตามแนวต้นไม้ เขาดูแลให้น้ำมาเรื่อย แทงก์น้ำยังทิ้งเอาไว้ เขาเผื่อว่าน้ำขาดเมื่อไหร่ ก็จะปล่อยน้ำจากตรงนั้น เราทราบว่า เขาซื้อน้ำมา วันละ ๔ หมื่นบาท เพื่อใช้รดต้นไม้ พวกต้นไม้ที่ย้ายมาไว้ในแปลงเพาะชั่วคราว ก็ย้ายกลับไปปลูกใหม่ ในที่เดิม สภาพก็อยู่ในเกณฑ์ดี
    "ขณะนี้เราพอใจในสิ่งที่เขาทำ เพราะเขามีความระมัดระวังพอสมควร แม้แต่ตอนที่เขาเอาเรือเข้า เขายังเอาประดาน้ำดำ ลงไปใต้ท้องเรือ เราคิดว่าบริษัทใหญ่ ๆ คงกลัวเสียชื่อเสียง อย่าลืมว่า หนังเรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลกแล้ว เพราะฉะนั้น เขาต้องพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่าง ให้เป็นไปตาม ที่กรมป่าไม้ต้องการให้ได้ ที่ผ่านมา เราก็เห็นว่า เขานำนักพฤกษศาสตร์มาด้วย คือ มิสเตอร์รอช พาเมอร์ส และก็จ้างสถาปนิกคนไทย ที่จบจากลาดกระบัง ประจำอยู่ที่เกาะ รอช เป็นคนละเอียดมาก เขาจะสั่งเรือ ที่ขนต้นมะพร้าวว่า เรือต้องมาวันนี้ เวลานี้ เพราะน้ำขึ้นพอดี มาช้าเขาไล่กลับเลยนะ เราถึงบอกว่า เขาระวังไปหมดทุกเรื่อง"
    รายงานจากกรมป่าไม้ระบุว่า ในทางวิชาการแล้ว สภาพการปลูกต้นไม้ บริเวณอ่าวมาหยา อยู่ในเกณฑ์ดี ต้นไม้ทุกชนิดขึ้นหมด ทั้งพลับพลึงทะเล หญ้าข้อแดง และผักบุ้งทะเล เริ่มคืบยาว
    เช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้บริษัท Physalia Ocean Sciences (POS) ซึ่งทำการประเมินผล การลดผลกระทบ ทางสิ่งแวดล้อม จากการถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่องเดอะบีช เข้ามาตรวจพื้นที่ ในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๒ และหลังพายุพังหาด ในวันที่ ๗-๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ได้ให้ข้อสรุปว่า ในด้านการฟื้นฟูพรรณพืช POS ให้ความเห็นว่า Beach Productions Ltd. ได้ปลูกพืชท้องถิ่น และจัดตั้งระบบสปริงเกอร์ให้น้ำ จนระบบรากพืช ฟื้นฟูกลับคืนดังเดิม และทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวอย่างเต็มที่ เป็นปรกติเรียบร้อยแล้ว จึงเห็นสมควรให้ Beach Productions Ltd. ยุติกิจกรรมดูแลพื้นที่ดังกล่าว เพราะเมื่อพืชฟื้นฟูแล้ว ก็ถือว่าสิ้นสุดความรับผิดชอบ
ภาพถ่ายทางอากาศ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     อย่างไรก็ตาม ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ตั้งข้อสังเกตว่า
    "เมื่อข้าพเจ้าลงดูพื้นที่ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่าไม่มีระบบให้น้ำในพื้นที่ ที่ฟื้นฟูแล้ว แม้ว่าจะเริ่มเข้าหน้าแล้งก็ตาม ยังคงเหลือแต่ป้าย และรั้วไม้ไผ่ ต้นพลับพลึงทะเล (Crinum sp.) ซึ่งเป็นพืชหลัก ที่ถูกขุดล้อมออก เพื่อเตรียมพื้นที่ถ่ายทำหนัง และได้นำมาปลูกใหม่นั้น ใบเริ่มเหลืองไปทั้งดง ในขณะที่ต้นพลับพลึงทะเล ในบริเวณอื่น ที่ไม่ได้ขุดออกไป ยังคงเขียวสดอยู่ และยังไม่มีทีท่า จะผลัดใบ เพราะเพิ่งย่างเข้าช่วงต้นฤดูแล้ง แสดงให้เห็นชัดว่า ระบบรากอันซับซ้อน ของต้นพลับพลึงทะเล ยังไม่ฟื้นฟูเพียงพอ ที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ความเขียวสดที่ POS เห็นเมื่อสองอาทิตย์ก่อนนั้น เป็นผลจากการเลี้ยงไข้ชั่วคราว ของระบบสปริงเกอร์ให้น้ำ
    "เนื่องจากพื้นที่ชายหาดเป็นทราย ไม่อุ้มน้ำ และขาดแร่ธาตุ จึงเป็นธรรมชาติของพืชชายหาด ที่จะเติบโตได้ช้า เช่นเดียวกับพืชชายหาด อีกหลายชนิด ต้นพลับพลึงทะเล มีระบบรากแผ่กว้าง เป็นร่างแหสลับซับซ้อน เชื่อมโยงต่อกัน เป็นแผงใยแมงมุมขนาดยักษ์อยู่ใต้ดิน เพื่อปรับตัว ให้ยึดผืนทรายที่ไม่มั่นคงอยู่ได้ และเพื่อดูดเก็บความชื้น และแร่ธาตุได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในสภาพแวดล้อมอันขาดแคลน ที่มันอาศัยอยู่ การขุดล้อมต้นพลับพลึงทะเล จึงเป็นการตัดระบบรากสำคัญนี้ออกไป ซึ่งถ้าหากฟื้นฟูได้ ก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะเติบโตได้ เพียงพอต่อการใช้งาน โดยไม่ต้องให้น้ำเลี้ยงดู พลับพลึงทะเล ที่นำกลับมาปลูกใหม่ที่ POS เห็นนั้น จึงมีสถานภาพ ไม่ผิดไปจากดอกไม้ปักแจกัน"
    ถึงตอนนี้ดูเหมือน จะไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า ชายหาดและสันทราย ที่ถูกคลื่นซัดจนพังทลาย
ต้นไม้เก่า และที่นำมาปลูกใหม่ ถูกน้ำเซาะจนพังลงมา และบางส่วน ถูกลากลงทะเลไปนั้น สาเหตุเกิดจากลมพายุ หน้ามรสุมที่รุนแรงกว่าปรกติ หรือเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ โดยการเอารถแบ็กโฮ ไปขุด และไถสันทราย ที่มีพืชท้องถิ่นปกคลุมอยู่ ทั้งที่สันทราย ที่มีพืชคลุมอยู่ เปรียบเสมือนเขื่อน คอยป้องกันไม่ให้หาดทราย โดนพายุพัดพัง และเมื่อมาเจอพายุ ที่รุนแรงกว่าปรกติ ยิ่งทำให้ชายหาดทรุดโทรมลงไปอย่างที่เห็น
คุณสุรัตน์ เจียวก๊ก คนท้องถิ่น (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     ยังไม่มีการสำรวจความเสียหาย ของปะการัง ภายหลังจากที่แพขนานยนต์ ของกองถ่าย ที่บรรทุกอุปกรณ์การถ่ายทำขนาดหนัก แล่นเข้าไปเทียบชายหาด
    แต่จากสายตาของคนทั่วไป หาดมาหยาคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ร่องรอยที่ดูบอบช้ำ ของหาดแห่งนี้ คงต้องรอเวลา ให้ธรรมชาติเยียวยา รักษาตัวเอง
    ในขณะที่หลายคน อาจจะพูดว่า "อย่าซีเรียส เดี๋ยวทุกอย่างก็กลับคืนมาเอง" แต่สำหรับชาวเกาะพีพี เจ้าของพื้นที่เล่า... พวกเขาคิดอย่างไร ?
    "ผมไม่ค่อยรู้สึกมาก เรื่องการปลูกมะพร้าว   แต่การเอารถแบ็กโฮ มาตักหาดทราย มันสลดใจมาก ผมคิดว่า ตอนนี้ไม่มีใครเห็นผลกระทบ ของหาดมาหยา แต่พอมรสุมผ่านไปแล้ว จะรู้ว่ามันทรุดโทรมแค่ไหน อีกสี่ห้าปี คงไม่มีหาดเหลืออยู่ เพราะน้ำทะเลมันเซาะทุกปี และไม่มีรากต้นไม้ คอยยึดหน้าดิน หรือสันทรายเอาไว้ ฝรั่งนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง ที่มาทุกปีบอกผมว่า ทำไมต้องทำขนาดนี้ด้วย ...ชาวบ้านคนหนึ่ง ที่ไปรับจ้างปิดอ่าวประท้วง พวกต่อต้านการถ่ายหนัง บอกผมว่า ไม่เคยมีรายได้มากเท่านี้มาก่อน คือได้เงินวันละ ๑,๕๐๐ บาท ผมชี้หน้ากลับไปว่า ทำแบบนี้ อีกหน่อยก็จะไม่มีอะไรเหลือให้ลูกหลานกิน" ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายหนึ่ง บนเกาะพีพีดอน ที่อาศัยอยู่ที่นี่มานับสิบปี ให้ความเห็น
    สุรัตน์ เจียวก๊ก เจ้าของเรือท่องเที่ยว ที่นำเราไปอ่าวมาหยา ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว อยู่ที่เกาะพีพีมาร่วม ๒๐ ปี ให้ความเห็นว่า
    "เขาบอกว่า ถ้าหนังเรื่อง เดอะบีช ออกฉายไปทั่วโลก จะมีรายได้เข้าประเทศ เพราะประเทศไทย เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก แต่ในความรู้สึกของผม ที่นี่คือบ้านของผม ผมอยากถามคนเหล่านั้นว่า ถ้าคุณมีธรรมชาติ ที่เป็นสมบัติล้ำค่าอยู่ คุณอยากให้คนอื่น มาทำกับธรรมชาติของคุณ แบบนี้ไหม"
    ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับ ทราบว่าภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช มีกำหนดฉายที่เมืองไทย ในปลายเดือนมกราคม ๒๕๔๓ ผู้เขียนนึกถึง ภาพยนตร์ชื่อดังเรื่องหนึ่ง ที่ออกฉายเมื่อปี ๒๕.... คือ A Passage to India กำกับการแสดงโดย เดวิด ลีน ถ่ายทำในประเทศอินเดีย มีฉากหนึ่ง ที่ผู้กำกับชื่อดัง ต้องการระเบิดภูเขา เพื่อให้ถูกต้องตามบทภาพยนตร์ แต่รัฐบาลอินเดียไม่อนุมัติ เพราะเป็นการทำลายธรรมชาติ จึงมีการแก้ไขบทภาพยนตร์ เมื่อมีการนำภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกฉายทั่วโลก ก็ประสบความสำเร็จ
    ตัวอย่างนี้สะท้อนว่า ถ้าข้าราชการ ของประเทศนั้น "มองไกล" และยืนหยัด ที่จะไม่อนุญาตให้ใครมา ทำลายธรรมชาติ ในบ้านตน ก็สามารถทำได้ ส่วนฝ่ายเจ้าของภาพยนตร์นั้น การแก้ไขบทภาพยนตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คงไม่ถึงกับ ทำให้ภาพยนตร์สูญเสียคุณภาพแต่อย่างใด
    A Passage to India บอกคนไทย และ เดอะบีช ไว้อย่างนั้น

สนับสนุน หรือ คัดค้าน สิทธิคนไทย กับการดูหนังเรื่อง Anna and the King
มหาวิทยาลัยนอกระบบ
นกปรอดหัวโขน   เสียงขับขาน จากกรงเลี้ยง

สารบัญ | จากบรรณาธิการ | Y3K จะเป็นอย่างไร
ตำนานแห่ง ไวกิ้งหญิง | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา
Famtrip to Malaysia-Singapore
Wetlands: The "Smooth" Life at Three Hundred Peak Water Plain

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]