Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
ท า เ ค ชิ คิ ต า โ น ห นั ง ย า กู ซ่ า ส า ย พั น ธุ์ ใ ห ม่
ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ
      หนังของ ทาเคชิ คิตาโน กำลังเป็นที่จับตามองของแฟนหนังทั่วโลก ด้วยรสชาติของความรุนแรงที่ไม่เหมือนใคร มีอารมณ์ขันร้ายลึก ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความสะเทือนใจออกมาได้ การตัดต่อที่สร้างผลทางความรู้สึกสูง พร้อมด้วยการใช้ขนาดภาพในหนังอย่างแม่นยำ ลีลาทีเล่นทีจริงที่เผลอเอาจริงโดยไม่รู้ตัว และการที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้เขากลายเป็นคนทำหนังระดับแนวหน้าของญี่ปุ่น ในฝรั่งเศสนับถือเขาราวกับเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของวงการภาพยนตร์ทีเดียว
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     ทาเคชิ คิตาโน เป็นผู้กำกับชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่มาแรง และสร้างสมชื่อเสียงมาเรื่อย ๆ ตลอดทศวรรษ ๑๙๙๐ หนังของเขาเริ่มเป็นที่จับตามองในต่างแดนด้วยเรื่อง Sonatine ได้รับการยกย่องมากขึ้นหลังจาก Kids Return และประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อ Hana-Bi คว้ารางวัล Silver Lion จากเทศกาลหนังเวนิซในปี ๑๙๙๘ ปีที่แล้วผู้คนคาดหวังไว้ไม่น้อยกับหนังใหม่ของเขาเรื่อง Kikujiro ซึ่งเป็นหนังว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ไม่มีกลิ่นอายของมาเฟียอย่างที่คนดูคุ้นเคย ล่าสุดคิตาโนเพิ่งปิดกล้องหนัง ที่ไปถ่ายทำในอเมริกาชื่อ Brother ซึ่งหวนกลับมาจับหนังยากูซ่าอีกครั้ง
    คิตาโนเกิดที่โตเกียวในปี ๑๙๔๗ เข้าสู่วงการบันเทิงในฐานะนักแสดงตลกในปี ๑๙๗๒ ทั้งที่เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ ปีต่อมาเขาได้ตั้งคณะแสดงตลกนาม Two Beat โดยแสดงคู่กับ คิโยชิ คาเนโกะ โดยคิตาโนจะเป็นที่รู้จักในนาม Beat Takeshi คณะตลกคู่ Two Beat ได้ออกโทรทัศน์ครั้งแรกในปี ๑๙๗๕ อีกสามปีต่อมา คณะนี้ก็ดังระเบิด การแสดงคู่ไมโครโฟน ของทั้งสองได้รับความนิยมท่วมท้นในญี่ปุ่น
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     คิตาโนเริ่มเข้าสู่วงการหนังตั้งแต่ปี ๑๙๘๑ แต่มาดังจริง ๆ ในปี ๑๙๘๓ จากบทนายสิบใน Merry Christmas Mr. Lawrence ของ นากิสะ โอชิมา คิตาโนประเดิมงานกำกับครั้งแรก ปี ๑๙๘๙ ด้วยเรื่อง Violent Cop ซึ่งสามารถคว้ารางวัล จากการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติ ถึงหกรางวัลด้วยกัน รวมทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยม ตามด้วย Boiling Point (๑๙๙๐) และ A Scene at the Sea (๑๙๙๑) ก็สามารถกวาดรางวัลในบ้านเกิดไปได้ถึงแปดรางวัล คิตาโนเริ่มสร้างชื่อในต่างประเทศด้วย Sonatine (๑๙๙๓) เมื่อหนังเรื่องนี้ส่งเข้าประกวด ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ อีกสองปีต่อมา คิตาโนทำเรื่อง Getting Any? (๑๙๙๕) และมาโด่งดังกับ Kids Return (๑๙๙๖) เมื่อหนังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์อีกครั้ง ในที่สุด Hana-Bi (หรือ Fire works) ก็ประสบความสำเร็จสูงสุดในระดับนานาชาติ
    นอกเหนือจากการทำหนัง คิตาโนยังแสดงในรายการโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดัง และหันมาจับงานวาดภาพในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งผลงานวาดภาพของเขาได้ปรากฏในหนังเรื่อง Hana-Bi โปสเตอร์หนังเรื่อง Kids Return ก็เป็นฝีมือการวาดของเขาเช่นกัน คิตาโนเคยบอกว่าแม้เขาจะคร่ำเคร่งกับการทำหนัง แต่ก็สมัครใจที่จะทำงานด้านอื่นเสริม เพราะว่ามันเกื้อหนุนและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้เขาอยู่เสมอ ดังนั้นเขาจึงยินดี ที่จะทำรายการตลกเหมือนเช่นเคย พักผ่อนด้วยการวาดภาพ และเล่นปาจิงโกะ    
    ในฐานะคนทำหนัง คิตาโนไม่เพียงแต่รับบทผู้กำกับ เขายังเขียนบท ตัดต่อ และแสดงนำในหนังของตนเองอยู่หลายเรื่อง สำหรับคนที่เคยดูงานของเขามาก่อนย่อมทึ่งเป็นธรรมดา เพราะว่าหนังที่คิตาโนเหมาหมดถึงสี่ตำแหน่งในเรื่องเดียว คุณภาพของหนังก็ไม่ได้ย่อหย่อนแต่อย่างใด
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     แม้ว่าหนังญี่ปุ่นร่วมสมัย จะห่างไกลจากสายตานักดูหนังชาวไทยอยู่มาก แต่หนังทุกเรื่องของคิตาโน ได้มีโอกาสฉายในเมืองไทย ในเทศกาลหนังญี่ปุ่น และเทศกาลหนังกรุงเทพฯ ส่วน Kikujiru (๑๙๙๙) ปรากฏโฉมทางเคเบิลทีวี
    หากจะให้จำแนกประเภทหนังของคิตาโน คงยากจะบอกว่าเป็นแอ็กชัน คอมิดี้ หรือดราม่า แต่ทั้งหมดได้ผสมรวมเป็นหนึ่งเดียว และนี่คือจุดเด่นในหนังของคิตาโน เพราะขณะที่กำลังโหด ๆ อยู่ก็สามารถแทรกใส่อารมณ์ขันร้าย ๆ ไว้ได้ แต่เมื่อหนังคลี่คลาย จึงรู้สึกได้ถึงความเป็นดราม่าที่ห่อหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง ผู้ที่ได้ดูหนังของคิตาโน คงเข้าใจลักษณะที่ว่านี้เป็นอย่างดี และการที่หนังของคิตาโน สามารถสร้างความโดดเด่น และเข้าไปเกาะกุมหัวใจ ของนักดูหนังทั่วโลก เป็นเพราะเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาดังที่กล่าวมา
    หนังส่วนใหญ่ของคิตาโน เป็นเรื่องเกี่ยวกับยากูซ่าจนคนดูคุ้นเคย แถมภาพของยากูซ่าก็ยังติดตัวเขา ในฐานะนักแสดงอีกด้วย อีกทั้งยากูซ่าตัวจริง ก็ยังชื่นชมและนิยมหนังของคิตาโน เขาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาไปเดินเล่นอยู่ในโอซากา แล้วรู้สึกว่ามีพวกยากูซ่ามาป้วนเปี้ยนอยู่รอบตัว ภายหลังถึงได้รู้ความจริงว่ายากูซ่าท้องถิ่น ได้ส่งลูกน้องมาอารักขา เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะปลอดภัยในถิ่นนี้ ทำเอาคิตาโนสาบานว่าจะไม่ไปเพ่นพ่านแถวนั้นอีก
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     ความรุนแรงในหนังของคิตาโน เป็นความรุนแรงในแบบที่เราจะไม่มีวันได้พบ ในหนังมาเฟียประเทศไหน ถึงจะเห็นเลือดน้อยกว่า แต่รสชาติของความรุนแรงที่ได้รับนั้นเท่าเทียม หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ อีกทั้งความโหดที่ปรากฏในหนังยังออกมาในลีลาแบบทีเล่นทีจริง ดังเช่น ฉากทรมานคนเพื่อเค้นเอาความจริงใน Sonatine เหยื่อถูกมัดอยู่กับเครน มูราคาวาซึ่งสวมบทโดยคิตาโน สั่งให้ลองเอาเหยื่อจุ่มน้ำดูเพื่อทดสอบว่าคนเราจะทนอึดในน้ำได้นานแค่ไหน พอครบ ๑ นาทีก็ยกขึ้น ปรากฏว่ายังไม่ตาย เขาเลยสั่งให้ลองใหม่อีก ๒ นาที ปรากฏว่ายังเป็นอยู่ ทีนี้พอครบ ๓ นาทีเหยื่อก็กลายเป็นศพ คำพูดทิ้งท้ายของมูราคาวามีเพียง ตกลงต้อง ๓ นาทีถึงจะตายได้Ž จากนั้นก็เดินหนีไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาทำราวกับจะเล่นตลกกับเหยื่อเท่านั้น ไม่ได้คิดฆ่าจริง
    หนังของคิตาโนมักจะวนเวียนอยู่ในแวดวงอาชญากรรม ใน Violent Cop เขารับบทตำรวจตงฉินที่มีความประพฤติบ้าระห่ำ มีทั้งศัตรูภายนอกอย่างพวกยากูซ่า ศัตรูภายในอย่างตำรวจคอร์รัปชัน และยังมีปัญหาส่วนตัวคือต้องดูแลน้องสาวสติฟั่นเฟือน ความกดดันรอบข้างทำให้เขาทะลักจุดเดือด ระเบิดความแค้น และลงมือปฏิบัติการอย่างรุนแรงต่อศัตรูทั้งหมด ด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก Boiling Point หนังเรื่องที่ ๒ ก็ยังเกี่ยวข้องกับยากูซ่าอีก เป็นเรื่องของเจ้าหนุ่มท่าทางทึ่ม ซึ่งทำงานในปั๊มน้ำมัน และเผลอมีเรื่องกับพวกยากูซ่า จากนั้นทางปั๊มก็ถูกก่อกวนเรื่อยมา เขาจึงเดินทางไปต่างเมืองเพื่อซื้อปืนมาล้างแค้น แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามแผน และทั้งหมดเป็นเพียงความฝันของพระเอก ที่หวังจะเป็นฮีโร่กับเขาบ้าง เรื่องนี้คิตาโนไม่รับบทพระเอก แต่รับบทเป็นยากูซ่าทะลึ่งทะเล้น ซึ่งมีความโหดที่แปลกกว่าชาวบ้าน คือสามารถข่มขืน เพื่อนสนิทของตัวเองได้ แถมเพื่อนผู้โชคร้ายคนนั้นไม่ใช่ผู้หญิง ! ไม่เพียงเท่านี้ เขายังตัดนิ้วก้อยของเพื่อนคนดังกล่าวไปให้ยากูซ่าอีก หลังจากข่มขืนเสร็จ คิตาโนกำกับฉากนี้ออกมาในลีลาทีเล่นทีจริง ดูทั้งน่าขัน และน่าหวาดเสียวไปพร้อมกัน เพราะเมื่อเอามีดหั่นนิ้วไม่ขาด ก็ให้ผู้หญิงอีกคนเอาเขียงไม้มากระแทกลงไปที่ตัวมีด
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     หนังของคิตาโนมักจะพูดกันน้อยคำ มีบทพูดเพียงเล็กน้อย แถมเรื่องที่พูดกันก็ไม่ค่อยจะสลักสำคัญเท่าใดนัก แต่คิตาโนสามารถสื่อสาร ให้คนดูเข้าใจในเรื่องราว และลื่นไหลไปกับเรื่องได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภาษาพูด เพราะเราสามารถเข้าใจเรื่องทั้งหมดได้ ผ่านภาษาหนัง A Scene at the Sea เป็นหนังที่ตอกย้ำความสามารถ ในการทำหนังพูดน้อยของเขาได้เป็นอย่างดี เพราะพระเอกและนางเอกในเรื่องนี้เป็นใบ้ และหูหนวก ดังนั้นฉากรักของพระนาง จึงจีบกันแบบเงียบเชียบ เสียงที่ได้ยินส่วนใหญ่คือเสียงคลื่นซัดเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนเก็บขยะ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเล่นกระดานโต้คลื่น นับเป็นหนังของคิตาโนที่เศร้าที่สุด และปลอดยากูซ่า
    ในบรรดาหนังยากูซ่าทั้งหมดของคิตาโน Sonatine นับเป็นงานที่โดดเด่นที่สุด หนังว่าด้วยเรื่องของมูราคาวา ยากูซ่าที่เบื่อหน่ายกับการเข่นฆ่าในแวดวงมาเฟีย ช่วงหนึ่งของหนัง มูราคาวาพาลูกน้องไปหลบพักร้อนอยู่ชายทะเล จากนั้นกิจกรรมกุ๊กกิ๊กที่ไม่น่าเชื่อว่ายากูซ่าจะกระทำก็บังเกิดขึ้น เป็นต้นว่า ขุดหลุมทรายแล้วล่อให้ลูกน้องตกลงไป หรือแสดงระบำญี่ปุ่นที่น่ารักน่าชัง ขณะที่ช่วงท้ายของหนังพลิกผันเป็นดุดัน เมื่อมูราคาวาตัดสินใจบุกเดี่ยวสังหารยากูซ่ายกรัง แต่เขากลับรอดตายเพียงเพื่อจะไประเบิดสมองตัวเองอย่างโดดเดี่ยวในตอนจบ
    ดูเหมือนคิตาโนจะบ้าหลุดโลกไปเลยตอนที่ทำ Getting Any? เพราะเป็นหนังตลกที่เข้าข่ายเละเทะ เรื่องเปิดขึ้นที่เจ้าเบื๊อกรายหนึ่งฝันอยากจะฟันสาว แต่เขาจะต้องประกอบอาชีพใดล่ะ ถึงจะมีโอกาสงาม ๆ เช่นนี้ เรื่องเริ่มต้นที่ความฝันของเขา แล้วก็ต่อเนื่องเป็นฝันซ้อนฝันไปอีกหลายทอด จนในท้ายที่สุด เรื่องบิดกลายเป็นเรื่องของ "ไอ้แมลงวัน" โดยที่คิตาโนรับบทศาสตราจารย์สติเฟื่อง เรื่องนี้คิตาโนบทน้อย แต่ใช้พลังส่วนใหญ่ ไปกับการนำเสนอมุขตลกหลุดโลก สุดท้ายวิธีจัดการกับแมลงวันยักษ์ คือต้องขนอึมากองไว้ให้มากที่สุด เพื่อล่อแมลงวันมาติดกับ หนังเรื่องนี้ หากคนดูไม่เคยดูผลงานของคิตาโนมาก่อน ก็คงจะประณามหยามเหยียดกันแน่ว่า ทำไมถึงเป็นหนังตลกที่เละตุ้มเป๊ะหาแก่นสารไม่ได้เช่นนี้ แต่ถ้าได้ดูงานของคิตาโนมาบ้าง คงจะเข้าใจได้เองว่า เป็นความตั้งใจของเขา ที่จะทำหนังให้ออกมาเพี้ยนบ้าขนาดนี้ ความเละทั้งมวลไม่ใช่มาแบบมั่ว ๆ แต่ผ่านการทับถมกลั่นกรองของคนที่ผ่านโลก และทำหนังมาแล้วอย่างช่ำชอง แม่นยำ ซึ่งตลอดเรื่อง เต็มไปด้วยการกระแทกกระทั้นเสียดสี
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     มีคนเคยบอกว่า คิตาโนมีนิสัยการทำหนังที่แปลกอย่างหนึ่ง หากว่าหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งของเขาประสบความสำเร็จ ได้รับคำสรรเสริญเยินยอมากมาย เรื่องต่อมาคิตาโนจะแกล้งทำหนังเลวออกมาเป็นการประชดประชัน หรือกลั่นแกล้งกับการคาดหวังของคนดู ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง Getting Any? ก็คงเข้าข่ายนี้
    คิตาโนหวนกลับมาสร้างชื่อในระดับนานาชาติอีกครั้งด้วยเรื่อง Kids Return หนังวัยรุ่นที่พัวพันกับแก๊งยากูซ่าเช่นเคย เรื่องนี้คิตาโนไม่ร่วมแสดงด้วย แต่แฝงตัวอยู่หลังกล้องในตำแหน่งเดิมคือ เขียนบท กำกับ และตัดต่อ เรื่องนี้มีฉากหลักอยู่ในค่ายมวย เพราะเป็นเรื่องราวของวัยรุ่นสองคนที่หนีเรียนมาเที่ยวจนชีวิตพลิกผัน คนหนึ่งไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักมวย แค่เดินตามเพื่อนมาแต่กลับมีพรสวรรค์ทางด้านนี้อย่างมาก ผลก็คือ กลายเป็นนักมวยรุ่นเยาว์ฝีมือฉกาจ ส่วนเพื่อนกลับกลายเป็นยากูซ่าที่เติบโตเป็นผู้จัดการสาขาอย่างรวดเร็วทันใจ แต่ในที่สุดด้วยความเยาว์วัยและคึกคะนอง ทำให้ทั้งคู่ล้มเหลว และหวนกลับไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้คิตาโนเล่าว่าเขาเก็บมาจากประสบการณ์ที่เคยพบเห็นในวัยเรียน
    Hana-Bi เป็นหนังที่กระพือชื่อเสียงของคิตาโน ให้ขจรขจายในต่างแดนอย่างกว้างขวาง ด้วยการันตีจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลสิงโตเงิน แต่หากจะให้คะแนนผลงานแก่คิตาโนแล้ว หนังของคิตาโน จัดได้ว่าเป็นหนังคุณภาพทุกเรื่อง และ Hana-Bi ไม่ใช่งานในระดับที่สมควรคว้ารางวัลเป็นครั้งแรก สำหรับคิตาโน แต่เป็นหนังที่ทางเทศกาลหนัง อาจเห็นพ้องแล้วว่า ถึงเวลาแล้วสำหรับหนังของเขา...
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     ในเรื่องนี้ คิตาโนรับบทตำรวจที่เคยดี แต่มีแผลเป็นชีวิต เพราะครั้งหนึ่งเขามีส่วนในการทำให้เพื่อนตำรวจคนสนิท ต้องพิการตลอดชีวิต เรื่องนี้ฝังใจเขามาก ขณะเดียวกันภรรยาก็กำลังรอวันตาย ด้วยมะเร็งร้าย และเขายังมีหนี้สินก้อนโต ที่ต้องชำระแก่ยากูซ่า ขณะที่เพื่อนพิการหันหน้าเข้าหาศิลปะ และแปรความรู้สึกที่กระทบจากธรรมชาติ มาเป็นภาพวาดในจินตนาการอันสวยสด แต่เขากลับถลำลึกสู่ด้านมืด ในที่สุดก็สวมเครื่องแบบตำรวจ มาปล้นธนาคาร จากนั้นพาภรรยาหนีไปพักผ่อนยังทุกที่ที่เธอต้องการ ภาพสุดท้ายของหนังเป็นชายหาดเงียบสงบ   แต่แล้วเสียงกระสุนสองนัดที่ดังขึ้น ก็กลายเป็นบทสรุปของหนัง
    Kikujiro เป็นหนังของคิตาโนเรื่องแรกที่มีตัวเอกเป็นเด็ก ส่วนคิตาโนรับบทชายเสเพล ที่มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ กับภรรยาสาว ทั้งคู่ดูไร้แก่นสาร และไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีเหตุผลรองรับ เพียงแค่รู้ว่ามาซาโอะเด็กชายวัย ๑๐ ขวบเพื่อนบ้านของตน อยากเดินทางไปหาแม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนเลยในชีวิต ภรรยาสาว ก็ยินดีที่จะให้เขาติดตามไป เป็นเพื่อนเด็กโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ระหว่างทางเป็นกิจกรรมเสียเวลาประเภทไปเที่ยว แทงม้า พักผ่อนในโรงแรม กว่าจะพามาซาโอะไปหาแม่ได้ ก็นานโข เรื่องนี้คิตาโนแบ่งเรื่องเป็นหลายองก์ โดยมีภาพนิ่งของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ในองก์นั้น ๆ คั่นก่อนเข้าเรื่อง มาซาโอะได้พบเห็นแม่ในระยะไกล และได้รู้ว่าแม่มีครอบครัวใหม่เสียแล้ว มาซาโอะจึงกลับบ้านกับชายผู้นั้น ก่อนจากถึงจะถามไถ่ชื่อกันจึงได้รู้ว่า "ลุง" ที่เดินทางไปด้วยมีชื่อว่า คิคูจิโร Kikujiro เป็นหนังที่คิตาโนบอกว่า เป็นการรำลึกถึงบิดาของเขาเอง
    คิตาโนมักใช้นักแสดงเจ้าประจำเล่นหนัง และเขายังมีวิธีการคัดเลือกนักแสดง ที่แสนประหลาด อย่างเช่น พระเอกแสนทึ่มในเรื่อง Boiling Point และ Getting Any? คงจะเป็นนักแสดง ที่ไม่มีใครเลือกเป็นตัวเอกเด็ดขาด หรือแม้แต่ มาซาโนบุ เอ็นโดะ หนึ่งในพระเอก Kids Return ก็เป็นพระเอกใหม่ ที่เข้ามาทดสอบบทกับคิตาโน ด้วยสีหน้าที่เชื่อว่า ตนจะไม่มีวันได้บทนี้เด็ดขาด แต่นี่กลับเป็นเหตุผลที่คิตาโนเลือกเขา
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่     สไตล์ด้านภาพในงานของคิตาโน เป็นส่วนที่โดดเด่นอีกประการหนึ่ง เขาหลีกเลี่ยงที่จะใช้ภาพใกล ้เพื่อเร้าอารมณ์ การเล่าเรื่องของเขาเป็นไปอย่างช้า ๆ จงใจสร้างความอึดอัด ให้แก่คนดูในบางตอน เพื่อบทสรุปที่ได้ผลชะงัด อย่างที่บอกแล้วว่าคิตาโน ตัดต่อหนังด้วยตนเอง ภาพที่ปรากฏในหนังเกิดขึ้นราวกับว่า เขาได้ลำดับภาพไว้เรียบร้อยแล้วขณะที่ถ่ายทำ หลายคราวสามารถสร้างความขบขันได้อย่างง่าย ๆ เป็นต้นว่า เด็กหนุ่มวัยคะนองที่เพิ่งจะฝึกมวยได้สองวัน คิดจะออกไปชกคนที่รังแกเพื่อน เราจะเห็นภาพเขาเดินออกจากตัวตึก ตัดมาที่ภาพปานกลางของชายร่างใหญ่ ที่เขาตั้งใจจะมาชก ตัดมาอีกทีที่เด็กหนุ่มคนนี้ อ้าปากค้างกับร่างทะมึน และตัดอีกที ก็เห็นภาพเจ้าหนุ่มคนเดิมล้มคว่ำไปกับพื้น ขณะที่เพื่อนอีกสองคนวิ่งหนีกันกระเจิง การลำดับภาพของคิตาโนไม่เพียงสร้างผลทางอารมณ์ขัน แต่ยังใช้ได้ผลในกรณีของความรุนแรงเช่นกัน ในหลายคราว กล้องก็ปล่อยให้คนดูเห็นการอัดตีกันอย่างรุนแรง โดยไม่ตัด อีกหลายคราวก็ปิดบังไม่ให้เห็นอะไรเลย ได้ยินแต่เสียงกระสุน หรือเห็นแค่ภาพเลือดสาด เห็นยากูซ่าเหวี่ยงดาบเล่มยาวเข้าใส่กล้อง แต่ไม่เห็นท่าฟันลงไปตรง ๆ ที่ร่างของเด็กหนุ่ม
      นอกจากนี้ความคาดเดาไม่ได้ ก็เป็นรสชาติที่สำคัญในหนัง มือปืนในหนังของคิตาโน มักจะปรากฏตัวในรูปแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ไม่เพียงแต่ตัวละครในหนังจะคาดไม่ถึง คนดูก็ยังไหวตัวไม่ทันเช่นกัน ใน Kids Return ยากูซ่าระดับหัวหน้าสาขาคนหนึ่ง ถูกยิงตายด้วยฝีมือมือปืนหัวล้าน สวมแว่นตาหนาเตอะ ซึ่งแต่งกายด้วยชุดธรรมดา แถมยังขี่จักรยานอย่างใจเย็น หรือบางทีมือปืนใจโหด ก็มาในร่างของชายวัยดึก ที่ท่าทางเหมือนนักตกปลาสมัครเล่น ซึ่งมาพร้อมกับอุปกรณ์ตกปลาทั่วไป เดินท่อม ๆ อยู่ตามถนน แต่เมื่อเจอเป้าหมาย ก็สังหารได้อย่างรวดเร็วทันใจ หรือเด็กหน้าจ๋องที่แวบแรกดูใสซื่อ ก็สามารถชักมีดออกมา กระซวกท้องยากูซ่าคนหนึ่งให้ดับดิ้นไปใน Sonatine
      หากจะบอกว่าหนังของคิตาโน เป็นหนังอันว่าด้วยโลกของผู้ชายก็คงไม่ผิดนัก ตัวละครในหนังหลายเรื่องของเขา แทบจะไม่มีผู้หญิงเลย ใน Violent Cop ไม่มีนางเอก ผู้หญิงในเรื่องนี้ มีเพียงน้องสาวปัญญาอ่อน ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใน Boiling Point มีนางเอก แต่เธอก็เป็นเพียงไม้ประดับในหนังเท่านั้น Kids Return พระเอกหนุ่มสองคนไม่มีแฟน มีแต่กันและกัน และอยู่ในโลกแบบผู้ชาย คือหมัดมวยและยากูซ่า ใน Sonatine ถึงจะมีสาวมาเปลื้องผ้าต่อหน้า มูราคาวา (คิตาโน) ก็ยังไม่สนใจ และละทิ้งเธอไป ก่อนจะระเบิดหัวตัวเอง โดยเฉพาะใน Boiling Point นั้น คิตาโนยังสวมบทโฮโมเซ็กชวลฉุกเฉินที่ข่มขืนเพื่อนตัวเองหน้าตาเฉย โดยที่เพื่อนตั้งตัวไม่ติดเลยด้วยซ้ำ แม้ว่าใน A Scene at the Sea จะมีนางเอก แต่ดูเหมือนเธอจะไม่ค่อยส่งผลต่อเรื่องราวเท่าใดนัก และดูท่าว่าพระเอกจะรักทะเล และกระดานโต้คลื่นมากกว่าเธอเสียอีก ขณะที่นักวิจารณ์กำลังจะฟันธงลงไปว่า หนังของคิตาโนมีกลิ่นอายของ โฮโมเซ็กชวลอบอวล แต่คิตาโนก็แก้เกม ด้วยการโยกย้ายตัวเอง มามีภรรยาในหนังสองเรื่องสุดท้าย อย่าง Hana-Bi และ Kikujiro
    แม้ว่าหนังของคิตาโนจะได้ชื่อว่าเป็นหนังที่บีบคั้น และกลั่นแกล้งคนดูอย่างถึงที่สุด แต่คนดูก็ยินดีที่จะถูกเขาหักหลัง และทรมานอยู่ต่อไป
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
โครงการขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้ายของนักลงทุน

การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | การมาถึงของ "นักรบสายรุ้ง" : จากตำนานสู่ความเป็นจริง | ทวีปเลื่อน-แผ่นดินไหว ภัยที่ไม่อาจพยากรณ์ | กำเนิดตึกระฟ้า | ปีท่องเที่ยวกับเจ้า (ลาว) | ผู้หญิงสิงคโปร์ | ทาเคชิ คิตาโน หนังยากูซ่าสายพันธุ์ใหม่ | เฮโลสาระพา

Arrival of the Rainbow Warrior: From Legend to Reality | Continental Drift, Earthquake: Unpredictable Dangers
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail