![]() |
![]() |
ซ้าย ทางรีสอร์ตสนับสนุนให้พนักงานเลี้ยงไก่แบบเกษตรอินทรีย์ ไข่ที่ผลิตได้จะนำมาใช้ในรีสอร์ต ส่วนที่ไม่พอจึงซื้อเพิ่ม เป็นการลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้พนักงานมีรายได้เสริม ทุกวันนี้ฟาร์มไก่ของรีสอร์ตผลิตไข่ได้เดือนละกว่า ๒,๐๐๐ ฟองขวา นอกเหนือจากการรับซื้อพืชผักจำนวนมากจากชุมชุนโดยรอบซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นครอบครัวเครือญาติของพนักงานตามแนวทาง “เศรษฐกิจพวกเรา” เพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหลแล้ว ทางรีสอร์ตยังรับซื้อข้าวปลอดสารเคมีจากชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงด้วยเพื่อสนับสนุนการทำการเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติ |
ดูเหมือนเรื่องที่ทำอยู่ ทั้งเรื่องเกษตรธรรมชาติและโครงการต่างๆ ที่เป็นเหมือนสวัสดิการพนักงาน กับหนี้สินที่มีอยู่ ๓๐๐ ล้านบาท จะไม่ไปด้วยกันเลย
ผมมองว่าเราได้เรื่องคน เมื่อก่อนเราพยายามที่จะเอาผู้บริหารมืออาชีพจากที่อื่นมาบริหารงานในรีสอร์ตนี้ จ้างมา ๓-๔ ชุด แต่ไม่รอดสักชุด คือเอาเข้ามาแล้วปกครองคนของเราไม่ได้ เพราะบางคนก็มากินไก่วัด มาหลอกพนักงานสาวๆ เมื่อไรที่กินไก่วัด มันก็ปกครองยาก เกิดความลำเอียง พอทำงานไม่ได้เขาก็ลาออกไป อ้างว่าคนที่นี่มีปัญหา ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยทำความเข้าใจกับคนทำงาน ไม่เคยสนใจความคิดความรู้สึกของพนักงาน คิดแต่ว่าคนของเราไม่ได้เรื่อง ขณะเดียวกันก็นินทาหาว่าเจ้าของเพี้ยน งานรีสอร์ตไม่มีใครทำอย่างนี้ จับพนักงานไปทำนา ไม่ได้เรื่องเลย แต่เราพบว่าพอพวกนี้ไม่อยู่ คนของเรามีความสุขมากขึ้น แล้วไม่ค่อยมีปัญหาเลย เพราะฉะนั้นเราก็ตัดสินใจจะทำกันเอง เลิกคิดที่จะจ้างมืออาชีพจากภายนอกที่กินเงินเดือนสูงๆ คนพวกนี้อาจจะเหมาะกับเมืองใหญ่ๆ แต่ไม่เหมาะสำหรับเรา พนักงานของเราเป็นคนท้องถิ่นทั้งหมด เวลามีอะไรเกิดขึ้นเขาไม่เคยทิ้งเรา ขณะที่พวกมืออาชีพถามหาแต่เงิน ทำแล้วได้อะไร มีโอทีไหม หวังแต่จะขยับตำแหน่งโดยไม่มีใจให้ ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี คุณพ่อคุณแม่ให้ถามความสมัครใจของพนักงานที่มีอยู่ร้อยกว่าคนโดยบอกเขาว่า ถ้าจ่ายเงินเดือนไม่ไหวคงต้องลดเงินเดือน ส่วนใครจะออกเราก็จะจ่ายค่าชดเชยให้ ปรากฏว่าทุกคนที่เป็นคนท้องถิ่นไม่มีใครสมัครใจลาออกเลย พร้อมใจกันร่วมหัวจมท้ายกับเรา มันเห็นชัดว่าในยามที่เราไม่มีใคร เราก็ยังมีคนเหล่านี้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรามั่นใจขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพราะถึงแม้เราจะไม่มีใคร มีหนี้สินมากมาย แต่เราก็ยังมีครอบครัว มีพนักงานที่พร้อมจะสู้กับเรา แล้วก็มีพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในใจ สำหรับผม เท่านี้ก็เกินพอแล้ว
แต่ ๙ ปีผ่านไป คุณวริสรก็ลดหนี้ลงมาได้จากช่วงแรกที่มองไม่เห็นทาง แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาช่วยเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
มันทำให้ผมได้แนวคิดว่า ทำอย่างไรให้มันพอดีกับตัวเอง ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้ฟังท่าน ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ท่านบอกว่า แก้วน้ำของคนเราไม่เท่ากัน ที่ตักก็ย่อมไม่เท่ากัน ผมก็มาถามตัวเองว่า แก้วของผมคืออะไร แล้วที่ตักของผมคืออะไร ทำไมคนต้องมาชุมพร แก้วของผมคงเป็นรีสอร์ต ส่วนที่ตักก็คือธุรกิจดำน้ำ พอตอบได้อย่างนั้นผมก็พบว่าแก้วกับที่ตักของเรามันไม่สมดุลกันเลย แก้วของเราคือรีสอร์ตที่เป็นหนี้อยู่ แต่ที่ตักคือธุรกิจดำน้ำซึ่งเล็กมาก เพราะเรือที่เราจะพาคนไปดำน้ำมันลำเล็ก ตอนนั้นเราขยายแต่รีสอร์ต ไม่ได้คิดถึงเรื่องเรือ มันก็ไม่พอดีกัน ก็คิดได้ว่าต้องต่อเรือใหม่ ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งที่เงินก็ไม่มีเลยตอนนั้น หนี้ก็ท่วม แต่เราวิเคราะห์แล้วว่าที่ตักของเรามันไม่พอดีกับแก้วที่มีอยู่ ถ้าไม่เปลี่ยนที่ตัก ยังไงก็ไม่รอด ตอนนั้นปี ๒๕๔๔ เรือที่จะต่อลำละประมาณ ๑๐ กว่าล้าน ก็กู้เงินมา ได้ไม่พอก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ดอกเบี้ยร้อยละ ๕ ต่อเดือน สูงสุดร้อยละ ๖ ต่อเดือน ผมกู้มาราว ๒ ล้าน ดอกเบี้ยตกเดือนละแสน ตอนหลังก็มาได้ร้อยละ ๓ ต่อเดือน ก็หมุนๆ ไปอย่างนี้จนกระทั่งเรือเสร็จ ออกให้บริการได้ เรือลำใหญ่บรรทุกได้ ๑๐๐ คน เราก็ต้องทำแบบทรีอินวัน คือ สกูบาก็ได้ สนอร์เคลก็ได้ แล้วก็ต้องนอนในเรือได้ด้วย ปรากฏว่าลูกค้าชอบ พอคนมาใช้บริการมากขึ้น มันก็ทำให้เราเริ่มจะไปยันเรื่องหนี้ได้ แต่พอเรือลำนี้เสร็จ ลูกค้าเริ่มมา เราก็พบว่าเรือที่มียังไม่สัมพันธ์กับจำนวนห้องที่เรามีอยู่ดี จำเป็นต้องมีอีกลำหนึ่ง ผมก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี พอดีมีรถอีกคัน ก็ตัดสินใจขายเลย แล้วเอาเงินไปต่อเรือลำที่ ๒ ปรากฏว่าตอนนี้ลงตัวแล้ว พอดีแล้ว มากกว่านี้คนขับก็ไม่พอแล้ว จำนวนพนักงานก็จะไม่สัมพันธ์กับลูกค้าที่เข้ามา ผมก็หยุดแค่นี้ มันก็ตรงกับคำว่าพอประมาณ ไม่โอเวอร์เกินไป มันก็มีความพอดี เรื่องเรือเป็นสิ่งที่เราตัดสินใจถูกที่ทำ ตอนแรกพ่อผมก็ไม่ให้ทำนะ บอกว่าไปกู้อีกทำไม แต่เราประเมินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว มันพอดีที่จะต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่พอดี
ทำให้เข้าใจได้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
ผมว่ามันเป็นเรื่องของความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป อย่างเรือที่เราต่อใหม่เป็นเรือเหล็ก ลำใหญ่ ๑๐ กว่าล้าน ลำกลางประมาณ ๗ ล้าน ๒ ลำก็ประมาณ ๒๐ ล้าน เรือทำให้เรามีความพอดี จากที่มันไม่พอดีเราก็ทำให้มันพอดีขึ้นมา ตอนนี้จำนวนห้อง เรือ พนักงาน ลูกค้า ลงตัวพอดี แต่อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ ก่อนที่เราจะเปลี่ยนที่ตัก เราต้องอุดรูรั่วที่แก้วเราก่อน แก้วของทุกคนมีรูรั่ว อะไรคือรูรั่ว รูรั่วคือการไม่พึ่งตนเอง ผมมองว่าการฝึกเรื่องการพึ่งตนเองไม่ใช่ช่วยแค่ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แต่ยังเป็นการดัดนิสัยคน ทั้งนิสัยเราเองและนิสัยของคนในองค์กรในหลายๆ เรื่อง ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่ดี ทำให้การทำงานต่างๆ มันลงตัวมากขึ้น
ปี ๒๕๔๒ เป็นหนี้อยู่ ๓๐๐ ล้านบาท แล้วทุกวันนี้ภาระหนี้สินเป็นอย่างไรบ้างครับ
หนี้สินลดมาครึ่งหนึ่งทั้งหนี้นอกและในระบบ จากที่เมื่อก่อนนี้ไม่เห็นฝั่งเลย มันก็รอดมาได้เรื่อยๆ ๙ ปีแล้ว ตอนนั้นมันไม่น่าจะอยู่ได้ โครงสร้างหนี้เดิมมันบานมาก มันไม่เห็นฝั่งจริงๆ อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่รู้ ก็ทำไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราเริ่มจ่ายดอกและเงินต้นมาได้ ๓ ปีแล้ว ก็ค่อยๆ ลดหนี้ลงมาได้เรื่อยๆ เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เราก็พอใจนะ สมัยก่อนเคยคิดจะทำรีสอร์ตหรูๆ ระดับห้าดาว แล้วก็พยายามมาตั้งนาน แต่เราก็พบว่าทุกคนไม่มีความสุขเลย เหนื่อยด้วย แต่พอคิดว่าเป็นรีสอร์ตขนาดสามดาวก็น่าจะเพียงพอ มันก็สบายตัวขึ้น พนักงานก็อยู่ได้สบายขึ้น ไม่มีความกดดัน มีความสุขขึ้น ลูกค้าเองก็ชอบประมาณนี้ เพราะเลิศมากราคาก็ยิ่งแพงมาก ที่เหลือก็คือพยายามที่จะปรับปรุงเรื่องคุณภาพการให้บริการ และพยายามหาทางผลิตของพึ่งตนเองให้มากขึ้น
น้ำมันไบโอดีเซลและก๊าซที่ผลิตขึ้นใช้เองถือว่ายังเป็นโครงการทดลองอยู่หรือเปล่า
ไบโอดีเซลที่เราผลิตใช้งานได้จริงแล้ว ใช้กับทั้งรถและเรือ เรานำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาต้มให้ร้อนนิดหน่อย แล้วก็ผสมเมทิลแอลกอฮอล์กับโซดาไฟลงไป จากนั้นทิ้งไว้จนเกิดเป็นกลีเซอรอล กลีเซอรอลจะตกตะกอน ส่วนน้ำมันจะลอยอยู่ข้างบน เราก็รินเอาน้ำมันข้างบนมาใช้ ต้นทุนตกประมาณ ๑๕ บาท ให้กำไรกับพนักงานประมาณลิตรละ ๒ บาท รวมแล้วประมาณ ๑๗ บาทก็ยังถูกกว่าน้ำมันดีเซลตั้ง ๑๐ บาทต่อลิตร เดือนหนึ่งเราผลิตได้ ๓,๐๐๐ ลิตรก็ประหยัดไป ๓ หมื่นบาท แค่เอามาเติมน้ำมันเรือที่พานักท่องเที่ยวไปเกาะเต่า เที่ยวเดียวก็กินน้ำมันร่วม ๑,๕๐๐ ลิตรแล้ว ส่วนก๊าซหุงต้มยังอยู่ในระหว่างการทดลอง ใช้วิธีเติมมูลสัตว์กับเศษอาหารลงในถัง แล้วทำโรงก๊าซเพื่อที่จะอัดเอาก๊าซมาใช้ แต่ต้องใช้มูลสัตว์เยอะ แถวๆ นี้มีคนเลี้ยงหมูกันหลายราย ก็กำลังติดต่อขอขี้หมูมาทำก๊าซ ตอนนี้ผลิตได้วันละ ๒-๓ ถัง ถังละ ๑๕ ลิตร
ผมว่างานแบบนี้มันทำให้พนักงานเขาได้เห็นการพัฒนา เขาก็ตื่นเต้นตามไปด้วย และมันช่วยทั้งด้านการพัฒนาคนและพัฒนามุมมองความคิด ทุกคนจะรู้สึกว่าเราไม่ได้เก่ง เพราะค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน ทุกคนจะตัวเล็กลงเรื่อยๆ มันก็เลยทำให้ปกครองกันง่าย เพราะเขาจะคุมกันเอง ดูแลกันเอง ขณะที่วิธีอื่นมันทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองรู้มาก ตัวใหญ่ ไม่ฟังใคร แล้วก็ไม่เคารพซึ่งกันและกัน
ในอนาคตจะมีโครงการอะไรเพิ่มเติมบ้างครับ เคยได้ยินว่ามีการทำขนมปังโฮลวีตด้วย
ผมว่าก็คงต่อยอดเรื่องความมั่นคงทางอาชีพของพนักงานไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีโรงเพาะเห็ด และก็กำลังคิดทำโรงไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าใช้เองจากเตาเผาขยะมลพิษต่ำ เอาความร้อนมาแปรเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่วนขนมปังนั้นเป็นขนมปังข้าวกล้องกับโฮลวีต ตอนแรกเราทำสำหรับแขกของโรงแรม ยี่ห้อ “กู๊ดเดย์” กับ “อาร์แอนด์ซี” (Rice and Cereal) โดยเราทำโปสเตอร์เล่าประวัติความเป็นมาของขนมปังไว้ว่า …ณ ดินแดนแห่งโอโซนอันบริสุทธิ์ของสองมหาสมุทร ชาวบ้านแห่งชุมพรได้ร่วมกันปลูกข้าวไร้สารเคมีด้วยความตั้งใจและความสุข ชาวบ้านก็มอบวัตถุดิบมาเป็นของขวัญให้เราทำขนมปัง แล้วก็มาเป็นอาหารเช้าที่อร่อยและปลอดภัย เป็นของขวัญจากชุมชน เราก็หวังว่าเขาจะรักษาผืนนาของเขาไว้ได้… ลูกค้ามาอ่านแล้วชอบ พอดีเขารู้จักกับร้านท็อปส์ก็เลยมาชวนให้ทางเราทำส่งขายท็อปส์ ๑๑ สาขา ปรากฏว่าขนมปังเราแพงสุดในท็อปส์เลย เพราะเราใช้ข้าวพันธุ์นางพญาผสมแป้งสาลี แต่ทำแล้วเหนื่อย ไม่ค่อยได้กำไร แล้วก็ไม่มีความสุข ก็เลยเลิกไป ตอนนี้ทำเฉพาะให้เป็นอาหารเช้าของลูกค้าในรีสอร์ต ทำทุกวัน พอแล้ว แค่นี้พอแล้ว ตอนนี้ถ้าจะขยับขยายทำอะไร เราจะดูเรื่องคนเป็นหลัก ดูว่ามันเกินกำลังหรือเปล่า ถ้าเหนื่อยมากก็ไม่ไหว
แล้วเรื่องน้ำเสีย ทางรีสอร์ตมีวิธีบำบัดอย่างไร
อย่างน้ำเสียจากห้องน้ำ แต่ละตึกจะมีถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปติดตั้งอยู่ ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียทั่วไปที่เราใช้กัน แต่เนื่องจากแต่ก่อนเราล้างห้องน้ำโดยใช้เคมี มันก็ยังมีน้ำเสียอยู่มาก พอเราเปลี่ยนมาล้างห้องน้ำโดยใช้น้ำยาจากสารธรรมชาติที่เราผลิตเอง เราพบว่าจุลินทรีย์ในถังบำบัดน้ำเสียมันทำงานได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพขึ้น น้ำที่ออกมาก็ไม่เน่ารุนแรง จากนั้นเราก็นำมาเจือจางกับน้ำที่กั้นมาจากฝายที่ปล่อยเข้ามาบำบัดน้ำเสีย โดยผ่านกระบวนการฟอกที่เรียกว่า ไตธรรมชาติ โดยเราจะดึงน้ำจากฝายขึ้นมาวันละประมาณ ๒ แสนลิตร มาเจือจางน้ำเสีย ก่อนจะปล่อยให้ไหลเลาะเลี้ยวไปตามบ่อต่างๆ ในรีสอร์ตที่เราปลูกพืชน้ำไว้บำบัดน้ำเสีย อาทิ ธูปฤาษี กกเหลี่ยม กกกลม สาหร่ายหางกระรอก สันตะวา คล้าน้ำ บอน ผักตบชวา ดูเผินๆ ก็เหมือนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และแต่ละบ่อก็ยังมีน้ำพุฟอกอากาศด้วย มันก็คล้ายๆ กับการใช้ดินน้ำลมไฟช่วยบำบัด มีดิน มีน้ำ มีอากาศ มีแสงอาทิตย์ มีต้นไม้ ช่วยบำบัด ก่อนจะปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วไหลสู่คูคลองต่อไป แต่ถ้าจะนำมาใช้ใหม่ เราจะต้องกรองด้วยระบบ “ซับเทอร์รา” คือกรองด้วยรากและเปลือกต้นสน กับกะลามะพร้าวป่นผสมทราย ด้วยอัตรา น้ำเสีย ๑๕๐ ลิตร ต่อพื้นที่ ๓ ตารางเมตร ความลึก ๑.๕๐ เมตร มันจะค่อยๆ ซึม แล้วก็ออกมาใสแจ๋ว เราวิจัยอยู่ปีครึ่งกว่าจะได้สูตรนี้มา
เห็นว่าทางรีสอร์ตใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ราดลงในชักโครกทุกวันเลย ลูกค้าไม่บ่นเรื่องกลิ่นหรือครับ
สำหรับชักโครก เราใช้น้ำหมักที่เป็นน้ำซาวข้าวราดทุกวันทุกห้อง ก็เทลงไปประมาณ ๑ ลิตร น้ำซาวข้าวมันจะมีคุณค่าทางอาหารเยอะ จุลินทรีย์จะชอบ ทำให้มันแตกตัวได้ดี เราผลิตได้วันหนึ่งเยอะมาก เพราะเราซาวข้าวเยอะ แล้วข้าวเราเป็นข้าวอินทรีย์ด้วย มันก็ไม่มียากันมอด จุลินทรีย์มันก็ยิ่งเจริญเติบโตได้ดี เราก็ปล่อยจุลินทรีย์ดีลงไปทำงานเพ่นพ่านในธรรมชาติ เทลงไปในชักโครก เหมือนเรากินยาคูลท์ให้จุลินทรีย์เข้าไปทำงานในลำไส้ แต่เรื่องกลิ่นไม่เป็นปัญหาเพราะน้ำยาที่เราใช้ทำความสะอาดห้องน้ำเป็นคนละตัวกัน ตัวที่ใช้ทำความสะอาดจะเป็นน้ำหมักที่หมักจากเปลือกมะนาว มะกรูด ใบเตย ตะไคร้หอม ก็จะเป็นอีกกลิ่นหนึ่ง ตะไคร้หอมกลั่น ใบเตยกลั่น เรากลั่นด้วยความร้อนจากถ่าน ได้หัวเชื้อน้ำกลั่นมาผสมทำเป็นน้ำยาทำความสะอาด ระบบบำบัดน้ำเสียของเราเริ่มตั้งแต่ห้องน้ำ พอลงมาถึงถังพักมันก็ไม่เน่าไม่เป็นพิษเท่าไร แล้วจากนั้นยังผ่านระบบบำบัดในพื้นที่ชุ่มน้ำของเราด้วย จึงไม่เป็นปัญหาเลย
แล้วขยะที่เหลือของรีสอร์ตเดินทางไปไหนบ้าง
เมื่อก่อนทิ้งให้เทศบาลหมด พวกขวดขายได้ แต่ตอนนี้ขยะเอาไปทำอาหารไก่ อาหารปลา ปุ๋ยหมัก ซึ่งตอนนี้ยังไม่พอ ต้องนำเข้า พวกเศษผักต้องเอามาจากตลาด ส่วนขี้หมูเอามาทำก๊าซชีวภาพ ยังไม่พอเหมือนกัน สรุปก็คือขยะแต่ละวัน พอแยกออกมาแล้วแทบจะหมดเกลี้ยง ตอนนี้ที่ยังกำจัดไม่ได้ก็เหลือเฉพาะพวกโฟม พลาสติก ที่ลูกค้าซื้อมาแล้วทิ้งในรีสอร์ต แต่ก็เป็นส่วนน้อย เมื่อก่อนเรื่องขยะเป็นปัญหามาก แต่ตอนนี้เราต้องการขยะมาใช้มากกว่า
เรื่องการดูแลธรรมชาติบริเวณหาดทรายมีแนวทางจัดการอย่างไร
อย่างผักบุ้งทะเล อาจารย์สุรพล สุดารา ขอไว้ ท่านบอกว่าอย่าเอาผักบุ้งทะเลออก เพราะมันคือเส้นแบ่งระหว่างแผ่นดินกับทะเล ถ้าเอาออกปุ๊บมันจะเพี้ยนเลย แล้วก็ห้ามสร้างเขื่อนริมทะเล เพราะว่าพอถึงหน้ามรสุม คลื่นกระทบเขื่อนปุ๊บ มันจะม้วนเอาทรายออก เราก็เห็นตัวอย่างมาแล้วจากหาดอื่นๆ หลายแห่งในเมืองไทย อัดงบประมาณลงไปเท่าไรก็พังอีก พอสร้างให้ลึกกว่าเดิมมันยิ่งพังไปใหญ่เลย เราตามงานเรื่องนี้มาตลอดก็พบว่าเขื่อนมันทำให้ชายหาดพังจริงๆ เคยไปดูที่อิตาลี ขนาดว่างานสถาปัตยกรรมเขาเจ๋งๆ ก็ยังเห็นเขื่อนเต็มประเทศไปหมด หาดอิตาลีเป็นวงพระจันทร์หมดเลย ชายหาดบ้านเราบางแห่งก็ไปเอาแบบของอิตาลีมาทำ หาดก็เป็นวงพระจันทร์เหมือนกัน พอคลื่นกระทบปุ๊บ มันกวาดเอาทรายไปกองอยู่อีกที่หนึ่ง เราก็เห็นกับตา เพราะฉะนั้นเราก็เก็บของเราไว้อย่างนี้ ผักบุ้งทะเลก็ไม่เอาออก ใครถามว่าทำไมไม่เอาออก เราก็ต้องค่อยๆ บอกเขา เพราะมันเป็นตัวรักษาสภาพชายหาดจริงๆ มันจะยืดๆ หดๆ อยู่อย่างนี้ พอมีลมมรสุม น้ำขึ้นถึง มันก็จะยึดอยู่ ขดตัวเข้ามา พอถึงหน้าฝนมันก็จะงอกออกมาใหม่ และตอนนี้ทุกคนก็รับรู้ว่ามันมีประโยชน์จริงๆ หลังจากเกิดสึนามิ ที่ภูเก็ตก็มีคนพูดถึงผักบุ้งทะเลว่าไม่ควรจะเอาออก เพราะพอเอาออกแล้วหาดมันหายไปเยอะเลย
เรียกว่าพยายามจะรักษาสภาพดั้งเดิมของชายหาดให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด
เราเรียกว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ต้องพัฒนา คุณภราเดชบอกไว้ตั้งแต่แรกว่ามันจะดีที่สุดถ้าเราไม่ไปยุ่งอะไรกับมัน เดิมเราก็ทำเรื่องทะเลกันมาก่อน ทำเรื่องอนุรักษ์ปะการัง ปล่อยพันธุ์ปลาต่างๆ รวมทั้งผลักดันให้ทางจังหวัดออกประกาศมาเลยว่า บริเวณหาดทุ่งวัวแล่นห้ามไม่ให้มีเจ็ตสกีและสกู๊ตเตอร์ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ตอนแรกที่เราพูดเรื่องนี้ คนหัวเราะ ผมไปประชุมที่จังหวัด ใครๆ ก็บอก ทำธุรกิจท่องเที่ยวจะให้ได้เงินต้องมีเจ็ตสกี ทำไมไม่ทำ แต่ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือพูดตรงกันว่าอย่าปล่อยให้มี ถ้าเบรกไว้ได้ก็อย่าให้นับหนึ่ง มาเดี๋ยวนี้ทุกคนรู้แล้วว่าเราพูดถูก เพราะได้เห็นตัวอย่างของความล้มเหลวมาเยอะ คนก็เลยเริ่มฟังมากขึ้น มันก็ค่อยๆ ดีขึ้น อย่างตอนนี้เราก็พยายามบอกว่าอย่าสร้างท่าเรือยื่นออกไปหน้าหาด เพราะกระแสน้ำมันจะเพี้ยน และปัญหาอื่นๆ จะตามมา เราเองทุกวันนี้ก็ใช้วิธีขนคนขึ้นเรือยางไปถ่ายใส่เรือใหญ่ เพื่อรักษาสภาพหาดเอาไว้ให้ดีที่สุด
มองย้อนกลับไป สมมุติว่าไม่ได้เจอแนวคิดหรือวิธีการแบบเศรษฐกิจพอเพียง จะเกิดอะไรขึ้น
ไม่รู้เหมือนกัน แต่คงไม่มีความสุข ผมว่าคงโดนหลอกอีกเยอะ อาจจะมีคนเข้ามาพูดอย่างโน้นอย่างนี้ มีพวกที่เรียกว่า มือปืนรับจ้าง มีทีมเข้ามาบริหารจัดการ มาหลอกเอาเงินเดือน แล้วก็คงอีหรอบเดิม ผมโชคดีที่มาเจอคนอย่างอาจารย์วิวัฒน์ ทำให้ได้เริ่มต้นกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง และพอทำไปแล้วมันก็ทำให้เราตั้งหลักได้ ตอนนี้ทางเราชัด เป้าเรานิ่งแล้ว ก็เหลือแต่ตัวเราที่จะต้องเดินต่อไปให้มั่นคง แล้วทุกคนก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ นั่นคือการอยู่ที่นี่ได้โดยมีความสุขร่วมกัน
วางแผนอนาคตสำหรับตัวเองไว้อย่างไร
แก้ไขปัญหาประเทศชาติอย่างเดียว ผมว่าถ้าพวกเรายังเป็นอย่างทุกวันนี้อนาคตมันจะไม่รอด ยิ่งเราทำงานด้านนี้มากๆ เรายิ่งเห็นวิกฤต เหมือนกับเป็นยีราฟ มองเห็นได้ไกลขึ้น เริ่มรู้สึกว่าอนาคตของชาติน่ากลัวมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจของตัวเองเยอะ
วิกฤตอันดับแรกคืออะไรครับ
พลังงาน เราประเมินว่าสิ่งนี้จะเป็นตัวแปรของอะไรหลายอย่างในอนาคต ไม่ใช่ว่าโลกจะไม่มีน้ำมัน แต่เราเองจะไม่มีเงินซื้อน้ำมัน ด้วยความขัดแย้งอะไรหลายอย่าง วิกฤตที่ ๒ คือ เรื่องสุขภาพ เรื่องของสารเคมี โรคที่เกิดจากการกิน อย่างมะเร็งตับ ผมว่าอนาคตคนต้องเป็นมะเร็งตายแบบร่วงกราว เพราะสารเคมีที่เรากินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ตับจะรับไม่ไหว พอเราทำเรื่องเกษตรธรรมชาติ เราก็เห็นว่าข้าวปลาอาหารที่คนส่วนใหญ่กินกันอยู่ทุกวันมันมีการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน แค่ไปดูโรงสีข้าวก็กินข้าวไม่ลงแล้ว ระหว่างทางก่อนมาถึงเรา ทั้งสารขัดขาว สารกันมอด ก็ฉีดกันมาไม่รู้เท่าไร ชาวนาไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูกเพราะรู้ว่าโดนเต็มๆ ไปซื้อเอายังมีโอกาสเลือก เพราะฉะนั้นโรคที่ร้ายแรงมันไม่ใช่โรคเอดส์ อันนั้นยังเลี่ยงได้ แต่โรคจากการกินเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราต้องกินทุกวัน แตงโมอย่างนี้ ก่อนปลูกก็โรยสารพิษ แตงโมถ้าไม่ชัวร์ว่าปลอดสารพิษ ผมไม่กิน ก็จะเลี่ยงไป พอเราทำก็ค่อยๆ รู้ทีละเรื่องๆ มะเร็งตับมันจะเป็นสงครามล้างโลกจริงๆ ส่วนวิกฤตที่ ๓ ก็คือเรื่องของภัยธรรมชาติ ทุกวันนี้เราก็ได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องของลานีญา เอลนีโญ ปรากฏการณ์ครั้งนี้คล้ายกับที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ เป็นวงรอบประมาณ ๗ ปี คือเกิดลานีญาเมื่อปี ๒๕๔๐ ราว ๑ ปี ตามด้วยเอลนีโญในปี ๒๕๔๑-๒๕๔๘ แล้วก็มาเป็นลานีญา ปี ๒๕๔๐ ผมดำน้ำพบปะการังฟอกสี อุณหภูมิน้ำจาก ๒๗ องศาขึ้นมาถึง ๓๒ องศา ในระดับผิวน้ำถึงความลึก ๑๕ เมตร ปะการังตายหมด ดอกไม้ทะเลเป็นขุย เขี่ยแล้วร่วงไปเลย แล้วมันขาวไปทั้งทะเล เรื่องที่ว่าพายุใหญ่จะเข้าอเมริกาตอนใต้มากขึ้น มันก็เข้าจริงๆ และก่อนจะเกิดลานีญา อากาศจะแล้งสุดๆ ปีที่แล้วต้องตัดต้นไม้ทิ้ง สวนทุเรียนตายหมด พอมาปีนี้กลางปีฝนมากจริงๆ ตกตลอด พอหลังจากนี้ ปีหน้าแล้งอีกแล้ว ผมมองว่าสถานการณ์น้ำในเมืองไทยคงไม่มีที่พอดีแล้ว ไม่มากไปก็น้อยไป แล้งก็แล้งสุดๆ ถ้าฝนตกก็เละเทะไปเลย ป่าไม้ก็เหลือน้อยลงทุกที วิกฤตสุดท้ายคือเรื่องสงคราม ซึ่งจะถี่ขึ้น ความขัดแย้งก็จะมากขึ้น มีการแย่งชิง การล่าอาณานิคมแบบใหม่
สำหรับผม มีอะไรเกิดขึ้นก็คงไม่ทิ้งประเทศอยู่แล้ว ไปอยู่ที่อื่นก็เป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่ไปหรอก สู้ตาย ตอนนี้ก็เลยมาเริ่มคิดหาทางว่าทำอย่างไรให้เราอยู่กันได้ มีความสุขร่วมกันได้ในวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่กับวิกฤตอย่างมีความสุขในอนาคต แล้วก็เริ่มคิดไปถึงรุ่นลูก เราคงไม่ไปบอกเขาหรอกว่าต้องเป็นวิศวกร หมอ สถาปนิก นักธุรกิจ มีฐานะร่ำรวย ไม่ต้องเลย ขอแค่อยู่ในโลกอนาคตได้อย่างมีความสุขและเอาตัวรอดได้ก็พอแล้ว ผมว่าวิกฤตมันจะล้อมเราไว้หมดแล้ว และจะเหมือนสึนามิ อยู่ดีๆ ก็มา ผมว่าการพูดถึงปัญหาเหล่านี้มีน้อยมาก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไม วิกฤตเหล่านี้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีและก็ทรงเตือนไว้ล่วงหน้ามานานมากแล้ว เพียงแต่เราอาจไม่ทันได้ฉุกใจคิด ผมมองย้อนกลับไปก็เห็นได้ชัดว่า ทำไมทรงเตือนไม่ให้เราทิ้งเรื่องข้าว เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นเราจะไม่มีข้าวกิน ทำไมต้องทรงปูพื้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เรา เพราะโลกอนาคต ถ้าเราพึ่งตนเองไม่ได้ ไม่รู้เท่าทัน ก็จะตกเป็นเหยื่อหมด เพราะฉะนั้นก็จำเป็นที่ในแต่ละชุมชนจะต้องมีโค้ชที่จะแนะเรื่องเหล่านี้ ผมก็เลยเลือกที่จะทำหน้าที่เป็นเพื่อนคุยกับคนในชุมชนของผมว่าในอนาคตมันจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้างจากข้อมูลจริงที่เราได้รับรู้มา สำหรับตอนนี้ วิกฤตของตัวเองไม่เป็นไร เป็นไรก็เป็นไป ผมว่าในอนาคตทุกคนก็จะเท่ากันหมด ไม่ว่าอย่างไรสักวันหนึ่งเราจะมาเจอกันด้วยวิกฤตอะไรสักเรื่อง ถึงตอนนั้นผมว่ามีจนเท่ากันหมด มันจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ช่วยกัน
เท่ากับว่าตอนนี้รู้ชัดเจนแล้วว่าจะทำอะไรในชีวิต
อยากอายุถึง ๘๐ อย่างแข็งแรง ก็กลับมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ออกกำลังกาย กินอาหารปลอดภัยจากสารพิษ อยู่ในที่ที่อากาศดี ดูแลเรื่องอารมณ์ให้ดี กาแฟผมก็ไม่กินแล้ว เพราะรู้สึกว่ามันกระตุ้นมากเกินไป พอเลิกกินปุ๊บรู้สึกดี ก็หักดิบไปเลย เมื่อก่อนกินวันละ ๒-๓ แก้ว กินทุกวันไม่เคยขาด ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไป ลองไปหมด แต่พอทำอย่างนี้ปุ๊บมันถอยมาเร็วขึ้น มันเลิกได้เร็วขึ้น ตอนนี้อายุ ๓๖ ตื่นตีสามปฏิบัติธรรมก็ทำได้ ทุกอย่างยิ่งทำเหมือนเพิ่งเริ่มต้น อยากเรียนรู้อยากทำไปหมด รู้สึกว่าอายุ ๘๐ ก็อาจยังทำไม่หมด ยิ่งอายุมากขึ้นผมว่าภาวะวิกฤตที่มันมากขึ้นจะทำให้เราต้องทำงานมากขึ้น แล้วก็ไม่รู้จบ ประเมินสถานการณ์แล้ว มันไม่มีทรง มีแต่ต่ำลง ธรรมชาติก็ถอยลงๆ คนก็เห็นแก่ตัวกันมากขึ้น เราเหมือนเป็นไม้เล็กๆ เป็นไม้ซีกที่จะเข้าไปยัน ถ้าผมรอดจากหนี้สิน ผมก็ตั้งใจจะทำงานมูลนิธิเป็นอาชีพหลักเต็มเวลาเลย ตอนนี้ทำอยู่กับ อ. วิวัฒน์ คือ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติของมูลนิธิชัยพัฒนาและสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ คือรู้สึกว่าถ้าเราฝึกตัวเองได้ขนาดนี้ ทำมาได้ขนาดนี้ การหาเงินทองไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าจะมีก็มีได้ มันมีศาสตร์ที่ทำให้เราหาเงินได้ไม่ยากนัก แต่ไปช่วยคนผมว่ามีความสุขมากกว่า และสนุกด้วย