เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง

ฝากความรู้ไว้กับแผ่นดิน จาก จารุจินต์ นภีตะภัฏ

อาจารย์จารุจินต์กับการงานสำคัญของชีวิต – งานในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา- ภาพนี้ถ่ายในห้องเขาสัตว์ เมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐ (ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

เขาไม่ใช่คนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป

แต่ในหมู่คนที่รู้จัก ต่างยอมรับและให้ความสำคัญถึงขั้นกล่าวกันว่า เขาเป็นคนที่-ตายไม่ได้ ในแง่ที่ว่าเขาคือคนที่รอบรู้กว้างขวางอย่างหาคนเหมือนได้ยากในด้านธรรมชาติวิทยา โดยเฉพาะเรื่องแมลงและสัตว์เลื้อยคลานที่เขาติดตามศึกษามาโดยตรง

ในทางธรรมชาติวิทยา ชื่อ จารุจินต์ นภีตะภัฏ ได้รับการเปรียบเหมือนสารานุกรมมีชีวิต ที่คนทำงานอยู่ด้วยกันสามารถเดินมาถามสิ่งที่สงสัยได้ตลอดเวลา เป็นที่พึ่งของนักศึกษาจนถึงคณาจารย์เป็นแหล่งข้อมูลของนักข่าวนักเขียน เป็นองค์ความรู้ที่องค์กรเอกชนและส่วนราชการต้องขออนุเคราะห์ความช่วยเหลืออยู่เนือง ๆ และ ฯลฯ ใครและใครถึงพากันกล่าวว่า เขาเป็นคนที่ตายไม่ได้

แต่เขาก็ตายแล้ว ด้วยเหตุเพียงเพราะไปให้หมอตัดตุ่มไฝเล็ก ๆ ใต้ขอบตา

หน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์ไทยกรอบเช้าวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๑ แทบทุกฉบับลงข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของเขา แต่เนื้อข่าวส่วนใหญ่เน้นไปที่สาเหตุการเสียชีวิตอย่างไม่คาดคิด โดยไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นถึงคุณูปการและสิ่งที่นักวิชาการผู้ซึ่งจะไม่มีใครได้เห็นตัวจริงของเขาอีกต่อไปเคยทำไว้

นอกจากสรรพความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ในตัว อาจารย์จารุจินต์ยังเป็นนักสะสมหนังสือตัวยง ห้องสมุดส่วนตัวของเขามีหนังสืออยู่หลายหมื่นเล่ม เขาเก็บตัวอย่างสัตว์สะสมไว้นานร่วม ๒๐ ปี กระทั่งเมื่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งแรกขึ้นในเมืองไทย ก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง

jarujin02

อาจารย์จารุจินต์กำลังหยอกล้อกับแมงป่องช้างราวกับเป็นเพื่อนเล่นกัน ภาพนี้่ถ่ายราวปี ๒๕๒๙ เมื่อครั้งยังเป็นนักนิเวศวิทยาประจำสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ และเลี้ยงแมงป่องช้างไว้ถึง ๑๐ ตัว อาจารย์เคยพูดถึงแมงป่องเอาไว้ใน สารคดี ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ ว่า “มันน่ารักดี…ตั้งใจจะเลี้ยงมากๆ ไว้ศึกษา…ที่ไต่แขนอยู่นี่หรือ ผมไม่กลัวนะ ผมเป็นคนรักสัตว์และมันเองก็คุ้นกับผมมาก แมงป่องก็เหมือนสัตว์อื่นๆ ถ้าเลี้ยงตั้งแต่เล็กมันจะเชื่อง แต่โตแล้วมันก็อาจกัดเอาบ้าง เพราะอารมณ์มันเปลี่ยนไป…ผมว่าเด็กๆ น่ะมีธรรมชาติที่รักและสนใจสัตว์ แต่ยังขาดคนให้ความรู้ พอโตเป็นผู้ใหญ่ก็เลยไม่เห็นความสำคัญของสัตว์ ฆ่าฟันมันกันมาก โดยเฉพาะสัตว์ที่มนุษย์รังเกียจ หาว่ามันเป็นอันตรายบ้าง แท้จริงน่ะมนุษย์ด้วยกันน่ากลัวกว่า…” (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

 

“ทั้งหมดนี้ทำไว้ให้แผ่นดิน”

อาจารย์พูดอย่างนี้เสมอทั้งกับคนที่มาคุยด้วย กับลูกศิษย์ลูกน้องที่ทำงานอยู่ด้วยกัน กับลูกเมียและคนใกล้ชิด จนถึงคนที่ตั้งคำถามต่อการที่เขาฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเอามาดองไว้ให้คนดู

“ผมฆ่าสัตว์มามากเหมือนกัน แต่ไม่คิดว่าจะเป็นบาป เพราะเราทำเพื่อการศึกษา เป็นความรู้ เก็บไว้เป็นสมบัติของชาติ”

แม้จากไปอย่างกะทันหันก่อนวัยอันควร แต่กับการงานชั่วชีวิตที่เขาตั้งใจจะทำทุกอย่างไว้ให้แก่แผ่นดิน ก็คงเพียงพอแล้วสำหรับการคืนกลับสู่แผ่นดินของผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง

“ทั้งหมดนี้ทำไว้ให้แผ่นดิน”

การเขียนถึงคนที่จากไปแล้ว นอกจากเป็นเรื่องเศร้า ยังสุ่มเสี่ยงต่อการนำเสนอเรื่องของเขาไปอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง-เพราะเจ้าของเรื่องไม่อยู่ให้สอบทานข้อมูลแล้ว แต่กับการเขียนถึงอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ ถือเป็นความบังเอิญที่โชคดี ย้อนกลับไป ๒ ปีก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าเคยมีโอกาสสัมภาษณ์เขาไว้ ๒ ครั้ง เนื้อหาบางส่วนที่ไม่เกี่ยวโดยตรงกับประเด็นของการสัมภาษณ์เป็นเรื่องสัพเพเหระส่วนตัวที่อาจารย์เล่าแถมให้ฟัง จึงไม่ได้นำลงพิมพ์ แต่ถ้อยคำส่วนที่เคยตัดออกเหล่านั้น เมื่ออ่านในฐานะเรื่องราวเกี่ยวกับตัวผู้เล่าเอง มันก็ฉายภาพชีวิตการงาน ความรู้ และเจตจำนงส่วนตัวของเขาได้อย่างแจ่มชัดที่สุด ซึ่งประโยคคำพูดที่ยกมาข้างต้นก็มาจากตอนหนึ่งของการสนทนา–เขาหมายถึงทุกสิ่งที่ทำไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และตำแหน่งสุดท้ายของเขาในที่แห่งนี้คือ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อันเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นจากการลงแรงผลักดันของเขามาตั้งแต่ต้น

เรื่องการสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยานั้น อาจารย์จารุจินต์เล่าว่าเป็นความใฝ่ฝันที่รับช่วงต่อมาจากหมอบุญส่ง เลขะกุล อีกทอดหนึ่ง

“หมอสั่งไว้ ๓ เรื่อง” อาจารย์จารุจินต์เปิดเรื่องเล่าในท่วงท่ากระฉับกระเฉง ดวงตาเป็นประกายอย่างคนที่ตื่นตัวกับงานอยู่ตลอดเวลา และตื่นเต้นกับทุกเรื่องที่พูดคุย–นี่เป็นภาพเมื่อปลายปีก่อน และคงเป็นอยู่ตลอดชีวิต แม้เมื่ออาจารย์จากไปแล้ว คนที่เคยคุ้นและคลุกคลีอยู่ด้วยกันก็คงจดจำเขาได้ในภาพนี้

“เรื่องแรก-ให้ตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาให้ได้ สอง-ช่วยทำหนังสือคู่มือดูนกเมืองไทยเป็นภาษาไทยให้คนไทยได้อ่านด้วย สาม-ให้เขียนสารานุกรมชื่อสัตว์”

ก่อนจะลงรายละเอียดในแต่ละเรื่อง สารานุกรมทางธรรมชาติวิทยาที่ยังมีลมหายใจเล่าย้อนถึงความผูกพันระหว่างเขากับหมอบุญส่ง ที่นำมาสู่การสั่งเสียให้สานงานต่อ

ตอนนั้นผมกำลังจะจบปริญญาตรี ราวปลายปี ๒๕๑๔ ผมดูผีเสื้ออยู่ที่ตึกกรมวิชาการเกษตร ที่นั่นมีพิพิธภัณฑ์แมลง คุณหมอบุญส่งมาเห็นก็บอก “นายดูผีเสื้อเป็นนี่หว่า ไปอยู่กับฉันไหม”

ผมถามว่า “ทำอะไรครับ”

“เป็นผู้ช่วยฉันนี่”

แกไม่รู้จักผมหรอก แต่คุยกันไปมาก็ไปบ้านแกวันนั้นเลย ผมยังเรียนไม่จบเลยตอนนั้น

ไปถึงบ้านก็ถามว่า “จะอยู่แบบไหน จะอยู่แบบลูกจ้างหรืออยู่แบบลูก”

ผมก็ถามว่า “ต่างกันตรงไหน อยู่แบบลูกจ้างกับอยู่แบบลูก”

“ลูกจ้างมีเงินเดือนประจำทุกเดือน ลูกแล้วแต่ให้ อยากได้หนังสืออยากได้อะไรก็บอก ถ้ามีเงินก็ให้ ไม่มีก็ไม่ให้”

ชายร่างใหญ่ค่อนไปทางเจ้าเนื้อ ผิวคล้ำ ขนหนาแต่ผมน้อย ที่นั่งอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้า ค้างเรื่องเล่าไว้ชั่วลมหายใจ ดวงตายังคงเป็นประกายเหมือนรอลุ้นแทนคนฟังว่า ผม-จะเลือกอย่างไหน

“ผมเลือกอยู่แบบลูก และอยู่กับท่านมาจนท่านจำความไม่ได้”

เป็นที่รู้กันในแวดวงว่าอาจารย์จารุจินต์เป็นเหมือน “มือซ้าย” ของหมอบุญส่ง โดยมี กิตติ ทองลงยา เป็น “มือขวา” แต่เสียชีวิตไปก่อน

“ตอนนั้นคุณหมอบุญส่งร้องไห้อยู่หลายวัน ผมไปปลอบ แล้วท่านก็สั่งผมว่า อย่าตายนะ ถ้านายตายอีกคน ฉันหมดแน่ ท่านสั่งผมเลย ถ้าเกิดเจ็บป่วยอะไรก็ตาม เสียเท่าไรให้เอาเงินท่าน เจ็บป่วยผมรักษาฟรีทุกอย่าง ไปเบิกจากครอบครัวท่าน ตอนนี้ผมกำลังสืบต่องานของท่าน”

หลังเรียนจบ จารุจินต์เข้าทำงานในตำแหน่งนักวิจัยนิเวศวิทยา ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และก่อนหมอบุญส่งจะเจ็บป่วยจนไม่มีความจำ คำสั่งเสียเกี่ยวกับการงานด้านธรรมชาติวิทยาก็ถูกฝากฝังไว้กับเขา

“ตัวอย่างสัตว์ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลือดเย็น เราเก็บล่วงหน้ามาก่อนตั้งแต่ตอนทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผมเตรียมการตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยามา ๒๑ ปี”

jarujin03

การเรียนในภาคปฏิบัติตอนอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์

jarujin04

ภาพถ่ายเก่าใบนี้สะท้อนความซุกซนตามวัยของจารุจินต์เมื่อครั้งยังเด็ก ซึ่งพ่อแม่เล่าว่าเขาสนใจเรื่องธรรมชาติ-สัตว์ มาตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน

jarujin08

พ่อสอนลูก

“การศึกษาการค้นคว้าเป็นกำไรของชีวิต ที่เราอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะเราเรียน ถ้าไม่เรียน เราเป็นกุ๊ยไปแล้ว ชีวิตคงไม่มีค่าอะไรเลย ใครให้ทองผมบาท ให้หนังสือผมเล่มหนึ่งดีกว่าอีก นี่เป็นความคิดบ้า ๆ ของผมที่ผมพูดเสมอ เวลาใครไปเมืองนอกเขาถามอยากได้อะไร ผมบอกเอาหนังสือเล่มหนึ่ง อย่างอื่นไม่ต้องฝาก ผมชอบหนังสือมาก บ้าหนังสือ ชีวิตมีความสุขถ้าได้อ่านหนังสือเรื่องการอ่านการเรียนเป็นเรื่องสำคัญ และผมก็สอนลูกในเรื่องนี้ด้วย ส่งเสริมผลักดันเขาทุกอย่าง เขาสนใจอะไรจะเรียนอะไรไม่เคยขัดข้อง แล้วเขาก็ไม่เคยเสียชื่อในเรื่องการเรียนในงานวิชาการ”

รำจวน นภีตะภัฏ (พ่อ)

 

แต่ว่าตามจริง เรื่องความชอบจับสัตว์จับแมลงของอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ มีมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากปากของพ่อ-รำจวนนภีตะภัฏ

“เมื่อก่อนหน้าบ้านนี่เป็นคูน้ำ ฝั่งโน้นเป็นทิวป่า สัตว์เยอะ เขาก็ไปเที่ยววิ่งเล่นไล่จับแมลงจับผีเสื้อ”

“เขาไม่กลัวเลย” แม่-เจริญใจเล่าเสริม “ไปล้วงในรูโดนกัดมือ แม่เห็นแผลก็ตกใจ เอาเชือกมารัด คิดว่าคงโดนงูกัด เขาบอกไม่ใช่ครับ มันมีหนวดด้วย เราถึงรู้ว่าเป็นหนู แต่เขาไม่ได้กลัว ไม่ร้องไห้”

“ที่ตื่นเต้นอีกครั้งคืออะไรรู้ไหม ? เขาหิ้วหางงูมาเลย ไม่กลัวงู เรื่องสัตว์นี่เขาชอบมาตั้งแต่เด็ก” พ่อวัย ๙๒ ปีที่ยังแข็งแรงเล่าถึงนิสัยซุกซนใฝ่รู้ของลูกชายคนที่ ๒ ของครอบครัว

“เขาสนใจเรื่องพวกนี้แหละ อันที่จริงผมก็ไม่ใช่คนชอบทำบาป เรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ไม่ทำ แต่รู้ว่าเขาจะศึกษาก็ต้องปล่อยเขา จับผีเสื้อจับแมลงมาสตัฟฟ์นี่ต้องยอมเขา เพราะถือเป็นการศึกษาของเขา”

“เขาได้แบบอย่างมาจากไหน” ข้าพเจ้าถามชายชราผู้มีอดีตเป็นครูสอนการบินและเป็นคนเขียนตำราในปัจจุบัน

“ได้จากการอ่านหนังสือ ติ๊กเขาได้นิสัยรักการอ่านมาจากพ่อ และพ่อก็ได้มาจากปู่อีกที”

นักเขียนอาวุโสที่ยังเขียนหนังสือทุกวัน ตอบนักเขียนหนุ่มรุ่นหลาน และเล่าต่อไปถึงสายสกุลของตัวเองว่า

“ปู่เป็นปลัดกรมพระตำรวจหลวง เป็นจมื่นในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๖ เต็มรัชกาล เมื่อเริ่มให้คนไทยมีการใช้นามสกุล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ พระราชทานนามสกุลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่า นภีตะภัฏ แปลว่า ข้าหลวงผู้มีเกียรติ”

ลูกชายรุ่นที่ ๒ ของตระกูลนภีตะภัฏเล่าอย่างภูมิใจว่า เขามีคาถา ๓ คำในการสอนลูกหลาน “พ่อ แม่ วงศ์ตระกูล จะทำอะไรให้คำนึงถึง ๓ คำนี้”

ลูกชายคนที่ ๒ ของเขาที่ชื่อจารุจินต์ หรือติ๊ก ก็ไม่เคยทำให้เขาผิดหวัง

“ติ๊กไม่เคยทำอะไรให้ไม่สบายใจ ตั้งแต่เกิดจนตายเขาไม่เคยนำเรื่องเดือดร้อนมาให้ เรื่องใช้ชีวิตเหลวแหลกไม่มี ไม่เคยเสียเด็กทั้งต่อหน้าและลับหลัง เรียนหนังสืออย่างเดียว เขาเรียนดี เข้าเรียนอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลเจริญสิน จากนั้นก็ไปเข้าเรียนประจำที่วชิราวุธวิทยาลัย พ่อกับแม่ได้ไปนั่งในหอประชุมทุกปีในงานรับรางวัลเรียนดีของเขา จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เรียนต่อปริญญาโท ได้ทำงานมีครอบครัวแล้วก็ยังมาเยี่ยมที่บ้านเกือบทุกสัปดาห์ เขาไม่ทิ้งพ่อแม่ ถึงเดือนก็เอาเงินมาให้ เราก็ใช้ไปสิ มีลูกคอยเลี้ยงคอยป้อนกลับ พ่อแม่ก็สบายใจ”

“เดิมบ้านหลังนี้ยกพื้นสูง” เจ้าของบ้านเลขที่ ๕๐/๑ ในซอยติวานนท์ ๔๐ ย่านสนามบินน้ำ ชี้ไปที่ตัวบ้านซึ่งบัดนี้เป็นบ้านชั้นเดียวติดพื้น มีบริเวณรอบบ้านพอให้ต้นไม้แผ่ความร่มรื่นและดอกไม้ได้บานดอกอย่างไม่อึดอัด

“เขาเห็นว่าพ่อแม่แก่แล้วจะขึ้นลงเรือนลำบาก ก็มารื้อปลูกใหม่ให้ เขากลัวว่าแม่จะอยู่กับเขาไม่นาน แต่เขาก็มาจากไปก่อน”

“แม่เขาเศร้าซึมอยู่หลายวัน แต่ผมทำใจได้” พ่อที่หูตายังดี จิตใจและปัญญายังแจ่มใส ยังเขียนหนังสืออยู่ทุกวัน พูดถึงการจากไปอย่างไม่คาดคิดของลูกชาย

“ในชีวิตผมผ่านความสูญเสียคนรักมามาก เห็นพ่อแม่ตาย แม่นี่ค่อย ๆ แผ่วลงเหมือนน้ำที่มันรั่วหมดถัง ผมเป็นคนที่ปล่อยวางได้ ทุกอย่างเป็นไปตามกุศลวาสนา เมื่อลูกจากไปก็เสียใจแทนส่วนรวมมากกว่า ว่างานหนังสือหนังหาที่ลูกเขียน ลูกจะไม่ได้เขียนต่อไป ส่วนเรื่องส่วนตัวเราพ่อลูก เมื่อเขาจากเราไป ก็เป็นอันว่าเขาจากเราไป ผมเป็นคนปลงตก อายุป่านนี้แล้วปลงได้ แต่แม่เขาเศร้าอยู่หลายวัน”

ในวัย ๙๒ ปี พ่อ-รำจวนยังแข็งแรง เดินเหินและดำเนินชีวิตประจำวันได้เองทุกอย่าง เขียนหนังสือตำราการบินและลมฟ้าอากาศเกี่ยวกับการบิน เป็นการงานที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจ โดยมีภรรยาที่ครองคู่กันมา ๖๑ ปี เคียงข้างอยู่กันสองตายาย

“กับติ๊กเราห่างกันตั้งแต่เขาไปเข้าโรงเรียนประจำ เล่าได้แต่ชีวิตวัยเด็ก ถ้าเป็นเรื่องหลังจากนั้นต้องไปถามจากคนที่ทำงานอยู่กับเขา”

jarujin09

ระลึกคำครู

“อาจารย์จารุจินต์บอกว่า การทำงานอนุกรมวิธานที่ดี

แค่สนใจไม่พอ ต้องบ้ากับมันถึงจะได้ความรู้ที่ซ่อนเร้นอยู่ ทำให้อาจารย์เกี่ยวข้องกับสัตว์ทุกกลุ่ม ไม่ว่าพวกสัตว์น้ำจืด สัตว์เลื้อยคลาน แมลง เพราะอาจารย์ว่าโอกาสที่เราจะได้เข้าพื้นที่มีน้อย อะไรเก็บได้ให้เก็บมาก่อน และในเอเชียเท่านั้นที่จะพบสปีชีส์ใหม่ได้ เนื่องจากมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งถ้าอาจารย์ยังอยู่ท่านจะเป็นหลัก เป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาทุกสถาบัน ใครเก็บตัวอย่างอะไรมา อาจารย์ช่วยดูได้หมด ซึ่งในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ไม่กี่คน”

ธัญญา จั่นอาจ (ลูกศิษย์, เพื่อนร่วมงาน)

“โดยพื้นฐานการศึกษาเบื้องต้น อาจารย์จารุจินต์คือนักกีฏวิทยาผู้มีความสามารถล้ำเลิศ แต่การปรากฏตัวในวงการศึกษาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกของประเทศไทยกลับสร้างความสั่นสะเทือนและความก้าวหน้าทางอนุกรมวิธานของสัตว์ ๒ กลุ่มนี้ไม่น้อย ในภาคของนักวิชาการ อาจารย์จารุจินต์เป็นนักสะสมหนังสือ และเป็นนักอ่านที่ความจำดีมาก หนังสือทุกเล่มที่ผ่านสายตาจะจำได้ว่าเรื่องนั้น ๆ อยู่ในหนังสือเล่มไหน ทำงานอยู่ด้วยกันเกิดติดขัดตรงไหน ไปหาอาจารย์ก็จะหยิบหนังสือให้ดู มีอะไรปรึกษาหารือได้ตลอด ความรอบรู้ของท่านยังส่งผลให้มีมนุษยสัมพันธ์ดีด้วย มีเพื่อนฝูง มีเครือข่ายที่สามารถขอคำแนะนำได้ตลอดทั่วโลก”

ธัญญา จั่นอาจ ผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑ์อ้างอิง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พูดถึงคนที่เป็นทั้งอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน เขาเป็นคนหนึ่งที่ร่วมงานกับอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นคนที่บรรณาธิการ สารคดี เปรียบว่าเป็นเหมือน “มือขวา” ของอาจารย์จารุจินต์ ที่ข้าพเจ้าควรได้พูดคุยด้วย

“ท่านเป็นคนที่ถือว่าใจเย็น สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทำให้เกิดความรอบคอบ ประนีประนอม ซึ่งถือว่าสำคัญในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร ที่สำคัญคืองานเป็นงาน นอกเวลางานอาจารย์เป็นแฟมิลีแมน เรื่องเที่ยวเตร่ไม่มีเลย”

ธัญญาให้ภาพของนักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญของเมืองไทยที่เขารู้จักมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓

ตอนนั้นเขารับราชการอยู่ที่กรมป่าไม้ เมื่อลาเรียนต่อปริญญาโท เขาขอให้อาจารย์จารุจินต์ช่วยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม หลังเรียนจบก็ยังมีการติดต่อประสานทำงานร่วมกันมาตลอด กระทั่งมีการก่อตั้งองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และอาจารย์จารุจินต์ที่เป็นผู้ดูแลในส่วนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาได้ชักชวนให้มาทำงานด้วยกัน เขาจึงลาออกจากกรมป่าไม้ในปี ๒๕๔๐ มาทำงานอยู่กับอาจารย์จารุจินต์ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา

“มารับผิดชอบดูแลคลังตัวอย่างอ้างอิง และสำรวจวิจัยควบคู่ไปด้วย”

ผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑ์อ้างอิงพูดถึงงานของเขา

jarujin10

เมื่อออกสำรวจพื้นที่ในช่วงหลังสองทุ่มไปแล้วอาจารย์จะออกเดินไปตามลำห้วยเพื่อส่องหาสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เมื่อจับได้ก็จะอธิบายถึงลักษณะต่างๆ ให้ดูเพื่อใช้เป็นข้อสังเกตในการจำแนกชนิด ภาพนี้ถ่ายที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ (ภาพ : เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์)

jarujin13

งานภาคสนามและการออกพื้นที่แทบจะกล่าวว่าเป็นวิถีหลักของนักวิชาการทางธรรมชาติวิทยาอย่างอาจารย์จารุจินต์ก็ว่าได้ ในภาพนี้อาจารย์จาุรุจินต์แบกสวิงไปเก็บตัวอย่างปลาในป่าห้วยขาแข้ง

jarujin14

ครั้งหนึ่งที่เป็นความภูมิใจในชีวิตการงาน คือการต้อนรับถวายงานสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น

“งานของเราส่วนใหญ่อยู่ในป่า กลางคืนออกเก็บตัวอย่าง เช้ามาก็ทำงานต่อ หลังเที่ยงก็นอน เย็นมาก็สำรวจพื้นที่ ต้องไปทำเครื่องหมายไว้ก่อน ไม่งั้นกลางคืนหลง ต้องเอาริบบิ้นไปผูกไว้ แล้วกินข้าวเย็น รอจนมืดสนิทก็ทำงาน อาจารย์จารุจินต์บอกว่าถ้าเริ่มหัวค่ำเกินไป กบยังไม่ได้กินอาหารจะเปรียว ต้องให้มันหากินได้ก่อนจะนั่งนิ่งให้เราจับ หลังสองทุ่มจึงเริ่มทำงานจนถึงตีสอง”

และพูดถึงการทำงานร่วมกับอาจารย์จารุจินต์ว่า

“ในภาคปฏิบัติผมได้รับประโยชน์อย่างมาก อาจารย์แนะนำทุกอย่าง อย่างท่านบอกว่าเดินป่าเราไม่ต้องเดินเร็ว สัตว์ที่เรามาสำรวจบางครั้งต้องพลิกก้อนหิน ต้องคุ้ย ต้องใช้ความละเอียดลออ และใช้เวลาค่อนข้างมาก จึงไม่ต้องกังวลกับระยะทาง แต่ให้ใช้เวลาให้มากที่สุด ดูให้ละเอียดมากที่สุด”

เขายังกล่าวถึงอาจารย์จารุจินต์ไว้ในงานเขียนเรื่อง “ดร. จารุจินต์ นภีตะภัฏ กับบทบาทของนักอนุกรมวิธานด้านสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก” ว่า

“ถ้าจะบอกว่า ดร. จารุจินต์ คือนักวิชาการไทยคนแรกที่หาญกล้าชูผลงานเสนอต่อทำเนียบโลกอย่างทระนงก็คงไม่ผิดนัก เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ดร. จารุจินต์ประกาศกับโลกว่าในประเทศไทยมีสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครรายงานจากประเทศไทยมาก่อนคือ กิ้งก่างู (Ophisaurus gracilis) ในวงศ์ Anguidae ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานวงศ์ใหม่ของประเทศไทย (Nabhitabhata, 1987) หลังจากนั้นมีการตั้งชื่อสัตว์ชนิดใหม่เป็นระยะ ๆ และมีนักวิชาการจากทุกสารทิศในโลกติดต่อโดยตรงเข้า มาหา ดร. จารุจินต์เพื่อขอทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะคณะของ ดร. มาซาฟูมิ มัตซุย แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศ ญี่ปุ่น ขอเข้ามาศึกษาความหลากหลายของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๑ ผลของการร่วมมือคราวนั้นทำให้เกิดการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ขึ้นหลายชนิด รวมทั้งการใช้ชื่อ ดร.จารุจินต์เป็นชื่อสัตว์บางชนิด”

รากเหง้าท้องถิ่น

(ชื่อบ้านนามเมืองฉบับอาจารย์จารุจินต์)
ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง นอกเหนือจากการเก็บตัวอย่างสัตว์ และการสืบค้นที่มาของชื่อสัตว์แต่ละชนิดเพื่อการทำอนุกรมวิธาน-อันเป็นงานหลัก อาจารย์จารุจินต์ยังมักสนใจ สืบค้นถึงที่มาของชื่อนามชุมชนด้วย ในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ อาจารย์ยกตัวอย่างบางส่วนมาเล่าให้ฟัง พร้อมทั้งบอกว่าท่านเก็บรวบรวมชื่อท้องถิ่นไว้อีกเยอะ ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องชื่อสัตว์ พืช หรือเรื่องพวกนี้ให้โทร. มาถามได้เลย-แต่ตอนนี้คงไม่ได้แล้ว-นอกจากที่มีบันทึกไว้

“ชื่อเดิมของทางอีสานวิบัติหมด เพราะคนกรุงเทพฯ ที่ไปทำงานไม่เข้าใจรากศัพท์ของเขา

“บ้านนาจารย์ ความจริงไม่ใช่เขียนแบบนี้ ที่ถูกต้องตามที่มาต้องเป็น นาจาน คือทุ่งที่มีต้นจาน
หรือต้นทองกวาวขึ้นอยู่

“บ้านแฮด มาจาก ต้นกก ซึ่งอีสานเรียก ต้นแฮด แต่คนจากส่วนกลางเขาเข้าใจว่า ฮ เมื่อเป็นภาษากลางต้องเป็น ร ก็เขียนให้เขาเป็น บ้านแรด ไปเลย

“ที่แสบกว่านั้น บ้านสงฆ์เปลือย นี่คือพระแก้ผ้าเลย ที่ถูกต้องคือ สงเปือย มาจากต้นเปือย คือต้นตะแบกนั่นเอง แต่เขาไปเขียนเป็นบ้านพระแก้ผ้าไปเลย เพราะเขาไม่เข้าใจรากศัพท์

“บ้านเสียบญวนที่ชุมพร คิดว่าคนญวนมาถูกแทงตาย แต่สืบไปเป็น ยวนผึ้ง ที่ถูกต้องเขียน ยวน คือต้นยวนผึ้ง ที่มีผึ้งทำรัง บ้านนี้เป็นหมู่บ้านตีผึ้ง แต่คนนอกไปเขียนให้เป็น ญ ก็กลายเป็น คนญวนถูกแทง

“ส่วนราชการที่มาทำป้ายเข้าใจผิด คิดไปเอง ทำให้ความหมายเดิมหายไป”

 

ธัญญาพูดถึงเรื่องสัตว์ ข้าพเจ้านึกไปถึงสัตว์หลายชนิดที่อาจารย์จารุจินต์พูดถึงเมื่อคราวที่ข้าพเจ้าสัมภาษณ์ขอความรู้เรื่องเต่าปูลู เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๙

“มีคนถามบ่อย ทำไมเรียกเต่าปูลู หรือทำไมเรียกลิงว่าลิง เรียกหมาว่าหมา ฯลฯ”

ว่าแล้วอาจารย์ก็ไขคำตอบเกี่ยวกับที่มาของชื่อสัตว์บางชนิดตามที่ได้สืบค้นมาแล้ว ข้าพเจ้าจะตัดทอนมาเล่าสู่ผู้อ่านบางชนิด ดังนี้

เสือลายพาดกลอน มาจากเสือลายก่ายกลอน กลอนภาษาโบราณหมายถึง ซี่โครง คือเป็นเสือที่ลายก่ายอยู่บนซี่โครง

งูสิง อาจารย์จารุจินต์บอกว่าอย่าคิดไปในทำนองว่างูที่มีผีสิง เพราะ สิง ในภาษาเหนือแปลว่า ตัวดำเป็นมัน

นกกระจอกเทศ ทำไมเรียกชื่อนี้ทั้งที่ดูไม่เกี่ยวกับนกกระจอกไทยเลย แต่คำว่า กระจอก นั้นไม่ได้แปลว่าเล็กน้อย อย่างเดียว ยังแปลว่า เขยก ด้วย คือเป็นนกที่เขยกจากต่างประเทศ

“ผมกำลังเขียนเรื่องพวกนี้อยู่ เสร็จแล้วจะตีพิมพ์มาให้ใช้กัน จะได้รู้ว่าแต่ละชื่อที่เราเรียกมาจากไหนอย่างไร ชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไร ผมกลัวภาษามันหายไป ถ้าผมไม่เขียนเอาไว้ อีกหน่อยผมตายไปมันก็หายไปกับตัวผม ถ้าเขียนไว้ก็เหลืออยู่ให้คนได้ใช้”

ต่อมาเมื่อข้าพเจ้ามาขอสัมภาษณ์อาจารย์จารุจินต์อีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐ ในเรื่องเกี่ยวกับหมอบุญส่ง เลขะกุล ถึงได้รู้ว่างานนี้เป็นเรื่องหนึ่งในคำสั่งเสีย ๓ ข้อที่หมอบุญส่งฝากให้อาจารย์จารุจินต์สานต่อให้บรรลุ–ให้เขียนสารานุกรมชื่อสัตว์

“หมอบุญส่งทำไว้ราว ๑๐๐ กว่าชื่อ ผมมาเขียนต่อ ตอนนี้ได้ราว ๘,๐๐๐ ชื่อแล้ว แต่ละชนิดต้องไปสืบค้น แล้วเขียนว่า เรียกว่าอะไร โดยใคร ที่ไหน เฉพาะหมวด ก มีพันกว่าชื่อ อย่างนกกดมี ๑๗ ชื่อ ปลากด ๓๐ ชื่อ เช่น กดหัวแข็ง กดหิน เรียงกันไป ปีหน้าคาดว่าน่าจะพิมพ์ครั้งแรกได้ เรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับหมอบุญส่ง เพราะกลัวชื่อสัตว์จะหายไปจากระบบ อีกหน่อยพออ้างชื่อคนจะนึกไม่ออก หลายชื่อเก่ามากและเป็นชื่อท้องถิ่น อย่างภาคใต้มี มดชิด คือกระสุนพระอินทร์ กล้วยย่างหรือกล้วยปิ้ง คือทากดิน ต้นฉบับอยู่ในคอมพิวเตอร์ ทีนี้ถ้าผมตายไป ใครจะรู้ว่าตัวไหนคือตัวไหน”

แล้วเขาก็ตายไปจริง ๆ โดยที่สารานุกรมชื่อสัตว์ยังไม่ได้ตีพิมพ์

ธัญญาพูดถึงเรื่องนี้ว่า “อาจารย์จารุจินต์เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า อาจต้องเป็นโครงการข้ามชาติ คือในชีวิตของท่านยังไม่เสร็จ ต้องมีคนใหม่มาทำแทนหรือสานงานต่อ ที่ว่าท่านเป็นคนที่ตายไม่ได้ ความหมายในเชิงปรัชญาก็คือ ความรู้เหล่านี้ตายไม่ได้”

ข้าพเจ้าขอให้เขากลับไปที่ค่ำคืนของการทำงานในป่า

“การศึกษาอนุกรมวิธานต้องศึกษาจากตัวอย่าง ต้องได้เห็น ได้จับตัว ต้องตรวจดูรายละเอียด ต้องเอามาส่องดูด้วยกล้อง จึงต้องเก็บตัวอย่างไว้อ้างอิง”

“นี่เป็นคำอธิบายว่าทำไมต้องจับเอาตัวสัตว์มา ?”

“เก็บตัวอย่าง เอามาถ่ายรูป แล้วฆ่าแบบการุณยฆาต คือไม่ให้สัตว์ทรมาน เรามีจรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์ คือเราไม่ได้ฆ่าสัตว์ทุกตัว แต่เป็นการเลือกว่า ชนิดไหน ขนาดไหนน่าจะเก็บเป็นตัวอย่าง ตัวที่ไม่จำเป็นก็ปล่อยไป ไม่ใช่จับมาเป็นร้อยเป็นพันแล้วฆ่าทิ้งหมด และเราต้องไม่ทำให้สัตว์ทรมาน อย่างการโยนสัตว์ลงในฟอร์มาลิน อันนั้นทรมานมาก อาจารย์จะพยายามทำให้ดูว่ามาตรฐานของโลกเขาทำกันอย่างไร เขาใช้ยากล่อมประสาทให้สัตว์ตายโดยไม่ทรมาน”

“แต่อย่างไรก็เป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่ดี ?”

“เก็บเพื่อความรู้ การทำงานตรงนี้จึงไม่ถือว่าบาป อาจารย์พูดเสมอว่า นี่เป็นการงานที่เราทำให้แผ่นดิน เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ตัวอย่างต่าง ๆ นี่ยกให้เป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดินทั้งหมด”

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง

jarujin11

อาจารย์ยังอยู่-แม้จากไป

“อาจารย์จารุจินต์เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่สามารถหาข้อมูลทุกอย่างที่เราต้องการในเรื่องธรรมชาติวิทยา ถ้าติดขัดขึ้นมา เราสามารถหาได้จากอาจารย์จารุจินต์ ถึงตอนนี้บางทีมีคนมาถามแล้วเราตอบไม่ได้ ก็พูดออกไปว่าเดี๋ยวไปถามอาจารย์ให้ ลืมนึกไปว่าอาจารย์เสียไปแล้ว มันเหมือนเป็นความเคยชินว่าเราพึ่งอาจารย์ได้ พออาจารย์จากไปก็เหมือนว่าความรู้บางอย่างมันหายไปกับการเสียชีวิตของอาจารย์ ในด้านอนุกรมวิธานถือว่าแกจำแม่นมากและสมองไว เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ซื้อหนังสือใหม่มาก็จะอ่าน แล้วแบ่งให้เราดู หนังสืออาจารย์จึงวนเวียนอยู่ตามโต๊ะคนนั้นคนนี้ แต่ถึงอาจารย์จากไปแล้ว ก็เหมือนยังอยู่กับเราตลอด ยังทิ้งสมบัติไว้ให้เราได้ใช้ประโยชน์เยอะอยู่ หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา เปิดขึ้นมาก็เห็นชื่ออาจารย์อยู่ในหนังสือ”

วัชระ สงวนสมบัติ (ผู้ใต้บังคับบัญชา)

“อาจารย์จารุจินต์ย้ำกับเราเสมอว่า ของทุกอย่างที่เราเก็บมาไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่ทำไว้ให้แผ่นดิน”

ลูกน้องใกล้ชิดอีกคนที่ชื่อ วัชระ สงวนสมบัติ ต่อประเด็นการเก็บตัวอย่างสัตว์

“เวลากลับจากออกพื้นที่ อาจารย์ก็จะมาถามหรือไม่เราก็ไปเล่าให้อาจารย์ฟัง เป็นการทบทวนความจำของตัวเองด้วย อาจารย์เป็นคนที่ไม่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ลูกน้องมาเล่าอะไรให้ฟัง ท่านจะฟังอย่างตั้งใจ และถ้าเป็นเรื่องที่ยังไม่รู้ ท่านจะตื่นเต้นมาก ทำให้เราภูมิใจว่าสิ่งที่เก็บมามีประโยชน์”

ส่วนงานชิ้นใหญ่ที่ยังไม่บรรลุ–หนังสือสารานุกรมชื่อสัตว์ วัชระช่วยปะติดปะต่อว่า

“ผมได้ยินมานานแล้วว่าอาจารย์จารุจินต์กำลังทำสารานุกรมชื่อสัตว์ จนมาเจออาจารย์ก็ได้ยินท่านพูดเรื่องนี้ และได้รู้ว่าไม่ใช่แค่เอาชื่อสัตว์มารวม ๆ กัน แต่เป็นการสืบค้น ไปถามจากผู้รู้ จากคนแก่ ๆ ซึ่งอาจารย์รวมมาได้ ๘,๐๐๐ ชื่อแล้ว วันสุดท้ายที่เข้ามาทำงานท่านยังมาคุยอยู่เลย บอกว่าได้ชนิดล่าสุดเรื่องนกแต้วแล้วธรรมดา ที่มันมักร้องตอนฤดูฝน คนให้ข้อมูลอาจารย์มาว่า มันร้องบอกว่าเห็ดโคนออกแล้ว”

วัชระเข้ามาร่วมงานกับอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ในตำแหน่งนักวิชาการนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เขาเล่าว่าได้ร่วมทำคู่มือดูนกฉบับภาษาไทยกับอาจารย์จารุจินต์ด้วย

พาให้ข้าพเจ้านึกไปถึงอีกภารกิจที่ นพ. บุญส่ง เลขะกุล ฝากฝังไว้กับศิษย์รักผู้เป็นมือซ้าย “…สอง ช่วยทำหนังสือคู่มือดูนกเมืองไทยเป็นภาษาไทยให้คนไทยได้อ่านด้วย” วรรคหนึ่งที่อาจารย์จารุจินต์เล่าให้ข้าพเจ้าฟังในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐

วัชระไปหยิบหนังสือ คู่มือดูนก หมอบุญส่ง เลขะกุล “นกเมืองไทย” มาให้ข้าพเจ้าดู มีชื่อของเขาเป็นผู้จัดทำเนื้อหาร่วมกับอาจารย์จารุจินต์ (และ กานต์ เลขะกุล หลานชายของหมอบุญส่ง) ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่เขาภาคภูมิใจ

jarujin12

เมื่อให้พูดถึงชายที่ชื่อ จารุจินต์ นภีตะภัฏ วัชระบอกว่า ท่านเป็นเหมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่สามารถหาข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการ-ในเรื่องธรรมชาติวิทยา

“เช้ามาอาจารย์จะชอบมาคุยกับลูกน้อง ดื่มกาแฟไปด้วย ยืนคุยยืนถาม บางทีคุยกันเป็นชั่วโมง แกคุยกับเราทีหนึ่ง หันไปคุยกับโต๊ะข้าง ๆ โต๊ะข้างหลัง ก็เกิดความรู้สึกผูกพัน แกดูแลทุกอย่าง เอาใจใส่ลูกน้อง ตอนกลางวันทุกคนจะมากินข้าวด้วยกัน ส่วนใหญ่อาจารย์จะเลี้ยง ระหว่างกินข้าวอาจารย์จะเล่าหรือเราถาม ท่านความรู้เยอะ ไม่มีตรงไหนที่ไม่มีความรู้ ทำให้เราได้ความรู้ระหว่างกินข้าว ท่านเป็นคนแบบนี้ ใคร ๆ อยู่รอบตัวท่านจะพยายามอธิบายให้ฟัง พยายามส่งสายตาถึงคนนั้นคนนี้ให้มาฟังสิ่งที่แกเล่า และต้องยอมรับว่าแกสอนเก่ง สอนเด็ก สอนผู้ใหญ่ สอนนักวิชาการ ท่านพูดไม่เหมือนกัน จะดูตามกลุ่ม”

ครั้งสุดท้ายที่ได้ออกพื้นที่ด้วยกันที่จังหวัดชลบุรี วัชระยังจดจำเรื่องที่ถือเป็นความประทับใจสำหรับเขา

“ครั้งนี้มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ เรากำลังฟังเจ้าหน้าที่อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ อาจารย์จารุจินต์ยืนอยู่ข้าง ๆ ผม ตอนหนึ่งผมเห็นท่านเอื้อมมือไปคว้าใบไม้มากำไว้ แล้วทำเสียงตื่นเต้นบอกผมว่า มาดูนี่ ได้ตัวดีแล้ว แล้วก็ล้วงกระเป๋าคาดเอว แกพกขวดน็อกแมลงมาด้วย เป็นขวดแก้วมีฝาปิด ใส่สารเคมีไว้ที่ก้นขวดสำหรับฆ่าแมลง แกเอาไอ้ตัวนั้นใส่ลงไป ผมยังจำได้ว่าเป็นแมลงวันหัวเล็ก ท่านชี้ ให้ดูหัวของมันที่เล็กมาก หัวเหมือนตุ่มที่งอกมาจากตัว หายากมาก อาจารย์บอกว่าแทบจะไม่เคยเห็นเลย ที่ว่าเป็นตัวหายากแล้วท่านมาจับได้ ผมยังไม่แปลกใจเท่าไร แต่ทึ่งว่าท่านมองเห็นได้อย่างไร ตัวมันนิดเดียว เรามีแต่มองนกมองหนูบนต้นไม้ ไม่ได้มองอะไรที่มันเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้เลย อาจารย์จารุจินต์เตรียมตัวอยู่ตลอดเวลาสำหรับการเก็บตัวอย่างสัตว์”

jarujin06

รูปสัตว์ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่ผู้อำนวยการจารุจินต์ควบคุมดูแลการปั้นด้วยตัวเอง ผลงานจึงออกมาเหมือนจริงมาก งูเหลือมที่เห็นผิวหนังอย่างละเอียดนั้นหล่อแบบมาจากตัวงูจริง (ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

jarujin07

การสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเมืองไทยมีต้นความคิดมาจากหมอบุญส่ง เลขะกุล แต่มาปรากฎเป็นจริงด้วยการสานต่อของอาจารย์จารุจินต์ ผู้เปรียบตัวเองว่าเป็นเหมือนลูกนอกไส้ของหมอบุญส่ง (ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

jarujin19

jarujin20

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Thailand Natural History Museum)

แนวความคิดในเรื่องการตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเมืองไทยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยหมอบุญส่ง เลขะกุล แต่มาปรากฏเป็นจริงจากการผลักดันของอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ ในปี ๒๕๓๘ ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นอาคาร ๒ ชั้น พื้นที่ ๑,๑๐๐ ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างเกือบ ๒๗ ล้านบาท ตั้งอยู่ในบริเวณองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ศูนย์การศึกษาวิจัยธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยและประเทศใกล้เคียง เป็นศูนย์ข้อมูลอ้างอิงตัวอย่างทางด้านธรรมชาติวิทยา รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการประวัติทางธรรมชาติวิทยาด้วยสื่อการนำเสนอที่แปลกใหม่ และแสดงความหลากหลายทางธรรมชาติอันน่าพิศวงของพืชและสัตว์ กระทั่งถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่รวบรวมความรู้และนิทรรศการทางธรรมชาติวิทยาที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย

 

ถึงเวลาถ่ายรูป เพื่อนช่างภาพชวนวัชระเดินเข้าในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เพื่อให้ภาพถ่ายนักวิชาการหนุ่มมีบรรยากาศและฉากหลังที่ช่วยบอกเล่าเนื้อหาด้วย

วัชระเดินนำไปถึงบริเวณจัดแสดงรูปปั้นสัตว์หลากชนิด พลางบรรยายไปด้วย

“ตัวสัตว์พวกนี้อาจารย์จารุจินต์มาคุมการปั้นด้วยตัวเอง ทั้งที่ช่วงที่กำลังสร้างในนี้อบอ้าวมาก ท่านเล่าว่าต้องถอดเสื้อทำงานกันเลย แต่ก็ต้องยอมเพราะถ้าไม่ดูแลอย่างใกล้ชิด รูปปั้นสัตว์จะออกมาไม่เหมือน บางตัวต้องทุบปั้นใหม่กันอยู่หลายรอบเหมือนกัน คุณดูหลังเต่านั่นสิ ผมว่ามันเหมือน
กระดองเต่าจริงมาก ส่วนงูเหลือมตัวนี้ หล่อแบบจากตัวงูจริง ๆ เลย ผิวหนังจึงเหมือนจริงมาก”

ครั้งที่ข้าพเจ้ามาสัมภาษณ์อาจารย์จารุจินต์หนแรกเมื่อปลายปี ๒๕๔๙ อาจารย์เคยนำชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาก่อนแล้ว ข้าพเจ้ายังบันทึกคำบรรยายเอาไว้

“ในนี้ไม่มีสัตว์ตัวตายเลย ผมไม่นิยมเอาตัวสตัฟฟ์มายืน มันดูไม่สวย และในแง่ของนักธรรมชาติวิทยามันไม่ดี พวกเขียวจัด ๆ ด่าตายเลย ผมไม่มีเลย ลอกแบบมา เอารูปถ่าย ลงสีเหมือนตัวจริง เคาะดู เป็นไฟเบอร์กลาสทั้งนั้น”

ตอนนั้นอาจารย์มีเข็มขัดแถบผ้ายืดกว้างราวคืบคาดอยู่นอกเสื้อด้วย ข้าพเจ้าฟื้นความหลังเรื่องนี้ขึ้นมา วัชระบอกว่า เขาเรียกกันเล่น ๆ ว่า “เข็มขัดแชมป์โลก”

“อาจารย์จะคาดเอวไว้ประจำเพื่อช่วยเรื่องอาการปวดเอว ตอนหลังมาอาจารย์เล่าว่าที่บ้านควบคุมเรื่องอาหารการกินด้วย หลัง ๆ อาจารย์สุขภาพดีขึ้นมาก ผอมลง ถ้าจำไม่ผิด สัปดาห์สุดท้ายที่เข้ามาทำงาน อาจารย์ไม่ได้คาดเข็มขัดนั้นแล้ว”

“เรื่องสุขภาพไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิต ?”

“หลัง ๆ ท่านสุขภาพดีขึ้น ที่เสียชีวิตเพราะไปผ่าตัดเล็ก ๆ แล้วแพ้ยา และมีการดูแลความปลอดภัยไม่ดีพอ เรื่องนี้ถ้าอยากรู้รายละเอียดต้องไปคุยกับที่บ้านอาจารย์”

jarujin15

จากคนที่ใกล้ชิดที่สุด

“อาจารย์จารุจินต์อยู่ในวงการธรรมชาติวิทยา เป็นผู้จริงใจกับงาน ไม่ใช่พ่อค้าทำแล้วต้องมาบวกลบกำไัร ใครให้ทำงานอะไร อาจารย์ไม่ได้ถามด้วยซ้ำว่าค่าตอบแทนเท่าไหร่ บางทีเราเห็นเขาทำงานเยอะๆ ก็อยากรู้ว่าเขาจ้างทำหรือเปล่า บางทีก็ถาม อาจารย์ตอบว่าอย่าไปสนใจ อย่าไปคิดอะไรมาก ให้งานออกมาสมบูรณ์ก็จบ เท่านั้นเอง อาจารย์พูดเสมอว่าคนเราเกิดมาทำเพื่อครอบครัว ทำเพื่อตัวเองถือว่าเป็นคนธรรมดา แต่อาจารย์บอกว่าตัวเขาเกิดมาจะทำประโยชน์ให้บ้านเมือง สิ่งตอบแทนไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราเกิดมาใช้ทรัพยากรไปมาก หนทางไหนที่จะตอบแทนโลกนี้หรือตอบแทนธรรมชาติได้เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ

จิราภา นภีตะภัฏ (ภรรยา)

“แค่จะไปให้หมอตัดตุ่มเล็กๆ ใต้ตา”

คู่ชีวิตของอาจารย์จารุจินต์พูดถึงต้นเหตุที่นำไปสู่การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของหัวหน้าครอบครัว ในน้ำเสียงเรียบ ๆ แต่แฝงความเศร้าเสียดาย

“อาจารย์อายุ ๕๘ ปี ถ้าไม่เกิดเรื่องอย่างนี้อาจารย์คงอยู่ได้อีกเป็นสิบปีสบายมาก ต่อองค์กรก็ถือว่าสูญเสียมาก เพราะตัวเขาสะสมประสบการณ์ไว้มาก”

เธอร่วมชีวิตกับอาจารย์จารุจินต์มา ๓๒ ปี มีลูกสาวและลูกชายอย่างละคน สิ่งหนึ่งที่เธอเห็นมาตลอดคือความเป็นคนสมถะ “ตลอดชีวิตไม่เคยมีรถ เขาบอกว่ายุ่งยากเรื่องที่จอด ไปแท็กซี่ลงแล้วก็หมดห่วง ไม่มีแท็กซี่ก็เดินออกมาเรียก เป็นการรออกกำลังกายด้วย เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยเรียกร้องอะไร”

“แล้วคราวนี้นึกอะไรขึ้นมา ?”

“ลองดูภาพถ่ายชัด ๆ ของอาจารย์นะ” จิราภา นภีตะภัฏ ภรรยาของอาจารย์จารุจินต์รื้อซองรูปถ่ายหาภาพถ่ายระยะใกล้ของสามีให้ข้าพเจ้ากับเพื่อนช่างภาพดู

“อาจารย์เป็นไฝที่ใต้ตาซ้าย พออายุเยอะไฝก็โตขึ้น พอเขาเอ่ยปากว่าอยากเอาออก คนในบ้านก็ไม่ขัด เพราะโดยปรกติเขาไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องตัวเอง”

“ทำไมถึงอยากเอาออก ?”

jarujin05

ขณะอยู่ในป่า ในช่วงเย็นของแต่ละวัน อาจารย์จะเซตแมลงที่จับมาได้พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ก่อนนำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาต่อไป ส่วนนิ้วกลางขวานั้นไม่ได้จงใจจะยกใส่ใคร แต่นิ้วนั้นของอาจารย์แข็งเกร็งงอไม่เข้า ภาพนี้ถ่ายที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ (ภาพ : เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์)

jarujin16

แต่งกายเป็นขุนช้างในงานเลี้ยงฉลองปีใหม่ขององค์กร

“เขาไม่ใช่คนที่จะทำเพื่อความงาม เขาไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างเรื่องหัวล้าน เขาก็ไม่เคยคิดเรื่องที่จะไปปลูกผม ทำผมปลอม คนอื่นอาจอายว่าหัวล้าน แต่เขาเห็นว่าเป็นลักษณะเด่นอย่างไปออกพื้นที่กัน ๕ คน ๑๐ คน แล้วย้อนกลับไปที่เดิมอีกทีเมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านจะจำอาจารย์จารุจินต์ได้คนเดียวด้วยความที่เป็นคนหัวล้าน ปีหนึ่งในงานเลี้ยงปีใหม่ของที่ทำงาน ลูกน้องให้อาจารย์แต่งเป็นขุนช้างเข้าประกวดตัวละครในวรรณคดี เขาได้รางวัลด้วย กลับมาคุยที่บ้านอย่างภูมิใจ”

ว่าพลางเธอหยิบรูปถ่ายสามีแต่งเป็นขุนช้างขึ้นมาให้ดู ข้าพเจ้าเห็นแล้วไม่กังขากับผลการตัดสินเลย ภาพของนักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญในชุดเสื้อผ้าและเครื่องประดับแบบไทยโบราณนั้น พอที่เขาจะเข้าฉากหรือขึ้นเวทีได้ทันทีหากว่ามีการเปิดแสดงเรื่องขุนช้างขุนแผน

“เอกลักษณ์ของเขาคือหัวล้านกับนิ้วกลางชี้” จิรธิติ ลูกชายซึ่งนั่งอยู่ข้างแม่ร่วมวงพูดถึงพ่อด้วย “เวลาคุยกับฝรั่ง ฝรั่งจะสะดุ้งเลย”

นิ้วกลางข้างขวาของอาจารย์จารุจินต์เหยียดตรงอยู่ตลอดเวลา งอไม่เข้า เมื่อกำมือ นิ้วอื่นจะงอเข้าเป็นปรกติ แต่นิ้วกลางจะชี้ตรงอยู่อย่างนั้น ครั้งแรกที่เห็นคงไม่เฉพาะฝรั่งที่สะดุ้ง ท่านจึงมักต้องออกตัวกับใคร ๆ เสมอว่า นิ้วมันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่ได้ตั้งใจจะด่าใคร

“เป็นบาดแผลจากห้องเรียน” ผู้เป็นภรรยาเล่าถึงเรื่องนี้

“เขาเล่าว่าตอนเรียนในห้องแล็บ เขากำลังกรีดชิ้นมะพร้าวจะทำวุ้นหรือทำอะไรสักอย่าง แล้วมีคนเรียก เขาก็หัน มีดเลยกรีดลงบนนิ้ว เอ็นขาด หมออาจต่อให้ไม่ดี มันเลยดึงนิ้วแข็งเกร็งอยู่อย่างนั้น หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไข”

ทั้งภรรยาและลูกบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปรกติอาจารย์จารุจินต์ใช้ชีวิตอย่างสมถะ และไม่ใช่คนที่ใส่ใจเรื่องความงาม

“แต่ที่อยากจะตัดตุ่มใต้ตา เพราะมันบังเวลาอ่านหนังสือ ญาติแนะนำคลินิกแถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ บอกว่าเป็นหมอจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ฝีมือดี”

เธอนั่งบนเก้าอี้ตัวที่อาจารย์จารุจินต์เคยนั่งทำงาน ข้าง ๆ เป็นโต๊ะขนาดใหญ่ที่มีหนังสือวางซ้อนกองเป็นพะเนิน กับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ซึ่งข้างในอาจบรรจุข้อมูลความรู้อยู่มหาศาล จากนั้นเธอก็เล่าเหตุการณ์ในวันที่คู่ชีวิตของเธอออกไปจากบ้านแล้วไม่ได้กลับเข้ามาอีก

หมอนัดห้าโมงเย็นของวันศุกร์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๑ ดิฉันขอเขาว่าไม่ต้องไปทำงาน เพราะถ้าต้องออกเดินทางจากที่ทำงานมันฉุกละหุก อยู่บ้านตอนบ่ายให้ลูกขับรถพาไปจะได้สะดวก แต่วันนั้นปรากฏว่ามีงานต้องเซ็น เลขาฯ ก็เอามาให้เซ็นที่บ้าน มากับเจ้าหน้าที่อีกคน ก่อนกลับไปเขายังนัดกันเรื่องจะประชุมในวันจันทร์ที่จะถึง

อาจารย์พักผ่อนอยู่บ้าน เช้าก็กินข้าวเช้า เที่ยงก็กินข้าวเที่ยง ราวสี่โมงเย็น เราก็ออกเดินทางไปหาหมอ ลูกชายจอดส่งพ่อแม่ลงที่หน้าคลินิก ส่วนเขาเลยไปซื้อของแล้วจะวนกลับมารับ

ดิฉันกับอาจารย์จารุจินต์เดินเข้าไปในคลินิก เจอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถามว่า “นัดกับหมอไว้ใช่ไหมคะ”

เราตอบว่าใช่
เธอบอก “เชิญข้างบนเลยค่ะ”

เราไปนั่งรออยู่ในห้องรับคนไข้บนชั้นสอง ห้องผ่าตัดอยู่ถัดเข้าไป สักพักเด็กผู้หญิงคนเดิมเอาน้ำมาให้ ๒ แก้ว กับยาใส่มาในถ้วย เป็นแคปซูลสีส้ม ๒ เม็ด กับยาเม็ดสีขาวอีก ๒ เม็ด บอกว่า “ทานยาได้เลยค่ะ”

เราก็ตกใจ เลยบอกอาจารย์ว่าอย่าเพิ่งกิน ให้เจอหมอก่อน ให้หมอรู้ว่าเราจะมาทำอะไร นี่ยังไม่ได้เห็นหน้าหมอเลย เอายามาให้กินแล้ว

ราว ๕ นาที หมอขึ้นมาก็ได้คุยกัน หมอให้รายละเอียดว่าใช้เวลาไม่มาก ไม่เจ็บ ก็บอกหมอไปตรง ๆ ว่า ยาถ้วยนี้เด็กเอามาให้กิน แต่ยังไม่กล้ากิน หมอบอกกินได้ เป็นยาแก้ปวด อาจารย์ก็กิน แล้วหมอก็บอกว่าเดี๋ยวจะฉีดยานอนหลับ เราก็กลัวเพราะเกิดมาไม่เคยฉีดยานอนหลับ ก็ถามหมอว่า “ทำไมผ่าตัดแค่นี้ต้องฉีดยานอนหลับ”

หมออธิบายว่า “ถ้าไม่ฉีด หมอจะทำงานยากเพราะคนไข้จะกะพริบตา”

ใจก็ว่าจะค้านหมอ แต่เขาสำทับว่าไม่เป็นไร หลับแป๊บเดียว ความดันก็ไม่ได้วัด เราก็ไม่ได้นึกทั้งที่อาจารย์ก็เป็นความดันอยู่ หมอไม่ได้ถาม จากนั้นหมอก็ชวนอาจารย์เข้าไปในห้องผ่าตัด เรานั่งอ่านนิตยสารอยู่หน้าห้อง แต่ก็อ่านไม่ได้รู้เรื่องหรอก ใจเป็นกังวล

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมารู้ทีหลังว่า ฉีดยา ๕ นาที อาจารย์ก็ช็อกแล้ว แต่เรานั่งอยู่หน้าห้องเป็นชั่วโมง ไม่รู้เรื่องว่าสามีเราไม่หายใจแล้ว จนลูกซื้อของเสร็จกลับมา เขาเดินเข้ามาในคลินิกซึ่งตอนนั้นคงเกิดเหตุแล้ว พอลูกโผล่เข้ามา คนในคลินิกถามว่า “มาหาใคร”

ลูกบอก “มาหาพ่อกับแม่ไง มาหาหมออยู่ข้างบน”

คนนั้นบอกว่า “กลับไปแล้ว” เขาคงไม่ต้องการให้ลูกชายเข้ามาเกี่ยว

ลูกก็งง เพราะนัดกันแล้วว่าเขาจะมารับ เขาก็โทร. หาเราบอกว่าอยู่ข้างบน เขาก็เดินขึ้นไปเลย เราก็มานั่งคุยกับเขาสัก ๑๐ นาที รถโรงพยาบาลกรุงเทพมาพร้อมกับหมอและพยาบาล ๒-๓ คน หิ้วถังออกซิเจนกับเครื่องปั๊มหัวใจ หมอที่ผ่าตัดก็เปิดประตูออกมาดูหมอกลุ่มนี้

เราก็ถามว่า “รถพยาบาลมาทำไม”
เขาบอกว่า “คนไข้แพ้ยา”
เราถามว่า “อาการเป็นยังไง”
เขาบอก “ไม่หายใจ”

เท่านั้นแหละ โอ้ คนของเราดี ๆ อยู่ ไม่มีอะไรบอกเหตุความไม่ปรกติ แค่จะมาตัดตุ่มใต้ตา แล้วเขามาบอกว่าคนไข้แพ้ยาแล้วไม่หายใจ คนเราถ้าไม่หายใจก็คือตายแล้ว

ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็บอกหมอว่าให้ทำทุกทางที่จะช่วยอาจารย์ได้ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต้องใช้วิธีไหน ให้หมอทำ ไม่ใช่มาบอกว่าคนไข้ไม่หายใจ เขาบอกว่าเขาพยายามช่วยมาเป็นครึ่งชั่วโมงแล้ว คือเกิดเหตุเป็นครึ่งค่อนชั่วโมงแล้ว หมอโรงพยาบาลกรุงเทพจึงจะมา

เราก็ลองให้เขาปั๊มอยู่เกือบชั่วโมง จากทุ่มกว่า ๆ จนสองทุ่มก็หมดหวัง

หมอที่ผ่าตัดอธิบายว่า พอฉีดยาเสร็จ เขาก็เริ่มตัดไฝ เขาตัดตุ่มอื่น ๆ ไปก่อน แล้วก็ไปเริ่มตรงใต้ตาที่จะตัด โดยกรีดหางตาที่จะเอาไขมันออก เลือดที่ออกมาเป็นสีดำ ในทางการแพทย์คือหัวใจหยุดทำงานแล้ว เขาคงช็อกตั้งแต่ฉีดยาเข้าไปแล้ว แล้วไม่มีเครื่องวัดอะไรเลย เพราะการฉีดยาต้องตามดูร่างกายคนไข้ว่าปรกติดีไหม แต่นี่ไม่ได้วัดอะไรเลย พอฉีดยาได้ก็ไม่ได้วัดอะไรเลย ทำไปเลย

เขายกมือไหว้ขอโทษ บอกว่าเขาจะรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทุกอย่าง แม้อาจารย์จะมีคุณค่ากับเราอย่างประมาณค่าไม่ได้ แต่ถ้าเขาจะช่วยจริง ๆ ก็จะยอมเขาบางครั้งเราก็ต้องถือเป็นโชคชะตาที่มันเกิดขึ้น แต่ถึงตอนนี้คิดว่าเราต้องฟ้องแล้ว เพราะเท่าที่เขาจะช่วย มันไม่มีอะไรที่ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวเราหรือช่วยให้เราดีขึ้น

ลูก ๆ ดูว่าเขาตัวโตแล้ว แต่เขายังไม่มีครอบครัว เขายังอบอุ่นที่มีพ่อ พอไม่มีพ่อสภาพจิตใจเราแย่มาก

jarujin17

ลูกชาย (ที่ไม่ได้เดินตามรอยพ่อ)

“ท่านไม่ชอบสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ปล่อยให้ทำเองมากกว่า ทำออกมาแล้วถ้าไม่ดีอย่างไรก็จะบอก เออ เป็นไงล่ะ เห็นมั้ย เขาพยายามให้เราคิดเองมากกว่า อยู่กันอย่างเพื่อนกันมาก เขาเองไม่ขับรถ ช่วงที่ผมขับรถเป็นแล้วผมคอยรับส่งเขา ไปไหนก็ไป สัปดาห์หนังสือก็ไปด้วยกันไม่ว่าขับรถไปหรือนั่งรถไฟใต้ดิน ผมเองก็ชอบอ่านหนังสือ ครั้งสุดท้ายนี่ไปพัทยาด้วยกัน เขาไปประชุมวิชาการ ก็ไปกันสองคนพ่อลูก ประชุมสักชั่วโมงก็กลับ ระหว่างทางก็แวะหาอะไรกินกัน เรื่องการเรียนผมเรียนเศรษฐศาสตร์ขนส่ง เรื่องขนส่งนี่ผมชอบเอง แต่ผมคิดว่างานนี้มันก็เกี่ยวกับธรรมชาติด้วยในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็คิดว่าคงได้มาจากพ่อบ้าง แต่ตอนเด็ก ๆ เขาจะเก็บตัวอย่าง จัดอะไร เขาจะไม่ให้ยุ่งเลย กลัวงานของเขาจะเสีย ซึ่งก็ไม่แน่ว่าถ้าเขายอมให้ผมยุ่ง ผมอาจจะเป็นเหมือนเขาก็ได้”

จิรธิติ นภีตะภัฏ (ลูกชาย)

ลูกชายวัยต้น ๒๐ ซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ แม่มาตลอดเสริมคำของแม่ว่า “เพิ่งเรียนจบ กำลังจะหาสมัครงานก็เกิดเรื่องเสียก่อน ช่วงนี้เลยต้องอยู่เป็นเพื่อนคุณแม่ก่อน ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ไม่แน่ว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างเรื่องหนึ่งที่ยังคิดไม่ออกคือ ถ้าเกิดมีงูเข้าบ้าน ไม่รู้ว่าใครจะจับเพราะผมไม่มีความสามารถจริง ๆ เมื่อก่อนถ้ามีงูเข้ามา พ่อจับเอง”

แม่หัวเราะแล้วเพิ่มเติมเรื่องราวของลูกว่า เมื่อก่อนหลังบ้านเป็นพงรก มีงูอยู่มาก บางทีมีงูเข้ามาพดอยู่ในบริเวณบ้าน บางทีต้องปล่อยให้นอนขดอยู่อย่างนั้นทั้งวัน รอพ่อบ้านกลับมาจัดการ

“จากนี้เราเหลือกันอยู่ ๓ คนแม่ลูก ไม่ถึงกับว่าอยู่ไม่ได้ เราอยู่ได้ แต่มันไม่สมบูรณ์แล้ว” จิราภาพูดถึงปัจจุบันของเธอกับลูก แต่เธอยังอิ่มใจกับการที่ยังมีคนรักและเห็นคุณค่าของสิ่งที่อาจารย์จารุจินต์ทำไว้

“ได้ยินว่าท่านผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติกำลังรวบรวมประวัติและผลงานของอาจารย์จารุจินต์ จะทำเป็นหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ จะมีการตั้งกองทุนให้งบนักวิจัยด้านธรรมชาติ และตั้งห้องสมุดชื่ออาจารย์ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นอนุสรณ์แด่อาจารย์ ทั้งหมดนี้เป็นพระคุณกับครอบครัวเรามาก”

jarujin21

ผลงานบางส่วนของอาจารย์จารุจินต์ที่เหลือเป็นองค์ความรู้ทางธรรมชาติวิทยาไว้ให้แก่สังคมไทย

ใครต่อใครกล่าวกันว่าเขาเป็นคนที่ตายไม่ได้ ด้วยเป็น คนที่มีความรู้อยู่มาก แต่เขาก็จากไปแล้วเมื่อเย็นวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๑ และเมื่อติดตามสืบค้นก็พบว่าความรอบรู้บางส่วนของอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ ได้ถูกถ่ายทอดไว้ในรูปของข้อเขียนก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่าง
การสืบเสาะรวบรวมเพื่อนำมาพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพปลายปีนี้

วัชระเป็นคนหนึ่งในทีมงาน เมื่อเล่าถึงงานที่เขากำลังทำเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คนที่เขารักนับถือ เขาเดินไปยกลังข้อมูลออกมาวางบนโต๊ะ รื้อเอกสารให้ข้าพเจ้าดูทีละชิ้น เหมือนเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่เป็นตัวแทนของคนเขียนผู้ล่วงลับ

ที่เป็นหนังสือเล่ม อาทิ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, ผีเสื้อกลางวัน, หนังสือชุด “สัตว์น่ารู้” (เล่ม ๑-๒ นก, เล่ม ๓ สัตว์น้ำ, เล่ม ๔ สัตว์ป่า, เล่ม ๕ สัตว์โลก), สัตว์กีบ (เขียนร่วมกับ นพ. บุญส่ง เลขะกุล), ผีเสื้อ, คู่มือแมลง (สองเล่มนี้เขียนร่วมกับ เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์) รวมทั้งงานศึกษาวิจัยและงานเขียนที่ยังไม่ตีพิมพ์ ฯลฯ

ส่วนเรื่องการฝากชื่อของอาจารย์จารุจินต์ไว้เป็นอนุสรณ์ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา วัชระบอกว่าทางครอบครัวของอาจารย์เสนอให้ใช้ชื่อร่วมกันกับหมอบุญส่ง เลขะกุล และคุณกิตติ ทองลงยา

และเล่าว่า “ที่บ้านอาจารย์ยังมีหนังสือหลายหมื่นเล่ม ประสงค์จะบริจาคมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เรากำลังหาวิธีจัดการ”

เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์ข้าพเจ้าเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐ ตอนหนึ่งอาจารย์ก็พูดถึงเรื่องนี้

“ผมมีหนังสือ ๕-๖ หมื่นเล่ม อาจมีมากกว่ากรมป่าไม้ ตายแล้วผมจะไว้ที่ไหน ผมทิ้งไว้นั่นแหละ ผมไม่เอาไป ของพวกนี้เป็นของชาติทั้งนั้นแหละ ในอนาคตใครก็มาใช้ได้ คนรุ่นหลังเราโชคดีอย่างหนึ่งที่มีคนเตรียมล่วงหน้าไว้ให้ หมอบุญส่งเก็บมารุ่นหนึ่ง คุณกิตติ ทองลงยา รุ่นหนึ่ง ผมอีกรุ่น ถ้า ๓ ส่วนนี้มารวมกัน ห้องสมุดด้านธรรมชาติวิทยาที่ไหนจะสู้ได้ ต่อให้ในระดับโลกเลย-เอ้า หนังสือเก่า ๆ บางเล่มหาซื้อไม่ได้แล้ว แม้แต่ในประเทศที่เป็นผู้พิมพ์”

เขาจากไปแล้ว งานบางอย่างสำเร็จลุล่วง อีกบางอย่างกำลังจะปรากฏเป็นจริง และอีกบางเรื่องที่ยังต้องรอให้คนรุ่นหลังมาสานต่อ

แม้จากไปอย่างกะทันหันก่อนวัยอันควร แต่กับการงานชั่วชีวิตที่เขาตั้งใจจะทำทุกอย่างไว้ให้แก่แผ่นดิน ก็คงเพียงพอแล้วสำหรับการคืนกลับสู่แผ่นดินของผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง

 

ฝากชื่อไว้ในชื่อสัตว์

 

jarujin18

ปูป่าจารุจินต์ (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์), ตุ๊กแก่ป่าจารุจินต์ และ หอยทากจิ๋วปากแตรนภีตะภัฏ (ภาพ : สมศักดิ์ ปัญหา)

การนำชื่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนในการค้นพบมาตั้งเป็นชื่อสัตว์ เป็นค่านิยมอย่างหนึ่งในหมู่นักอนุกรมวิธาน เพื่อให้ชื่อของผู้นั้นอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยหากเป็นผู้ชายจะเติม i ท้ายชื่อ หากเป็นผู้หญิงเติม ae สำหรับชื่อของอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ มีการนำไปตั้งเป็นชื่อสัตว์อย่างน้อย ๖ ชนิด

แมงมุมจารุจินต์
Liphistius jarujini Ono, 1988
ลักษณะสำคัญ : แมงมุมขนาดเล็ก ความยาวลำตัว ๑.๖๗ เซนติเมตร ส่วนหัวและอก (prosoma) สีน้ำตาลขอบสีน้ำตาลอมเหลือง ตอนกลางสีจางลง ตุ่มตาสีดำปล้องแรกของขาและส่วนอกสีน้ำตาลอมเหลือง ขาสีน้ำตาลอมดำ ส่วนท้อง (opisthosoma) สีน้ำตาลอมดำ ประด้วยจุดสีน้ำตาลอ่อน

ตุ๊กแกป่าจารุจินต์
Cyrtodactylus jarujini Ulber, 1993
ลักษณะสำคัญ : ขนาดลำตัวยาว ๙ เซนติเมตร (จากปลายจมูกถึงก้น) ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน มีลวดลายเป็นแถบตามขวาง แบบแผนไม่แน่นอน สีน้ำตาลเข้ม ๖-๗ แถบ ด้านบนของหัวมีลายจุด สีเข้มกระจายทั่ว หางมีแถบพาดตามขวาง

ปูป่าจารุจินต
Potamon jarujini Ng & Naiyanetr, 1993
ลักษณะสำคัญ : กระดองแบน ผิวเป็นปุ่มปมบริเวณด้านหน้าและด้านข้าง รวมทั้งผิวของก้าม ขอบกระดองด้านหน้าโค้งหยักเป็นฟันเลื่อย

หอยทากจิ๋วปากแตร นภีตะภัฏ
Paraboysidia nabhitabhatai Panha & Burch, 2001
ลักษณะสำคัญ : ทรงสูงเหมือนเจดีย์ ความสูงของเปลือก ๑.๗ มิลลิเมตร ความกว้างของเปลือก ๑.๓ มิลลิเมตร มีฟันที่ปากเปลือก ๖ ซี่ ปากเปลือกบานออกเหมือนปากแตร

แมลงช้างนภีตะภัฏ
Coniocompsa nabhitabhatai Sziraki, 2002
ลักษณะสำคัญ : แคปซูลส่วนหัวขนาดปานกลางสีน้ำตาล เขี้ยวสีน้ำตาลเข้ม ขนที่เขี้ยวสีน้ำตาลอ่อน ตาเล็กสีดำ ส่วนอกสีน้ำตาลอมเทา ขาสีน้ำตาลอ่อน ส่วนท้องสีน้ำตาลอ่อนอมเทาจาง ๆ

ปาดจารุจินต์
Rhacophorus jarujini Matsui & Panha, 2006
ลักษณะสำคัญ : หัวและลำตัวยาวรวมกัน ๓๓.๗-๔๖.๑ มิลลิเมตร ตัวผู้เล็กกว่าตัวเมีย ลำตัวด้านบนสีออกน้ำตาล มีลวดลายไม่เป็นระเบียบสีเข้ม ไม่มีติ่งหนังที่ปลายปากเหนือก้นหรือที่ส้นเท้า

 

 

ขอขอบคุณ :
คุณเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์
คุณนณณ์ ผาณิตวงศ์
ศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ