dirok03

เกือบ ๓๐ ปีของการตามเสด็จทำหน้าที่ล่ามในฐานะข้าราชการจังหวัดนราธิวาส จนกระทั่งปี ๒๕๔๓

“คราวนั้นกลับจากตามเสด็จที่อำเภอศรีสาคร เป็นวันที่ ๓๐ กันยายน ผมก็กราบทูลพระองค์ว่า เหลืออีกไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ข้าพระพุทธเจ้าก็จะหมดความเป็นข้าราชการแล้ว ขอกราบบังคมทูลลา  สมเด็จพระนางเจ้าฯ ตรัสว่าความเป็นข้าราชการของเธอเกษียณได้ งานของฉัน ฉันไม่ให้เกษียณ เธอต้องทำงานช่วยฉันต่อไป เราก็รับด้วยเกล้า”

จากนั้นมาเขาก็เริ่มงานบทบาทใหม่ ในฐานะผู้ดูแลศูนย์ศิลปาชีพภาคใต้ ควบคู่กับงานล่ามที่ทำมาแต่เดิม

“เกษียณแล้วก็ยังคงทำงานต่อ  พระองค์ไหนเสด็จฯ มาเราก็ต้องไปเป็นล่าม  งานของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมอบหมายพิเศษคือประสานงานประชาสัมพันธ์บางโครงการกับประชาชน  อย่างโครงการชลประทานมูโนะ โครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ในจังหวัด โครงการของศูนย์พิกุลทอง  งานศิลปาชีพที่ต้องช่วยชาวบ้านที่ยากไร้ ไม่มีงานทำ มีปัญหา โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว  สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมาส่งเสริมและมอบหมายให้ผมดูแล อย่างเวลาที่ชาวบ้านมาถวายฎีกาขอร่วมทำงาน  พระองค์ท่านก็ให้ผมไปรวบรวมกลุ่มให้ได้ ๑๐ คน ๒๐ คน แล้วมองวัตถุดิบในท้องถิ่นว่ามีอะไร งานฝีมือ งานผ้า  รวมคนตั้งกลุ่มได้  เตรียมหาครูที่มีฝีมือมาสอน อาจเป็นชาวบ้านที่มีฝีมือ ลูกศิษย์ หรือคนที่ชนะการประกวด  แล้วเสนอผ่านท่านผู้หญิงที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์  ทางในวังก็จะส่งเงินมาให้ทำ ได้ผลิตภัณฑ์ก็ส่งกลับเข้าไป  มีการประกวดงานศิลปาชีพทุกปี  เดิมผมทำในนามประชาสงเคราะห์จังหวัด เกษียณแล้วก็มาเป็นกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัด ดูแลศิลปาชีพของจังหวัด”

กระทั่งปัจจุบัน ว่าที่ร้อยโทดิลกให้ข้อมูลว่า เฉพาะในจังหวัดบ้านเกิดของเขามีศูนย์ศิลปาชีพอยู่กว่า ๒๐๐ แห่ง

“ทำงานฝีมือราว ๒๐ อย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ลิเภา กระจูด ปาหนัน ใบลาน เรือกอและจำลอง ปักผ้า ทอผ้า เซรามิก ถักโครเชต์ สานไม้ไผ่ ทอพรมใยมะพร้าว มู่ลี่ ผ้าบาติก ช่างตีเหล็ก แกะสลัก ตุ๊กตาชาววัง กรงนก  เยอะจนผมจำไม่หมด”

ส่วนงานล่าม เขาก็ยังต้องปฏิบัติอยู่ตามวาระ

“งานล่ามอาจได้ทำปีละครั้ง  แรกเดิมนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนเท่านั้น  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานเรื่องชลประทาน  สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ทรงงานเรื่องการรักษาคนป่วย งานที่อยู่อาศัย คนชรา  ในช่วงแรกนั้นเป็นการเสด็จฯ ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ได้มีแผนการแน่นอน  ทรงเปิดดูแผนที่ บางทีก็ทรงขับรถเองด้วย  ช่วงหลังเมื่อพระบรมวงศานุวงศ์โดยเสด็จด้วย แต่ละพระองค์ก็ทรงมีงาน  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ทรงรับไว้หมด  พระองค์เสด็จฯ มาเป็นประจำทุกปี”

เขาเล่าให้เห็นภาพการตามเสด็จในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

“ใครจะถวายอะไรก็ถวาย  ผมเห็นกับตามาหมด  ใครถวายสัตว์เลี้ยงพระองค์ท่านจะทรงตั้งชื่อให้ด้วย  คราวหนึ่งมีคนถวายนกเงือก พระองค์ก็ทรงเอาชื่อนางสนองพระโอษฐ์อาวุโสตั้งให้ว่า สุวารี  ต่อมาเมื่อพระองค์จะเสด็จฯ ไปอีก ทางการในท้องถิ่นเห็นว่ากรงนกเก่าไม่สมพระเกียรติ  ก็ไปซื้อสีมาทากันยกใหญ่ แล้วก็เอานกใส่ไว้  รุ่งเช้านกตายเพราะแพ้สารเคมี  ชาวบ้านก็เศร้าร้องไห้กัน  ต่อมาเมื่อมีการแยกตำบลก็เอาชื่อนกเงือกตัวนั้นมาตั้งเป็นชื่อตำบลใหม่ว่า ตำบลสุวารี อยู่ในอำเภอรือเสาะ  อีกครั้งหนึ่งที่อำเภอสุคิริน มีคนถวายเม่น ๒ ตัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงฝากเลี้ยงไว้ ว่ามาคราวหน้าให้เอามาให้ดู  ผมกลัวว่าเขาจะไม่ดูแล กราบทูลว่าปีหน้าคงไม่ทัน กลัวเขาจะไปฆ่ากินเสียก่อน  พระองค์ทรงถามว่าเขากินกันด้วยหรือ  ผมกราบทูลว่าเม่นนี่เนื้อมันอร่อย  พระองค์ทรงถามอีกว่าคุณดิลกรู้ได้อย่างไรว่าอร่อย  ผมก็หน้าแตก เพราะว่าเราไม่เคยกิน…”

ส่วนพระสหายแห่งสายบุรีที่ชื่อ วาเด็ง ปูเต๊ะ ก็อยู่ในความทรงจำของล่ามภาษามลายูคนนี้ด้วย

“ลุงวาเด็งเป็นคนซื่อตรง มือสะอาด  ในหลวงเสด็จฯ ไปบ้าน เขาถามว่าในหลวงจะเอาอะไร เขาจะให้ แต่ขอให้ในหลวงมาสร้างความเจริญที่นี่  ทุกครั้งที่เสด็จฯ มา เขาจะมาเฝ้าทุกพระองค์  ในหลวงไม่เสด็จฯ มาเขาก็ส่งผลไม้ไปถวาย  ในหลวงทรงพระประชวรเขาก็ขอไปเยี่ยม  สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีรับสั่งว่าให้คุณดิลกพาไป ทางในวังก็ส่งเงินมาให้ซื้อตั๋วพาลุงวาเด็งไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เขาก็หอบลองกองไป”

ว่าที่ร้อยโทดิลกว่า “เล่าไปก็เหมือนนิทาน คนบ้านนอกคนหนึ่งกับคนแก่อีกคน ชวนกันหอบหิ้วผลไม้ที่เลือกสรรอย่างดีที่สุดไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถามว่ามีธุระอะไร  ลุงวาเด็งบอกไม่มีอะไร  คิดถึงรายอ  ในหลวงทรงถามถึงที่บ้าน เขาก็เล่า  ก่อนกลับในหลวงทรงถามอีกทีว่าจะขออะไรอีกไหม  ลุงวาเด็งบอกไม่ขอ…”

 

dirok04

บ้านของว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ อยู่ชานเมืองนราธิวาส จากตัวเมืองออกไปตามถนนจาตุรงค์รัศมีที่มุ่งไปสู่อำเภอตากใบ  ข้ามแม่น้ำบางนราไปหน่อยเดียวก็จะเห็นบ้านสองชั้นทางซ้ายมือ ประดับธงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์นับสิบ ๆ ผืนเหนือแผ่นป้าย “ทรงพระเจริญ” ขนาดใหญ่

เรานั่งคุยกับเขาในบ้านหลังนั้นตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำมืด ก็ยกเอาสถานการณ์ตรงหน้านั้นขึ้นมาถามเขา

“ขอถามตรง ๆ เรานั่งคุยกันกลางค่ำกลางคืนอย่างนี้มันจะดีไหม ?”

“ไม่มีอะไร เราก็อยู่กันอย่างนี้เป็นปรกติ”

ตอนราวสามทุ่มคืนนั้น มีคนในพื้นที่แจ้งข่าวทางโทรศัพท์ถึงเพื่อนที่นั่งร่วมวงอยู่ด้วยกันว่ามีเหตุระเบิด ๓ จุด ที่อำเภอตากใบ ห่างบ้านริมฝั่งแม่น้ำบางนราไปราว ๒๐ กิโลเมตร  ตอนนั้นเป็นช่วงปลายเดือนตุลาคม มีการวิเคราะห์กันว่าคงมีความเชื่อมโยงกับวาระครบรอบเหตุการณ์ “กรือเซะ-ตากใบ” เมื่อ ๘ ปีก่อน

“กลัวไหม อยู่ในพื้นที่แบบนี้ ?”

“กลัว แต่ไม่ใช่กลัวจนไม่กล้าไปไหน  ไม่กล้าทำอะไร  บ้านผมขึ้นป้ายทรงพระเจริญกับธง ๑๘ ผืน บางคนถามว่าไม่กลัวหรือ  ผมบอกเป็นการแสดงความจงรักภักดี ไม่ได้ไปลบหลู่ใคร  ผมได้ที่ ๑ ของจังหวัดนราธิวาสเรื่องการประดับธง และประดับอยู่อย่างนี้ตลอด  เราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนอะไร ถ้าเป็นสายให้ตำรวจอันนี้โจรโกรธ  เข้าไปในหมู่บ้านบางทีก็เสียว ๆ เหมือนกัน แต่ที่ไปช่วยเหลือบางทีก็เป็นลูกหลานโจรนั่นแหละ  ก็คงเหมือนเดินถนนในกรุงเทพฯ ถามว่ากลัวรถชนไหม กลัว ! เราจึงต้องระวังไม่เดินสุ่มสี่สุ่มห้า แถวนี้ก็อย่างนั้นแหละ”

เขาพูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ในบ้านเกิด ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้

“สถานการณ์รุนแรงทั้งหลายที่เป็นอยู่นี้ พวกเรานี่แหละที่ต้องแก้ปัญหา ไม่ใช่ปืนหรอก  ปัญหามาจากเรื่องความคิดความเชื่อ เขามีความรู้สึกว่าถูกยึดครอง แล้วเมื่อมาปกครองแล้วก็ไม่ให้ความเป็นธรรม มากดขี่ข่มเหง  ฟังที่เขาว่ามาอย่างนั้น…แต่ผมพูดได้อย่างหนึ่งว่าศาสนาไม่ใช่ปัญหา  ปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้อยู่ที่ความเข้าใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  การให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ความมีน้ำใจช่วยเหลือ มันอยู่ตรงนี้ต่างหาก  การมองเห็นคุณค่าความเป็นคนเท่ากัน  แม้ญาติพี่น้องถ้าเหยียดหยาม เอารัดเอาเปรียบก็จะทะเลาะกัน  ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่ความเป็นธรรม อันนี่เป็นหัวใจเลย

“เวลาคุยกับเด็ก ๆ เยาวชน ผมจะบอกว่ายากจนก็ไม่เป็นไร เพราะเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีได้  ที่ผมเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ก็ด้วยความขยัน อดทน และคุณธรรม ผมถึงเชิดชูคุณธรรม  บอกตรง ๆ ว่าได้พูดเรื่องในหลวงแล้วมีความสุข  ผมเป็นกลไกเล็ก ๆ เป็นฝุ่นใต้พระบาท  ผมภูมิใจที่จะพูดเรื่องนี้”

นั่งคุยกันมาร่วม ๕ ชั่วโมง ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ บอกว่าที่เขาเล่าไปนั้นก็เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของชีวิต  เขาสามารถที่จะเล่าได้เป็นเดือนเป็นปีก็ไม่จบ ตามเสด็จมาร่วม ๔๐ ปี มีเรื่องราวมากมายอยู่ในความทรงจำ

“มีเรื่องส่วนตัวที่เป็นความประทับใจพิเศษเหนือสิ่งอื่นใด” ว่าที่ร้อยโทดิลกว่าแล้วก็เดินไปปลดกรอบรูปที่ติดอยู่บนฝาบ้านลงมาให้ดู  เป็นกระดาษจดหมายที่เขาถ่ายเอกสารมาใส่กรอบไว้อย่างดี

“เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เส้นเลือดในสมองผมแตก หมดสภาพแล้ว ภรรยาผมโทร. หาท่านผู้หญิง ท่านก็กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าจะช่วยผมอย่างไร  ในหลวงกับสมเด็จฯ ทรงบอกมาทางโรงพยาบาลยะลาให้พาผมขึ้นไปกรุงเทพฯ  ทางโรงพยาบาลยะลาบอกว่าผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่จะพาไปได้แล้ว  มีทางเดียวที่จะรักษาได้คือส่งหมอที่กรุงเทพฯ มาช่วยผ่าตัดที่ยะลา  ก็ได้หมอศัลยกรรมประสาทจากโรงพยาบาลจุฬาฯ  องคมนตรีเป็นผู้นำมา กองทัพอากาศจัดเครื่องบินมาให้  มาจากกรุงเทพฯ ช่วงเที่ยงคืน ลงที่หาดใหญ่  มีผู้ใหญ่ในจังหวัดไปรับ นั่งเฮลิคอปเตอร์มาลงที่ค่ายสิรินธรที่ปัตตานี มาผ่าตัดผมที่โรงพยาบาลยะลา เสร็จแล้วก็กลับไป  ผมตื่นขึ้นมาก็รู้สึกเป็นปรกติมาจนทุกวันนี้  ซึ่งตอนนั้นภรรยาบอกว่าผมตายแล้ว เป็นอัมพาต หมดสติ  นี่เหมือนได้ชีวิตใหม่ เป็นการเกิดใหม่จริง ๆ”

เล่ามาถึงตรงนี้เขาน้ำตารื้น  ก้มลงอ่านข้อความในกรอบที่เพิ่งหยิบจากข้างฝาบ้าน  เป็นลายพระหัตถ์ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๖  ทรงขอบใจที่ได้ช่วยรักษาชีวิตของนายดิลก

“…นับว่าได้ช่วยข้าพเจ้ารักษาชีวิตของนายดิลก ซึ่งเป็นผู้ช่วยที่สำคัญคนหนึ่งของข้าพเจ้า  กล่าวคือได้ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษายาวี และดูแลสมาชิกศิลปาชีพในภาคใต้มานาน…”

อ่านมาถึงตอนนี้น้ำเสียงเขาสั่นเครือ น้ำตาปีติไหลอาบแก้ม

“พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญว่าเป็น ‘ผู้ช่วยที่สำคัญ’  นี่ที่ภูมิใจ  มันไม่มีอะไรจะพูดแล้วว่าสำคัญแค่ไหน ยิ่งใหญ่แค่ไหน  ผมตามเสด็จมาตลอด ไม่เคยย้ายไปไหนเลย ในฐานะล่าม ผมตามประสานงานกับทุกกระทรวงทบวงกรม ทั้งกลางวันกลางคืน ฝนจะตกแดดจะออก ภยันตรายแค่ไหน  พระองค์ท่านทรงลุยอย่างไร ทรงขับรถฝ่าแม่น้ำ ผมก็ตามไปทุกหนทุกแห่ง  เท่าที่ได้ตามเสด็จมา ที่ประทับใจที่สุดคือได้เห็นพระอัจฉริยภาพ ความมุ่งมั่น ความเสียสละของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อประชาชน  และได้เห็นประชาชนมีความสำนึก มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ  สิ่งเหล่านี้เราเอาไปบอกต่อ เอาไปสอนลูกสอนหลานได้ไม่จบสิ้น ไม่มีใครอีกแล้วในแผ่นดินนี้ที่จะรักคนไทยเท่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ขอพูดตรง ๆ ว่า นโยบายรัฐบาลนั้นอาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่นโยบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยเปลี่ยนแปลง ก็อยากเชิญชวนให้คนไทยทุกคนทำความดีหลาย ๆ ความดีให้พระองค์ท่านได้ทรงรับรู้แต่สิ่งดี ๆ พระองค์ก็จะทรงมีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย”

และเมื่อยามได้พูดถึงเรื่องราวเหล่านั้นก็เป็นความสุขเช่นกัน

“ผมอายุมากแล้ว แต่ก็ยังออกไปเป็นวิทยากรเล่าประสบการณ์ในงานต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับส่วนราชการต่าง ๆ ในหลายจังหวัด  ก็ไม่ได้บรรยายอะไรมากหรอก เพียงแต่เล่าว่าทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงมาทรงงานที่นี่ คนที่นี่ผูกพันกับพระองค์ท่านอย่างไร”

แม้ในวันที่ให้สัมภาษณ์ ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ออกตัวว่าไม่ค่อยสบาย  แต่เอาเข้าจริงก็นั่งคุยกันยาวครึ่งค่อนวันจนค่ำ  เขาบอกจากใจในท้ายที่สุดว่า ได้พูดเรื่องนี้มันมีพลัง ภาคภูมิใจที่ได้เล่าเรื่องในหลวง และที่เขาขับเคลื่อนชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยพลังเหล่านี้

เชิงอรรถ
* ภาษามลายูในที่นี้ หมายถึง ภาษามลายูถิ่นปัตตานี หรือภาษายาวี ซึ่งใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของมาเลเซีย