358special1

 

ศาสตร์แห่งผลึก ทะลุอณูกู้โลก

ใกล้จะหมด ค.ศ. ๒๐๑๔ แล้วแต่มีคนไทยสักกี่คนที่รับรู้ว่า ค.ศ. ๒๐๑๔ นี้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก และสหภาพสากลแห่งผลิกศาสตร์ ยกย่องให้เป็น “ปีผลิกศาสตร์สากล” (International Year of Crystallography)

ศัพท์ “ผลิกศาสตร์” ที่บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน อาจฟังเข้าใจยาก แต่คำว่า ผลิก ก็คือ ผลึก

ทำไมองค์กรระดับโลกอย่างยูเนสโกถึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้เสียจนออกนอกหน้า ?

นั่นเพราะผลิกศาสตร์สามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง และช่วยเผยกลไกลึกลับของธรรมชาติอย่างลึกซึ้งทะลุเข้าไปถึงระดับอะตอม ซึ่งแม้จะดูล้ำเกินกว่าจินตนาการ แต่เทคโนโลยีผลิกศาสตร์นั้นมีความสำคัญต่ออนาคตของโลกและอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

เริ่มจากของใกล้มือที่คุณคิดไม่ถึงอย่าง LCD บนจอมือถือและจอคอมพิวเตอร์ ก็เป็นผลิตผลจากเทคโนโลยีที่มีอายุได้ ๑ ศตวรรษแล้ว  ไม่นับยารักษาโรคที่ต้องพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหม่ ๆ อย่างอีโบลาหรือไข้หวัดนก  ไปจนถึงยานสำรวจที่ทะยานจากดาวโลกไปถึงดาวอังคาร ก็ยังต้องพึ่งพาผลิกศาสตร์ในการสำรวจวิเคราะห์ลักษณะดินหินบนดาวอังคาร

ถึงตอนนี้อยากเข้าใจศาสตร์แห่งผลึกขึ้นบ้างแล้วหรือยัง ?


358special2

บุก “ถ้ำโลงลงรัก” ถอดรหัสปริศนา “ผีแมน”

กว่าทศวรรษแล้วที่นักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งนำโดย รศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช พยายามคลี่คลายปริศนาของ “โลงผีแมน” โลงไม้ลึกลับทำจากไม้สักทั้งต้นซึ่งกระจายอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ บนเขตภูเขาบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย

“ผีแมน” เป็นคำภาษาไทใหญ่ แปลว่า “ผีที่ผลุบโผล่ขึ้นมา” ซึ่งเป็นเจ้าของโลงไม้ตามความเชื่อของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในพื้นที่ แต่สำหรับนักโบราณคดียังไม่มีข้อพิสูจน์บ่งชี้ ด้วยยังไม่เคยพบกระดูกมนุษย์ในโลงไม้แม้แต่โครงเดียว พบเพียงโครงกระดูกที่ฝังดินข้างบริเวณที่เชื่อว่าเป็นสุสานเท่านั้น

จนปี ๒๕๕๓ รายงานการพบถ้ำในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชักนำให้พวกเขามาสำรวจจนพบโครงกระดูกในโลงไม้เป็นครั้งแรก เป็นที่มาของโครงการขุดค้นทางโบราณคดีตั้งแต่ปี ๒๕๕๖

สารคดี ติดตามทีมโบราณคดีลงพื้นที่อำเภอปางมะผ้า เพื่อดูว่านักโบราณคดีจะแก้ปริศนานี้อย่างไร ?

>


358special3

ครูสามารถแห่งโรงเรียนเรือนแพ ชีวิตจริงยิ่งกว่าภาพยนตร์

เราได้ยินอยู่เสมอว่า “ชีวิตจริงนั้นยิ่งกว่านิยาย”  และมากครั้งที่นิยายหรือเรื่องแต่งก็ได้ต้นเค้ามาจากชีวิตจริง  เช่นเดียวกับ คิดถึงวิทยา หนังไทยในกระแสช่วงต้นปี ๒๕๕๗ ก็มีที่มาจากชีวิตจริงของครูสามารถแห่งโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ห้องเรียนสาขาเรือนแพ ที่ลอยอยู่กลางทะเลสาบแก่งก้อในเขื่อนภูมิพล อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน  ซึ่ง จันทร์รวี พีรพันธุ์ และ เบญจวรรณ เจริญปฐม-ตระกูล นักเขียนและช่างภาพใหม่หมาดจากค่ายสารคดี ครั้งที่ ๑๐ พากันข้ามน้ำข้ามเขาเข้าไปเก็บเรื่องราวชีวิตและความเป็นอยู่ของครูและเด็ก ๆ ในโรงเรียนแห่งนั้นมาเล่าสู่ผู้อ่านตามความเป็นจริง ตามขนบของงานสารคดี  บางที “ครูสามารถแห่งโรงเรียนเรือนแพ ชีวิตจริงยิ่งกว่าภาพยนตร์” ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเสียงหนุนเสริมต่อคำกล่าวที่ว่า ชีวิตจริงนั้นยิ่งกว่านิยาย