เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน

galileo 11ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ราชสำนักไทย ได้ว่าจ้างนายช่างชาวอิตาเลียนจำนวนมาก ทั้งสถาปนิก วิศวกร จิตรกร และประติมากร เข้ามารับราชการในกระทรวงโยธาธิการ ผลงานของบุคคลเหล่านี้ ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ ตั้งแต่พระที่นั่งอนันตสมาคม วังบางขุนพรหม (ส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย) ตึกไทยคู่ฟ้า (ในทำเนียบรัฐบาล) สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง และที่อื่นๆ อีกมาก

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีศิลปินอิตาเลียนบางคนที่ได้รับการว่าจ้างเข้ามาทำงานเฉพาะแห่ง เช่น กาลิเลโอ คินี ผู้เขียนภาพพระราชกรณียกิจของพระบุรพกษัตริย์ บนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ประสบการณ์ในสยามยุคต้นรัชกาลที่ ๖ ของเขา นับเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ส่งผลสะท้อนสะเทือนไปจนตลอดช่วงชีวิตของศิลปิน นักประวัติศาสตร์ศิลปะอิตาเลียน ถึงกับยกการเดินทางสู่สยามของเขา ขึ้นเทียบเคียงเสมอดัวยการเดินทางไปเกาะตาฮิติ ของพอล โกแกง (Paul Gauguin) จิตรกรฝรั่งเศสเลยทีเดียว

 

กาลิเลโอ คีนิ เป็นใคร ?

galileo 03กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini 1873 – 1956 / พ.ศ. ๒๔๑๖ – ๒๔๙๙) เดินทางเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๕๖ เมื่อออกเดินทางมาสู่สยามนั้น เขาอายุได้ ๓๗ ปี ทั้งอาจนับเนื่องได้ว่าเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นในวงการศิลปะหรือการออกแบบตกแต่ง ตั้งแต่งานจิตรกรรมบนผืนผ้าใบ จิตรกรรมฝาผนัง งานประติมากรรมปูนปั้นประดับอาคาร ไปจนถึงเครื่องเคลือบดินเผา

คินีเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ เขากลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ ๑๒ หลังจากนั้นจึงได้อยู่ในความอุปการะของลุง ที่เป็นช่างเขียนและช่างอนุรักษ์ภาพเก่า คินีจึงได้เริ่มเรียนรู้งานศิลปะมาแต่นั้น

ด้วยความสนับสนุนของลุง คินีจึงได้เข้าเรียนยังโรงเรียนศิลปะในเมืองฟลอเรนซ์ และได้เป็นลูกมือให้กับนักออกแบบตกแต่งผู้เลื่องชื่อแห่งยุค จนก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินอิสระในที่สุด

นอกจากคินีจะเป็นจิตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นที่จับตามองคนหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกัน เขาก็ยังมีกิจการโรงงานเซรามิกส์และกระจกสีร่วมกับลูกพี่ลูกน้อง ทั้งยังเป็นนักวาดภาพประกอบในหนังสือสิ่งพิมพ์ที่มีผลงานมากมาย

คินีค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ และชื่อเสียงจากภาพเขียน และผลงานเครื่องเคลือบดินเผา ที่เก็บเกี่ยวรางวัลมากมายทั้งระดับชาติ และนานาชาติ จนในที่สุดเขาก็ได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมแสดงงานในนิทรรศการศิลปะนานาชาติ ที่เรียกกันว่า “เวนิสเบียนนาเล” (Biennale di Venezia) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี ณ เมืองเวนิส (และยังจัดสืบเนื่องเรื่อยมาจนบัดนี้)

เดอะคิงแอนด์คินี

galileo 04และแล้วโอกาสอันพลิกผันชีวิตของศิลปินหนุ่มก็มาถึง ในงานเบียนนาเลประจำปีคริสต์ศักราช ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์แห่งสยาม ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรงานในระหว่างเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒

ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ทรงมีมายังพระราชธิดา คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖ ทรงเล่าถึงงานเบียนนาเลหรือที่ทรงเรียกว่า “อาตเอกสหิบิเชน” (Art Exhibition) ไว้ดังนี้

“…แล้วไปดูอาตเอกสหิบิเชน…กำหนดเอกสหิบิเชนนี้มีสองปีครั้งหนึ่ง …สิ่งซึ่งเอกสหิบิเชนในโรงนั้นมีรูปหล่อ รูปศิลา รูปปั้นด้วยปลัสเตอ มีรูปเขียนสีน้ำมัน สีน้ำเปนอันมาก…รูปที่ชอบใจพ่อมีอยู่สักสิบห้าสิบหกรูป รูปหล่อบ้าง ได้สั่งให้ซื้อแล้วสักสามรูป นอกนั้นยังสืบสวนราคา….”

อันที่จริง ผลงานของคินีนั้นมีหลากแบบหลายสไตล์ ขณะที่ผลงานเครื่องปั้นดินเผาของเขา นิยมใช้ลวดลายดอกไม้ใบไม้ เลื้อยพันกันในแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau หรือที่เรียกกันในอิตาลีว่า “ศิลปะลิเบอร์ตี”) แต่พอถึงงานจิตรกรรม ในหลายๆ ภาพก็ปรากฏกลิ่นอายของนีโอ – อิมเพรสชันนิสม์ (ในอิตาลีเรียกว่า Divisionismo) คือความนิยมในจุดแต้มของแสงสีที่พร่าพรายระยับ ทว่า ภาพเขียนฝีมือคินีในงานเบียนนาเลประจำปีนั้น คือภาพชุด “ประวัติศาสตร์ศิลปะข้ามกาลเวลา” ที่อยู่ในบรรยากาศคลาสสิคของยุโรปโบราณ อันเต็มไปด้วยเทพยดา และอมนุษย์ท่ามกลางลวดลายพันธุ์พฤกษาอ่อนหวาน ในสไตล์ลิเบอร์ตี ภาพแนวนี้เองก็ต้องกับรสนิยมส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระปิยมหาราช ว่ากันว่าพระองค์ทรงโปรดปรานฝีมือของคินีเป็นพิเศษ จึงได้มีการทาบทามให้ศิลปินหนุ่มใหญ่ผู้นี้เดินทางเข้าไปยังกรุงเทพฯ เพื่อรับงานเขียนภาพในพระที่นั่งองค์ใหม่ที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง ณ พระราชวังดุสิต

แต่กว่าที่คินีจะได้เดินทางเข้ามา สยามก็ผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว กระนั้น เขาก็ยังมาทันได้เข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

galileo 05

สู่บางกอก

เรือเดินสมุทรที่เป็นพาหนะอย่างเดียวในการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในสมัยนั้น พาคินีออกจากท่าเรือเมืองเจนัว (อิตาลี) แวะตามเมืองท่ารายทางมา ตั้งแต่ที่ปอร์ตเสด (Port Said) เอเดน โคลัมโบ ปีนัง และสิงคโปร์ สำหรับคินีผู้ซึ่งไม่เคยเดินทางออกไปนอกอิตาลีเลยนั้น ลำพังประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้รับมาตลอดการเดินทางก็ท่วมท้นหัวใจแล้ว ดังที่เขาบันทึกไว้เมื่อขึ้นฝั่งที่โคลัมโบ (ในศรีลังกา) ว่า

“…เมื่อเราขึ้นฝั่งก็เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว พระจันทร์เพ็ญส่องแสงสว่างนวลฉาบไล้ผนังกำแพงบ้านเรือนสีขาว ที่มีโครงสร้างแบบพิเศษเฉพาะตัว ให้กลายเป็นสีเงินยวง พืชพันธุ์อันงดงามก็สะท้อนแสงจันทร์เป็นประกายสีมรกต ผู้คนและอากัปกิริยาของพวกเขาดูช่างแปลกประหลาดและลึกลับ….”

ณ ท่าเรือสิงคโปร์ ที่ซึ่ง “…แลเห็นปล่องควันเรือสลอนเป็นดง ผ่านม่านฝุ่นควันที่กลายเป็นสีทองอร่ามด้วยแสงตะวัน….” คินีเปลี่ยนเรือเป็นเรือขนาดเล็ก แล่นตัดอ่าวไทยข้ามสันดอนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทัศนียภาพสองฝั่งล้วนแปลกหูแปลกตา

“…สำหรับผู้ที่เดินทางมาเป็นครั้งแรก สยามจะก่อให้เกิดความประทับใจอย่างมหัศจรรย์ แม่น้ำสายใหญ่ที่มีน้ำเป็นสีเหลือง…พื้นที่ราบเรียบอันเนืองนองด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ มีต้นไม้ใบเขียวอยู่เสมอ …ช่างน่าตื่นตาตื่นใจเหลือเกิน เมื่อได้เห็นชีวิตริมฝั่งน้ำนั้น….”

ยิ่งได้มาประสบกับพระราชพิธีแห่งราชสำนักสยาม ที่ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอลังการ คินีก็ยิ่งละลานตา

“…มีช้างศักดิ์สิทธิ์ทรงเครื่องประดับทางศาสนา พร้อมกับผูกสัปคัปไว้บนหลัง เหนือจากนั้นขึ้นไปเป็นที่ตั้งของหอคอยเล็กๆ มีผู้คนที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างน่าตื่นตาขึ้นบังคับช้าง ส่วนบรรดาที่นั่งอยู่บนหลังช้าง ต่างก็แสดงตนเป็นบุคคลสำคัญในตำนานบ้าง ออกมาจากเรื่องราวทางศาสนาบ้าง ไม่เช่นนั้นก็เป็นนักรบ หรือเป็นข้าราชสำนัก สิ่งเหล่านี้ยังไม่จางหายไปจากความทรงจำของผมเลย ภาพของประชาชนทุกชนชั้น ที่ต่างร่วมแสดงความปิติยินดี ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าตามแบบประเพณีที่งดงามยิ่ง ด้วยความแวววาวของทองคำ และสีสันอันหลากหลายของเนื้อผ้า พากันเดินไปเป็นริ้วขบวนยาวนั้น ช่างตรึงตาต้องใจผมเหลือเกิน แม้ว่าผมจะไม่สามารถเข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งของภาพฉากเหล่านั้นได้เลย….”

ถวายฝีมือ

galileo 06ตามสัญญาที่คินีทำไว้กับกระทรวงโยธาธิการ เขามีเวลา ๓๐ เดือน ในการเขียนภาพเฟรสโกพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี ในการนี้ เขาต้องรับเป็นธุระในการจัดหาลูกมือชาวฟลอเรนซ์ ทั้งช่างเขียนและช่างปิดทอง ตลอดจนตระเตรียมอุปกรณ์และสีสำหรับงานนี้ส่งล่วงหน้าเข้ามาก่อน ส่วนตัวเขาเองติดตามเข้ามาในภายหลัง

ในระหว่างพำนักที่กรุงเทพฯ คินีอาศัยอยู่ที่บ้านริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ในตรอกวัดสามพระยาย่านบางลำพู ว่ากันว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ที่จัดให้เป็นที่พักของเหล่าศิลปินอิตาเลียน เข้าใจว่าช่างคนอื่นๆ ที่เข้ามากับเขาก็คงพักที่บ้านหลังเดียวกันนั้นด้วย

ถ้าอยากจะเล่าให้เป็นตุเป็นตะ ก็อาจจะขยายความต่อได้ว่า คงเป็นที่ท่าน้ำของบ้านหลังนี้เอง ที่คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli 1883 – 1962 /พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๕๐๕) จิตรกรชาวเมืองฟลอเรนซ์ ผู้เป็นทั้งลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานของคีนิ ได้พบกับเด็กชายเหม หลานของ ม.ร.ว. แดง ทินกร ซึ่งรับหน้าที่ดูแลนายช่างชาวอิตาเลียน

เรื่องเล่านี้มีอยู่ว่าเด็กชายเหมเอาชอล์ก ไปขีดเขียนรูปภาพต่างๆ ง่วนอยู่ที่สะพานท่าน้ำ ริโกลีพบเข้าก็เอ็นดูและเห็นว่าเด็กคนนี้พอจะมีแววอยู่ จึงขออนุญาตจาก ม.ร.ว.แดง พาเหมไปดูการเขียนภาพที่บนโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย ว่างๆ เขาก็สอนให้เหมหัดขีดเขียนเส้นสายลวดลายต่างๆ ไป

ในกาลต่อมา เด็กชายชาวสยามผู้นั้น กลายเป็นจิตรกรนามอุโฆษของประเทศไทย ชื่อของเขาคือ “เหม เวชกร”

ย้อนกลับมากล่าวถึงคินีอีกครั้ง งานที่เขารับผิดชอบโดยตรงก็คือ การร่างและเขียนภาพพระราชกรณียกิจในรัชกาลต่างๆ บนเพดานโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมถึงลวดลายประดับตกแต่งเพดานส่วนอื่นๆ ด้วย พระที่นั่งองค์นี้ ได้นำเอาชื่อของพระที่นั่งที่เคยมีมาแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาใช้ใหม่กับผลงานการออกแบบอาคารในสไตล์ของอิตาเลียนเรอเนซองส์ ฝีมือสถาปนิกริกอตติ (Annibale Rigotti 1870 – 1968 / พ.ศ. ๒๔๑๓ – ๒๕๑๑) ร่วมกับสถาปนิกตามานโญ (Mario Tamagno 1877 – 1941 / พ.ศ. ๒๔๒๐ – ๒๔๘๔) การก่อสร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ล่วงไปถึงรัชกาลต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙

galileo 07หลังจากที่คินีได้ทำการศึกษา ทดลองร่างแบบ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ในที่สุดก็ได้มีการคัดเลือกภาพเหตุการณ์ในรัชกาลต่างๆ มาเขียนไว้บนโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมดังนี้ คือ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก – ภาพเมื่อเสด็จกลับจากราชการทัพในกัมพูชา เหล่าขุนนางข้าราชการสมณชีพราหมณ์ อัญเชิญให้ขึ้นเสวยราชสมบัติ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย – กระบวนเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารค และการก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว – การเสด็จเลียบพระนครและการก่อสร้างป้อมปราการ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – พระราชกรณียกิจในการทนุบำรุงศาสนา รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – การเลิกทาสและความก้าวหน้าของพระราชอาณาจักร (โดยมีภาพเรือกลไฟและการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่เบื้องหลัง) และ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว – การเสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช

ภาพเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดี รวมทั้งยังมีการตีพิมพ์แพร่หลาย พบเห็นได้ไม่ยากนัก ในที่นี้จึงของดไว้ไม่กล่าวถึง

ในการทำงานชิ้นที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยชุดนี้ คินีซึ่งเป็นคนนอกวัฒนธรรมไทย จำเป็นต้องเตรียมการมากพอสมควร เขาเก็บรวบรวมวัตถุต่างๆ ถ่ายภาพ และทำการศึกษาบันทึกสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นไว้เป็นภาพวาด (study) จำนวนไม่น้อย นอกจากนั้น ระหว่างที่อยู่ในเมืองไทย คินียังมีผลงานส่วนตัวเป็นภาพสีน้ำมันอีกมากมาย ที่บันทึกบรรยากาศและแสงสีของเมืองร้อน ตลอดจนผู้คนรอบข้าง เช่นภาพแม่สุนางรำ ภาพเขียนริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงภาพจากจินตนาการของศิลปินตามสไตล์ของศิลปะลิเบอร์ตี

ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ หลังจากการออกแบบและเขียนภาพจนแล้วเสร็จไปบางส่วน คินีก็เดินทางกลับ ทิ้งงานการเขียนภาพและการเก็บรายละเอียดที่เหลือไว้ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ช่วยของเขาต่อไป

หวนคำนึงถึงกรุงเทพฯ

galileo 08หลังจากกลับไปอิตาลี ในปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๔๕๗ คินีได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเวนิสเบียนนาเลอีกครั้งโดยมีห้องแสดงงานเป็นส่วนตัว เขาจึงเปิดการแสดงเครื่องปั้นดินเผาและภาพเขียน ทั้งส่วนที่เขานำกลับไปด้วย และที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ในชื่อนิทรรศการว่า Nostalgia di Bangkok (หวนคำนึงถึงกรุงเทพฯ)

ชีวิตในช่วงต่อมา คินีกลายเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ทั้งยังเป็นมัณฑนากรและจิตรกรที่เป็นที่ต้องการของสังคม เป็นนักออกแบบฉากละครผู้มีชื่อเสียง ทว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านเลยไปเนิ่นนานเพียงใด ความคิดถึงหรือความทรงจำจากประสบการณ์ที่เขาได้รับมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๕๖ ก็ไม่เคยเลือนหายไปจากใจของคินี ในภาพเขียนสีน้ำมันที่เขาเขียนขึ้นในอีกสิบหรือยี่สิบปีให้หลัง แม้ว่าแบบแผนของสีสันและฝีแปรงจะแปรเปลี่ยนไปตามวัย ทว่าเสียงเพรียกจากดินแดนตะวันออกแสนไกลอันมีนามว่า “สยาม” ก็ยังคงดังแว่วอยู่

แม้แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อคินีออกแบบฉากมหาอุปรากรเรื่อง ตูรันดอท (Turandot) ให้กับคีตกวีปุชชินิ (Puccini) ทั้งที่ตามท้องเรื่องนั้นเกิดขึ้นในประเทศจีน หากแต่ในแบบร่างก็ยังปรากฏร่องรอยของสิ่งที่เขาเคยสัมผัสในเมืองไทยให้เห็นได้อยู่นั่นเอง

จนถึงวัย ๗๖ ปี เมื่อคินีตัดสินใจบริจาคสิ่งของสะสมจากสยามของเขาให้กับพิพิธภัณฑ์ “ความทรงจำแห่งสยาม” (ซึ่งเป็นชื่อข้อเขียนประกอบนิทรรศการของเขา) ก็ยังคงแจ่มชัด

“…ผมยังจำได้ดีว่า เมื่อวัยเยาว์ งานฉลองผนังหน้าโบสถ์ (facade) ของวิหารซานตามาเรียเดลฟิโอเร (Santa Maria del Fiore) นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด แต่เมื่อเปรียบกับสิ่งที่ผมได้พบเห็นในกรุงเทพฯ แล้ว ผมประทับใจในความแตกต่างอันใหญ่หลวงนี้มาก

วัดวาอารามอันมีกำแพงสีขาว ประตูสีทอง หน้าต่างประดับกระจกสีและฝังมุก หลังคามุงกระเบื้องหลากสีและกระเบื้องสีทอง ชายคาที่รองรับด้วยเสาไม้มีค่าอันลงรักไว้ องค์พระพุทธรูปและรูปนักบุญหล่อด้วยสำริดกาไหล่เงินส่องประกายวาววับ ทั้งยังมีรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แปลกตาอีกมาก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเราไม่สู้จะเข้าใจ และเกินกว่าจะสรรหาถ้อยคำมาบรรยายได้….”

กาลิเลโอ คินี ถึงแก่กรรมที่เมืองฟลอเรนซ์ ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ศิริรวมอายุได้ ๙๒ ปี

galileo 09ขอขอบคุณ

  • ผศ. กนกวรรณ ฤทธิไพโรจน์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ

เอกสารอ้างอิง

  • กาลิเลโอ คินี. “ความทรงจำแห่งสยาม,” (แปลจาก Ricordi del Siam โดยหนึ่งฤดี โลหผล Lucio Nalesini ศรัณย์ ทองปาน และชฎารัตน์ คนรู้) นิทรรศการภาพถ่ายและบันทึกทางประวัติศาสตร์ของ Galileo Chini (สูจิบัตรประกอบนิทรรศการ ณ หอศิลป์แห่งชาติ ๑๖ – ๓๑ มกราคม ๒๕๔๕)
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ไกลบ้าน เล่ม ๑ – ๒ พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๔๙๗.
  • พลตระเวน. ศิลปินเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนคร: หนังสือพิมพ์นครไทย, ๒๔๙๔.
  • หนึ่งฤดี โลหผล. “การเสด็จพระราชดำเนินเยือนอิตาลีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และกลุ่มศิลปินชาวฟลอเรนซ์ในราชอาณาจักรสยาม,” เส้นทางศิลปวิทยาการอิตาเลียน-ไทย จากศตวรรษที่ ๑๙ สู่ปัจจุบัน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการอิตาเลียน-ไทยศึกษา ครั้งที่ ๑ กรุงเทพฯ, ๒๕๔๐.
  • หนึ่งฤดี โลหผล. “แด่พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๗ – ๒๔๙๐) โดยศิลปินอิตาเลียนผู้ออกแบบตกแต่งเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม,” เมืองโบราณ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒ (เมษายน – มิถุนายน ๒๕๔๑) : ๔๖ – ๕๘.
  • อภินันท์ โปษยานนท์. จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก กรุงเทพฯ: สำนักพระราชวัง, ๒๕๓๗.
  • Ferri de Lazara, Leopoldo and Paolo Piazzardi. Italians at the Court of Siam (ชาวอิตาเลียนในราชสำนักไทย) Bangkok: Amarin Printing and publishing, 1996.
  • Galileo Chini in the Kingdom of Siam Bangkok: National Gallery, 1994.