โดย : วิบูลย์ ลี้สุวรรณ

gaudi 03

หากย้อนไปดูความเคลื่อนไหวทางศิลปะในโลกตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จะเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะงานวิจิตรศิลป์เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป แต่รวมถึงงานศิลปะประยุกต์ (applied art) และศิลปะแขนงอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้เพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวคิด การดำรงชีวิต การสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปิน รวมไปถึงรสนิยมทางศิลปะของประชาชน

ผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ หันมานิยมใช้เครื่องอุปโภคบริโภค ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผลิตขึ้นได้คราวละมาก ๆ และราคาไม่แพง แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก จึงมีรูปแบบที่เหมือน ๆ กัน ขาดความงามและชีวิตจิตใจ เช่นที่เคยมีในงานศิลปหัตถกรรมในอดีต อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็ได้รับความนิยมจากผู้คนสมัยนั้น จนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ช่างฝีมือลดจำนวนลง และคุณภาพของงานศิลปหัตถกรรมก็ถดถอยลงเรื่อย ๆ

สภาวะเช่นนี้สร้างความวิตกกังวล ให้แก่ผู้ที่มองเห็นคุณค่าทางศิลปะ และสุนทรียภาพของงานศิลปหัตถกรรม เช่น จอห์น รัสกิน (John Ruskin นักเขียนและนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๙-๑๙๐๐) และ ออกัสตัส พิวจิน (Augustus Pugin สถาปนิก นักออกแบบ และนักเขียนชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๕๒) ผู้ซึ่งพยายามจะรื้อฟื้นงานฝีมือและช่างฝีมือ ให้กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้านกระแสวัตถุนิยมจากอุตสาหกรรม และยกระดับช่างฝีมือให้มีมาตรฐาน เหมือนสมาคมช่างในยุคกลาง (middle age) รัสกินต้องการผลักดันแนวคิดดังกล่าว ให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เขาจึงวางแผนที่จะก่อตั้งสมาคมช่างแห่งเซนต์จอร์ช (Guild of St. George) ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๗๑ แต่ไม่สำเร็จ ต่อมา วิลเลียม มอร์ริส (William Morris กวี จิตรกร และนักออกแบบชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๔-๑๘๙๖) ได้สานต่อความคิดของรัสกินให้เป็นจริง โดยส่งเสริมการสร้างงานศิลปหัตถกรรมขึ้น ในยุคเครื่องจักรกล เช่น การทอ ย้อม และพิมพ์ผ้าด้วยมือ ไปจนถึงการพิมพ์หนังสือด้วยมือ ทำเครื่องเรือนด้วยมือ ผลงานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้แม้จะมีคุณค่าทางสุนทรียภาพสูง แต่ก็มีราคาแพง

แม้ความคิดของมอร์ริสจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็สร้างความตื่นตัวให้แก่บรรดาช่างฝีมือต่าง ๆ จนในที่สุดมีการก่อตั้ง “กลุ่มช่างศิลป์และหัตถกรรมสมาคม” (Art Worker’s Guild and Guild of Handicrafts) ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๘๔ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๘๘ ก็ได้ตั้งเป็น “สมาคมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม” (The Arts and Crafts Exhibition Society) สมาคมนี้มีกิจกรรมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ ๑๘๙๐ ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปหัตถกรรม (Art and Craft Movement) ที่สำคัญและแพร่ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปในรูปของศิลปะแนวใหม่ (modern style) หรือ นวศิลป์ (art nouveau) ซึ่งประสบความสำเร็จมากในประเทศเยอรมนีและออสเตรีย มีการก่อตั้งสถาบันบาวเฮาส์ (Bauhaus) ขึ้นในเยอรมนีในเวลาต่อมา ความเคลื่อนไหวทางศิลปหัตถกรรมนี้ ก่อให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างงานศิลปหัตถกรรมสมัยใหม่ ที่แพร่ไปสู่สถาบันศิลปะ จนกลายเป็นอารยธรรมสมัยใหม่ (Modern Civilization) สืบมาจนปัจจุบัน

แนวคิดของ วิลเลียม มอร์ริส ให้อิทธิพลต่อนักออกแบบ และศิลปินด้านประยุกต์ศิลป์ในยุโรป ทำให้เกิดกระบวนการออกแบบงานศิลปะตกแต่งแบบใหม่ และงานสถาปัตยกรรมแนวใหม่ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (ทศวรรษ ๑๘๙๐) จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) ศิลปินแทบทุกสาขา พยายามนำเส้นโค้งมาใช้กับงานออกแบบมากขึ้น และนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ดอกไม้ ต้นไม้ และเถาไม้เลื้อย มาประยุกต์เป็นลวดลายต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับเส้นโค้ง และการจัดองค์ประกอบศิลป์ของเส้นแบบไม่สมดุล (asymmetrical lines) หากเป็นภาพคนหรือสัตว์ ก็มักจะทำให้มีสัดส่วนสูงระหง หรือยาวกว่าปรกติ และใช้เส้นเลื่อนไหลไปตามลักษณะของลวดลาย บางครั้งจึงเรียกงานออกแบบลักษณะใหม่นี้ว่า noodle style ศิลปะแนวใหม่นี้นิยมใช้สีแปลก ๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสีของภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ที่แพร่เข้าไปในยุโรป แนวคิดเหล่านี้ทำให้เกิดงานออกแบบแนวใหม่ ที่ใช้เส้นโค้ง และรูปทรงของธรรมชาติ และกึ่งธรรมชาติ โดยศิลปินนำมาใช้กับงานออกแบบต่าง ๆ เช่น ปกหนังสือ เครื่องประดับ ลายเหล็กดัดซุ้มประตู หน้าต่าง เครื่องเรือน ลวดลายตกแต่งอาคารสถาปัตยกรรม เป็นต้น

gaudi 02

ศิลปะแนวใหม่นี้ได้แพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป ในประเทศฝรั่งเศสเรียก “art nouveau” มาจาก “L’ art nouveau” ซึ่งเป็นชื่อแกลเลอรีจำหน่ายศิลปะตกแต่ง และศิลปะแนวใหม่ในกรุงปารีส ของ Siegfried Bing อาร์ตดีลเลอร์ชื่อดัง ส่วนประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเรียกว่า “modern style” ประเทศเยอรมนีเรียก “Jugendstil” (youth style) มาจากชื่อนิตยสารศิลปะ Die Jugend หรือ “youth” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๙๖ ที่เมืองมิวนิก นิตยสารนี้ได้ตีพิมพ์ผลงานศิลปะแนวใหม่เป็นครั้งแรก ในประเทศเยอรมนี ส่วนประเทศอิตาลีเรียก “stile liberti” มาจากชื่อบริษัทที่ส่งสินค้าสิ่งทอไปขายในอิตาลี และในประเทศสเปนเรียก modernista

gaudi 01

สเปนเป็นประเทศหนึ่งในยุโรป ที่อิทธิพลของอาร์ตนูโวยังปรากฏรูปรอยอยู่อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในผลงานสถาปัตยกรรมของ อันโตนีโอ เกาดี สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของสเปน ผู้ซึ่งผลงานการออกแบบของเขาหลายต่อหลายชิ้น ได้กลายเป็นสัญลักษณ์คู่กับประเทศสเปนมาจนทุกวันนี้ แม้เวลาจะล่วงผ่านมาเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม

อันโตนีโอ เกาดี เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๕๒ ในทาราโกนา (Taragona) บาร์เซโลนา (Barcelona) แคว้นคาตาโลเนีย (Catalonia) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศสเปน เป็นบุตรของ Francese Gaudi Serra และ Antonio Corneti Bertran ในวัยเด็กเกาดีไม่แข็งแรงนักเพราะเป็นโรคปวดในข้อ (rheumatic) เป็นเหตุให้เขามักแยกตัวออกจากเด็กอื่น ชอบเก็บตัวอยู่ในบ้าน มากกว่าที่จะออกไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่วไป เกาดีต้องทุกข์ทรมานกับโรคนี้จนตลอดชีวิต แม้หมอจะแนะนำให้เขากินอาหารมังสวิรัติ และเดินออกกำลังเป็นประจำ แต่ก็ไม่หายขาด

ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ ระหว่างที่ศึกษาระดับมัธยมนั้น เกาดีก็เริ่มมีผลงานวาดเส้นลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้นเขาก็เข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา เพื่อเตรียมเข้าเรียนวิชาสถาปัตยกรรมใน The Escola Provincial d’ Arquitectura เมืองบาร์เซโลนา ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๘๗๗ ขณะที่ศึกษาอยู่ เกาดีหาประสบการณ์ และหาเงินจากการเป็นผู้ช่วยสถาปนิกที่มีชื่อเสียงหลายคน และร่วมทำโครงการฟื้นฟูโบสถ์ซากราดา ฟามิลิยา และโบสถ์อื่น ๆ ก่อนจบการศึกษา เกาดีได้รับรางวัลจากการประกวดการออกแบบโคมไฟถนน ของเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งผลงานการออกแบบก็ได้รับการติดตั้งในปีถัดมา

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว เกาดีก็รับงานต่าง ๆ เรื่อยมา และสะสมชื่อเสียง ในฐานะสถาปนิกที่ชาวสเปนยอมรับ และชื่นชมในฝีมือ หากพิจารณาจากผลงานสถาปัตยกรรม และงานออกแบบของเกาดีแล้ว จะเห็นว่าเขามีศิลปนิสัยสูงมาก และเป็นศิลปินมากกว่าสถาปนิกด้วยซ้ำ เพราะผลงานของเขามิได้เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างธรรมดา ๆ หากเต็มไปด้วยจินตนาการ ความฝันเฟื่องและงดงาม ทั้งยังก้าวหน้าไปกว่าสถาปนิกร่วมสมัยเดียวกันมาก

อย่างไรก็ตาม เกาดีไม่ใช่สถาปนิกที่ฝันเฟื่องอย่างเลื่อนลอย หากแต่เขาศึกษาประวัติสถาปัตยกรรม และประวัติสถาปนิกในอดีตอย่างจริงจัง เรื่อยมาแทบทุกยุคทุกสมัย ในที่สุด เกาดีก็ได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนวศิลป์หรือ Modernista ขึ้นในสเปน และสร้างงานตามแนวทางดังกล่าวเรื่อยมา

จอห์น รัสกิน กล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๓ ว่า “ลวดลายตกแต่งเป็นรากฐานของสถาปัตยกรรม” สามทศวรรษต่อมาเกาดีได้นำแนวคิดดังกล่าว มาใช้อย่างจริงจัง บนพื้นฐานของสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-กอทิก (neo-gothic) เกาดีมิได้ลอกเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณ หากนำความรู้และความคิดเหล่านั้น มาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ตามแนวคิดของตน จนกลายเป็นสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโวที่โดดเด่นของสเปน

เกาดีมิได้ให้ความสำคัญกับรูปแบบภายนอกของงานสถาปัตยกรรมเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับการตกแต่งภายใน และบรรยากาศโดยรอบด้วย ทำให้ผลงานของเกาดีประสานกลมกลืนกันทั้งสิ่งแวดล้อม รูปทรงภายนอก และบรรยากาศภายใน ดังปรากฏในผลงานต่าง ๆ ของเขา เช่น Casa Calvet (ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๐๐) ซึ่งเป็นอาคารที่พักแบบอพาร์ตเมนต์ขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ออกแบบอย่างประณีต จนได้รับรางวัลจากเมืองบาร์เซโลนา ในฐานะอาคารที่พักสมัยใหม่ที่ดีเยี่ยมทั้งภายนอกภายใน

gaudi 14

เกาดีออกแบบทุกสิ่งอย่างประณีตงดงาม ตามแบบอาร์ตนูโว ตั้งแต่ผนัง เสา คาน กระจกเงา กรอบประตูหน้าต่าง รวมทั้งพยายามลบเหลี่ยมมุมที่ดูแข็งกระด้างลง เขาออกแบบโต๊ะเก้าอี้ไม้โอ๊ก ที่มีรูปทรงแปลกตา เพื่อให้สัมพันธ์กับการตกแต่งภายใน และรูปลักษณ์ภายนอก อพาร์ตเมนต์ที่น่าสนใจยิ่งอีกแห่งหนึ่งคือ Casa Batllo’ (ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๙๐๖) สันนิษฐานกันว่าเกาดีคงได้รับแรงบันดาลใจมาจากสัตว์นานาชนิด เพราะเมื่อมองโดยรวม อาคารหลังนี้จะแลดูคล้ายช้างขนาดใหญ่ แต่ส่วนหลังคากลับคล้ายกระดูกไดโนเสาร์ ด้านหน้าเหมือนสัตว์เล็ก ๆ หลายชนิด มีระเบียงคล้ายรังนกบนหน้าผา แต่ตกแต่งด้วยราวกลม ๆ คล้ายก้างปลา ด้านหน้าอาคารหลังนี้ไม่มีขอบคม และมุมที่ตัดกันเป็นมุมฉาก ทำให้ดูอ่อนนุ่มเหมือนหนังงู

เช่นเดียวกับอาคารขนาดใหญ่ Casa mila’ (ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๐) ที่มีรูปแบบเฉพาะ โดดเด่น เต็มไปด้วยจินตนาการฝันเฟื่องแต่ผสานกันอย่างกลมกลืน รูปลักษณ์ของอาคารนี้ คล้ายกับถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวแอฟริกัน ด้านหน้าเหมือนรวงผึ้งขนาดใหญ่ ที่มีเส้นโค้งเป็นคลื่นเหมือนงูเลื้อย การออกแบบอาคารของเกาดีในลักษณะที่ว่านี้ ถือว่าก้าวหน้ามาก เพราะในยุคสมัยนั้นรูปแบบของอาคารเช่นนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อน

gaudi 04

gaudi 06

gaudi 12

พัฒนาการทางแนวคิดและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเกาดี ปรากฏชัดในผลงานชิ้นยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งก็เป็นผลงานที่ยังสร้างไม่เสร็จมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ ซากราดา ฟามิลิยา โบสถ์ขนาดใหญ่ที่สร้างตามแนวทางของศิลปะกอทิกในอดีต แต่มีรูปแบบเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เกาดีปรับโครงสร้างอาคารเก่า ที่สร้างขึ้นเมื่อร้อยปีมาแล้วให้เป็นโบสถ์สมัยใหม่ขนาดใหญ่ บรรจุนักร้องได้ถึง ๑,๕๐๐ คน เด็ก ๗๐๐ คน และออร์แกนอีก ๗ ตัว โบสถ์แห่งนี้สำเร็จแล้วในใจของเกาดีพร้อมแบบร่าง นับเป็นโบสถ์ที่สง่างามอย่างยิ่ง ประกอบด้วยหอสูงตรงกลาง และรายล้อมด้วยหอบริวาร ๔ หอ ได้แก่ St. Peter, St. Judac, St. Matthew และ St. Barnabas แต่ละหลังสูงกว่า ๓๐๐ ฟุต นอกจากนี้ยังมีหอระฆังที่สูง ๑๐๕ ฟุตรายล้อมอีกเป็นจำนวนมาก ทุกส่วนของอาคารตกแต่งด้วยประติมากรรม เรื่องราวของพระเยซูและสาวก

โบสถ์แห่งนี้ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองบาร์เซโลนา หากยังเป็นที่พำนักสุดท้ายของเกาดี สถาปนิกชาวบาร์เซโลนาผู้ยิ่งใหญ่ด้วย

แม้เกาดีจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้รับการยกย่อง และเป็นที่รักของผู้คน โดยเฉพาะชาวเมืองบาร์เซโลนา ทว่าเกาดีก็คล้ายกับศิลปินที่มีความคิดก้าวหน้าล้ำยุคทั่วไป ที่มักจะมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น ชอบทำตัวโทรม ๆ มอซอ ชอบใส่รองเท้าใช้แล้ว โดยให้เหตุผลว่าใส่สบายกว่ารองเท้าใหม่ ๆ ชอบคลุกคลีกับคนยากคนจน และใช้ชีวิตเรียบง่ายธรรมดา

วันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ เกาดีในวัย ๗๔ ปี เดินออกกำลังกายจากบ้าน เพื่อไปสวดมนต์ยังโบสถ์เซนต์ฟิลลิป เนริ (St. Phillipp Neri) ตามปรกติ ระหว่างทาง เขาถูกรถรางชนจนล้มลงหมดสติ อาจด้วยสภาพซอมซ่อของเขา จึงไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นสถาปนิกชั้นนำของบาร์เซโลนา แม้แต่คนขับแท็กซี่ ยังปฏิเสธที่จะรับชายที่แต่งกายโทรม ๆ ไปส่งยังโรงพยาบาล (ภายหลังคนขับรถแท็กซี่ถูกลงโทษ) กว่าที่เกาดีจะถูกนำส่งโรงพยาบาล ก็มีอาการสาหัสมากแล้ว และเสียชีวิตลงในอีกห้าวันถัดมา นั่นเป็นบทสุดท้ายในชีวิตของสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่

เช้าวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ชาวบาร์เซโลนาเดินตามขบวนศพของเกาดี ยาวประมาณครึ่งไมล์ จากโรงพยาบาลซางตาครูส บริเวณเมืองเก่า ไปยังโบสถ์ซากราดา ฟามิลิยา (Sagrada Familia) ขณะที่ประชาชนอีกนับพันคน ยืนเรียงรายกันสองฟากถนนยาวสองไมล์ครึ่ง เพื่อแสดงความรักและความอาลัยต่อเกาดีเป็นครั้งสุดท้าย

ในฐานะที่เกาดีเป็นวีรบุรุษของชาวเมืองบาร์เซโลนา รัฐบาลสเปนจึงมีมติให้เก็บศพเขาไว้ที่โบสถ์ซากราดา ฟามิลิยา เพื่อให้เขาได้พักผ่อนในสถานที่ซึ่ง เขาได้อุทิศตนเป็นเวลาถึง ๔๓ ปีเพื่อสร้าง โดยเฉพาะ ๑๒ ปีสุดท้ายของชีวิต ที่เขาทำงานอย่างจริงจังอยู่ที่โบสถ์แห่งนี้ สถานที่ซึ่งเป็นเสมือนบ้านของเขาแห่งนี้ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่เขาจะได้พำนักอย่างสงบไปชั่วนิรันดร์

หนังสือประกอบการเขียน

  • Ian Chilver, Harold Osborne, Dennis Farr The Oxford Dictionary of Art, Oxford University Press, New York, 1988.
  • Rainer Zerbst, Antonio Gaudi, Benedikt Taschen Verlax Gmbh, 1991.