ศิลป์ส่องทางกัน

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ภาพโดย ณัฐพล สุวรรณภักดี

silpsongtang01

อย่างที่กล่าวกันอยู่ซ้ำๆ แต่ก็ยังต้องกล่าวย้ำกันอีกเสมอเมื่อพูดถึงเรื่องหลักเขียนสารคดีว่า

สารคดีมี “สองแขน”

แขนข้างหนึ่งคือ “ข้อมูล” และอีกข้างคือ “กลวิธีการนำเสนอ” ซึ่งต้องให้น้ำหนักอย่างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

งานเขียนสารคดีต้องมีข้อมูล และต้องมีวิธีการเล่าข้อมูลนั้นอย่างมีศิลปะ เร้าใจ ไม่น่าเบื่อ ให้รสรื่นรมย์ยามอ่าน ชวนติดตาม

ทั้งหมดนี้อาจเป็นข้อเรียกร้องที่มากไปสำหรับมือใหม่ ผมจึงลองวางลำดับขั้นการฝึกปรือให้นักเขียนใหม่ค่อยๆ ไต่ขั้นบันไดขึ้นไปอย่างมีความหวังกำลังใจ จากง่ายไปยากว่า

“เขียนแบบบันทึก
ลงลึกในประเด็น
เลือกเฟ้นวิธีการนำเสนอ
เจอเส้นทางของตัวเอง”

ขั้นพบเจอเส้นทางของตัวเอง เป็นปลายทางที่ไม่อาจได้มาโดยการบอกหรือสอนจากใคร แต่ต้องค้นพบด้วยตัวเอง แล้วกลายเป็นนักเขียนที่มี “ลายมือของตัวเอง”

ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น ระยะผ่านอันกว้างใหญ่อยู่ในขั้นที่ ๓ คือการเลือกเฟ้นวิธีการนำเสนอ เป็นช่วงของการฝึกฝนตนเองก้าวสำคัญ ก่อนไปสู่การมีลายมือหรือลายเซ็นของตัวเอง

เป็นการคิดค้น สรรหา เสกสร้างวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนใจ จากการเรียนรู้ฝึกฝนตามคำบอกเล่า จากงานเขียนดีๆ ที่มีมาก่อน รวมทั้งความบันดาลใจและพลังสะท้อนจากงานศิลป์แขนงอื่น โดยเฉพาะภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศิลปะของการเล่าเรื่องราวโดยตรง

หนังเรื่องหนึ่งเล่าเรื่องใน ๒ ชั่วโมง ให้คนดูอยู่กับจอได้โดยไม่ลุกหนีไปไหนกลางคัน

ดูหนังดีๆ เราจะเห็นวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่ธรรมดา ซึ่งบางทีนักสารคดีก็สามารถใช้วิธีการอย่างนั้นในงานเขียนได้

silpsongtang02

เล่าเรื่องโดย ‘ฉัน’

มีผู้เล่าเรื่องเป็นตัวละครหนึ่งอยู่ในเรื่องด้วย เรื่องราวจะถูกเล่าผ่านน้ำเสียง I หรือ ฉัน ผม ฯลฯ ตัวอย่างคลาสสิคที่สุดของการเล่าเรื่องด้วยวิธีนี้ ได้แก่ เรื่อง Forrest Gump หนังทั้งเรื่องเล่าผ่านเสียง “ผม” (ฟอเรสต์ กั๊มฟ์ แสดงโดย ทอม แฮ้งค์) นั่งเล่าเรื่องราวของตัวเองอยู่ที่ป้ายรถเมล์ คนผ่านมานั่งฟังระหว่างรอรถ คนหนึ่งลุกไปกับรถสายสายที่รอ เขาก็เล่าให้คนอื่นฟังต่อ บางตอนหนังสลับฉากไปเป็นภาพเหตุการณ์ คนดูก็รู้ได้โดยนัยว่าเรื่องราวที่เห็นนั้นอยู่ในคำเล่าของกั๊มฟ์ จนอดีตดำเนินมาบรรจบปัจจุบัน เขาก็ลุกจากตรงนั้น (ป้ายรถเมล์) พาคนดูตามเรื่องราวของเขาไปต่อ จนวนกลับมาจบเรื่องที่ป้ายยืนรอรถอีกครั้ง ในวันที่ลูกชายของเขาเริ่มเข้าโรงเรียน

silpsongtang03

เล่าเรื่องแบบตัดสลับ

วิธีนี้ช่วยลดความราบเรียบธรรมดาของเรื่องได้มาก คือแทนที่จะเล่าไปตามลำดับเวลา ลำดับเหตุการณ์ ลำดับอายุ ฯลฯ ในงานศิลปะไม่ว่าหนังหรืองานเขียน สามารถตัดสลับ เอาเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นทีหลังมาเล่าก่อน เล่าเรื่องซ้อน เล่าอดีตสลับกับปัจจุบัน ฯลฯ ล้วนทำได้หมด

หนังที่โดดเด่นในเทคนิคแบบที่ว่านี้ The Hours เล่าเรื่องของผู้หญิง ๓ คนในต่างยุคสมัย แต่มีจุดร่วมบางอย่างกันอยู่ ผู้กำกับ (หรือเสมือนผู้เขียนในโลกของงานเขียน) นำมาร้อยรวมเป็นเรื่องเล่าเดียวกันได้อย่างน่าคารวะฝีมือ

เรื่อง Babel เล่าเรื่องคู่ขนานหลายเหตุการณ์ในเวลาเดียวกัน ให้เห็นเหตุการณ์ช่วง ๒-๓ วัน ที่ดำเนินไปในแต่ละที่สลับกัน

Life of Pi ตัดสลับปัจจุบันกับอดีต พาย-ชายชาวอินเดียวัยหนุ่มใหญ่ในปัจจุบัน สนทนาอยู่กับนักเขียนฝรั่งในห้องครัวของบ้าน เขาเล่าชีวิตตัวเองตั้งแต่วัยเด็กที่เติบโตมาในสวนสัตว์ ระหว่างเดินทางอพยพกับครอบครัวและเหล่าสัตว์เรือแตกกลางทะเล เขาใช้ชีวิตร่วมกับเสือโคร่งบนเรือกู้ชีพอยู่หลายสัปดาห์ กระทั่งถึงอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร เรื่องราวในหนังส่วนใหญ่เป็นภาพอดีต โดยมีภาพปัจจุบันตัดสลับเข้ามาคอยเตือนคนดูว่าเรื่องราวที่เรากำลังเพลิดเพลินอยู่นั้น เล่าจากพายในปัจจุบัน ที่กำลังอยู่ในห้องครัวกับนักเขียนฝรั่ง

silpsongtang04

เล่าเรื่องแบบย้อนกลับ จากหลังมาหน้า

เรื่อง Irriversible บอกตั้งแต่ชื่อเรื่องว่า ซึ่งไม่สามารถย้อนกลับไป เป็นเรื่องราวความผิดพลาดโศกนาฏกรรมที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้ แต่ผู้เล่า (ผู้กำกับ) เล่าเรื่องแบบย้อนกลับ เล่าย้อนจากหลังไปหน้า เปิดเรื่องจากเหตุการณ์สุดท้าย แล้วเล่าย้อนให้คนดูค่อยๆ รู้เห็นเหตุการณ์ไปทีละเปลาะว่าก่อนนั้นเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงมาสู่เหตุการณ์นี้ คนดูต้องตามดูเพื่อจะรู้เหตุการณ์ทั้งหมด

silpsongtang05

ตัดเอาตอนสำคัญมาเปิดเรื่องก่อน

สังเกตดูได้เลย หนังแทบทุกเรื่องจะยกเอาตอนเด่นๆ ที่ตื่นเต้นเร้าใจชวนให้ติดตาม มาเปิดเรื่องก่อน งานเขียนสารคดีก็สามารถทำเช่นนั้นได้โดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด

คนยุคนี้คงได้ดูหนังไทยเรื่อง สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก เรื่องรักในวัยเรียนมัธยมของหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ปัจจุบันตามท้องเรื่อง เป็นช่วงเวลาที่เขาและเธอทั้งหลายนั้นเรียนจบมหาวิทยาลัยเข้าสู่วัยทำงานกันแล้ว

พี่โชน (มาริโอ เมาเร่อ) นักเตะดาวเด่นเมื่อมัธยมปลาย กลายมาเป็นช่างภาพ หนังเปิดเรื่องที่งานแสดงภาพถ่ายของเขาที่มิวเซียมสยาม น้องๆ นักศึกษาที่มาดูงานตั้งคำถามบางอย่างเกี่ยวกับภาพถ่าย ทำให้เขาไพล่คิดไปถึงใครบางคนที่ยังรักตราตรึงอยู่ในใจ แล้วหนังก็ตัดกลับไปสู่อดีตที่เขาและเธอยังอยู่ในวัยเรียน เรื่องราวดำเนินต่อมาจนบรรจบถึงปัจจุบัน และเดินเรื่องต่อไปอีกเล็กน้อยหนังก็จบแบบแฮปปี้

silpsongtang06

เล่าผ่านโครงเรื่องที่แข็งแรง

ตัวอย่างที่เด่นชัดในเรื่องนี้เป็นหนังสั้น ๑๐ นาที เรื่อง สี่แยก อุบัติเหตุเล็กๆ ที่เริ่มจากนักธุรกิจขับรถเก๋งไปส่งลูกที่โรงเรียน แต่พอใกล้ถึงสี่แยกไฟแดงโทรศัพท์มีสายเข้า เขาคุยโทรศัพท์ฝ่าไฟแดงตรงไปชนกับรถซาเล้งของป้าที่เลี้ยวซ้ายมาจากแยกซ้าย ความเสียหายเล็กน้อยมากๆ แต่ต่างฝ่ายต่างโยนว่าเป็นความผิดของอีกฝ่าย เถียงกันอยู่จนตำรวจจราจรมาไกล่เกลี่ยก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ประกันมาตรวจสอบแล้วตัดสินว่าป้าเป็นฝ่ายผิด

ผู้เล่าเรื่อง (ผู้กำกับ) สลายเรื่องลำดับเวลา ตัดเอาวินาทีที่ไฟจราจรเปลี่ยนเป็นสีแดง เสียงเบรครถยนต์ร้องเอี๊ยดแล้ว โครม! เป็นฉากเปิดเรื่อง คนขับรถเก๋งกับป่าซาเล้งลงมายืนเถียงกัน ต่างอ้างว่าเป็นความผิดของอีกฝ่าย

ตั้งชื่อเรื่องว่า สี่แยก บอกความหมายโดยตรงว่าเหตุเกิดที่สี่แยก และแฝงนัยถึงโครงเรื่องว่าเป็นเรื่องราวของคน ๔ ฝ่ายที่มาปะทะเกี่ยวข้องกัน นักธุรกิจ ป้าซาเล้ง ตำรวจจราจร พนักงานบริษัทประกันภัยรถยนต์

หนังเล่าเรื่องของแต่ละคนไปทีละฝ่าย โดยวางเรื่องของนักธุรกิจไว้หลังสุด เพื่อขยักจุดที่เป็น “ผู้ผิด” ของเขาจากสายตาคนดูไว้ก่อน

ความอยากรู้ทำให้ต้องตามดูไปจนจะจบเรื่อง เรายังแน่ใจไม่ได้ดูไม่ออกว่าใครพูดโกหกกันแน่ (ทั้งที่การคุยโทรศัพท์ขณะขับรถของนักธุรกิจถือเป็นเหตุการณ์แรกๆ ของเรื่องนี้ แต่หากเล่าตั้งแต่ต้นตามลำดับเหตุการณ์ ความเร้าใจให้ตามต่อก็หายไปมาก ซึ่งการเล่าเรื่องในงานศิลปะไม่จำเป็นต้องยึดตามเวลา) คนดูจึงต้องตามดูต่อเพื่อจะรู้ให้ได้ว่าสองคนที่เถียงฉอดๆ กันอยู่นั้น ใครกันที่ปั้นน้ำเป็นตัว

silpsongtang07

ในแง่งานเขียน อาการ-ต้องตามต่อ หรือ “วางไม่ลง” เป็นยอดปรารถนาลึกๆ ของนักเขียนทุกคนก็ว่าได้

กลวิธีการเล่า เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้

ในงานเรื่องแต่ง (Fiction) กลวิธีการเล่าถือเป็นเนื้อตัวของชิ้นงานก็ว่าได้

ส่วนในงานสารคดี (Feature) ก็สำคัญในขั้นที่เป็นเสมือนแขนข้างหนึ่งเลยทีเดียว