ผู้เขียน/ภาพ: ณภัทร เวชชศาสตร์

“ประเทศไทยบนเวทีโลก เราก็คงจะได้เห็นรัฐบาลไทยแสดงวิสัยทัศน์ด้านแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกฉาบด้วยแผนการอันสวยหรู แต่ก็ทิ้งคนจำนวนมากไว้ข้างหลัง”

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีช ประเทศไทย แสดงความเห็นต่อความพร้อมของประเทศไทยในการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) หรือ COP27 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ เมืองชาร์ม เอล ชีค ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022

งานล้างบาปกับเวที COP27 และ ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน

งาน COP27 คืออะไร

เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ทุกๆ ปีจะมีการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า COP ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้นำจากประเทศทุกมุมโลกมาหารือ แสดงแผนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการหาข้อตกลงร่วมกัน

cop27 03
cop27 04

ท่ามกลางไฟร้อนทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่อุณหภูมิโลกที่นับวันจะยิ่งร้อนขึ้น อุณหภูมิทางการเมืองในแต่ละประเทศต่างก็ร้อนขึ้นตามไปด้วย

ประเทศเจ้าภาพอย่างอียิปต์ได้รับเสียงวิพากษ์ว่าการประชุมนี้เป็นการล้างบาปประเด็นทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนหรือไม่

จากการปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีนักโทษทางการเมืองราว 60,000 คนถูกคุมขัง และการช็อตไฟฟ้านักเคลื่อนไหว LGBTQ+ นามซาร่า เฮกาซี (Sarah Hegazi) ซึ่งได้โบกสะบัดธงสีรุ้งในงานคอนเสิร์ต และต่อมาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2020

“จริงๆ แล้วในเรื่องการปกครองแบบอำนาจนิยมนั้นก็แลดูไม่ต่างกับประเทศในแถบนี้เสียเท่าไหร่” ธารา กล่าว

cop27 05
cop27 06

เจตนารมณ์ของสุภาพบุรุษ ชายชาติทหาร

“ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ใน ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ใน ค.ศ. 2030”

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเจตนารมณ์บนเวทีประชุมผู้นำ COP26 เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

ถ้อยคำประกาศดังกล่าวถือว่าเป็นจุดหักเลี้ยวที่สำคัญ เพราะหากย้อนไปที่แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030: NDC) เดิมทีนั้นจะอยู่ที่ 20-25%

การขยับตัวเลขไปเป็น 40% ถือว่าเพิ่มความท้าทายพอสมควร เพราะเท่ากับว่าจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนจากเดิมที่ 555 ล้านตันให้เหลือ 333 ล้านตัน โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงาน ไปจนถึงนโยบาย 30@30 (การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้งาน)

cop27 07
cop27 08

โรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงหายใจ

“ตามการวิเคราะห์ของเรา ตราบเท่าที่ไฟฟ้าซึ่งเราผลิตมาจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิล คุณ [ประเทศไทย] ไม่มีทางบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero ได้ เพราะว่าไม่มีอะไรเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับถ่านหิน แม้คุณจะเลิกใช้ถ่านหินภายใน ค.ศ. 2050” ธารา บัวคำศรี กล่าว

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่ออายุและก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง แม้ว่าทาง กฟผ. จะชี้แจงผ่านเว็บไซต์ว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างการใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS)

ขณะที่เทคโนโลยีนี้มีข้อวิพากษ์ว่ามีราคาสูง

“การดำเนินการ [ดักจับและกักเก็บคาร์บอน] ยังมีไม่กี่แห่ง เนื่องจากต้นทุนมีราคาสูง และท้ายสุดต้นทุนที่เสียไปอาจจะสะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น” ธารา แสดงความเห็นต่อการใช้เครื่องดักจับและกักเก็บคาร์บอน

cop27 09

เทคโนโลยีอาจจะไม่ใช้ทางออกเสมอไป

“เรากำลังทำตัวเหมือนประเทศที่ร่ำรวย แทนที่เม็ดเงินนั้นจะใช้ในแผนการป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจริงๆ ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีความเปราะบาง แต่กลับมุ่งเน้นกับเรื่องเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหามากกว่า หรือ Techno-fundamentalism” สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระ

แม้จะมีความคลุมเครือเรื่องการปลดระวางถ่านหินและเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน แต่สิ่งที่ดูชัดเจนก็คงเป็นการส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่สนับสนุนให้ปลูกป่าแทนการบริจาคเงินให้ชุมชนเพียงอย่างเดียว สมาชิกในเครือข่ายรวมภาคธุรกิจเอกชนสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ดูดซับไว้ในเนื้อไม้ โดยรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจะกลับไปสู่ชุมชน เพื่อใช้ดูแลรักษาป่าต่อไป

แต่การส่งเสริมการปลูกป่าและการซื้อคาร์บอนเครดิตนั้นก็ถูกตั้งคำถามว่าต้นไม้ที่ปลูกเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นหรือไม่ จนไปถึงช่องว่างที่อาจเกิดการฟอกเขียว (greenwashing)

“เอกชนอาจซื้อคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจจะไม่ใช่ Net carbon positive จริง เช่นอาจเป็นโครงการปลูกป่าที่ไม่ได้เพิ่มป่าขึ้นมา แต่เป็นโครงการเดิม เพราะต้องยอมรับว่าโครงการ CSR ของบริษัทต่างๆ มีปัญหาพอสมควร บางทีชาวบ้านก็เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลูกป่า [ปลูกในพื้นที่เดิม] หมายความว่าไม่ใช่พื้นที่ที่มีต้นไม้งอกขึ้นมาใหม่เลย ดังนั้นจะไปหลอกขายว่าเป็นคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร” สฤณีกล่าว

“จริงๆ แล้วคาร์บอนเครดิตน่าจะเป็นเครื่องมือเสริมเท่านั้น มันควรจะเป็นกลไกที่สร้าง incentive (แรงกระตุ้น) และต้องพุ่งไปที่ absolute reduction ไม่ว่าจะผ่านการเก็บภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Boarder Adjustment Mechanism (มาตราการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน) ต้องบังคับให้เกิดขึ้นถึงจะป้องกันการฟอกเขียวผ่านกลไกตลาดได้”

cop27 10

คนนอกอยากเข้า คนในถูกไล่

หากพูดถึงเรื่องป่าไม้ เราจะเห็นโครงการต่างๆ ที่พยายามปลูกป่า การทำอ่างเก็บน้ำ การสร้างฝาย CSR ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเขียวขององค์กร แต่การจัดการชุมชนที่อยู่กับป่านั้นก็ยังเป็นปัญหาที่มีข้อวิพากษ์

“รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจมีนโยบายมทวงคืนผืนป่า กล่าวหาว่าประชาชนเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ ทั้งที่พวกเราอาศัยอยู่และทำกินตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ถูกรัฐไทยประกาศเขตป่าทับซ้อนโดยไม่สนใจวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของพวกเรา ในระยะเวลาเพียง 8 ปีให้หลังนี้ มีประชาชนต้องถูกดำเนินคดีมากกว่า 34,692 คดี ต้องเสียที่ดิน ต้องตายทั้งเป็น” – ถ้อยแถลงของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ถึงผู้นำรัฐมนตรีเอเปค

cop27 11

แก้ปัญหาแบบผิดทาง

จากการประชุม Thailand Climate Action Conference (TCAC) ซึ่งระบุว่าเป็นการจำลองงาน COP ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็เป็นหน่วยงานภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน บริษัทขนาดใหญ่ แต่ขาดภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

“ในเนื้อหาก็ค่อนข้างเป็น techno-fundamentalist ที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยี พูดถึงการ investment ให้มาลงทุนธุรกิจสีเขียวและโครงการปลูกป่ามากขึ้น” สฤณี แสดงความผิดหวังหลังจากที่ไปร่วมประชุมงาน TCAC

“ตั้งข้อสังเกตได้ว่า แม้เราจะตื่นตัวเรื่องเป้าหมายสีเขียว (Green goal) แต่หากย้อนไปที่สัญญาว่าด้วยการยุติตัดไม้ทำลายป่า (deforestation) เราไม่ได้ลงนามในข้อตกลงนี้ ซึ่งก็สวนทางกับสิ่งที่พูดบนเวที” สฤณี ชี้ช่องว่างของการดำเนินการกับเป้าหมาย

“ตรงนี้น่าผิดหวังเหมือนกันที่ท้ายสุดแล้วเวทีนี้ก็เป็นการรวมตัวของชนชั้นนำและเหล่าเทคโนแครต แต่ประชาชนที่กำลังเผชิญกับความสูญเสียและความเสียหายจากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น เราแทบไม่ได้เห็นเลย” ธารา บัวคำศรี กล่าว

สฤณีเสริมว่า “ไม่ได้แปลว่าเทคโนโลยีไม่มีประโยชน์ แต่ทำไมไม่ลงทุนกับตัวเลือกอื่นๆ ที่มีงานศึกษาว่ายั่งยืนกว่า เช่นการลงทุนเรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ (solar cells) หรือการตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ absolute term เพราะท้ายสุด หากเราลงทุนในเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีประสิทธิผลในบริบทของประเทศเราขนาดนั้น เงินที่จะต้องจ่าย ก็คงเป็นเงินภาษีของเรา”

cop27 13

ช่องโหว่

“ไม่มีการลงทุนอะไรที่คุ้มค่าไปกว่าการลงทุนเพื่อปกป้องผู้คน” สฤณี กล่าว

ล่าสุด “รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4” ที่เตรียมส่งให้ทาง UNFCCC ก่อนการจัดประชุม COP27 ได้ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก

“แต่ก็ไม่ค่อยมีการพูดถึงความสูญหายและสูญเสีย (loss and damage) มีบ้างในส่วนที่เป็น adaptation” ธารา แสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าว

ประเทศไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการละลายของน้ำแข็ง อีกทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง ภัยแล้งที่มากขึ้น พายุที่ถี่ขึ้น ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะตกอยู่กับผู้มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกร ชุมชนชายฝั่ง กลุ่มผู้เปราะบาง

แม้ว่าประเทศไทยจะเตรียมแผนการที่แลดูเป็นรูปธรรมและสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศได้ อย่างแผนการร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจ แผนการลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายใน ค.ศ. 2030 การตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ใน ค.ศ. 2065 พร้อมการชูเรื่องเทคโนโลยีกลางที่ประชุม แต่หากเรายังไม่พูดถึงแนวทางการป้องกันและปรับตัวอย่างจริงจัง และการฟังเสียงของภาคส่วนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ก็จะกลายเป็นการเสียโอกาสบนเวที COP27 ที่จะมาถึงนี้

“ในงาน COP27 เราก็คงเห็นรัฐบาลไทยแสดงวิสัยทัศน์ด้านแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการร่วมมือกับภาคธุรกิจที่แลดูสวยหรู แต่สำหรับในส่วนประชาชนที่กำลังเผชิญกับความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ก็คงจะไม่ได้อะไรเลย” – ธารา บัวคำศรี

อ้างอิง