นิทรรศการ Fragmentation
รอยเคลื่อน เปลี่ยนแปลง แฝงเร้น จากอดีตสู่ปัจจุบัน

เวลาสิบแปดนาฬิกา แสงอาทิตย์เริ่มลาลับ ปรากฏแสงไฟหน้าอาคารที่ถูกเปิดต้อนรับผู้คนที่มาเยือนยามพลบค่ำ บันไดข้างหน้า นำทางเข้าสู่ตัวอาคารหอศิลป์ วังท่าพระ ด้านในแน่นขนัดไปด้วยเหล่าคนรักในงานศิลป์ที่มารอชมการเปิดนิทรรศการ

เริ่มต้นด้วยภัณฑารักษ์กล่าวแนะนำศิลปินทั้ง 5 ท่าน และปล่อยให้ผู้ที่มาชมได้ทำการเดินดูผลงานของศิลปินด้วยตนเอง เมื่อเดินผ่านประตูที่อยู่ทางด้านซ้ายมือ ก็ปรากฏภาพคำอธิบายของนิทรรศการที่ต้องการนำเสนอให้เห็น “รอยเคลื่อน” ที่เป็นรอยปริแตกทางความคิดที่เราจะพบในผลงานศิลปะที่ถูกนำมาจัดแสดงในครั้งนี้

fragmentation0314 327

เมื่อเดินลึกเข้าไป ในชั้นที่หนึ่ง ปรากฏภาพที่มาจากวีดีทัศน์ประกอบเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน ปี พ.ศ.2562 โดยศิลปินได้ต้นแบบมาจากการบันทึกภาพจากหน้าจอโทรศัพท์ ใช้วิธีการย่อขยาย โดยใช้อัตราส่วน 16:9

ภาพวาดที่ดูเหมือนไม่ได้วาด ได้ถูกผลิตซ้ำขึ้นมา หากมองดูจะเห็นว่าตั้งแต่ภาพแรกจะเห็นผู้คนยืนตรงร้องเพลงชาติ จนถึงภาพสุดท้ายที่เป็นภาพของพระมหากษัตริย์ไทย ผลงานทุกชิ้นที่ผ่านตาล้วนเป็นข้อเท็จจริงหากแต่ซ่อนเร้นเรื่องราวในอดีตอันน่าสะพรึง

“เมื่อก่อนภาพมันเป็นบริบทที่ขึ้นอยู่ ณ ตอนนั้น เช่น เมื่อก่อนจะเป็นภาพทหาร การต่อสู้ ยุทโธปกรณ์ ก็คือช่วงหลังสงครามเย็น แล้วก็จะมีภาพของพระมหากษัตริย์เสด็จเยือนต่างจังหวัด แต่ตอนนี้ไม่มี มันกลายเป็นภาพทั่ว ๆ ไป คราวนี้เมื่อก่อนพี่เห็นความสุดโต่งมาก ๆ ของภาพที่มันปลุกเร้าความเป็นไทย ความเป็นเชื้อชาติ ค่านิยม แต่ตอนนี้มันนิ่งกว่า มันกลายเป็นว่ามันเหมือนเป็นภาพแทนปัจจุบันในตอนนี้ แล้วก็สื่อถึงประชาชนมากขึ้น”

พีรนันท์ จันทมาศ เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจของภาพก่อนที่จะนำมาให้เราเห็นกันในวันนี้

และหากมองที่พื้นจะพบเก้าอี้ที่ถูกสร้างมาจากเศษซากปรักหักพังต่าง ๆ ที่อติ กองสุข นำมาจากวัตถุที่หลงเหลือจากการสร้างอนุสาวรีย์

fragmentation0314 3274

จากความคิด-อนุสาวรีย์ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าคือแหล่งรวมความทรงจำของชาติ อติได้นำมาสร้างงานในแนวคิดที่ว่าการปริแตกของเศษซากความทรงจำแล้วเคลื่อนไปสู่ความหมายใหม่ เศษซากของวัตถุที่เป็นพยานแห่งความทรงจำได้กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ในนิทรรศการราวกับต้องการแทรกตัวลงไปในห้วงเวลาปัจจุบัน ยินยอมรับฟังความคิดและการตีความบทสนทนาของผู้คนที่มาเยี่ยมชมและสัมผัส

เมื่อมองดูอาจไม่เข้าใจ แต่พอได้อ่านคำอธิบายในเอกสารที่ได้จากเข้าร่วมนิทรรศการ ก็พอจะทำให้เห็นภาพถึงเรื่องราวที่ศิลปินต้องการสื่อสารออกมาผ่านทางผลงาน

และยามที่เดินขึ้นไปยังชั้นสองจะเห็นภาพวิวทิวเขาที่ดูสวยงาม

fragmentation0314 3275

หากแต่มองลึกลงไปยังสิ่งที่ศิลปินได้ซ่อนไว้ในภาพนั้นสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจทางสังคมการเมืองที่ถูกกดทับมาตั้งแต่อดีต จนกลายเป็นตะกอนความทรงจำที่ถูกซ่อนอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ วัชรนนท์ สินวราวัฒน์กล่าวว่า

“โลเคชั่นที่เราเลือกก็คือจุดที่มันมีความดีเลย์ในกระบวนการ มีความดีเลย์ในการที่รัฐจะเข้าไปจัดการพื้นที่ เช่นพื้นที่ชายขอบ อดีตพื้นที่สีแดงในช่วงสงครามเย็นที่เป็นพื้นที่ของคอมมิวนิสต์”

หากเดินเข้าไปอีกห้องที่อยู่ข้างกันจะเห็นภาพของลิค ศรีประเสริฐ ที่ได้สร้างผลงานว่าด้วยการ “สร้าง” และการ “ทำลาย”

fragmentation0314 3276

ราวกับขีดเขียนและลบเรื่องราวในบทสนทนาตนเองระหว่างเรื่องราวในอดีตและปัจจุบัน อีกทั้งยังสะท้อนเรื่องราวของคุณค่าและมาตรฐานความงามที่ถูกสังคมกดทับ ณภัทร ใหญ่ปางแก้ว เจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่า

“เป็นจิตรกรรมบนพื้นผ้าใบ ซึ่งเหมือนเขาระบายแล้วก็ลบ พยายามทำให้เป็นปัจจุบัน แต่ก็เป็นอดีตที่จะเป็นร่องลอยลบอยู่ มันเหมือนกับเขาได้อยู่กับตัวเอง ทบทวนตัวเอง แล้วเขาจะใช้สีดำ ซึ่งสีดำในค่านิยมของคนไทยเขารู้สึกว่าจะไม่ค่อยให้ใช้ เขาจะใช้สีอื่นผสมกันมากกว่า ศิลปินมองเห็นว่าในเมื่อสีดำก็ยังมีขายอยู่ก็สามารถเอามาใช้ได้ ก็เลยเอามาใช้ในการสร้างงานศิลปะ”

อีกจุดหนึ่งที่โดดเด่นคืองานปั้นของดุษฎี ฮันตระกูล ที่ได้หยิบจับวัตถุทางวัฒนธรรมการกินมาผสานกับงานปะติมากรรมขนาดเล็ก สิ่งนี้สร้างรอยยิ้มขบขันเล็ก ๆ ให้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชม แต่เรื่องราวที่ได้ซ่อนอยู่นั้น คือการตั้งคำถามไปถึงวัฒนธรรมของผู้ที่อยู่อาศัยในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการกินได้บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิต สภาพเศรษฐกิจและสังคม สภาพความเป็นอยู่ที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่

ส่วนตัว-สะดุดตากับเครื่องปั้นดินเผารูปลักษณ์สตรีที่มองเผิน ๆ อาจจะดูน่ารัก แต่ความหมายที่ซ่อนไว้กลับลึกซึ้ง อีกทั้งยังสะท้อนถึงร่องรอยของความไม่สมบูรณ์แห่งยุคสมัยที่ผันเปลี่ยนทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

fragmentation0314 32710

“เหมือนกับความนิยมผู้หญิงมันก็ไม่เหมือนกัน เปลี่ยนแปลงตามรอยร้าวของเวลา แล้วก็อาจจะสื่ออีกแง่มุมก็คือเรื่องของความอุดมสมบูรณ์เหมือนกับเทพวีนัส”

(เทพวีนัสเป็นเทพเจ้าโรมันซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมความรัก ความงาม เพศ ภาวะเจริญพันธุ์และความรุ่งเรืองในเทพปกรณัมโรมัน)

“นิทรรศการ Fragmentation จึงเหมือนผลงานที่บอกเล่าเรื่องของอดีตและปัจจุบัน และได้แสดงให้เห็นถึงรอยเคลื่อนที่เป็นรอยแยกทางความคิด สิ่งที่ทับซ้อนและซ้อนเร้นอยู่ในตัวผลงาน อำนาจที่กดทับบดบัง แต่ก็เปิดเผยให้เราเห็นถึงรอยเคลื่อนที่ปริแตกออกอย่างชัดเจน”

หมายเหตุ นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 17 กุมภาพันธ์ 2567 วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)
*หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเพื่อทำข่าวหรือสัมภาษณ์ สามารถนัดหมายได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 092 298 0092 หรือ Facebook ตลอดระเวลาจัดแสดงนิทรรศการ