ทีม Happy Buddy Team
เรื่อง: จิรภัทร ศรีชำนาญ
ภาพ: จิรภัทร ศรีชำนาญ, พรทิพย์ ลิมปิชัยโสภณ

โอริงามิ พับกระดาษที่ให้มากกว่ากระดาษ

จุดเริ่มต้นที่ไม่ใช่จุดจบ

“ต้นกล้าลองพับเล่นกันมั้ย”

ผมชื่อ “ต้นกล้า” ในวัย ๕ ขวบ หันขวับไปตามเสียง แม่ผมนั่นเอง

“ต้นกล้าชอบแบบไหนลองเลือกดูนะลูก เดี๋ยวเรามาพับเล่นกัน” แม่พูดพร้อมกับยื่นเอกสารการพับกระดาษมาให้

แม่บอกว่าพรินต์มาจากอินเทอร์เน็ต

ผมพลิกกระดาษกลับไปกลับมา สักพักก็ชี้ให้แม่ดูรูปหนึ่ง

“เอารูปนี้นะ!” แม่พูดพร้อมกับยื่นกระดาษเปล่า A4 ให้ แม่สอนผมตัดกระดาษเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส เริ่มพับไปทีละขั้นตอน เราใช้เวลาคลี่กระดาษออก พับใหม่ ซ้ำ ๆ ไปมา จนกระดาษเปื่อย

ผมเริ่มเบื่อ เลยเดินไปหยิบหนังสือมายื่นให้แม่อ่านให้ฟังแทน นั่งตักแม่อย่างเคย หลังพิงอกแม่ ช่างรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลาย

“…รู้ไหมหนูจ๋า เวลาผันผ่าน…” เสียงแม่อ่านนิทานให้ผมฟัง

เรานั่งอ่านนิทานด้วยกันเล่มแล้วเล่มเล่า ด้วยความสุขใจ นั่นคือโอริงามิ วันแรกของผม

origami01
โมเดลแรกที่ทำได้จากการพับตามหนังสือ ภูมิใจมาก

ไฟฉันทะ เล็ก เล็ก เกิดขึ้นในใจดวงน้อย

ผ่านไปหลายเดือน “ต้นกล้า ลองดูนี่ลูก!” แม่เดินมานั่งข้าง ๆ พร้อมกับยื่นไอแพดให้ผมดู

“อันนี้เป็นแอปฯ โอริงามิสอนพับกระดาษนะต้นกล้า ลองทำตามรูปนี้ดูก่อนครับ”

ภาพที่ผมเห็นขยับขึ้นลง ช้า ๆ ตามรอยพับ ราวกับจะได้ยินเสียงชี้ชวนว่า ทำตามสิ! ทำตามสิ! ดูน่าสนุก

ผมทำตามไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ได้โมเดลแรกจากฝีมือผมเอง

“ทำได้แล้ว!” ผมตะโกนบอกแม่ และชูขึ้นอวด

แม่ทำหน้าตื่นเต้น ลูบหัวผมเบาๆ และกล่าวชมเชย “เยี่ยมมากลูก!”

คำชมสั้น ๆ แต่เปี่ยมล้นด้วยพลังใจ สร้างแรงกระเพื่อมในใจ ผลักดันให้ อยากทำอีก

คืนนั้นเวลาผ่านไปนานเท่าไรแล้วไม่รู้ แต่ผมก็ยังคงเพลิดเพลินกับการพับกระดาษแบบอื่น ๆ มีความสุขกับโมเดลที่ผมพับไว้ ซึ่งขณะนี้ต่างนอนเรียงรายอยู่รอบตัว

“Tonkla, Where are you?” เสียงพ่อ ผมรีบอวดผลงานให้พ่อดู

“ว้าวว! เก่งมากครับ” แล้วพ่อก็หอมแก้มผมทีหนึ่ง

คืนนั้นผมหลับฝันดีถึงโอริงามิที่ผมเนรมิตขึ้นมาเองด้วยสองมือนี้อย่างภาคภูมิใจ

origami02
พับกระดาษที่ต้องใช้สมาธิ ความอดทน พยายาม
origami03
หนังสือพับกระดาษ

ค้นหา สะสม แรงบันดาลใจ

เช้าวันเสาร์ “ต้นกล้าลองมาดูนี่มั้ยลูก”

ตอนนี้ผม ๖ ขวบแล้ว แม่เรียกผมมาดูรายการทีวีสำหรับเด็ก “นิทานอาเซียน” ที่ให้ความรู้เรื่องอาเซียน ออกอากาศช่อง NBT ทุกวันเสาร์ มีกิจกรรมพับกระดาษและปั้นดินประกอบการเล่านิทาน เพื่อให้เด็กไม่เบื่อและมีสมาธิกับการฟังนิทานต่อจนจบ

พอถึงช่วงสอนพับกระดาษ ผมพับตามไปเรื่อย ๆ

แม่ผมบอกว่าพี่ที่สอนชื่อ “พี่ปอม เอกสิทธิ์ เข้มงวด” ฉายา “เซียนพับกระดาษเมืองไทย”

หลังจากวันนั้นผมก็ติดตามรายการนิทานอาเซียนสม่ำเสมอ สร้างความคุ้นเคยกับพี่ปอมผ่านทางทีวี และทางช่อง YouTube Channel “Pom Origami”

“สูงอีก!” “สูงๆ!” “ฮ่าฮ่า!” เสียงจ๊อกแจ๊ก เคล้าเสียงหัวเราะ ของเพื่อนๆ ที่สนามหญ้าในโรงเรียน ช่วงเย็นหลังเลิกเรียน แต่ละคนพยายามปรับรูปทรงเครื่องบินกระดาษพับของใครของมัน ให้บินไปในแบบที่ต้องการ

ผมแหงนหน้ามองเครื่องบินกระดาษพับที่ผมเพิ่งเหวี่ยงขึ้นไป ลอยอยู่เหนือผม ชั่วขณะนั้นรู้สึกเหมือนว่าเวลากำลังหยุดเดิน การพับเครื่องบินกระดาษ นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างหนึ่งทีเดียว กับความพยายามที่จะทำให้มันบินอยู่บนนั้นได้นาน ๆ

“ตัวนี้คือรุ่น Sky king ที่เค้าทำสถิติกินเนสส์บุ๊กฯ ไว้แล้ว ๓๖ วินาที!”

วันหนึ่งพ่อพูดอย่างตื่นเต้นพลางชี้ให้ดูรูปในหนังสือพับเครื่องบินกระดาษเล่มหนึ่ง เราลองพับตาม และเซ็ตสัดส่วนทั้งหมดตามแบบหนังสือ เมื่อทำเสร็จแล้วบางครั้งต้องใช้เวลาปรับสมดุลการบินต่อ พอสมควร เครื่องบินกระดาษพับจึงจะบินได้ถูกใจ

”แม่จะพาไปงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ เตรียมตัวนะลูก” แม่บอกผมในเย็นวันหนึ่ง

สมาคมเครื่องบินกระดาษพับจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ไปตามจังหวัดต่าง ๆ สอนพับและปรับการบินเครื่องบินกระดาษ ปีนี้ผมซึ่งอายุ ๗ ขวบ สมาคมฯ ได้จัดแข่งและสอนพับเครื่องบินกระดาษแบบร่อนนานในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ที่เมืองทองธานี

ช่วงจับเวลาร่อนในอากาศ จะมีเจ้าหน้าที่จับเวลาให้ผู้เข้าร่วม คนต่อคน การบันทึกเวลาร่อนเริ่มตั้งแต่ผู้เข้าร่วมปล่อยเครื่องบินกระดาษจนกระทั่งตกถึงพื้น บันทึกเวลาร่อนเป็นวินาที ทศนิยม สองตำแหน่ง ให้เวลาร่อนสี่ครั้งต่อรอบ

ผมพับเครื่องบินกระดาษแบบ Sky king แข่งจับเวลาร่อน

ครั้งแรกผมทำได้ ๖ วินาที ผมใช้การสังเกตและปรับกระดาษไปเรื่อย ๆ ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนทำสถิติร่อนนานสุดได้ ๑๐ วินาที แม่บอกว่าวันนั้นมีคนทำเวลาได้สูงสุด ๒๔.xx วินาที

การพับกระดาษสอนให้ผมอดทน พยายาม รู้จักรอคอย ถ้าอยากทำสถิติร่อนได้นาน หากตั้งใจ พยายามทำต่อไป ย่อมพัฒนาฝีมือขึ้นเองในสักวัน ซึ่งประสบการณ์ในวันนี้ได้ให้อะไรผมมากมาย

วันหนึ่งแม่เปิดรายการ “DeScience by Mahidol Channel” ใน YouTube ให้ผมดู ชื่อตอน “ความมหัศจรรย์ของโอริงามิ” แขกรับเชิญ คือ “อาจารย์บัญชา ธนบุญสมบัติ”

ผมได้รู้ว่าโอริงามิ นอกจากจะพับกระดาษให้เป็นของเล่นได้แล้ว ยังนำมาประยุกต์เชื่อมโยงเข้ากับศาสตร์ความรู้อื่น ๆ ได้ทุกแขนง

ผมได้รู้จักการพับแบบเทสเซลเลชัน (Tessellation) คล้ายกับการนำชิ้นส่วนเล็ก ๆ มาต่อกันให้ต่อเนื่องเป็นลวดลายสวยงาม มีความยืดหยุ่น เพิ่มลูกเล่นได้ตามต้องการ จึงเป็นโอริงามิอีกรูปแบบหนึ่งที่ผมชอบพับมาก แต่ละครั้งจะใช้เวลาพับค่อนข้างนาน

สิ่งที่ดึงผมให้เพลิดเพลินระหว่างพับกระดาษ ไม่ทิ้งไปกลางคัน คือแรงใจที่อยากเห็นโมเดลที่เสร็จแล้วว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และความหวังระหว่างพับที่รู้สึกว่าใกล้จะถึงเป้าหมายในทุก ๆ รอยพับ

บางครั้งผมก็จะผสมผสานรายละเอียดแบบพับจากศิลปินหลายคน มาสร้างเป็นแบบของตัวเอง ช่วยสร้างจินตนาการ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังพับได้ง่าย บางครั้งสร้างความเพลิดเพลินใจจนลืมเวลากันเลย

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในค่ำวันหนึ่งในวัย ๘ ขวบ ผมขะมักเขม้นพับชิ้นงานหนึ่งด้วยกระดาษห่อของขวัญแผ่นใหญ่ เมื่อเสร็จแล้วก็รีบลุกไปหาแม่ด้วยความตื่นเต้น เห็นแม่นอนอยู่ก็ปลุกขึ้นมา ผมรีบคลี่กระดาษออกแล้วสวมให้แม่ดู มันคือหมวกกระดาษแบบเทสเซลเลชัน ที่กางออกมาแล้วสวมใส่ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เลย เวลาจะเก็บก็จัดการแปลงร่างหุบเข้าเป็นก้อนกลมๆ ขนาดพอๆ กับลูกเทนนิส

แม่ยิ้ม พร้อมกับยื่นมือมาจับแก้มสองข้างของผมและดึงเข้าไปหอมฟอดหนึ่ง แม่บอกว่าเที่ยงคืนแล้ว นั่นหมายความว่าผมใช้เวลาพับอยู่กว่า ๓ ชั่วโมงเลยทีเดียว

ระหว่างพับผมคิดว่าอีกนิดเดียวก็เสร็จ ราวกับว่าผมตัดขาดมิติเวลาปัจจุบันไปโดยสิ้นเชิง

วันรุ่งขึ้น ผมเห่อใส่หมวกใบนี้เดินอวดไปไหนมาไหน ด้วยความภาคภูมิใจอยู่พักใหญ่ๆ เลยครับ

ครั้งแรกที่ผมเจอพี่ปอม คือที่สมาคมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น พี่ปอมสอนผมพับเครื่องบิน F16 กับโมเดลอีก ๓-๔ แบบ หลังจากนั้นผมได้เจอพี่ปอมอีกหลายครั้งโดยบังเอิญและตั้งใจ ตามงานกิจกรรมที่มีหน่วยงานเชิญพี่ปอมมาออกบูธ ทำกิจกรรมส่งเสริมการพับกระดาษ จากการได้สัมผัสพูดคุยกับพี่ปอมบ่อยครั้ง ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในงานพับกระดาษ และเกิดความคิดอยากส่งต่อความสุขในการพับกระดาษให้ผู้อื่น

origami04
โมเดลแรกที่ทำได้จากการพับตามหนังสือ ภูมิใจมาก
origami05
เครื่องบินเมืองทองธานี

สู่จิตอาสา ส่งต่อแรงบันดาลใจ

แม่บอกว่ามีคนกำลังหาจิตอาสาทำกิจกรรมงานวันเด็ก แม่ก็เลยเสนองานพับกระดาษให้ผมลองไปทำดูเป็นครั้งแรก ผมอายุ ๘ ขวบแล้ว ตอบตกลงจะไปสอน

งานจัดที่สวนเพลินมาร์เก็ต วันงานขณะช่วยกันจัดโต๊ะกิจกรรม ก็มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งมาหยุดอยู่หน้าโต๊ะ เหมือนรอผมเชิญให้นั่ง “จะพับอะไรครับ” ผมถาม

เขาหยิบโมเดลเครื่องบิน F16 ขึ้นมาดู

พ่อผมหันมาเห็นก็บอก “เอาเป็น F16 แบบนี้นะ” แล้วยื่นกระดาษสี A4 ให้เลือกสีที่ต้องการ พ่อบอกให้ผมสอนไปก่อน พ่อจะจัดโต๊ะต่อเอง

ผมสอนพับเหมือนกับที่เคยสอนพ่อก่อนหน้านี้ พ่อเป็นลูกศิษย์คนแรกของผม จากนั้นเด็กคนอื่น ๆ ก็เริ่มเข้ามามุงดู ผมก็ยื่นกระดาษให้มานั่งพับไปด้วยกัน พ่อผมจัดโต๊ะเสร็จก็เข้ามาช่วยสอนด้วย

เด็กคนแล้วคนเล่าเข้ามาและกลับไปพร้อมโมเดลและรอยยิ้มเบิกบาน ผมเองก็รู้สึกมั่นใจและภูมิใจ ได้เพิ่มคุณค่าให้ตนเองจากกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

“ต้นกล้า อี๊อิมอยากชวนต้นกล้าไปสอนพับกระดาษ ที่งานบางมดเฟส” แม่พูดขึ้นมาในค่ำวันหนึ่ง

อี๊อิมเป็นลูกพี่ลูกน้องของแม่ อี๊ทำกิจกรรมจิตอาสาในกลุ่ม Can Do Team อี๊รู้ว่าผมชอบพับกระดาษและสอนได้ จึงชวนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมจิตอาสาด้วย ถึงจะเป็นห่วงเรื่องการสื่อสารเพราะผมอายุยังน้อย แต่ก็ยังให้โอกาสได้มาลองทำดู

บางมดเฟสเป็นเทศกาลประจำปีของชุมชนริมคลองบางมด มีแนวคิดเชิญจิตอาสากลุ่มต่าง ๆ มาร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ค้นหาและสะสมแรงบันดาลใจจากกิจกรรมที่จิตอาสาร่วมกันจัดขึ้น และปลุกความมีชีวิตชีวาให้พื้นที่ริมคลองบางมดไปพร้อม ๆ กัน

วันงานอี๊อิมเดินเข้ามาที่ซุ้มพับกระดาษของผมพร้อมกับเด็ก ๒-๓ คนจากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย นับเป็นศิษย์พับกระดาษชุดแรกของผมในงานนี้เลย จากนั้นคนอื่น ๆ ก็ทยอยเดินเข้ามา

เราตกลงว่าจะสอนถึง ๑๗.๐๐ น. แต่ยิ่งพับยิ่งเพลิน เสียง “ขอบคุณครับ” ”ขอบคุณค่ะ” เป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงเวลาสอนที่ค่อยๆ เคลื่อนผ่านไป จากบ่ายเป็นเย็น จากเย็นเป็นค่ำ ภาพที่ผู้คนพยายามพับจนสำเร็จ บ้างก็พับไม่ทัน แต่พยายามทำต่อ ไม่ถอดใจ เป็นภาพที่ทำให้ผมสอนจนลืมเวลา ลืมหิว คอยเอาใจช่วยพวกเขา จวบจนกระทั่งงานปิดเวลา ๒๐.๐๐ เลยทีเดียว

หลังจากวันนั้นอี๊ก็ชวนผมมาช่วยทำกิจกรรมโอริงามิที่เทศกาลบางมดเฟส และกิจกรรมส่งเสริมการอ่านกับอี๊อิมเป็นประจำ ส่งต่อแรงบันดาลใจโอริงามิร่วมกันเสมอมา ผมได้ต่อยอดงานจิตอาสาไปสอนเด็กในชนบทและเด็กตาบอด

ใช่ครับ ผมได้สอนเด็กตาบอดพับกระดาษด้วย

origami06
งานพับ tessellation
origami07
หมวก tessellation ที่ใส่ไปทุกที่

สอนเด็กตาบอด

วันหนึ่งแม่เห็นคลิปของคนพิการแขนขาในเฟซบุ๊กพับกระดาษได้ด้วยการใช้ลิ้นเท่านั้น สร้างความประหลาดใจและประทับใจในความอุตสาหะ พยายาม

ความพิการไม่ใช่ข้อจำกัดที่บังคับให้ต้องเลิกทำ แม่จึงลองติดต่อขอทำกิจกรรมที่โรงเรียนสอนเด็กตาบอดที่ร้อยเอ็ด ซึ่งปรกติผมจะมาเลี้ยงอาหารกลางวันที่นี่ทุกปี จะมีทั้งเด็กตาบอดสนิทและสายตาเลือนราง

ตอนนั้นผมในวัย ๑๐ ขวบ กับการสอนคนตาบอดพับกระดาษครั้งแรก ผมเลือกสอนโมเดลหัวใจเนื่องจากทำได้ง่ายที่สุด

เริ่มต้นด้วยการอธิบายการแบ่งครึ่งกระดาษเพื่อสร้างรอยพับแรก และเก็บรายละเอียดทีละขั้นตอนต่อไปอย่างช้า ๆ พร้อม ๆ ไปกับการสัมผัสความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างกระดาษ

เวลา ๑ ชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว แทบทุกคนจะได้โมเดลรูปหัวใจฝีมือตนเอง

ผมปล่อยให้เขาทำตามเองบ้าง คอยจับมือบ้าง แต่ส่วนใหญ่ต้องจับมือทำ คนสอน ๑ คน ต่อ คนตาบอด ๒-๓ คนจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการเริ่มต้น

นอกจากการอธิบายขั้นตอนการพับให้ละเอียดอย่างใจเย็น หากทำให้เขาสนุกกับการพับกระดาษด้วยตนเองได้ จนในที่สุดสามารถส่งต่อความรู้ให้คนตาบอดด้วยกันต่อไปได้ นับเป็นความท้าทายที่ผมอยากสานต่อให้สำเร็จในสักวันหนึ่ง

origami08
รูปสอน
origami09
ที่งานบางมดเฟส สอนจนค่ำ

โควิด๑๙

ช่วงเวลาที่โควิด-๑๙ ระบาด ผมในวัย ๑๒ ปี ก็ยังคงสอนพับกระดาษต่อไปในอีกรูปแบบหนึ่ง คือการอัดคลิปสอนพับกระดาษและเผยแพร่ใน Youtube

ผมได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ หลายอย่าง ทั้งการตัดต่อคลิป การสร้างคอนเทนต์ แต่ผมก็ยังนึกถึงบรรยากาศการสอนพับกระดาษแบบได้พบหน้ากัน เป็นอีกความรู้สึกที่แตกต่างออกไป

นานเท่าไรแล้วนะที่ผมไม่ได้สอนพับกระดาษแบบพบหน้ากัน เมื่อได้ระลึกถึงช่วงเวลานั้น ก็เกิดความสุขใจ

นั่นอาจเป็นเพราะ “การให้” สร้างความสุขขึ้นมาในใจ ซึ่งไม่ว่าจะให้สิ่งของ ความรู้ ความสามารถ แรงกายแรงใจ ล้วนก่อเกิดความสุขในใจทั้งขณะทำและหลังจากทำ แม้จะผ่านไปนานเท่าไร เมื่อได้ระลึกถึงก็จะเหมือนได้น้ำทิพย์ชโลมใจเสมอ

หลังจากสถานการณ์โควิด-๑๙ เริ่มคลี่คลาย อี๊อิมบอกว่าจะจัดงานวันวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนพลอยจาตุรจินดา และชวนผมที่ตอนนี้อายุ ๑๓ ปี กว่าแล้วไปร่วมทำกิจกรรมสอนพับกระดาษด้วย โดยจะมีเด็กเข้าร่วมประมาณ ๑๒๐ คน แบบเวียนฐานกิจกรรม รอบละ ๑๕ นาที

วันกิจกรรม ผมเตรียมอุปกรณ์พับกระดาษ หนังสือพับกระดาษ และโมเดลบางส่วนไปให้น้อง ๆ ดูด้วย

เนื่องจากเวลาจำกัด ผมเลือกโมเดลหัวใจและปากจูจุ๊บมาสอน น้องๆ ทำตามได้ง่ายๆ อาจมีต้องช่วยเหลือบ้างในน้องเล็กมาก แต่แทบทุกคนก็จะมีโมเดลหัวใจ ซึ่งเป็นผลงานของตนเองกลับไปด้วย

ผมหวังว่าโมเดลง่าย ๆ ผลงานชิ้นแรกของน้อง ๆ ชิ้นนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้น้องเข้าสู่โลกโอริงามิ และส่งต่อแรงบันดาลใจนั้นให้คนอื่น พร้อม ๆ กันกับผม ต่อไปครับ

ส่งท้าย แต่คงจะไม่ท้ายสุด

โอริงามิไม่ได้จบเพียงแค่พับกระดาษแล้วได้โมเดลสักชิ้นขึ้นมาเท่านั้น

ไม่ว่าเราจะมีความรู้ในศาสตร์ไหนก็นำความมหัศจรรย์ของโอริงามิมาบูรณาการใช้ร่วมกันได้อย่างลงตัว

การเปลี่ยนรูปร่างของกระดาษในแต่ละขั้นตอนล้วนเป็นกระบวนการเรียนรู้ทั้งทางตรง ทางอ้อม

สุดท้ายโมเดลที่ได้เปรียบเสมือนรางวัลแด่คนเพียร พยายาม

สิ่งนี้เป็นความพิเศษของโอริงามิ “การพับกระดาษ ที่ให้มากกว่ากระดาษ”

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.