481editor

เราฟังดนตรีตอนไหนและแบบไหนกันบ้าง

ถ้าระหว่างนั่งทำงาน เช่นเขียนหรือบรรณาธิการต้นฉบับ ผมจะเปิดเพลงที่คุ้นเคยจากแผ่นซีดีหรือมิกซ์เพลงที่ยูทูบจัดให้ คลอบรรยากาศ หลายครั้งแทบจะไม่รู้ว่าฟังเพลงไหนอยู่ จนเสียงเพลงจบไปแล้วก็ยังไม่รู้ตัว ทำงานต่อจนความคิดจดจ่อกับงานหยุดชะงักด้วยเหตุใดๆ เช่น ต้องหยิบพจนานุกรมมาเปิดตรวจสอบคำ เมื่อนั้นถึงรู้ตัวว่าไม่มีเสียงเพลงแล้ว

โหมดฟังเพลงคุ้นเคยนี้เป็นเสมือนเครื่องจูนสมองให้เข้าสมาธิ ซึ่งถ้าไม่เปิดเพลง ความคิดก็จะว่อกแว่กง่าย

อีกโหมดของการฟังเพลงคือตอนขับรถ จัดเป็นช่วงที่ได้ฟังเพลงเต็มที่ เพราะระหว่างขับรถ ตามองถนน มือบังคับพวงมาลัย เท้าเหยียบคันเร่งหรือเบรกตามสัญชาตญาณแบบอัตโนมัติ เราสามารถฟังเพลงจากรายการวิทยุช่องโปรด หรือแผ่นซีดี (ถ้ารถคุณรุ่นเก่าพอ) ภายในรถที่ปิดทึบ อาจร้องหรือฮัมเพลงตาม โดยเปิดเพลงดังแค่ไหนก็ได้แบบไม่รู้สึกผิดว่าจะรบกวนคนอื่น

ถือเป็นช่วงฟังเพลงเพื่อความรื่นรมย์ ปล่อยใจไปกับเนื้อร้องและทำนองเพลง ผ่อนคลายจากการจราจรที่มักติดขัด

การฟังเพลงอีกโหมด คือเพื่อเรียนรู้ดนตรีหรือเพลงที่ไม่คุ้นเคย แบบนี้จะไม่ทำอย่างอื่นเลย เปิดเพลงและตั้งใจฟังทุกเสียงที่ได้ยิน เครื่องดนตรีแต่ละชิ้น คนร้อง ท่วงทำนอง ซึมซับกับสิ่งที่ดนตรีกำลังสื่อสาร เช่นการหัดฟังเพลงคลาสสิกที่บรรเลงโดยวงออร์เคสตรา ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ทั้งเครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องลมทองเหลือง เครื่องให้จังหวะต่างๆ

ความสนุกของการหัดฟัง คือการท้าทายว่าเราได้ยินเสียงอะไร แยกแยะออกไหมว่าเครื่องดนตรีไหนกำลังเล่นอยู่

ถ้าเราคุ้นเคยกับเพลงหรือดนตรีที่เป็นของใหม่แล้ว วันหลังก็อาจเปิดเพลงนั้นในโหมดขับรถได้อย่างรื่นรมย์ หรือโหมดทำงานแบบให้เพลงผ่านหูช่วยสร้างสมาธิ

ในรายการโทรทัศน์เมื่อต้นปีนี้ (ปี ๒๕๖๗) นิโคล คิดแมน นักแสดงฮอลลีวูดมากฝีมือ ให้สัมภาษณ์กับพิธีกรซึ่งถามว่า ถ้าให้เลือกเพลงเดียวที่ต้องฟังไปตลอดชีวิตหลังจากนี้ จะเลือกเพลงอะไร

เธอคิดอยู่สักพักและบอกว่า John Cage “4:33”

คำตอบนี้ทำให้ผู้ชมหลายคนงง เพราะไม่เคยได้ยินชื่อเพลง จนต้องตามไปเปิดหาดูในยูทูบ

จอห์น เคจ เป็นนักประพันธ์เพลงชาวอเมริกัน ซึ่งมีงานดนตรีแนวทดลองที่โดดเด่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ บทเพลง “4:33” ที่เขาแต่ง จัดแสดงครั้งแรกใน ค.ศ.๑๙๕๒ โดยนักเปียโน เดวิด ทิวเดอร์(David Tudor) เป็นเพลงคลาสสิกที่ประกอบด้วยสามท่อน ท่อนที่ ๑ ยาว ๓๐ วินาที ท่อนที่ ๒ ยาว ๒ นาที ๒๓ วิทนาที และท่อนที่ ๓ ยาว ๑ นาที ๔๐ วินาที รวมทั้งเพลงยาว ๔ นาที ๓๓ วินาที ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเพลง

เมื่อการแสดงเพลงจบก็เรียกเสียงฮือฮา พร้อมกับเกิดข้อถกเถียงมากมายถึงความหมายของเพลงและดนตรี เพราะตลอดการแสดงนั้น นักดนตรีไม่ได้วางนิ้วบนคีย์เปียโนเลย เพียงเปิดฝาและปิดฝาเปียโนตอนขึ้นต้นและจบเพลงแต่ละท่อน

ทุกอย่างมีเพียงความเงียบ และเสียงบรรยากาศอื่นๆ ที่ดังขึ้นเองในห้องแสดง

ผู้ฟังเพลงนี้บางคนเข้าถึงเสียงของความเงียบ บางคนอาจสนุกกับการฟังเสียงลมหายใจ เสียงกระแอมไอ เสียงคนขยับตัว ฯลฯ และบางคนก็ไม่อาจเข้าใจเพลงนี้ได้เลย

จอห์น เคจ บอกว่าดนตรีประกอบขึ้นจากเสียงและความเงียบ บทเพลงนี้เขาอุทิศให้กับคุณค่าของความเงียบและเสียงต่างๆ รอบตัวที่เรามักมองข้าม เพราะเรามักได้ยินแต่เสียงที่เราต้องการฟัง

อาจเพราะเราชอบหลบซ่อนชีวิตภายใต้ความอึกทึกครึกโครม ไม่กล้าเผชิญความรู้สึกลึกๆ ภายในที่มักผุดขึ้นมาในความเงียบ

และถ้าให้เลือกเพลงเดียวที่สามารถฟังไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ คุณจะเลือกเพลงอะไร

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี