เมื่อไทยฝันจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

ทุกครั้งเมื่อเข้าสู่บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลโลกจนกระทั่งปิดฉากลง บรรดานักการเมืองมักจะออกมาพูดโหนกระแส เรียกร้องให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในอนาคต

ฟุตบอลโลก 2010 ครั้งนี้ก็เช่นกัน ได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2018 หรือสองครั้งข้างหน้า ถัดจากประเทศบราซิลที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรอบสุดท้ายครั้งหน้าปี 2014

ว่าแล้วทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ประกาศว่าจะจับมือกับประเทศมาเลเซีย เสนอชื่อทั้งสองประเทศให้กับฟีฟ่า เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีกแปดปีข้างหน้า เลียนแบบประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกเมื่อแปดปีก่อน

หลักการของฟีฟ่านั้น ประเทศที่เป็นเจ้าภาพ จะต้องมีสนามฟุตบอลขนาดบรรจุคนได้อย่างต่ำ 50,000 ที่นั่ง จำนวน 12 สนาม ในสิบเมือง  ซึ่งหากทั้งสองประเทศมีความสามารถในการสร้างสนามตามมาตรฐานของฟีฟ่าได้สำเร็จ คือแบ่งกันไปสร้างคนละ 6 สนาม ก็ไม่ได้หมายความว่า อุปสรรคจะหมดไป

ในความเป็นจริงแล้ว การเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกนั้นดูเหมือนจะมีเงื่อนปมหลายอย่างที่ประเทศแถบนี้คงจัดได้ยาก ต่อให้มีเงินทองมากมายแค่ไหน

ประการแรก โดยปรกติฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะแข่งขันกันในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนเกินไป ไม่เหมาะกับนักกีฬาจากทั่วโลกที่จะเดินทางมาแข่งขัน

ถามว่าหากเลื่อนเวลาการจัดฟุตบอลโลกมาประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ที่มีอากาศเย็นสบายขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ยากมาก เพราะอย่างไรก็ตาม การแข่งขันฟุตบอลโลกจะต้องอยู่ในช่วงเวลาเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมเท่านั้น เพราะเป็นช่วงหลังการแข่งขันฟุตบอลสโมสรในประเทศทางยุโรปได้สิ้นสุดลง และช่วงปลายปีฤดูกาลแข่งขันฟุตบอลสโมสรของประเทศต่าง ๆได้เริ่มขึ้นแล้ว จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

ประการที่สอง  หากการแข่งขันเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ก็ต้องเริ่มเตะฟุตบอลในช่วงเวลาประมาณตีหนึ่ง  อันเป็นเวลามาตรฐานของฟีฟ่า เพื่อให้ประเทศทางยุโรปได้ดูถ่ายทอดสดกันในช่วงเย็น  หากเตะกันหลังเที่ยงคืน เราสามารถขายตั๋วฟุตบอลได้คุ้มการลงทุนจริงหรือไม่ คอแฟนฟุตบอลชาวไทยจะแห่กันมาเต็มสนาม ในราคาตั๋วไม่ต่ำกว่าเลขสี่หลักหรือไม่

ประการที่สาม ฟีฟ่าได้รับบทเรียนจากการเป็นเจ้าภาพร่วมสองประเทศแล้วว่ามีปัญหามาก สร้างความปวดหัวให้กับฟีฟ่าที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินปัญหาจริง ๆ  คือทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกก็พยายามให้ประเทศตัวเองได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่า ตั้งแต่การตกลงเลือกสนามในนัดฟุตบอลสำคัญ อาทินัดเปิดหรือนัดปิดสนาม การเลือกคู่แข่งขันลงแข่งในประเทศของตนภายหลังการจับฉลากแล้ว  เพราะมีผลต่อการดึงดูดแฟนฟุตบอลซื้อตั๋ว รับรองว่าต่างฝ่ายก็อยากจะให้ทีมที่เป็นแม่เหล็กมาเตะในสนามบ้านตัวเองมากกว่า

หากประเทศไทยและมาเลเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกจริง ๆ  แฟนฟุตบอลทั้งสองประเทศ คงอยากเห็นคู่อังกฤษเตะกับบราซิล มากกว่าคู่ชิลีเตะกับกาน่ามาเตะในสนามบ้านตัวเอง

มองย้อนกลับมาสำหรับบ้านเรา ความฝันที่จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แทบจะปิดประตูทิ้งไปได้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราไม่มีปัญญาหาเงินมาสร้างสนามกีฬา 6 แห่ง ไม่รวมระบบการจราจร ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งคงใช้เงินหลายแสนล้านบาท คงอยู่ในวิสัยที่พอจะหาเงินได้

แต่เพราะไม่มีใครเชื่อนักการเมืองลมปากบ้านเราว่าจะทำได้จริง

ประเทศจีนที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์ มีความพร้อมมากกว่าไทยหลายเท่า มีสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานหลายแห่ง และสนใจจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทางการจีนศึกษาชัดเจนแล้วว่า ยังไม่พร้อมขอโอกาสเตรียมตัวว่าจะเป็นเจ้าภาพในปี 2026 หรืออีก 16 ปี เพื่อเตรียมตัวให้ชัดเจน

ขณะที่นักการเมืองบ้านเราไม่ต้องรับผิดชอบคำพูดใด ๆ ไม่ต้องมีวิสัยทัศน์ลึกซึ้ง ไม่เคยทำการบ้านหรือศึกษาความเป็นไปได้ใด ๆ นึกอยากจะสร้างข่าวโหนกระแสฟุตบอลโลก ก็ประกาศออกมาว่า อีก 8 ปี บ้านเรามีความสามารถจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกได้ทันที ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีอะไรเลย

พูดไปให้ประเทศเพื่อนบ้านหัวเราะ ขำ ๆ  กันอีกแล้ว

กรุงเทพธุรกิจ 22 กค. 53

Comments

  1. Pingback: Tweets that mention เมื่อไทยฝันจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก | -- Topsy.com

  2. ป๋อง โป๊ยเซียน

    เคยสงสัยทุกครั้งที่มีฟุตบอลโลกว่าทำไมไม่มีประเทศจีนเข้ารอบสุดท้าย
    ทั้งๆที่การคัดเลือกนักฟุตบอลเยี่ยมๆ รูปร่างใหญ่ๆ จากจำนวนประชากรขนาดนั้นไม่น่าจะยาก หรืออาจเป็นเพราะฟุตบอลไม่เป็นที่นิยม
    อินเดียก็มีประชากรมากเช่นกันแต่คนอินเดียนิยมกีฬา Cricket มากกว่า จึงไม่แปลกใจว่าทำไมไม่มีทีมฟุตบอลเข้ารอบสุดท้าย
    แต่ถ้าจีนประกาศตัวขนาดนี้ก็น่าจะเชื่อขนมเปี๊ยะกินได้เลยว่าต้องมีทีมฟุตบอลดีๆจากจีนให้ได้ชมเป็นขวัญตาในอีก 16 ปี ข้างหน้าแน่ๆเลยครับ

  3. somwut

    ขอบคุณครับ ที่ทำให้เข้าใจและเห็นแง่มุมของความเป็นไปไม่ได้ อย่างชัดเจน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.