Click here to visit the Website

กลับไปหน้า สารบัญ มหาวิทยาลัยนอกระบบ สนันสนุน หรือ คัดค้าน
คั ด ค้ า น

ดร. ใจ อึ๊งภากรณ์
ดร. ใจ อึ๊งภากรณ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ประเด็นหลัก ของการออกนอกระบบ คือ การนำระบบตลาด เข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัย ต่อไปมหาวิทยาลัย จะใกล้ชิดกับธุรกิจ และกลไกการตลาดมากขึ้น คนที่เสียประโยชน์ คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่มีอำนาจเงิน

  • สาเหตุหลักที่เปลี่ยน เพราะต้องการลดภาระของรัฐบาล ในด้านงบประมาณ ไม่ใช่ปัญหาความคล่องตัว ความไม่คล่องตัว ในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย แก้ไขได้ โดยไม่ต้องออกนอกระบบ

  • จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพ ทางวิชาการอย่างแน่นอน เพราะอิทธิพลของอำนาจเงิน จะเข้ามาควบคุม

  • เมื่อค่าหน่วยกิต ค่าเล่าเรียนแพงขึ้น สิทธิและ โอกาสของประชาชน ที่จะเข้าศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจ เช่นไร ก็จะหมดไป

    "เรื่องการออกนอกระบบ ประเด็นหลักคือ การนำกลไกตลาด เข้ามาสู่ระบบมหาวิทยาลัย เหมือนการนำกลไกตลาด เข้าสู่ระบบสาธารณูปโภค หรือโรงพยาบาล ผมคิดว่าสาเหตุหลัก ที่เขาอยากจะเปลี่ยน ก็เพื่อลดภาระ ของรัฐบาล ในด้านงบประมาณ ทางธนาคาร พัฒนาเอเชียเอง ก็แนะนำว่า ควรจะมีการลดภาระ ของรัฐบาล องค์กร ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเข้าไปในประเทศไหน เขาก็มักจะเสนอว่า รัฐบาลควรจะลดงบประมาณ เกี่ยวกับการบริการ ประชาชนลง เช่นเรื่องการศึกษา สาธารณสุข ทั้ง ๆ ที่ปัญหาหลัก ของระบบการศึกษา บ้านเราทุกวันนี้ คือ การที่มีงบประมาณ น้อยเกินไป อย่างเช่น ในห้องสมุด ถ้าเราต้องการพัฒนา คุณภาพการศึกษา พัฒนานักวิชาการ ในประเทศไทย นักวิชาการไทย ก็จะต้องอ่านวารสารสากล วารสารต่างประเทศ   แต่พอเราเสนอว่า ควรจะรับวารสารเหล่านี้ ก็เจอปัญหา ไม่มีงบประมาณ หรืออย่าง การลดตำแหน่งอาจารย์ลง ก็ทำให้อาจารย์ มีภาระมากขึ้น จำนวนนักศึกษา ต่อห้องเรียนมากขึ้น ห้องหนึ่งนั่งกัน ๓๐๐ คน ไม่มีโอกาสซักถาม   แบบนี้จะเกิดประสิทธิภาพ ในการเรียนได้อย่างไร เป้าหมาย กับวิธีการ มันสวนทางกัน แต่ว่านักการเมือง ไม่ชอบพูดแบบนี้   เพราะถ้าพูดตรง ๆ ว่าทำเพื่อลดภาระ ของรัฐบาล มันก็ค่อนข้างน่าเกลียด ก็เลยเอาเรื่องการบริหาร ที่คล่องตัว ขึ้นมาเป็นไม้ประดับ จริง ๆ แล้ว มันไม่เกี่ยวกันเลย
    "ความไม่คล่องตัว เป็นปัญหาก็จริง แต่ตรงนี้สามารถแก้ได้ โดยไม่ต้องออกนอกระบบ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อก่อนไม่ค่อยคล่องตัว แต่ตอนนี้ เขาก็พยายาม ที่จะทำให้ทุกอย่างคล่องตัวขึ้น การเปลี่ยนวิธีการบริหาร ก็น่าจะทำได้ นักบริหารที่มีฝีมือ ก็น่าจะทำได้ แต่เขาอ้างว่า ทำไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนให้คล่องตัวได้ ต้องเอาเงินมาล่อ   ต้องเอากลไกตลาดเข้ามาใช้   ซึ่งผมว่า ถ้าพูดแบบนี้ ก็เหมือนกับยอมแพ้ สารภาพว่า ตัวเองไม่มีความสามารถ ในการบริหาร
    "ข้อเสียของการออกนอกระบบ คือ การศึกษา การเรียนการสอน จะขึ้นอยู่กับกลไกทางตลาดมากขึ้น   เช่น วิชาที่สอน ก็คงจะขึ้นอยู่กับ ความต้องการของตลาด ซึ่งเป็น ความต้องการเฉพาะด้าน บางวิชา อาจจะมีคนลงเรียนน้อย เพราะคิดว่า ถึงเรียนไป ก็อาจไม่เป็นประโยชน์อะไร กับการงานภายหน้า   แม้ว่าพื้นฐานตัววิชา จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ตาม เมื่อเราวัดคุณค่ากันด้วยเงินแล้ว วิชาซึ่งไม่ก่อให้เกิดกำไรแบบนี้ ก็อาจจะถูกปิด แล้วไปเน้นเรื่องธุรกิจ หรือเรื่องอื่น ๆ ที่หารายได้ เข้าสถาบันได้มาก ๆ แทน ซึ่งก็เห็นตัวอย่างมาแล้ว ในต่างประเทศ เรื่องการวิจัยก็เหมือนกัน ถ้าเราต้องไปขอทุนวิจัย จากบริษัทต่าง ๆ เขาก็จะควบคุมการวิจัย อย่างน้อย ก็คงจะไม่ให้ทุนวิจัย ในสิ่งที่จะไปขัดผลประโยชน์ของเขา ส่วนอาจารย์ ที่มีความเห็นไม่เหมือนกับผู้บริหาร การประเมินการทำงาน และการต่ออายุสัญญา ก็จะกลายเป็นเรื่องของการเมืองไป ฉะนั้นก็จะกระทบถึง เสรีภาพทางวิชาการ เพราะอำนาจของเงิน ในกลไกตลาด จะเข้ามาครอบงำทั้งหมด
    "นอกจากนี้สิทธิ และโอกาสของประชาชน ที่จะเข้าศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร ก็จะหมดไป เพราะถ้ารัฐบาล ลดเงินอุดหนุนมหาวิทยาลัย ค่าหน่วยกิตก็จะแพงขึ้น   ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เราน่าจะมองไปในทิศทางที่ จะทำให้นักศึกษา สามารถเรียนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิต หากค่าหน่วยกิตแพงขึ้น ต่อไปก็จะเกิดระบบสามชั้น คือ คนที่ยากจนที่สุด ก็จะไม่มีโอกาส ที่จะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยเลย คนที่พอมีเงินเล็กน้อย แต่ยังยากจน ก็อาจจะต้องเข้ามหาวิทยาลัย ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ส่วนคนมีเงิน ก็เข้ามหาวิทยาลัย ที่มีคุณภาพดี
    "ที่บอกว่า จะมีเงินกู้ยืม เพื่อการศึกษา และทุนการศึกษา มารองรับตรงนี้ ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะกู้แล้ว ก็ต้องจ่าย และความจริง ตอนนี้ก็กำลังประสบภาวะวิกฤตอยู่ คือนักศึกษา ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้ เพราะว่าเขาไม่มีเงินจริง ๆ ถ้ารัฐบาลต้องการ จะพัฒนา ระดับการศึกษา ของพลเมือง ก็ต้องทุ่มเททรัพยากร จากรัฐให้มากขึ้น ไม่ใช่ลดน้อยลง ไม่เช่นนั้น การศึกษาก็จะกลายเป็น เรื่องของคนส่วนน้อยไป คนส่วนใหญ่ จะไม่มีโอกาส
    "มหาวิทยาลัยเอง เมื่อออกนอกระบบ ก็คงจะใกล้ชิด กับธุรกิจมากขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่มีพลัง ทางการเงิน คนส่วนใหญ่ของสังคม ที่ไม่มีอำนาจเงิน ก็จะถูกกันให้ห่างออกไป ในอนาคตบริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับมหาวิทยาลัยมากขึ้น อาจจะมีนักธุรกิจ เข้ามาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วย สิ่งที่จะสร้างให้นักศึกษา เกิดจิตสำนึกว่า ตัวเองต้องกลับไปทำประโยชน์ หรือตอบแทนสังคม ก็คงไม่มีแล้ว มหาวิทยาลัย อาจจะไม่ใช่ขุมปัญญา ของประชาชนอีกต่อไป
    "หากเป็นระบบเดิม อย่างน้อย ก็ไม่ต้องเอาความคับแคบ หรือการมองปัญหาระยะสั้น เข้ามากำหนด วิชาการที่สอน การวิจัย งานวิชาการ ก็จะมีอิสระมากพอสมควร ปัญหาที่มีอยู่ก็ต้องแก้   แต่แก้ในเรื่องกลไกของมัน ไม่ใช่ไปแก้ โดยการออกนอกระบบ เพราะพอออกนอกระบบ ก็ต้องถามว่า ใครจะควบคุมมหาวิทยาลัย ความโปร่งใส จะเกิดขึ้นอย่างไร จะมีกลไกใด ของประชาธิปไตย ที่จะเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัย ผมคิดว่าคงไม่มี
    "คนที่ได้ประโยชน์จากการออกนอกระบบ คือคนมีเงิน เพราะถ้ารัฐบาล สามารถลดภาระของตน ในเรื่องงบประมาณลง ก็จะไม่มีแรงกดดัน ให้เก็บภาษีจากคนรวย นักธุรกิจ ก็อาจจะได้ประโยชน์ เพราะว่าต่อไป ธุรกิจคงจะมีอิทธิพล ต่อมหาวิทยาลัยมากขึ้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอง ก็จะมีอำนาจมากขึ้น อาจขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง อย่างที่เขาทำกัน ในอังกฤษก็ได้ คนที่ได้ประโยชน์ จึงเป็นคนส่วนน้อยของสังคม ขณะที่คนส่วนใหญ่ จะเสียประโยชน์ โดยเฉพาะคนยากจน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ที่ไม่ค่อยมีเงิน โอกาสที่เขา จะได้เข้ามาเรียน ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ก็จะลดน้อยลง พนักงานที่ไม่ใช่อาจารย์ เช่น คนทำความสะอาด หรือพนักงานระดับล่าง ที่ทำงานประเภทนี้  แนวโน้มคือ เขาก็จะถูกปลดออกหมดเลย เพราะอีกหน่อย การรับเหมาช่วง จะเข้ามามีบทบาท ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น บริษัทที่รับเหมา จัดการเรื่องแบบนี้โดยเฉพาะ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนที่เดือดร้อน ก็คือพนักงานคนเล็ก ๆ ซึ่งไม่มีหลักประกันอะไรเลย
    "ฝ่ายที่ต้องการจะออกนอกระบบ พยายามโจมตีว่า คนที่ไม่ต้องการออกนอกระบบ เป็นคนเห็นแก่ตัว แต่ผมมองว่า การที่เราต้องการความมั่นคง ในการทำงาน เพื่อที่จะเลี้ยงชีพตัวเอง และครอบครัว ไม่ใช่เรื่องการเห็นแก่ตัว แต่เป็นสิทธิพื้นฐาน เราไม่ควรละอายใจ ที่จะปกป้องผลประโยชน์ตรงนี้ เพราะเราไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ ที่จะเป็นมหาเศรษฐี เพียงแต่เราอยากรู้ว่า วันนี้เราทำงาน พรุ่งนี้เราจะมีงานทำไหม พรุ่งนี้เราป่วย เราจะมีสวัสดิการ ด้านการรักษาพยาบาลไหม ไม่ใช่เรียกร้อง ให้มีรถเบนซ์ หรืออะไร   และการที่ข้าราชการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย กับการออกนอกระบบ ทั้ง ๆ ที่มีการล่อด้วยเงิน คือให้เงินเดือนสูงขึ้น   แต่เขาก็ยังไม่เห็นด้วย   แสดงว่าเขาไม่ได้เห็นแก่ตัว ไม่ได้ถือเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก
    "โจทย์ที่สังคมควรต้องขบคิดให้มาก ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก็คือ การศึกษา ควรจะขึ้นอยู่กับ อำนาจเงินหรือไม่   ควรจะขึ้นอยู่กับ กลไกตลาดหรือไม่   นี่เป็นโจทย์เดียวกับ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค อย่างไฟฟ้า น้ำ หรือการรักษาพยาบาล ซึ่งจะต้องมาพิจารณากันว่า ควรจะขึ้นอยู่กับกลไกตลาดหรือไม่ ถ้าเราสรุปบทเรียน จากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาว่า กลไกทางตลาด มีส่วนสำคัญในสร้างวิกฤต ก็ต้องถามว่า ในเมื่อเมืองไทย เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตลาดเสรีมาแล้ว ทำไมนักการเมือง ยังจะลากเรา ไปสู่กลไกการตลาดมากขึ้น
    "สิ่งที่ผมคัดค้าน คือเรื่องหลักการทั้งหมด ผมไม่เห็นด้วย กับหลักการ ที่จะเอากลไกการตลาดเข้ามา ไม่ใช่เรื่องวิธีการ ไม่ใช่เรื่องว่า พร้อมหรือไม่พร้อม คือ เวลาคุยเรื่องนี้รัฐบาล หรือผู้บริหาร มักจะนำประเด็นเหล่านี้ มาเป็นประเด็นหลัก ว่าเราเห็นชอบ กับวิธีการหรือไม่ พร้อมหรือไม่พร้อม เหมือนกับการออกนอกระบบครั้งนี้ นำกลไกตลาดเข้ามา เป็นเรื่องตายตัว เป็นกฎธรรมชาติ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยม ในการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อไม่ให้มีการถก ถึงข้อดีข้อเสีย ของกลไกตลาด ฝ่ายที่ต้องการออกนอกระบบ ก็ไม่ต้องการพูดถึงเรื่องนี้
    "ผมมองว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่ง ควรจะเข้ามาอยู่ภายใต้ ระบบรัฐ โดยที่รัฐบาล ควรจะเพิ่ม งบประมาณทางการศึกษา ควรที่จะตั้งเป้าหมายให้การศึกษา ในทุกระดับฟรี เป็นการเปิดโอกาส ให้ประชาชนทุกคน ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา เพื่อพัฒนาระดับการศึกษา ของประชาชนทุกคน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ กับสังคมเราโดยรวม   แต่ว่านโยบายที่กำลังทำอยู่ กลับถอยหลัง"

  รศ. ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์
รศ. ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*

 

 

สนับสนุน หรือ คัดค้าน มหาวิทยาลัยนอกระบบ
นกปรอดหัวโขน   เสียงขับขาน จากกรงเลี้ยง

เมื่อวิทยานิพนธ์ ถูกบังคับ ให้เขียน เป็นภาษาอังกฤษ

สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ห้องสมุดโพล | ความฝันปี 2000
เชิญดอกไม้ "ทองอุไร" | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา
The Return of the "Pedal Machine"
Studying Woodpecker Nest Holes

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail