Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ ส า ร ค ดี พิ เ ศ ษ
นักรบชายขอบ
การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยชายแดนไทย-พม่า (ต่อ)

เรื่อง : วันดี สันติวุฒิเมธี
ภาพ : เทียรี ฟาลีส์

(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่) นักรบกะเหรี่ยงแดง

    ในบรรดาชนกลุ่มน้อยชายขอบไทย - พม่า ชาวคะเรนนีหรือชาวกะเหรี่ยงแดง จัดเป็นกลุ่มชน ที่คนไทยรู้จักน้อยที่สุด ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร ์ - รัฐคะเรนนี อยู่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน เหตุผลทางวัฒนธรรม - ประชากรในรัฐคะเรนนีส่วนใหญ่ เป็นชาวเขาต่างเผ่า กับชาวเขาในประเทศไทย เหตุผลทางเศรษฐกิจ - รัฐคะเรนนีไม่มีตลาดการค้าชายแดน หรือสะพานมิตรภาพ เชื่อมสองฝั่งประเทศเป็นหนึ่งเดียว เช่นสะพานมิตรภาพไทย - พม่าเชื่อมอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมืองเมวดีในเขตรัฐกะเหรี่ยง หรือสะพานการค้า เชื่อมอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กับอำเภอท่าขี้เหล็กในเขตรัฐฉาน สิ่งเชื่อมต่อผืนแผ่นดิน ระหว่างคะเรนนีและแม่ฮ่องสอน มีเพียงภูเขาและสายน้ำ แม้ว่าแผ่นดินคะเรนนี จะถูกรัฐบาลพม่ารุกราน จนลุกเป็นไฟมายาวนานกว่า ๕๐ ปี และชาวคะเรนนีหนีตายมาอยู่ในค่ายผู้อพยพ ชายแดนไทยนานนับสิบปีมาแล้ว คนไทย -- เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับพวกเขาที่สุด กลับรับรู้เรื่องราวของพวกเขาน้อยเต็มที
    รัฐคะเรนนีอยู่ถัดจากรัฐฉานลงมาทางด้านใต้ ก่อนถึงรัฐกะเหรี่ยง จัดเป็นรัฐขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับรัฐชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ (พื้นที่ทั้งหมด ๑๑,๗๓๐ ตารางกิโลเมตร) ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสี่กลุ่ม คือ คะยาห์ กะยอ กะยาง (กะเหรี่ยงคอยาว) และปะกู กลุ่มที่มีมากที่สุดคือ คะยาห์ (บางครั้งรัฐคะเรนนี จึงถูกเรียกว่ารัฐคะยาห์ แต่คนคะเรนนีนิยมเรียกว่า รัฐคะเรนนีมากกว่า เพราะมีความหมายครอบคลุมถึง กลุ่มชาติพันธุ์อื่นด้วย) คนไทยมักเรียกชาวคะเรนนีว่า กะเหรี่ยงแดง
    แผ่นดินคะเรนนี อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีมูลค่ามหาศาล เฉพาะแร่ธาตุก็มีไม่น้อยกว่า ๑๐ ชนิด อาทิ ทองคำ ทองคำขาว เหล็ก ตะกั่ว พลอย ดีบุก วูลแฟรม และก๊าซธรรมชาติ ส่วนไม้สักยิ่งไม่ต้องพูดถึง เฉพาะไม้สักดำ ซึ่งเป็นไม้สักหายาก ก็มีมูลค่าไม่รู้เท่าไร ด้วยทรัพยากรมากมายดังที่กล่าวมา รัฐบาลพม่าจึงปรารถนา ที่จะครอบครองแผ่นดินคะเรนนี ที่ผ่านมา เพิ่งครอบครองได้แค่ โรงไฟฟ้าหนึ่งโรง กับเหมืองทังสเตนหนึ่งแห่งเท่านั้น แต่ชาวคะเรนนี ก็ไม่ยอมให้ศัตรู เข้ามายึดแผ่นดินเกิดง่าย ๆ กองทัพคะเรนนีต่อสู้อย่างเข้มแข็ง มาตลอดเวลากว่า ๕๐ ปี และจนถึงวันนี้ รัฐบาลพม่า ก็ยังไม่ได้ครอบครองทรัพยากร บนแผ่นดินผืนนี้อย่างที่ใจต้องการ

(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     หลังจากพม่าได้รับเอกราช จากอังกฤษในปี ๒๔๙๑ รัฐคะเรนนีถูกผนวก เป็นส่วนหนึ่งของพม่าทันที ก่อนหน้านี้ชาวคะเรนนี ไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของใคร แม้ในช่วงที่อังกฤษปกครองประเทศพม่า รัฐคะเรนนีก็ได้ทำข้อตกลงพิเศษ กับรัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลพม่าในปี ๒๔๑๘ ให้ยอมรับอิสรภาพของรัฐคะเรนนี โดยคะเรนนียอมเปิดเส้นทางคมนาคม และเส้นทางการค้าสู่ประเทศจีน เป็นข้อแลกเปลี่ยน ชาวคะเรนนีจึงถือว่า ตนไม่เคยตกอยู่ ภายใต้การปกครองของใคร เมื่อรัฐบาลพม่า ต้องการปกครองรัฐคะเรนนี โดยส่งกองกำลังทหารเข้ามายึดครอง และเข่นฆ่าชาวคะเรนนี ชาวคะเรนนี จึงลุกขึ้นจับปืนสู้กับรัฐบาลพม่า ตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ มาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี หรือ KNPP (Karenni National Progressive Party) นับเป็นตัวแทนทางการเมืองของชาวคะเรนนี ที่มีเอกภาพ และต่อสู้มายาวนานที่สุด ในบรรดาชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า
    กองทัพพม่าเริ่มบุกรัฐคะเรนนีตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ จนกระทั่งปี ๒๕๐๕ กองทัพพม่าส่งกองทัพบุกยึดรัฐคะเรนนี จนเกือบครบทุกหัวเมือง ฝ่ายกองกำลัง KNPP จึงใช้วิธีรบแบบกองโจร แอบซุ่มโจมตีในป่า แทนการตั้งฐานทัพในเมือง และเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ไม่ตั้งฐานทัพอยู่ที่ใดที่หนึ่ง
    ชายหนุ่มจากหมู่บ้านทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ของรัฐคะเรนนี เล่าสถานการณ์ในหมู่บ้านของตนว่า
    "ทหารพม่าบุกเข้ามาที่หมู่บ้านของผม ตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ หลังจากรัฐบาลยึดพื้นที่ได้ ก็จัดตั้งกองกำลังทหารในหมู่บ้าน เป็นหน่วยทหารพิเศษ สำหรับปราบปราม กองกำลังทหารกะเหรี่ยง ช่วงแรก ๆ ฐานปฏิบัติการทหารพม่า ในรัฐคะเรนนีมีเพียงห้าฐานเท่านั้น ทหารคะเรนนีควบคุมพื้นที่ได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำพอน จนถึงชายแดนไทย แต่หลังจากปี ๒๕๓๐ ทหารพม่าก็บุกเข้ามามากขึ้น จนทุกวันนี้ มีไม่น้อยกว่า ๒๐ ฐาน"
 
    เรื่องราวการสังหารโหด ที่น่าจะปรากฏอยู่ในนิยายฆาตกรรม กลับปรากฏให้เห็นจนชินตา ในหมู่บ้านชาวคะเรนนี การปล้น ฆ่า ข่มขืนแบบ "ไม่ธรรมดา" เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เด็กหญิงวัย ๑๒ ถูกทหารทั้งกองร้อย ข่มขืนจนตาย ต่อหน้าแม่ของเธอ หรือการฆ่าเด็กสามขวบ ด้วยการจับเด็ก ยัดลงในครกกระเดื่อง ตามด้วยการ "ตำเด็ก" จนเละ เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความจริง ที่ปรากฏผ่านสายตาชาวคะเรนนี นับตั้งแต่ทหารพม่า บุกเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ชายหนุ่มคะเรนนีจำนวนมาก จึงพากันสมัครเข้าเป็นทหาร ใน KNPP ทำการสู้รบเพื่อปกป้องแผ่นดินตนเอง
    นับตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ รัฐบาลพม่าพยายามกดดันกองทัพ KNPP เช่นเดียวกับกองทัพชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ โดยยุทธวิธีตัดสี่ คือ อาหาร วัสดุ ฝ่ายการข่าว และกองกำลัง ทหารพม่าเผาเสบียง ในยุ้งฉางของชาวบ้าน ให้เหลือน้อยที่สุด จนมั่นใจว่าไม่เหลือเสบียง ส่งให้ทหารที่ซ่อนตัวในป่าแน่ ๆ รวมทั้งสังหารทุกครอบครัว ที่มีลูกชายเป็นทหาร หรือเป็นสายลับให้ KNPP
    ชายหนุ่มวัย ๒๒ ปีจากรัฐคะเรนนี เล่าเหตุการณ์ เมื่อครั้งทหารพม่า ฆ่าคนที่เขา "ได้ข่าว" ว่าเป็นสายลับให้ฟังว่า
    "ตอนนั้นผมอยู่ ป. ๖ มีทหารพม่าเข้ามาในหมู่บ้าน ถามว่าเจอทหารคะเรนนีบ้างหรือเปล่า แล้วทหารพม่าก็สั่งห้าม ออกนอกหมู่บ้านตอนกลางคืน คืนนั้นทหารพม่า เข้ามาจับชาวบ้านสามคน บอกว่าสองคนเป็นสายลับทหารคะเรนนี อีกคนเป็นคนส่งอาหารให้ทหารคะเรนนี แล้วทหารพม่า ก็เอาคนทั้งหมดไปสอบสวน เอาเชือกมัดมือไพล่หลัง แล้วก็เอาตัวใส่กระสอบ คนแรกโดนซ้อมจนตายในกระสอบ อีกสองคนยังไม่ตาย เขาเอาไปผูกไว้กับเสา ในสนามฟุตบอล ช่วงนั้นตรงกับงานประเพณี ของคะเรนนีพอดี ทหารพม่าสั่งให้ชาวบ้าน ไปเต้นรำข้างหน้าคนสองคนนี้ และสั่งให้ทุกคนในหมู่บ้าน ไปยืนดูตอนเที่ยงวัน หลังจากนั้นทหารพม่า ก็นำคนหนึ่งใส่กระสอบแล้วฆ่า อีกคนพยายามจะหนีเลยถูกทหารพม่ายิงตายŽ
    หลังจากใช้ยุทธวิธีตัดสี่ไม่สำเร็จ กองกำลัง KNPP ยังคงสู้รบกับทหารพม่าอย่างเข้มแข็ง และพม่าไม่สามารถช่วงชิงทรัพยากร บนแผ่นดินคะเรนนีได้ดังหวัง ในปี ๒๕๑๙ รัฐบาลพม่า จึงปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด ด้วยการอพยพผู้คน ออกจากหมู่บ้านในชนบท ที่อยู่ใกล้กองกำลังคะเรนนีในป่า เข้าสู่พื้นที่ควบคุมในเมือง (เช่นเดียวกับการอพยพชาวบ้าน ทางตอนกลางของรัฐฉานในปี ๒๕๓๙) และทำการอพยพในพื้นที่อื่น เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อทราบว่าพื้นที่นั้น มีกองกองกำลังคะเรนนี แต่จนแล้วจนรอด รัฐบาลพม่าก็ไม่สามารถปราบ กองกำลังคะเรนนีให้ราบคาบได้ ความหวังเรื่องเหมืองแร่ และสัมปทานป่าไม้บนแผ่นดินผืนนี้ จึงยังคงเป็นหมัน
(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     ในที่สุดรัฐบาลพม่าจึงหันมาใช้ไม้อ่อนดูบ้าง โดยยื่นข้อเสนอเจรจาหยุดยิงกับ KNPP ในเดือนมีนาคม ๒๕๓๘ ยอมให้ชาวคะเรนนี ทำมาหากินได้ตามปรกติ รวมทั้งหาผลประโยชน์ จากผืนดินคะเรนนีได้ โดยรัฐบาลพม่าขอมีส่วนแบ่ง ในทรัพยากรของชาวคะเรนนีบ้าง แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งสองฝ่ายก็มีอันต้องกลับมายิงกันอีกครั้ง   หลังจากเซ็นสัญญาหยุดยิง แค่เพียง ๓ เดือนเท่านั้น !
    พรพิมล ตรีโชติ กล่าวถึงการกลับมาสู้รบกันใหม่ หลังควันปืนยังไม่จางหายว่า
    "สาเหตุของการสู้รบอีกครั้ง เป็นเพราะข้อตกลง ในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างผู้นำกองกำลัง KNPP กับรัฐบาลทหารพม่าไม่ลงตัว ด้วยในเงื่อนไขหนึ่ง ของการเจรจาหยุดยิง คือ รัฐบาลทหารพม่าอนุญาตให้ KNPP จัดการเรื่องไม้ ในเขตของตนได้ ฝ่าย KNPP จึงได้ขายสัมปทานการตัดไม้ ให้แก่บริษัทของไทย ในขณะที่รัฐบาล ได้ตกลงขายสัมปทาน ให้แก่บริษัทของสิงคโปร์   เมื่อตกลงกันไม่ได้ กองทัพพม่า จึงส่งทหารเข้าประชิดฐานที่มั่นของ KNPP ทันทีŽ
    หนึ่งปีต่อมา รัฐบาลพม่าสั่งอพยพหมู่บ้านอีกครั้ง ชาวคะเรนนีไม่น้อยกว่า ๒ หมื่นคนกลายเป็นคนไร้บ้าน หลายคนอดตายอยู่ในค่ายอพยพ เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากค่าย   แม้ว่านักบวชจากโบสถ์ ในเมืองลอยกอว์ เมืองหลวงของรัฐคะเรนนี จะพยายามติดต่อ ขอบริจาคอาหาร และผ้าห่ม แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต จากทหารพม่า คนแก่ และเด็กจำนวนมาก เสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ คนที่ทนอยู่ในค่ายไม่ได้ ก็แอบหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า เพราะอย่างน้อย ก็ยังหาอาหารประทังความหิวได้ โดยจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ประมาณสองสามครอบครัว เคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าอยู่ที่ใดนาน ๆ ทหารพม่าจะเห็น รอยทางเดิน หากถูกจับได้ ทุกคนจะถูกยิงทิ้งทันที
    รัฐบาลพม่าดำเนินนโยบายล้างเผ่าพันธุ์ ชาวคะเรนนีทุกรูปแบบ เมื่อปราบกองกำลังทหารไม่ได้ ก็หันมาปราบประชาชนตาดำ ๆ ด้วย "อภิมหาโครงการฆ่าล้างเผ่า" ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งโสเภณี ที่ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งถูกขังอยู่ในคุกพม่า เข้าไปขายบริการ ในรัฐคะเรนนี เพื่อแพร่เชื้อเอดส์ สู่หนุ่มคะเรนนี และให้หนุ่มคะเรนนี ส่งเชื้อโรคร้ายต่อไปยังหญิงสาว (ข้อมูลจากอดีตนายทหาร spdc หรือสลอร์กเดิม ผู้เปลี่ยนใจมาเข้าร่วมกับชาวคะเรนนี) หรือโครงการกลืนกลายชาติพันธุ์ ด้วยการสั่งให้ทหารพม่า แต่งงานกับหญิงท้องถิ่น ผู้หญิงหลายคน ถูกบังคับให้แต่งงานกับทหารพม่า ที่เธอเกลียดชังมากที่สุด วิธีนี้ถูกใช้อย่างเป็นระบบ และขยายไปทั่วแผ่นดินคะเรนนี
    นับตั้งแต่การละเมิดสัญญาหยุดยิงปี ๒๕๓๘ ผู้นำพรรค KNPP พยายามติดต่อเจรจาหยุดยิง กับทหารพม่าหลายครั้ง แต่การเจรจาก็ไม่เคยสำเร็จ เดวิด ซอวา ผู้นำชาวคะเรนนี ในค่ายผู้อพยพกล่าวถึง ปัญหาในการเจรจายุติสงครามกลางเมืองคะเรนนี ที่มีมากว่า ๕๐ ปีว่า
    "ผู้นำของเรา พร้อมเจรจาทุกเมื่อ   แต่ต้องไม่ใช่ในพม่า เพราะที่ผ่านมา เราเคยไปเจรจาที่ย่างกุ้งสองครั้ง แต่วงแตกเร็วมาก เพราะรัฐบาลพม่า ต้องการให้คะเรนนีวางอาวุธเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเราวางอาวุธ ก็แสดงว่าเรายอมแพ้ ทหารพม่า จะทำอะไรกับเราได้ทุกอย่าง ผมคิดว่าการเจรจา ไม่ควรตกลงแบบตัวต่อตัว ในประเทศพม่า เพราะรัฐบาลพม่าขี่หลังเสือมานาน เขาไม่ยอมลงมาง่าย ๆ เขาทำความชั่วร้ายไว้เยอะ มันต้องมีแรงกดดันจากข้างนอก ถึงจะช่วยได้ ควรเป็นข้อตกลงที่นานาชาติรับรู้Ž

  นักรบกะเหรี่ยง

    ในประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่า นักรบกะเหรี่ยงขึ้นชื่อว่า เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ของรัฐบาลพม่า และขับเคี่ยวกันมายาวนานที่สุด ทั้งสองฝ่ายเริ่ม "สงครามความเกลียดชัง"   กันมาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองพม่า ทหารพม่าแค้นทหารกะเหรี่ยง ที่เคยทำหน้าที่นายพราน นำทางทหารอังกฤษ มาตีกองทัพพม่า พอถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารพม่าจึงแก้แค้นชาวกะเหรี่ยง ด้วยการซุ่มโจมตีชุมชนกะเหรี่ยง แถวลุ่มน้ำอิระวดี และลุ่มน้ำสาละวิน จนชาวกะเหรี่ยงเสียชีวิตจำนวนมาก พอพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ พม่าก็ชำระแค้นครั้งที่ ๒ ด้วยการสังหารคนกะเหรี่ยง ๒๐๐ คน ขณะทำพิธีในโบสถ์ ก่อนวันคริสต์มาสเพียงหนึ่งวัน เหตุการณ์ทั้งสองครั้ง สร้างความหวาดกลัว เกลียดชัง และเคียดแค้น ฝังแน่นอยู่ในหัวใจคนกะเหรี่ยง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
    ชาวกะเหรี่ยงรวมตัวกันตั้ง องค์กรดูแลประชาชน ของตนเองขึ้นในปี ๒๔๙๐ ในนามองค์กรสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) เด็กหนุ่มจำนวนมาก ที่เห็นภาพเหตุการณ์ทั้งสองครั้ง ต่างพากันสมัครเข้าเป็นทหาร เพื่อชำระหนี้แค้น หนึ่งในนั้นมีเด็กหนุ่มวัย ๑๗ ปี ซึ่งในเวลาต่อมา ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของ KNU และดำรงตำแหน่ง เป็นเวลานานถึง ๒๖ ปี ทั่วโลกรู้จักขุนพลผู้นี้ในนาม นายพลโบเมียะ (อ่านบทสัมภาษณ์ใน สารคดี ฉบับที่ ๑๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๗)
    "ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพพม่าอิสระ ฆ่าชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในหมู่บ้านของผม ข่มขืนกระทำชำเรา ปล้นทรัพย์สิน เผาทำลายบ้านเรือน ใครก็ตามที่เป็นกะเหรี่ยง จะถูกฆ่าทิ้งหมด เรื่องนี้ทำให้ผมทนไม่ไหว จึงตัดสินใจสมัครเป็นทหาร เพื่อต่อต้านพม่า
    "ผมเริ่มต้นชีวิตในกองทัพ เป็นเพียงทหารธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ผ่านสงคราม ผ่านการต่อสู้มาหลายครั้ง ทั้งแนวรบในป่า และในที่สุด ก็ไต่เต้าขึ้นมา จนได้เป็นผู้บัญชาการทหาร หลังจากนั้น ก็เริ่มเข้าสู่ชีวิตทางการเมือง ตอนนั้นผมอายุเพียง ๑๗ ปี หลังจากนั้น ก็เป็นทหารมาตลอดกว่า ๕๐ ปีŽ
    ปี ๒๔๙๒ KNU ประกาศปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ โดยต่อสู้แบ่งแยกดินแดนซีกตะวันออก ของพม่า ตลอดฝั่งน้ำเมย และลุ่มน้ำสาละวิน บริเวณชายแดนไทย - พม่า เป็นเขตปกครองตนเอง พวกเขาเรียกแผ่นดินผืนนี้ว่า กอทูเล--ดินแดนอันบริสุทธิ์ ปราศจากความชั่วร้ายทั้งมวล มีรัฐบาลแห่งชาต ิและกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ เป็นตัวแทนทางการเมือง และการทหาร แบ่งเขตการปกครองออกเป็นเจ็ดเขต หรือเจ็ดจังหวัดตลอดแนวชายแดนไทย - พม่า ตั้งแต่รัฐคะเรนนี จรดรัฐมอญ มีมาเนอร์ปลอว์ -- ดินแดนแห่งชัยชนะ เป็นเมืองหลวงที่ขึ้นชื่อว่า เป็นยุทธภูมิที่ดีที่สุด ของชาวกะเหรี่ยง เป็น "ค่ายหิน" ที่พม่าพยายามทำลาย มาตลอดเวลา ๔๕ ปี

(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     มาเนอร์ปลอว์ตั้งอยู่กลางหุบเขา มีภูเขาบอนาเล และเทือกเขาสลับซับซ้อนปกป้อง "หัวใจ"   คนกะเหรี่ยงไว้ในอ้อมกอด ด้านหลังเทือกเขา ถูกขนาบด้วยแม่น้ำสองสาย คือ น้ำเมย และน้ำสาละวิน ยามฤดูหนาว มาเนอร์ปลอว์จะถูกซุกซ่อนไว้ในม่านหมอก จนศัตรูมองไม่เห็น แม้ว่าพม่าจะเคยใช้เครื่องบินรบ ปูพรมระเบิด ลงมาจากฟ้า แต่มาเนอร์ปลอว์ก็ไม่ล่มสลาย มาเนอร์ปลอว์จึงเป็น "เสี้ยนหนาม" ที่กลัดหนอง อยู่ในหัวใจทหารพม่า ยาวนานที่สุด และยังคงจะฝังลึก ลงอยู่ในหัวใจทหารพม่า อีกยาวนาน หากไม่มีคนในของกองทัพกู้ชาติกะเหรี่ยง เป็นหนอนบ่อนไส้เสียก่อน
    มกราคม ๒๕๓๘ นายทหารกะเหรี่ยงนับถือพุทธในกองทัพ KNU จำนวนหนึ่ง (ในภายหลังเรียกตัวเองว่า DKBA - Democratic Karen Buddhist Army) นำทางกองทัพพม่า ฝ่ากับระเบิด ที่ซุกซ่อนอยู่ตามรายทาง บุกเข้าขยี้ "หัวใจ"   คนกะเหรี่ยง นายพลโบเมียะรู้ดีว่า มาเนอร์ปลอว์กำลังล่มสลาย เขาจึงตัดสินใจเผาสิ่งก่อสร้างทุกอย่าง ให้เป็นเถ้าถ่าน เพื่อไม่ให้ศัตรูได้ใช้ประโยชน์จากเมืองหลวง ที่พวกเขาใช้เวลาก่อสร้างมายาวนานกว่า ๔๐ ปี
    กล่าวกันว่า ต้นเหตุแห่งความล่มสลาย ของมาเนอร์ปลอว์ เริ่มมาจากรอยร้าวภายในใจ ระหว่างทหารระดับผู้นำ กับทหารระดับล่าง ไม่ใช่ประเด็นทางศาสนา อย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื่องจากนายทหารระดับล่าง ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รู้สึกว่า ขณะที่พวกตนออกไปเสี่ยงชีวิต และไม่ได้รับการเอาใจใส่ นายทหารระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ กลับมีชีวิตสุขสบาย จากผลประโยชน์ค้าไม้กับคนไทย ทหารระดับล่างบางส่วน จึงต้องการแยกตัว ออกไปตั้งกลุ่มใหม่ และแก้แค้นระดับผู้นำ KNU ด้วยการ "จูงมือ"  ทหารพม่ามา "ทุบ" มาเนอร์ปลอว์ทิ้ง เท่านั้นยังไม่พอ นายทหารกลุ่มนี้ ซึ่งเรียกกลุ่มตัวเองว่า DKBA หรือคนไทยเรียกว่า กะเหรี่ยงพุทธ ยังช่วยทหารพม่า รบราฆ่าฟันคนเชื้อชาติเดียวกัน มาจนถึงทุกวันนี้
      ทหารพม่าได้ประโยชน์จากความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้คนในพื้นที่นำทาง ไปสู้รบกับศัตรูแล้ว ยังได้ "แนวหน้า" แอ่นอกรับกระสุนปืนแทนตัวเอง ปล่อยให้คนกะเหรี่ยง ฆ่าคนกะเหรี่ยงด้วยกันเอง ถ้าตายทั้งคู่ ทหารพม่าก็กำไรสองต่อ   และถึงแม้ว่ากะเหรี่ยงพุทธ จะหันมาจับมือกับทหารพม่า แต่ทหารพม่า ก็ไม่เคยไว้ใจกะเหรี่ยงพุทธ แม้แต่น้อย มิหนำซ้ำ ยังพร้อมจะทำลายกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ ให้ราบเป็นหน้ากลองได้ทุกเมื่อ เพราะฐานที่มั่นของกองทัพพม่า ตั้งอยู่บนภูเขา สูงกว่าฐานที่มั่นกะเหรี่ยงพุทธ ห่างกันไม่เกินระยะยิงปืนใหญ่เท่านั้น !
    นับตั้งแต่ "คนใน"   หันไปจับมือกับทหารพม่า นายพลโบเมียะ ต้องเจอศึกหนักหลายครั้ง เนื่องจากอดีต "คนใน"   คุ้นชินกับพื้นที่กะเหรี่ยงเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ หลังจากถอยทัพสู่ฐานที่มั่นใหม่ชื่อ คอมูรา ได้ไม่กี่เดือน ทหารกะเหรี่ยงพุทธ ก็พากองทัพพม่า ตามมาถล่มด้วยอาวุธเคมี จนนายพลโบเมียะ ต้องย้ายฐานที่มั่นอีกครั้ง   และเปลี่ยนแผนการรบ เป็นแบบกองโจร กระจายกองกำลังออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ ๔ ถึง ๑๑ คน อยู่ในป่าตลอดชายแดนไทย - พม่า ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงกาญจนบุรี
    แม้กะเหรี่ยงพุทธ จะแยกตัวออกไปแล้ว แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระหว่างนายทหารระดับผู้นำ กับระดับล่าง ก็ยังคงอยู่ และยังไม่มีทีท่าจะหมดไป
    นายทหารแนวหน้า เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตทหาร KNU ว่า
    "ชีวิตทหารแนวหน้า ทั้งเสี่ยงตาย และลำบาก ตอนกลางวันต้องเคลื่อนย้าย ตอนกลางคืนต้องโจมตีข้าศึก ไม่มีโอกาสนอนหลับสบาย ได้แค่งีบช่วงสั้น ๆ ในป่า โดยผลัดกันเฝ้ายามกับเพื่อน พวกเราไม่มีเงินเดือน นอกจากส่วนแบ่งข้าวสาร พริก เกลือ หรือปลาร้าเท่านั้น"
    ผู้สื่อข่าวสงครามของไทย ซึ่งเคยเดินทางไปสังเกตการณ์การสู้รบที่แนวหน้า ก็พูดถึงความยากลำบาก ของทหารแนวหน้าของ KNU ในทำนองเดียวกันว่า
    "อาหารที่พวกเขากิน มีเพียงก้อนข้าวเหนียว ที่แห้งแข็ง ตามอุณหภูมิอันหนาวเย็น กับน้ำตาลแว่น ทำจากอ้อยชนิดที่ขายกันเป็นปี๊บ พวกเขามือหนึ่ง ถือก้อนข้าวเหนียว มือหนึ่งถือน้ำตาลแว่น กัดกินเคี้ยวรวมกันไป แทบทุกคำจะต้องตามด้วยน้ำ จากลำธารที่บรรจุไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อถึงค่ำคืนหนาว นักรบกะเหรี่ยง ก็มีเพียงเสื้อเก่า ๆ ชุดเดียว กับรองเท้านักรบ ชนิดรองเท้าฟองน้ำหรือรองเท้ายางรถยนต์เท่านั้นŽ
(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     อันที่จริง ความแร้นแค้นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นายทหาร KNU ถือเป็นเพียงเศษเสี้ยว ของความทุกข์ที่ทหารพม่า กระทำกับคนในครอบครัวของเขา พวกเขาอดทนได้เสมอ หากการอดทน จะนำไปสู่การได้แผ่นดินกะเหรี่ยงกลับคืนมา ให้พ่อแม่พี่น้องได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุข แต่ถ้าการอดทน ทำไปเพื่อให้นายทหารระดับผู้นำบางคน ได้อยู่สุขสบาย พวกเขาก็พร้อม จะเดินจากไปตั้งองค์กรใหม่ ต่อสู้ตามอุดมการณ์ของตนเอง หรือเข้าร่วมกับองค์กรอื่น ที่มีอุดมการณ์มั่นคงกว่า แม้ว่าองค์กรนั้น อาจมีผู้นำที่ดู "งมงาย"   ในสายตาใครหลายคนก็ตาม
    เดือนมีนาคม ปี ๒๕๔๐ ลูเทอร์และจอห์นนี  ฮะตู แฝดเหมือนวัยเก้าขวบ แสดงท่าทางแปลก ๆ ขึ้นระหว่างการจู่โจมของทหารพม่า เด็กทั้งสองไม่หวาดกลัวทหารพม่า เหมือนเด็กอื่น ๆ แถมยังเริ่มพูดจา "เหมือนผู้ใหญ"   กับชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ ทา ฮะเทน ว่า พวกเขามีนิมิต มีเสียงบอกให้พวกเขา บอกชาวกะเหรี่ยง ให้เลิกทำตัวเหลวไหลเสียที เพราะนั่นเป็นเหตุแห่งความสิ้นหวัง ที่เกิดขึ้นขณะนี้ พวกเขาขอให้ ทา ฮะเทน ไปหาคนเจ็ดคน เครื่องแบบเจ็ดชุด และอาวุธเจ็ดอย่าง เพื่อที่จะตอบโต้ทหารพม่า ตอนแรก ทา ฮะเทน ไม่กล้าทำตาม แต่เมื่อทหารพม่าจู่โจมหนัก และไม่มีทางเลือก จึงลองทำตามคำสั่งประหลาด ของเด็กแฝด ผลปรากฏว่ากองกำลังหน่วยเจ็ดคน ก็ประสบความสำเร็จ ทหารพม่าถูกตีล่าถอยไป แถมยังยึดได้กระสุน และอาวุธอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้น ชื่อของเด็กแฝดสองคน พร้อมหน่วยรบชื่อ เคอเซโด ก็โด่งดังไปทั่ว
    ในความหมายของชาวกะเหรี่ยง เคอเซโด แปลว่า ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ และบนแผ่นดินกะเหรี่ยง ก็มีชื่อภูเขาเคอเซโด ตั้งอยู่ด้านตะวันตกใกล้แม่น้ำเทนาสเซริม เป็นผู้เขาที่ชาวบ้านเชื่อว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ เด็กแฝด และนายทหารเคอเซโดเชื่อว่า พระเจ้าได้ให้พลังแก่เด็กแฝด เพื่อช่วยชาวกะเหรี่ยงต่อสู้กับศัตรู พวกเขาจึงเป็นเสมือน "กองทัพพระเจ้า"   หรือ God's Army
    หลังจากตำนานเล่าขานแพร่สะพัดออกไป พร้อมกับชื่อเสียงการรบชนะ ครั้งแล้วครั้งเล่า นายทหาร KNU จำนวนหนึ่ง ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์การสู้รบของเด็กแฝด จึงแยกตัวออกมาจากองค์กรเดิม โดยนายทหารเหล่านี้ ไม่ได้แสดงตัวเป็นศัตรู KNU เหมือนเมื่อครั้งกะเหรี่ยงพุทธ แยกตัวออกมา และกองทัพพระเจ้า ของเด็กแฝดก็ยังคงได้รับความช่วยเหลือ ด้านเสบียงอาหารจาก KNU อยู่เสมอ
      สเว พะยา นายทหารผู้ช่ำชอง ละทิ้งกองพลทหารราบที่ ๔ ของ KNU มาเข้าร่วมกับเด็กแฝด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับบัญชาเคอเซโด รับคำสั่งโดยตรง จากสองผู้นำเด็กแฝด กล่าวถึงความเชื่อของตนว่า
    "พระเจ้าได้ให้พลัง แก่พี่น้องฝาแฝดคู่นี้ เพื่อช่วยชาวกะเหรี่ยงต่อสู้กับศัตรู และเพื่อสร้างเสริมกำลังใจแก่พวกเรา ในหนึ่งปี เราสู้กับพม่าราว ๗๐ ครั้ง และเราชนะเกือบทุกครั้งŽ
    อดีตนายทหาร KNU ผู้นี้กล่าวถึงทหารในกองกองทัพพระเจ้าว่า เป็นนักรบที่ดุดัน เสริมด้วยความกล้าหาญสูง และระเบียบวินัยจัด พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎ จากพระคัมภีร์ใหม่ที่ว่า ห้ามกินเนื้อหมู ไข่ และแอลกอฮอล์ ห้ามพูดปด สบถ ขโมย และประพฤติผิดในกาม และจะต้องสวดมนต์วันละสามครั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นไร
    ประมาณกันว่ากองทัพเด็กแฝด มีกองกำลังติดอาวุธไม่เกิน ๒๐๐ คน ก่อนหน้าเหตุการณ์ ยึดโรงพยาบาลราชบุรี พวกเขามีฐานที่มั่นอยู่ที่กามาปลอ ห่างจากชายแดนไทย ด้านอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ประมาณ ๑ กิโลเมตร แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทหารพม่าได้โจมตี ฐานที่มั่นของพวกเขา อย่างหนักจนต้องถอยทัพเข้าไปอยู่ที่ "ภูเขาศักดิ์สิทธิ์"   ที่ภูเขาแห่งนี้ มีกองกำลังกะเหรี่ยงกลุ่มย่อย อีกไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม บางกลุ่มแยกตัวจาก KNU บางกลุ่มตั้งขึ้น จากความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คล้ายกองทัพเด็กแฝด คือกลุ่มเด็กลิ้นดำ ซึ่งนำโดยเด็กชายวัย ๑๓ ปีมีปานดำบนลิ้น กำลังพลไม่มากนัก ทั้งหมดนี้ ต่างอาศัยภูเขาเคอเซโด เป็นที่หลบภัยหลังจากถูกโจมตีจากกองทัพพม่า
    ปัจจุบันกองกำลังกะเหรี่ยงมีไม่น้อยกว่าห้ากลุ่ม กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดยังคงเป็น KNU และกลุ่มที่สร้างความเจ็บช้ำ ให้ชาวกะเหรี่ยงมากที่สุด คือกะเหรี่ยงพุทธ หรือ DKBA เพราะยังคงตามโจมตี ทั้งกองกำลังทหาร และชาวบ้านกะเหรี่ยงผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มาจนถึงทุกวันนี้   สิ่งที่หลายฝ่าย กำลังจับตามองก็คือ หาก KNU ยังคงไม่แก้ไขปัญหาเน่าเฟะ ในองค์กรให้เรียบร้อยในเร็ววัน โอกาสที่ KNU จะแตกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ก็คงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
    ล่าสุด หลังจากเกิดเหตุการณ์ ยึดโรงพยาบาลราชบุรีไม่กี่วัน ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน KNU เมื่อนายพลโบเมียะ ถูกลดตำแหน่งจากผู้นำสูงสุด ซึ่งดำรงตำแหน่งมานานถึง ๒๖ ปี เหลือเพียงผู้นำทางด้านทหาร โดยนายซอบาติน ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
    หลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หลายฝ่าย กำลังจับตามอง KNU ว่าจะมีการสะสางปัญหา ภายในที่เรื้อรังมานานหลายสิบปีหรือไม่ จะเปลี่ยนแนวทาง จากการสู้รบ สู่การเจรจาหยุดยิงหรือเปล่า หรือเป็นแค่การสลับตัว สลับตำแหน่ง ส่วนในทางปฏิบัติ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะอำนาจใน KNU ยังไหลเวียนอยู่ในมือผู้นำรุ่นเก่าเหมือนเดิม

  นักรบมอญ

    นักรบมอญ มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ มายาวนานไม่แพ้ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แม้ว่ามอญ จะเจรจาหยุดยิงไปตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ แต่ก็ไม่ได้ความว่า นักรบมอญยอมแพ้ หากพวกเขาเลือกต่อสู้ ในวิถีทางที่เปลี่ยนไป -- จากเสียงปืนสู่การเจรจา เพราะเวลากว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า เสียงปืนยังไม่ใช่ทางออก ของเสรีภาพในการปกครองตนเอง
    กองทัพกู้ชาติมอญ เริ่มต้นต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ และแผ่นดินเกิด มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๔๙๐ ภายใต้ชื่อ พรรคสหแนวร่วมมอญ หรือ Mon United Front (MUF) นำโดยนายสเว จิน ๑๐ ปีต่อมา พรรคสหแนวร่วมมอญ พยายามรวมตัว กับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลพม่า แต่พม่าไหวตัวทัน จึงหาทางเจรจากับมอญอย่างลับ ๆ เพื่อไม่ให้ทั้งสามกลุ่มรวมตัวกันติด โดยรัฐบาลพม่า ยินยอมให้มีการจัดตั้งรัฐมอญ หากมอญยอมมอบอาวุธ ทหารมอญบางส่วน ยอมตกลงกับข้อเสนอครั้งนี้   แต่นายเสว จิน ไม่ยอม จึงแยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ ในชื่อ พรรคมอญใหม่ หรือ New Mon State Party (NMSP) นับจากนั้นเป็นต้นมา พรรคมอญใหม่ ภายใต้การนำของบุรุษเหล็กชื่อ เสว จิน ก็กลายเป็นตัวแทน ทางการเมืองของมอญ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามายาวนานที่สุด
    เขตพื้นที่ที่กองกำลังพรรคมอญใหม่เคลื่อนไหว อยู่แถวตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ตรงข้ามกับจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เรื่อยไปจรดประจวบคีรีขันธ์ จุดศูนย์กลางสำคัญ ที่เคยเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างคนมอญ ไทย และพม่าอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แผ่นดินบริเวณนี้ "เคยมี และเป็น"   พื้นที่บันทึกความทรงจำ ของคนมอญมานานหลายสิบปี ที่นี่เคยมีหมู่บ้านมอญขนาดใหญ่ เคยเป็นสถานที่ฉลองวันชาติมอญ และเคยเป็นตลาดชายแดน ที่มีการค้าขายอย่างคึกคัก มานานหลายทศวรรษ
    หากเมื่อ ๑๐ ปีก่อน นายทุนชาวไทย จะไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป วันนี้ด่านเจดีย์สามองค์ คงยังทำหน้าที่บันทึกความทรงจำดี ๆ ของคนมอญเหมือนเดิม

      กลางเดือนมกราคม ปี ๒๕๓๓ กองทัพพม่าจำนวนสามกองพัน เปิดฉากถล่มกองทัพมอญ ด้วยอาวุธปืนครก ทหารมอญที่มีกำลังเพียง ๘๐๐ นาย สามารถตรึงกำลังของข้าศึกได้ ที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน การรบเป็นไปอย่างดุเดือด ตลอดเวลาสามวันสามคืน แต่แล้วในคืนสุดท้าย ก่อนที่ฐานที่มั่นของทหารมอญจะแตก ทหารพม่าในชุดพลเรือนจำนวนนับร้อย ได้แอบซ่อนตัว อยู่ในรถบรรทุกสิบล้อสามคัน ของนายทุนค้าไม้คนไทย แอบข้ามแดนทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้ามาฝั่งไทยแล้วขับรถมาลงที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ เปลี่ยนเป็นชุดพม่า ยกกำลังตีตลบหลังทหารมอญ ที่รบอยู่กับทหารพม่า หมู่บ้านมอญจึงแตกพ่ายไปในที่สุด
    ชัยชนะของพม่าในครั้งนี้ ทำให้ชาวมอญหลายพันคน ในบริเวณนั้นต้องหนีภัยสงครามครั้งใหญ่ มาอยู่ที่บ้านเลาะโลในประเทศไทย ต่อมาทางการไทย ผลักดันให้ชาวมอญกลับไป ตั้งค่ายที่ฮะล็อคคะนี ด้วยเหตุผลที่ว่า ชาวมอญทำให้ป่าไม้ในบริเวณนั้นลดลง ส่วนบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ กองทัพพม่าได้ส่งทหาร ๖๐๐ คนไปประจำการตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เป็นต้นมา
    หลังจากด่านเจดีย์สามองค์ถูกพม่ายึดครอง พรรคมอญใหม่ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธประมาณ ๕,๐๐๐ คน ได้เปลี่ยนฐานที่มั่นใหม่ โดยเคลื่อนไหว อยู่ในป่าแถวชายแดนไทย - พม่า มีกองบัญชาการ สองจุดใหญ่ ๆ คือ ที่ตรงข้ามอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ฝั่งตรงข้ามอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
    นายมิต ออง ทหารมอญผ่านศึกวัย ๒๘ ปี (ให้สัมภาษณ์เมื่อปี ๒๕๓๖) มาจากเมืองเย เล่าถึงชีวิตทหารมอญ ก่อนถูกระเบิดแขนขาด และตาบอดว่า
    "ผมเป็นทหารเพราะทนการกดขี่ ของพม่าไม่ได้ เลยชวนพรรคพวก เข้าสู้รบกับพม่า ผมรบกับพม่ามาไม่ต่ำกว่า ๕๐ ครั้ง ส่วนใหญ่ทหารพม่า ได้เปรียบกว่า เพราะคนมากกว่า แต่มันก็อยู่ที่ว่าในระหว่างลาดตะเวน ใครเจอก่อนก็ซุ่มโจมตีก่อน
    "เมื่อสามปีมาแล้ว ใกล้กับเมืองเย พวกผมปะทะกับทหารพม่ากองพันที่ ๖๑ แล้วไปเหยียบกับระเบิด แขนขาด นิ้วขาด สะเก็ดระเบิดเข้าลูกตา ตอนนั้นผมไม่รู้ตัวแล้ว เพื่อน ๆ ช่วยกันหามกันมาหลายวัน กว่าจะมาถึงโรงพยาบาล ที่เมืองกาญจน์ ผมถูกตัดแขนที่นั่น อาการไม่ดีขึ้น เขาจึงส่งตัวมาที่โรงพยาบาลราชวิถี หมอเอาลูกตาของคนตายอายุ ๖๗ ปีมาใส่ให้ แต่ร่างกายไม่รับ เลยเปลี่ยนเป็นลูกตาของผู้หญิงอายุ ๒๗ ปี ใส่มาได้สองปีแล้วแต่ก็ยังมองไม่ค่อยเห็น"
(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     หลังจากห้ำหั่นกันด้วยอาวุธสงคราม มานานหลายทศวรรษ นายสเว จิน บุรุษเหล็กแห่งพรรคมอญใหม่ จึงเริ่มมองข้ามฉากการสู้รบ ไปถึงการต่อสู้แบบสันติวิธี โดยฝ่ายมอญ ยินดีเปิดเจรจายุติการสู้รบ กับรัฐบาลพม่า หากเป็นไปตามเงื่อนไข ที่ฝ่ายมอญยอมรับได้
    ทว่ากว่าการเจรจาจะยุติลงด้วยดี ทั้งสองฝ่ายก็ "วงแตก"   ถึงสามครั้ง เนื่องจากต่างฝ่าย ต่างไม่ยอมรับเงื่อนไขซึ่งกันและกัน
    การเจรจาครั้งแรกเริ่มต้นในเดือนธันวาคม ๒๕๓๖ พรรคมอญใหม่ ยื่นข้อเสนอไปทั้งหมด ๑๔ ข้อ ทางฝ่ายรัฐบาลพม่า ปฏิเสธกลับมาทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ต้องการเพียงแค่การหยุดยิง ยังไม่พร้อมจะรับข้อเสนอใด ๆ ที่ฝ่ายมอญเรียกร้อง
    การเจรจาครั้งที่ ๒ เริ่มต้นอีกครั้งในเดือนมีนาคม ๒๕๓๗ ฝ่ายมอญเสนอ ขอปกครองพื้นที่ตนเอง ซึ่งเคยอยู่ใกล้กองบัญชาการเก่าของมอญ รัฐบาลพม่า ไม่ยอมทำตามคำขอ แต่ก็ไม่ปฏิเสธเสียทีเดียว โดยตกลงมอบพื้นที่ดูแล (หมู่บ้าน) ในทุกจังหวัดที่มอญเสนอมา แต่ให้จังหวัดละนิดหน่อย และให้กองบัญชาการทหารมอญ ไปอยู่ในป่าทึบ ห่างไกลหมู่บ้าน เป็นการตัดสัมพันธ์ ระหว่างชาวบ้าน กับทหารมอญทางอ้อม และฝ่ายมอญ จะต้องวางอาวุธ ทางฝ่ายมอญได้ทราบเงื่อนไข ที่รัฐบาลพม่าต้องการ ก็ "วงแตก"0 ทันที
    สามเดือนต่อมา การเจรจาเริ่มต้น และยุติลงเหมือนสองครั้งก่อน เพราะหัวข้อเจรจา ยังวนเวียนอยู่เรื่องเดิม และทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะประเด็นการวางอาวุธ ซึ่งฝ่ายมอญ ยื่นคำขาดว่า เป็นไปไม่ได้ มอญยังคงต้องมีอาวุธป้องกันตนเอง อีกทั้งการวางอาวุธ หมายถึงการยอมแพ้ ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ ของการเจรจาหยุดยิง
    หลังจากพักรบบนโต๊ะเจรจาได้หนึ่งปี ทั้งสองฝ่ายก็ "ล้างไพ่" ตั้งข้อเสนอกันใหม่ โดยครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลพม่า ยอมอ่อนข้อให้ฝ่ายมอญ ถืออาวุธในเขตปกครองของตน และยอมให้คนมอญ ดำเนินงานด้านสังคม และเศรษฐกิจใน "พื้นที่" ของตน พื้นที่ดังกล่าวมี ๑๒ หมู่บ้าน กระจายเป็นหย่อม ๆ อยู่ในเมืองมะละแหม่ง เมืองเย และเมืองทวาย ใกล้บริเวณอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นอกเหนือจากพื้นที่นี้ หากทหารมอญถือปืน ออกมาเดินเพ่นพ่าน ถือว่าละเมิดสัญญา พรรคมอญใหม่เห็นว่า รัฐบาลพม่ายอมรับข้อเสนอ ที่มอญต้องการ การเจรจาจึงยุติลงด้วยดี และนับจากวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๘ เป็นต้นมา เสียงปืนในเขต ๑๒ หมู่บ้านก็เงียบสงบลงชั่วคราว ตราบเท่าที่ยังไม่มีใครละเมิดสัญญา
    มีทหารมอญบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาหยุดยิง ทหารมอญเหล่านี้ จึงแยกตัวออกมาตั้งกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเอง สู้รบอยู่นอกเขตพรรคมอญใหม่ โดยเฉพาะใกล้ชายฝั่งทะเล ในฝั่งตะวันออกของทวาย และในป่าตะนาวศรีติดชายแดน แผ่นดินมอญ จึงยังไม่สงบอย่างที่หลายคนเข้าใจ และชาวบ้านนอกเขต ๑๒ หมู่บ้าน ยังคงได้รับความเดือดร้อน จากการบุกรุกของทหารพม่า การเกณฑ์แรงงาน ปล้น ฆ่า ข่มขืน ยังคงดำเนินต่อไป ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐมอญ
สำหรับพื้นที่ ๑๒ หมู่บ้านที่เจรจาหยุดยิง พรรคมอญใหม่ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมือง และดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ ตามเงื่อนไขการเจรจา เนื่องจากรัฐบาลพม่า พยายามขัดขวางไม่ให้พรรคมอญใหม่ ดำเนินงานได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม นายเสว จิน บุรุษเหล็กวัย ๘๖ ปี ก็ยังยืนยันว่า การแสวงหาอิสรภาพ ด้วยวิถีทางทางการเมือง น่าเป็นทางออกที่ดีกว่าการทหาร และเขาเชื่อว่า การหยุดยิง ไม่ได้หมายถึงการยอมแพ้ แต่เป็นก้าวแรกของการต่อสู้แบบสันติวิธี

  ความหวังที่เส้นขอบแดน

    ที่เส้นขอบแดนไทย-พม่า ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย จนถึงจังหวัดระนอง มีค่ายผู้อพยพชนกลุ่มน้อย จากประเทศพม่าทั้งหมด ๑๘ ค่าย (รายงานล่าสุดจาก Burmese Border Consortuim หรือ BRC เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๓) แบ่งเป็นชาวคะเรนนีห้าค่าย ประชากรเกือบ ๑๗,๐๐๐ คน ชาวกะเหรี่ยง ๑๐ ค่าย ประชากรเกือบ ๙ หมื่นคน และชาวมอญ (ค่ายอยู่ในเขตพม่า) สามค่าย ประชากรกว่าหนึ่ง ๑ หมื่นคน
    ตัวเลขที่นำมาแสดงข้างต้นมีนัยสำคัญสองประการ
    ประการแรก ตัวเลขที่หายไปของผู้อพยพชาวไทยใหญ่ หมายความว่าอย่างไร ชาวไทยใหญ่ที่อพยพ จากตอนกลางรัฐฉาน ซึ่งมีกองกำลังสู้รบ ระหว่างเจ้ายอดศึก กับรัฐบาลพม่าหายไปไหน จากคำบอกเล่าของชาวไทยใหญ่ ในอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ความว่า ทุกวันนี้เฉพาะในเขตอำเภอฝางซึ่งเป็นอำเภอติดกับรัฐฉาน มีชาวไทยใหญ่อพยพ มาอยู่ตามท้องไร่ท้องนาไม่ต่ำกว่า ๑ แสนคน ถ้าเช่นนั้น เหตุใดคนไทยใหญ่ที่หนีตาย เข้ามาเมืองไทยเช่นเดียวกับผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง จึงไม่มีค่ายผู้อพยพ
    เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานช่วยเหลือคนไทยใหญ่จากรัฐฉาน เล่าถึงปัญหาของชาวไทยใหญ่ ที่เดินทางมาจากรัฐฉานว่า
    "เราเคยพา UNHCR ไปดูสภาพชาวไทยใหญ่ ที่อาศัยอยู่ตามท้องนา ในอำเภอฝางหลายครั้ง เขาก็บอกว่ารัฐบาลไทย ไม่ยอมให้รับ เพราะถ้าอนุญาต ให้มีค่ายไทยใหญ่ รัฐบาลอเมริกา จะหาว่าเราช่วยเหลือขุนส่า แต่ที่จริงเขาน่าจะดูปัญหา ของผู้อพยพในด้านมนุษยธรรมมากกว่า เพราะชาวบ้านเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และคนแก่ที่หนีภัยสงคราม มาพึ่งแผ่นดินไทย

      "รัฐบาลไทยมักอ้างว่า ชาวไทยใหญ่เหล่านี้ เป็นแรงงานต่างด้าว เดินทางเข้ามาเมืองไทย เพื่อหางานทำ แต่ในสภาพความเป็นจริง ชาวไทยใหญ่ที่เป็นแรงงาน มีเพียงหนึ่งถึงสองคนต่อครอบครัว คนที่เหลือคือคนแก่ และเด็ก ซึ่งนายจ้างไม่รับเข้าทำงาน ดังนั้นคนหนึ่งคน หรือสองคนต้องหาเลี้ยงคนแก่ และเด็กอย่างน้อย ครอบครัวละห้าคน วันไหนที่ไม่มีงานในไร่ พวกเขาก็ไม่มีอะไรกิน ถ้าหากประเทศไทยยอมรับว่า พวกเขาคือผู้อพยพ อย่างน้อยทุกคนก็มีข้าวกิน และเด็ก ๆ ก็ได้เรียนหนังสือในค่าย ทุกวันนี้เด็ก ๆ มีชีวิตอยู่อย่างไร้การศึกษา เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นมาในเมืองไทย เขาจะประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ปัญหาเหล่านี้ คนไทยจะต้องแบกรับต่อไปในอนาคตŽ
    ประการที่ ๒ ตัวเลขที่ปรากฏในจำนวนที่แตกต่างกัน หมายความว่าอย่างไร หากดูตัวเลขจำนวนผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง จะพบตัวเลขสูงเกือบ ๑ แสนคน เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุเบื้องต้น จะพบว่า โดยส่วนใหญ่อพยพมาเมืองไทย ด้วยเหตุผลของสงครามกลางเมือง ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า ๕๐ ปี แต่หากพิจารณาลึกลงไป ก็จะพบสาเหตุอีกประการหนึ่ง ซึ่งประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ มีส่วนกับสงครามล้างเผ่า ในดินแดนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีท่อก๊าซไทย - พม่า ทำให้คนมอญจำนวนมาก ต้องถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเขื่อนสาละวิน ที่กำลังจะสร้างในรัฐฉาน ทำให้ชาวไทยใหญ่จำนวนมาก ถูกขับออกจากหมู่บ้านเดิม ไปอยู่ในพื้นที่อพยพ ซึ่งไม่มีข้าวปลาอาหารใด ๆ เป็นเหตุให้หลายคนอดตาย หลายคนหนีมาเมืองไทย กรณีเหล่านี้ ยังไม่นับเขื่อนตลอดแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำเมย อีกไม่น้อยกว่าสิบเขื่อน และอีกหลายอภิมหาโครงการ ที่คนไทยกำลังจะเข้าไปลงทุน ผลกระทบจากโครงการเหล่านี้ จะทำให้ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากกว่าเดิม หลายเท่าหนีตายมาเมืองไทย และเป็นปัญหาที่คนไทย ต้องแบกรับต่อไป
(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     ผลพวงที่ตามมาจากการนำเงิน ไปลงทุนในประเทศพม่า ก็คือ ชนกลุ่มน้อยจะถูกปราบปราม ด้วยอาวุธที่ทันสมัยมากขึ้น กรณีท่อก๊าซไทย - พม่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะทันทีที่บริษัทโทเทล จ่ายค่าสัมปทานแหล่งก๊าซยาดานา สลอร์ก ก็สั่งซื่อเฮลิคอปเตอร์รวดเดียว ๒๔ ลำ
    แม้อดีตทูตสหรัฐอเมริกา ประจำพม่าจะเคยแสดงความเห็นว่า
    "การลงทุนของบริษัทต่างชาตินั้นสามารถกระตุ้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ในหลาย ๆ ประเทศ แต่ไม่ใช่ในพม่า เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ ที่สลอร์กได้จากการลงทุนของต่างชาติ จะถูกทุ่มไปยังกองทัพทั้งหมด โดยไม่ได้สนใจเลยว่า ผู้คนในชาติกำลังจะอดตายŽ"
    แต่นักลงทุนชาวไทย กับรัฐบาลไทย ก็ดูจะเพิกเฉยไม่ใส่ใจ   และยังมุ่งมั่นดำเนินอภิมหาโครงการ ในรัฐชนกลุ่มน้อยต่อไป
    ...................................................
    ตราบใดที่นักลงทุนชาวต่างชาติ ยังคงมองเห็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ มากกว่าการกดดัน ให้มีการแก้ไขปัญหาระบอบการปกครอง ในประเทศพม่า ตราบนั้น เสียงปืนแห่งการสู้รบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเทศพม่าก็จะยังคงดำเนินต่อไป   และประเทศไทยก็จะได้รับ "ของแถม"   จากการลงทุน เป็นผู้ลี้ภัยหลายแสนคน

อ่านหน้าที่แล้วคลิกที่นี่Click Here to Continue


  ขอขอบคุณ
ชนกลุ่มน้อยทุกคนที่ให้สัมภาษณ์
อาจารย์พรพิมล ตรีโชติ
พรสุข เกิดสว่าง
Sun Shine และ Say Meh
ลุงคำหาญฟ้า ลุงคืนไส ลุงหมูหริ่ง และลุงสาม
 
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
นักศึกษากับ การประกวดนางงาม โอกาสที่ยั่งยืน หรือเย้ายวน

สิทธิคนไทย กับการดูหนังเรื่อง Anna and the King
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ย้อนรอย ๑๕ ปี สารคดี | อาชญากรเด็ก ? เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว | กินอย่างคนภูเก็ต | ลาก่อน "พีนัตส์" | นักรบชายขอบ การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ชายแดนไทย-พม่า | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา
Soldiers at the Margins | Tracing Back 15 Years of Sarakadee

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail