Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ ๑ ๐ ๐ ปี ข อ ง ส า มั ญ ช น น า ม ป รี ดี พ น ม ย ง ค์
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
      "ในปี ค.ศ. ๑๙๒๕ เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกน ของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริง ในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์ มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ. ๑๙๓๒ ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ"
 ปรีดี พนมยงค์
(ให้สัมภาษณ์ เอเชียวีค ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๓)

(คลิกดูภาพใหญ่)     เมื่อย่างเข้าสู่บั้นปลายของชีวิต จะมีผู้ใหญ่สักกี่คนกล้าพอที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเฉกเช่นนายปรีดี พนมยงค์ สามัญชนที่องค์การยูเนสโกลงมติยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จากคุณูปการทั้งหลาย ที่ท่านสร้างให้แก่ชาติบ้านเมือง แต่สังคมไทยเอง กลับปฏิบัติต่อท่านต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่ไม่ยกย่องเท่านั้น แต่นายปรีดี พนมยงค์ กลับกลายเป็นบุคคลที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ลูกชาวนาอยุธยา

    ศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๔๓ ปรีดี พนมยงค์ ถือกำเนิดในเรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่ชื่อนางลูกจันทน์ พ่อชื่อนายเสียง เป็นคนเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ซึ่งมีบรรพบุรุษข้างปู่สัมพันธ์ญาติกับพระเจ้าตากสิน ขณะที่บรรพบุรุษข้างย่าของนายเสียงสืบเชื้อสายมาจากพระนมแห่งกษัตริย์องค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อ "ประยงค์" ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งห่างจากกำแพงพระราชวังด้านตะวันตก ต่อมาวัดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อวัด "พระนมยงค์" หรือ "พนมยงค์"


    ครั้นมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖ ครอบครัวนี้จึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์"
    ในช่วงเวลานั้นสังคมไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจ สยามประเทศสูญเสียเอกราชทางการค้าจากการถูกบังคับให้เซ็นสัญญาบาวริงในปี ๒๓๙๘ ทั้งยังเสียดินแดนบางส่วนและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในขณะเดียวกันชาวนาไทยซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ประสบปัญหายากจนมาโดยตลอด ดังบันทึกของพระยาสุริยานุวัติ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ ๖ ที่ว่า
    "ชาวนาที่ยากจนขัดสนด้วยทุน ต้องออกแรงทำงานแต่ลำพังด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ย่อมจะเห็นปรากฏอยู่ทั่วไปแล้ว ในเวลาที่ทำนาอยู่ เสบียงอาหารและผ้านุ่งห่มไม่พอ ก็ต้องซื้อเชื่อเขาโดยต้องเสียราคาแพง หรือถ้าต้องกู้เงินเขาไปซื้อก็ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแพงเหมือนกัน เมื่อเกี่ยวข้าวได้ผลแล้ว ไม่มีกำลังและพาหนะพอจะขนไปจากลานนวดข้าวหรือไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวไว้ขาย เมื่อเวลาข้าวในตลาดจะขึ้นราคา ต้องจำเป็นขายข้าวเสียแต่เมื่ออยู่ในลานนั้นเอง จะได้ราคาต่ำสักเท่าใดก็ต้องจำใจขาย มิฉะนั้นจะไม่ได้เงินใช้หนี้เขาทันกำหนดสัญญา..."

(คลิกดูภาพใหญ่)     ครอบครัวพนมยงค์ที่มีนายเสียง เป็นหัวหน้าครอบครัวก็มิอาจหนีพ้นวงจรนี้ แต่เป็นโชคดีของปรีดีที่แม้ครอบครัวจะขัดสน แต่ก็สามารถเรียนจนจบชั้นมัธยม ๖ ที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าในเมืองอยุธยา และมีโอกาสเข้าเมืองหลวงไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบเป็นเวลาหกเดือน จากนั้นก็กลับมาช่วยพ่อทำนาเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนกฎหมาย ชาวนาอย่างปรีดี พนมยงค์ ซึมซาบความรู้สึกของชนชั้นตัวเองได้เป็นอย่างดีว่า
    "เนื่องจากชาวนาต้องประสบภัยธรรมชาติ เช่นโรคพืช ฝนแล้ง น้ำท่วมมากเกินไป ป่วยไข้ทำงานไม่ได้ ต้องถูกขโมยลักควาย แต่เจ้าของที่ดินก็ไม่ปรานี คือเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ให้ได้ จึงทำให้ลูกนาอัตคัดขัดสน เจ้าของนาก็ทำการยึดทรัพย์ตลอดจนข้าวกิน ข้าวปลูกที่ชาวนาพอมีอยู่บ้างนั้น"
    ในวัยเด็ก ปรีดี พนมยงค์ สังเกตว่าวันหนึ่งลูกหลานชาวจีน ในเมืองไทยที่เคยไว้ผมเปียตามแบบพวกแมนจ ูซึ่งปกครองประเทศจีนมาหลายร้อยปี ได้พร้อมใจกันตัดผมเปียทิ้ง เขาได้รับคำอธิบายว่า เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐในปี ๒๔๕๔ โดยมี ดร. ซุนยัดเซ็นเป็นหัวหน้า และเป็นผู้แนะนำชาวจีน ให้ตัดผมสั้นแบบชาวยุโรป เพื่อจะได้ไม่ถูกล้อว่า "มีหางที่หัว"
    ครูในโรงเรียนมัธยมสอนปรีดีว่า ในเวลานั้นประเทศเอกราชในโลกส่วนใหญ่ มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบ ของรัฐสภา ซึ่งสมาชิกรัฐสภาเหล่านี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประมุขของรัฐอาจจะเป็นกษัตริย์ หรือประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในเวลานั้นมีสามประเทศ คือ จีน รัสเซีย และสยาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ล้าหลัง และล่าสุดระบอบสมบูรณาฯ ของจีนได้ถูกล้มล้างไปแล้ว
    ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏ ร.ศ. ๑๓๐ นายทหารกลุ่มหนึ่งเตรียมจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ไม่ทันลงมือก็เกิดการทรยศหักหลัง มีคนหนึ่งในคณะนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ทั้งหมดจึงถูกจับเสียก่อน
    ต่อมาในปี ๒๔๖๑ กลุ่มบอลเชวิกได้ก่อการอภิวัฒน์ ล้มล้างพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย อันเป็นช่วงเวลาที่ปรีดี พนมยงค์ กำลังศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และรับรู้ว่ามหาอำนาจต่างชาติ ได้ถือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เหนือประเทศสยามอย่างไร
(คลิกดูภาพใหญ่)     "คนในสังกัดมหาอำนาจเหล่านี้ ไม่ต้องขึ้นศาลไทย เพราะคดีที่มีคู่ความเป็นคนสังกัดต่างชาติเหล่านั้น จะต้องให้ศาลกงสุล หรือศาลคดีระหว่างประเทศตัดสิน ทั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญา ที่ไม่เสมอภาคระหว่างชาติมหาอำนาจ กับประเทศสยาม ในศาลคดีระหว่างประเทศ คำวินิจฉัย ของผู้พิพากษาชาติยุโรป จะมีน้ำหนักมากกว่า คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาวสยาม ข้าพเจ้าไม่พอใจการใช้อำนาจอธิปไตยเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจ ที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา ซึ่งเอกราชของชาติอันสมบูรณ์ โดยมีอำนาจอธิปไตยของตน อย่างเต็มเปี่ยม ขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าได้สังเกตความเป็นไปของราชสำนัก รวมทั้งการบริหารงาน ภายใต้ระบอบการปกครอง แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และตั้งความปรารถนาไว้ว่า จักต้องก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้น ในประเทศของข้าพเจ้าให้ได้   แม้ในตอนนั้นข้าพเจ้า ยังไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไร"
    ในวิชากฎหมาย อาจารย์ผู้สอนยังได้กล่าวถึงบุคคลที่มีสิทธิพิเศษ นอกอำนาจศาลยุติธรรม คือ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปนั้น ถ้าทรงกระทำความผิดอาญา ก็เป็นอำนาจของศาล รับสั่งกระทรวงวัง ที่จะพิจารณา และนำความเห็นกราบบังคมทูล ขอพระบรมราชวินิจฉัย จึงต่างกับพลเมืองไทยส่วนมาก ที่ขึ้นต่อศาลอาญา ถ้าในหลวงทรงวินิจฉัยว่า เจ้านายองค์ใดทรงกระทำความผิดความอาญา เจ้านายองค์นั้นก็ถูกขังในที่แห่งหนึ่งของกระทรวงวัง เรียกว่า "สนม" ไม่ใช่เรือนจำ และไม่ต้องถูกใส่โซ่ตรวน เพียงแต่เจ้าหน้าที่เอาตรวนใส่พานไว้ในห้องขังนั้น อนึ่ง แม้ว่าประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ให้ยกเลิกกฎหมายอาญาเก่า หลายฉบับก็ดี แต่มิได้กำหนดไว้ให้เลิกกฎหมายเก่า ห้ามชายที่เป็นธรรมดาสามัญ ร่วมประเวณีกับเจ้าหญิง ตั้งแต่ชั้น ม.จ. หญิงขึ้นไป ผิดอาญาระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
        ปี ๒๔๖๒ ปรีดี พนมยงค์ สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต ได้ตั้งแต่อายุเพียง ๑๙ ปี อ่อนวัยเกินไป ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษา ครั้นอายุครบ ๒๐ ได้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และกระทรวงยุติธรรม พอใจผลการสอบ จึงให้ทุนไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส

๒๔๖๓ ได้รับคัดเลือก จากกระทรวงยุติธรรม ให้ทุนไปศึกษาวิชากฏหมาย ประเทศฝรั่งเศษ (คลิกดูภาพใหญ่) คือผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕

    "ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง... ราษฎร ข้าราชการทหารและพลเรือน ที่รู้เท่าทันถึงการกระทำอันชั่วร้าย ของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึ่งรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎร และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่า การที่จะแก้ไขความชั่วร้าย ก็โดยที่จะจัดการปกครองโดยมีสภา... คณะราษฎร ไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายธรรมนูญ การปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ..."

 ประกาศคณะราษฎร

(คลิกดูภาพใหญ่)     ช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๙ กรุงปารีสกลายเป็นที่รวมของแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองของค่ายต่าง ๆ มาร์กซ์ เองเกลส์ และเลนิน นักอภิวัฒน์ผู้ยิ่งใหญ่ก็เคยใช้ชีวิตช่วงเวลาหนึ่งอยู่ที่นั่น ฝรั่งเศสกลายเป็นต้นกำเนิด แห่งการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ในหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย นักศึกษาต่างชาติ ที่ต้องการให้ประเทศของตนเป็นเอกราช รอดพ้นจากการเป็นอาณานิคม ต่างมุ่งหน้ามายังฝรั่งเศส บุคคลที่กลายเป็นนักปฏิวัติสำคัญของโลก ก็เช่น โจวเอินไหล เติ้งเสี่ยวผิง อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน โฮจิมินห์ผู้นำของชาวเวียดนาม นายปรีดีเองได้เข้าศึกษาด้านกฎหมายจนสำเร็จปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยปารีส ในปี ๒๔๖๙ สามารถสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ และที่นี่เขาได้พบกับ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งลาออกจากราชการทหารและกำลังศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการทำการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ในเวลาต่อมา ซึ่งนายปรีดีเคยเขียนไว้ว่า
    "ภายหลังที่ข้าพเจ้าสนทนากับ ร.ท. ประยูรหลายครั้งแล้ว จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin ปรารภกันว่าได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาฯ มามากหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฉะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปาก คือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มาก แล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรก"
    ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ ณ หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส ได้มีการประชุมกลุ่มผู้ต้องการเห็นบ้านเมือง มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม) ซึ่งกำลังศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ ในโรงเรียนนายทหาร ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี ศึกษาวิชาการทหารม้า โรงเรียนนายทหารของฝรั่งเศส นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาเอก ในสวิตเซอร์แลนด์ หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยเลขานุการทูตสยามประจำกรุงปารีส นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ และนายปรีดี พนมยงค์ โดยตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของกษัตริย์เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์ใต้กฎหมาย โดยใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" และจับกุมบุคคลสำคัญไว้   เป็นตัวประกัน ซึ่งเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ใช้สำเร็จมาแล้ว ในการปฏิวัติฝรั่งเศสและรัสเซีย การที่ต้องยึดอำนาจโดยฉับพลัน ยังเป็นการป้องกัน มิให้มหาอำนาจคืออังกฤษ และฝรั่งเศสถือโอกาส ยกกำลังทหารเข้ามายึดสยาม ขณะที่เกิดความไม่สงบภายในประเทศ
    ที่ประชุมตกลงกันว่า เมื่อกลับประเทศแล้วหากการก่อการครั้งนี้ล้มเหลว หรือพ่ายแพ้  ให้นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งมีฐานะดีกว่าเพื่อน เป็นผู้ดูแลครอบครัวของเพื่อนที่ถูกติดคุกหรือตาย
    นายปรีดีมิได้มุ่งหมายเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพียงเพื่อให้ได้มา ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ทางการเมืองเท่านั้น หากแสดงเจตนารมณ ์ และแสดงบทบาทอย่างแจ่มชัด ที่จะก้าวไปสู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เหนือสิ่งอื่นใด เขาปรารถนาที่จะให้ระบอบประชาธิปไตย เป็นบรรทัดฐาน ในการพัฒนาประชาชาติเล็ก ๆ อย่างสยาม ให้ยืนหยัดอยู่อย่างมีเอกราช และศักดิ์ศรีในทุกด้าน ท่ามกลางนานาอารยประเทศ ในประชาคมโลกยุคใหม่ เจตนารมณ์ประชาธิปไตยของเขาปรากฏอย่างชัดเจนในหลัก ๖ ประการของ "ประกาศคณะราษฎร" ที่เขาเป็นผู้ร่างขึ้นเพื่อใช้เป็นคำแถลงการณ์ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ หลัก ๖ ประการมีดังนี้
    ๑. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯของประเทศไว้ให้มั่นคง
    ๒. รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
    ๓. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
    ๔. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
    ๕. ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวแล้ว
    ๖. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
    หลัก ๖ ประการนี้นายปรีดีมิได้เขียนขึ้นให้เป็นเพียงอุดมการณ์ที่ดูสวยหรู กาลเวลาต่อมาจะพิสูจน์ให้เห็นว่า นายปรีดีมีความมุ่งมั่นเพียงใดที่จะผลักดันหลัก ๖ ประการให้ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง

๑๖ พฤษจิกายน ๒๔๗๑ สมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ (คลิกดูภาพใหญ่)     ต่อมาภายหลังได้มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อการเพิ่มขึ้น คือ ร.อ. สินธุ์ กมลนาวิน ร.น. (หลวงสินธุสงครามชัย) นายควง อภัยวงศ์ นายทวี บุณยเกตุ ดร. ประจวบ บุนนาค ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ นายบรรจง ศรีจรูญ และได้ชักชวน พ.อ. พระยาทรงสุรเดช อดีตนักเรียนเยอรมัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางไปดูงานในฝรั่งเศส ให้เข้าร่วมด้วย และต่อมาได้กลายเป็นตัวเชื่อมให้นายทหารระดับอาวุโสเข้าร่วมกับคณะผู้ก่อการ เพราะในเวลานั้นนายทหารหลายคนไม่ค่อยพอใจระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ ดังที่พระยาทรงฯ เคยพูดไว้ว่า "พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าด้วยวิธีใดตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย..." หรือในกรณีของ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนาที่มีความเห็นว่า "ทำอย่างไรหนอ การบริหารแผ่นดินจึงจะไม่ถูกผูกขาดไว้ในกำมือของพวกเจ้านายและพวกเสนาผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน ทำกันตามอำเภอไม่ใคร่เอาใจใส่ความเห็นของผู้น้อย เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ ไปแล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองประสบความล่มจมได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าเทียมทันประเทศเพื่อนบ้านเขาได้เป็นแน่"
    นายปรีดีเดินทางกลับเมืองไทยขณะอายุได้ ๒๖ ปี ถือว่าเป็นคนไทยคนแรก ที่จบดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยปารีส นายปรีดีเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ประจำกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สอนในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม นับเป็นอาจารย์กฎหมายหนุ่มชื่อดังมากในเวลานั้น นายปรีดีเปิดการอบรมทบทวนวิชากฎหมาย ให้แก่นักเรียนกฎหมาย ที่บ้านถนนสีลมโดยไม่คิดค่าสอน เป็นโอกาสให้นายปรีดีได้เผยแพร่อุดมการณ์   ความจำเป็น ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งต่อมาลูกศิษย์จำนวนมากของนายปรีดีได้เป็นกำลังสำคัญ ของคณะราษฎร อาทิ นายซิม วีระไวทยะ นายสงวน ตุลารักษ์ นายดิเรก ชัยนาม
    ในช่วงเวลานั้น นายปรีดีซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ได้ติดต่อลับ ๆ กับบรรดาผู้ก่อการ เพื่อวางแผนยึดอำนาจโดยปราศจากการนองเลือด
    คณะราษฎรแต่ละสาย แยกย้ายกันหาสมาชิก ที่จะเข้าร่วมก่อการปฏิวัติ ซึ่งในเวลานั้นคนไทยส่วนหนึ่ง ก็ไม่พอใจระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ มีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของสยามประเทศ แต่ก็ยังไม่มีการจัดตั้งอย่างจริงจัง จนเมื่อกลุ่มผู้ก่อการเหล่านี้มาติดต่อ จึงมีคนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมมือด้วย มีทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน พ่อค้าและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้สมาชิกของคณะราษฎรแต่ละสาย จะไม่รู้ว่าสมาชิกผู้ก่อการสายอื่น ๆ เป็นใครบ้าง เป็นการปิดลับป้องกันข่าวรั่วไหล ซึ่งอาจจะทำให้แผนการยึดอำนาจล้มเหลว ภายหลังการปฏิวัติแล้ว จึงมีการรวบรวมตัวเลขของคณะผู้ก่อการ ปรากฏว่ามีสมาชิกทั้งสิ้น ๑๑๕ นาย มากกว่าครึ่งหนึ่ง มีอายุน้อยกว่า ๓๐ ปี
    "พี่สงวน (ตุลารักษ์) พี่ชายผม เป็นลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี แต่ผมไม่เคยเห็นท่านมาก่อน เขาปกปิดเก่ง สองสามเดือนก่อนเกิดเหตุการณ์ พี่ชายสั่งว่าให้ไปหาเพื่อนที่แปดริ้วมา ให้ยิงปืนได้ ผมก็พามาก่อนทำงานหนึ่งคืน แล้วพี่ชายก็มอบหน้าที่ให้ทำต่าง ๆ... งานนี้เป็นงานพิเศษจริง ๆ เพราะต่างคนต่างแบ่งสายกันไป ทหาร พลเรือน ข้าราชการ ต่างคนต่างทำหน้าที่ ทุกคนต้องปิดเป็นความลับ จำไม่ได้หรอกว่าใครชื่ออะไร" กระจ่าง ตุลารักษ์ อดีตสมาชิกผู้ก่อการคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
    ย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรที่วางแผนรอคอยมาถึงเจ็ดปี ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินอย่างสายฟ้าแลบ โดยลวงทหารจากกรมกองต่าง ๆ ให้มาชุมนุพร้อมหน้ากันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและถือโอกาสประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองทันที กำลังอีกส่วนหนึ่งไปเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์มาเป็นตัวประกัน
    วันนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ในวัย ๓๒ ปี จำต้องพูดปดกับท่านผู้หญิงพูนศุข เพราะกลัวภรรยาที่อายุยังน้อย จะไม่รักษาความลับ โดยบอกว่าจะเดินทางไปกราบพ่อแม่ ที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช แต่เช้าวันนั้นนายปรีดี ได้ลอยเรืออยู่ในคลองโอ่งอ่าง ข้างวัดบวรนิเวศ แจกจ่ายแถลงการณ์ "ประกาศคณะราษฎร" ซึ่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของตนชื่อโรงพิมพ์นิติสาส์น   ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือฝ่ายผู้ก่อการเกิดพลาดพลั้งทำงานไม่สำเร็จ   ก็จะทิ้งใบปลิวลงแม่น้ำเจ้าพระยาให้หมดสิ้น เพื่อทำลายหลักฐาน
    หลังจากยึดอำนาจในกรุงเทพฯ ได้เบ็ดเสร็จแล้ว คณะผู้ก่อการได้ส่งนายทหารเรือ เป็นตัวแทนไปกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐาน อยู่ที่พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ทรงทราบ และพระองค์ก็ทรง "เห็นแก่ความเรียบร้อย ของอาณาประชาราษฎร์   ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ..." จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ และทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่ร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนระบอบการปกครอง แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลัก และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ
    ในเวลานั้นหนังสือพิมพ์ทั่วโลกได้ตีพิมพ์ข่าวการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "การปฏิวัติอันไร้หยาดโลหิตในกรุงเทพฯ ฉากมหัศจรรย์ที่สุดฉากหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของโลก" เพราะการแปลงการปกครองในฝรั่งเศส จีน รัสเซีย ล้วนแล้วแต่เกิดสงครามกลางเมือง มีผู้เสียชีวิตอย่างมหาศาลกันทั้งนั้น

(คลิกดูภาพใหญ่) มรสุมชีวิต

    "เค้าโครงเศรษฐกิจนี่เป็นการทุบหม้อข้าว ของเจ้านายขณะนั้น เพราะกิจการของรัฐ ที่ดินบางส่วนจะเป็นของรัฐ ไม่เป็นของส่วนตัว ตอนนั้นอำนาจเงินของเจ้านายอยู่ที่ที่ดิน และส่วนมากคณะรัฐมนตรีเป็นพวกขุนนางเก่าก็ไม่เห็นด้วย และพระยามโนฯ สามารถเกลี้ยกล่อมนายทหารเกือบทั้งหมดยกเว้นพระยาพหลฯ ได้ว่า พวกพลเรือนนี่หัวรุนแรง... อาจารย์ปรีดีตอนหลังก็ยอมรับว่า เป็นความผิดที่ไม่พิจารณาลักษณะนิสัยใจคอของพระยามโนฯ ก่อนที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พอเป็นแล้วก็ดูเหมือนจะตั้งหน้าตั้งตากำจัดอาจารย์ปรีดีท่าเดียว"

 ทศ พันธุมเสน
บุตรชายของพระยาทรงสุรเดช

(คลิกดูภาพใหญ่)     ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดีได้มีส่วนในการเสนอชื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งต่อมาคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ และเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรก นายปรีดีได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี อาจกล่าวได้ว่านายปรีดีเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ นอกจากจะเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎรและเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสยามประเทศแล้ว เขายังเป็นอนุกรรมการผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม และเขาเป็นผู้ยกร่าง พรบ. การเลือกตั้งฉบับแรก พ.ศ. ๒๔๗๕ ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้เท่าเทียมผู้ชาย นับว่าก้าวหน้ากว่าประเทศฝรั่งเศสซึ่งเพิ่งเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิ์เช่นนี้ได้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒   
    แต่งานชิ้นสำคัญในระยะแรก คือการดูแลด้านเศรษฐกิจเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ว่า "วัตถุประสงค์ของการทำปฏิวัติครั้งนี้ ก็คือต้องการปฏิรูปการเศรษฐกิจ ทำชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น มิฉะนั้นจะไม่เปลี่ยน
    งานแรกของนายปรีดีคือการช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกภาษีอากรนาเกลือ ลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าที่สวน ออก พรบ. พิกัดเก็บเงินค่านาเพื่อคุ้มครองกสิกรมิให้สิ้นเนื้อประดาตัว ออก พรบ. ว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร เพื่อจำกัดสิทธิอันทารุณของนายทุนมิให้ใช้สิทธิจนเป็นภัยแก่กสิกร ออก พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และออก พรบ. ภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า ใครมีเงินได้มากก็เสียมาก เงินได้น้อยก็เสียน้อย
    ในระหว่างนั้นรัฐบาลมีมติมอบหมายให้นายปรีดีเป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งนายปรีดีได้ร่างเค้าโครงฯ แบบสหกรณ์เต็มรูปแบบ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี นายปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตายว่า เมื่อราษฎรผู้ใดไม่สามารถทำงาน หรือทำงานไม่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือชราหรืออ่อนอายุ ก็จะได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ ๓ แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง พรบ. "ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
    แต่น่าเสียดายที่ความคิดดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กว่าประเทศไทยจะยอมรับ ให้มีนโยบายประกันสังคม ก็เป็นเวลาอีก ๖๐ ปีต่อมา นายปรีดียังเสนอให้มีการตั้งธนาคารแห่งชาติ และออกสลากกินแบ่งเพื่อระดมทุนให้แก่รัฐบาล แต่ก็ถูกคัดค้านเช่นกัน
๘ พฤษจิกายน ๒๔๙๐ คณะรัฐประหาร นำโดยพลเอกผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครอง จึงต้องลี้ภัยการเมืองไปยังสิงคโปร์ (คลิกดูภาพใหญ่)     เมื่อนายปรีดีได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสนอต่อรัฐบาล ปรากฏว่าอนุกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งขึ้นมากลั่นกรองส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่อนุกรรมการส่วนน้อย คือ พระยามโนฯ พระยาศรีวิศาลฯ พระยาทรงสุรเดช นายประยูร ภมรมนตรี ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าและขุนนางยังเป็นผู้คุมอำนาจอยู่ เมื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย นายปรีดีจึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี สถานการณ์ของนายปรีดีขณะนั้นถือว่าเป็น "ตัวอันตราย" เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนทั่วไปยังให้ความเคารพ รัฐบาลจึงร่วมมือกับทหารบางกลุ่มทำการยึดอำนาจด้วยการปิดสภาและออก พรบ. คอมมิวนิสต์ ๒๔๗๖ ออกแถลงการณ์ประณามนายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดีจำต้องเดินทางออกนอกประเทศไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖
    แต่พอวันที่ ๑๙ มิถุนายนปีเดียวกัน คณะราษฎรที่นำโดย พ.อ. พระยาพหลฯ ได้ยึดอำนาจจากพระยามโนฯ และโทรเลขเชิญนายปรีดีให้กลับมาร่วมรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง สภาผู้แทนฯ ได้ตั้งกรรมาธิการสอบสวนกรณีนายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผลการสอบสวนได้ข้อสรุปว่านายปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
    ผลงานสำคัญของนายปรีดีในช่วงนี้คือการออกร่าง พรบ. จัดระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๔๗๖ มีเนื้อหาสำคัญคือการกระจายอำนาจการปกครองเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น หรือการปกครองระบอบเทศบาล มีสภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ทำให้ราษฎรสามารถปกครองตนเองได้อย่างแท้จริง
    นายปรีดียังมีส่วนสำคัญในการสถาปนาคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทำหน้าที่ร่างกฎหมาย เป็นที่ปรึกษากฎหมายแผ่นดิน เขาพยายามผลักดันให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ศาลปกครอง ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และทำให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ประเทศไทยมามีศาลปกครอง ก็เมื่อเวลาผ่านไป ๖๗ ปี

(คลิกดูภาพใหญ่) แก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

    "เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว นายปรีดีได้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติภารกิจอันมีความสำคัญต่อประเทศสยามอย่างยิ่งยวด นั่นคือเป็นผู้นำในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่รัฐบาลสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้" ้

 สันติสุข โสภณสิริ

      วันหนึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการพิจารณาเรื่องเงินกู้ต่างประเทศในรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ใช้วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำด้วยการรีดภาษีจากประชาชนให้มากขึ้น ดุลข้าราชการออกจากงาน และกู้เงินต่างประเทศ (เป็นวิธีหลักที่รัฐบาลปัจจุบันใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้) ปรากฏว่าเงินกู้จากประเทศอังกฤษต้องเสียดอกเบี้ยแพงมาก นายปรีดีจึงเสนอว่า "ผมรับไปเจรจาดอกเบี้ยเอง ขณะเดียวกันก็จะหาทางแก้ไขสัญญากับนานาประเทศ สร้างสัมพันธไมตรีอันดีให้เกิดขึ้นด้วย"
    ในเวลานั้นสยามยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรม กับประเทศต่าง ๆ ถึง ๑๓ ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศมหาอำนาจ การเดินทางไปเจรจาครั้งนั้นนายปรีดีเองก็ตระหนักว่าไม่ง่ายนักที่จะเจรจา ให้ประเทศมหาอำนาจยอมลดผลประโยชน์ของตัวเองลง
    ตุลาคม ๒๔๗๘ นายปรีดีกับคณะออกเดินทางด้วยเรือโดยสารไปขึ้นบกที่ประเทศอิตาลี ได้พบกับมุสโสลินี ผู้นำฟาสต์ซิสต์ของอิตาลี เข้าพบนายปิแอร์ ลาวาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ทั้งคู่รับปากว่าจะยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ต่อจากนั้นเดินทางไปเยอรมนี พบตัวแทนของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เพื่อเปิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันใหม่ และเดินทางไปกรุงลอนดอนเพื่อเจรจาเงินกู้กับเซอร์ แซมมวล ฮอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ผลการเจรจา เจ้าหนี้ยอมลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ จำนวนเงิน ๒,๓๔๐,๓๐๐ ปอนด์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๖ ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ ๔ ต่อปี
    จากนั้นนายปรีดีนั่งเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรไปกรุงวอชิงตัน เข้าพบนายคอร์เดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับปากเรื่องสนธิสัญญาเช่นกัน พอมาถึงกรุงโตเกียว นายปรีดีได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโต และเข้าพบนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งแสดงความเห็นใจและยอมยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
    ครั้นเดินทางกลับมาประเทศไทย นายปรีดีคำนึงว่า การบริหารแผ่นดินในกระทรวงมหาดไทยดำเนินไปด้วยดี แต่หนึ่งในหลัก ๖ ประการ คือ เอกราชในทางเศรษฐกิจ และศาลยังไม่ได้รับการแก้ไข กล่าวคือสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่สยามทำต่อมหาอำนาจทั้งหลาย ซึ่งมีสองประเด็นใหญ่ คือ สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คนต่างประเทศไม่ต้องขึ้นศาลสยาม เป็นการเสียเอกราชทางศาล และภาษีร้อยชัก ๓ คือรัฐบาลสามารถเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าของสินค้าได้ไม่เกินร้อยละ ๓ ทำให้สยามขาดรายได้ เป็นการเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ ดังนั้นนายปรีดีซึ่งเคยนั่งกระทรวงใหญ่มีข้าราชการหลายหมื่นคน จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ--กระทรวงเล็ก ๆ ที่มีข้าราชการร้อยกว่าคน เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘ (นับตามปฏิทินเก่า) ขณะอายุได้ ๓๕ ปี
    ระยะเวลาสามปีกว่าในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายปรีดีได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาขอยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมสองประเด็นนี้กับประเทศต่าง ๆ รวม ๑๒ ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ อังกฤษ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและเยอรมนี จนสามารถยกเลิกสัญญาทาส หรือสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคที่รัฐบาลสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ ในนามสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือได้สำเร็จ จนได้เอกราชทางศาลและเอกราชทางเศรษฐกิจกลับคืนมา พร้อมกันนั้นได้ลงนามในสนธิสัญญาใหม่ที่ใช้หลักการ "ดุลยภาคแห่งอำนาจ" เพื่อให้สยามได้เอกราช อธิปไตยสมบูรณ์และมีสิทธิเสมอภาคกับต่างชาติทุกประการ หนังสือพิมพ์ สเตรตไทม์ ของสิงคโปร์กล่าวยกย่อง นายปรีดีไว้ในบทบรรณาธิการว่า "ดร. ปรีดี พนมยงค์ เสมือนหนึ่งเป็น แอนโตนี อีเดน" (รัฐมนตรีต่างประเทศคนสำคัญของรัฐบาลอังกฤษ)

๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ทุลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูณ ฉบับ ๒๔๘๙ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย (คลิกดูภาพใหญ่) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    "ความอัตคัดขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการที่แสดงว่า ชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการ ถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานประมาณปีละ ๑๕-๓๐ วันและต้องเสียอากรค่านา""
 ปรีดี พนมยงค์

      ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รายได้จากภาษีอากรของรัฐศักดินาส่วนใหญ่ เก็บจากชาวนาซึ่งมีทรัพย์สมบัติน้อยอยู่แล้ว   แทนที่จะเก็บตามความสามารถทางฐานะของบุคคล และที่อยุติธรรมที่สุดคือ ภาษีรัชชูปการ อันเป็นเงินส่วยที่ราษฎรไพร่ต้องเสียให้แก่เจ้าศักดินา นายปรีดีเองมีความตั้งใจอยู่แล้วว่า จะต้องแก้ปัญหาภาษีที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์หนึ่งในหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร แม้ว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของเขาที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
    ดังนั้นเมื่อนายปรีดีเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ เมื่ออายุได้ ๓๘ ปี ในรัฐบาลของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม นายปรีดีแถลงต่อรัฐสภาว่า จะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม นายปรีดียกเลิกภาษีอากรที่ไม่เป็นธรรม อันได้แก่ ภาษีรัชชูปการและอากรค่านา ซึ่งเป็น "เงินส่วย"   ซึ่งราษฎรต้องเสียให้แก่เจ้าศักดินา และได้สถาปนา "ประมวลรัษฎากร" เป็นครั้งแรกในสยามประเทศ เป็นการวางรากฐานเกี่ยวกับบทบัญญัติภาษีอากรที่เป็นธรรมแก่สังคม คือผู้ใดมีรายได้มากก็เสียมาก ผู้ใดบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีมาก อันได้แก่ภาษีรายได้ ภาษีร้านค้า ภาษีธนาคาร ภาษีสุรา อากรมหรสพ ฯลฯ
    นายปรีดีคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในไม่ช้า เงินปอนด์ซึ่งสยามประเทศใช้เป็นทุนสำรองเงินตราอาจจะลดค่าลงได้ นายปรีดีจึงตัดสินใจเปลี่ยนการเก็บรักษาเงินทุนสำรอง เป็นทองคำแท่งแทนเงินปอนด์ โดยนำเงินปอนด์ที่เป็นทุนสำรองจำนวนหนึ่งไปซื้อทองคำแท่งหนัก ๒๗๓,๘๑๕ ออนซ์ ในราคาออนซ์ละ ๓๕ เหรียญสหรัฐอเมริกา และนำมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง ทำให้เสถียรภาพของค่าเงินบาทในเวลานั้นมั่นคงที่สุดแม้ว่าเป็นระยะใกล้จะเกิดสงครามเต็มทีแล้ว ทองคำแท่งดังกล่าวยังเป็นทุนสำรองเงินบาทมาจนทุกวันนี้
    งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของนายปรีดีที่มีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
คือการให้กำเนิดธนาคารชาติ นายปรีดีเขียนไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า ให้มีธนาคารชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐ คอยควบคุมธนาคารพาณิชย์ ทั้งเป็นผู้ออกธนบัตร รักษาทุนสำรองเงินตรา แต่ความคิดนี้ถูกฝรั่งที่ปรึกษาและคนไทยด้วยกันเองขัดขวาง ในเวลานั้นประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์เพียงไม่กี่แห่ง และเป็นของต่างชาติเกือบทั้งหมด การมีธนาคารชาติคอยควบคุมธนาคารพาณิชย์จึงมิใช่เรื่องเร่งด่วน และต่างชาติที่เป็นเจ้าของธนาคารเกรงว่าธนาคารชาติ จะเข้าไปแทรกแซงการประกอบธุรกิจของพวกตน
    แต่เมื่อนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขามองเห็นว่า การจะสถาปนาประเทศให้มีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ มีความเจริญทัดเทียมต่างชาติ ไทยจำเป็นต้องมีธนาคารชาติ เขาจึงได้ริเริ่มวางรากฐานอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน และเร่งฝึกพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมในการบริหารธนาคารชาติ ต่อมาจึงได้จัดตั้งธนาคารชาติไทย หรือที่รู้จักกันในนามธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์
    ในพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พลตรีเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ กล่าวในพิธีว่า
    "การตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทย เป็นความดำริที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้มีมาแล้วแต่ช้านาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้วางรากฐานลงไว้ โดยจัดตั้งสำนักธนาคารชาติไทยเป็นทบวงการเมือง สังกัดขึ้นอยู่ในกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบธุรกิจอันอยู่ในหน้าที่ของธนาคารกลางไปก่อนบางประเภท และเตรียมการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นต่อไป การงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยได้เจริญมาเป็นลำดับ ด้วยอาศัยปรีชาสามารถของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นั้นเป็นสำคัญ""

(คลิกดูภาพใหญ่) มหาวิทยาลัยของราษฎร ปณิธานของหลัก ๖ ประการ

    "อาจารย์ปรีดีรู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ทำให้ข้าราชการขึ้นมาเป็นใหญ่มากกว่าประชาชน ท่านถึงตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมืองเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก เพื่อราษฎรส่วนใหญ่ เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกเหนือการกำกับของรัฐเป็นแห่งแรก คือเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบที่กำลังพูดกันอยู่ตอนนี้ ซึ่งอาจารย์ปรีดีทำแล้ว ของบประมาณจำนวนน้อย และขอซื้อที่จากกรมมหาดเล็กที่ท่าพระจันทร์ แล้วก็ซื้อธนาคารเอเชียเพื่อเป็นแหล่งรายได้ นอกจากนี้ท่านยังยกโรงพิมพ์นิติสาส์นของท่านให้ธรรมศาสตร์ แล้วก็ฝึกให้คนเข้าใจ คุณจะเห็นได้เลยว่าเมื่อตั้งมหาวิทยาลัย ได้เปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยได้มาศึกษา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าบัณฑิตรุ่นนั้น มาเป็นนักการเมืองกันทั้งนั้น""

 ส. ศิวรักษ์

      ช่วงปี ๒๔๗๕-๒๔๗๗ สยามมีประชากร ๑๒ ล้านคน กรุงเทพฯ มีประชากร ๕ แสนคน มีนักเรียนระดับประถมและมัธยมทั่วประเทศ ๗๙๔,๖๐๒ คน ในจำนวนนี้มีนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพียง ๒,๒๐๖ คน นับว่าคุณภาพการศึกษาของคนไทยล้าหลังมาก นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงดำเนินตามปณิธานข้อสุดท้ายของหลัก ๖ ประการ ที่ว่า "ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" โดยผลักดันให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น เขากล่าวไว้ในวันสถาปนา มธก. เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ ว่า
    "มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร
ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้
ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความ
จำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น"
    ในปีนั้นมีคนสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเปิด (ไม่ต้องสอบเข้า) แห่งแรก เป็นจำนวนมากมายถึง ๗,๐๙๔ คน ส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่จบมัธยม ๘ รวมถึงข้าราชการตั้งแต่เสมียนขึ้นไป เกิดการกระจายการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่เมื่อปี ๒๔๗๕ มีผู้จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียง ๖๘ คน
    นายปรีดีดำเนินการให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเลี้ยงตัวเองได้ โดยอาศัยเงินค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษา และรายได้จากการเข้าถือหุ้นในธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพานิชยกรรมและอุตสาหกรรม โดย มธก. ถือหุ้นถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์
    คุณหญิงบรรเลง ชัยนาม ธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงคนแรกเมื่อปี ๒๔๗๘ เคยให้สัมภาษณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่เล่าเรียนมาว่า
    "ประทับใจความมีเสรีภาพในการเล่าเรียน เป็นตลาดวิชา แล้วก็ให้เสรีภาพเสมอภาคกัน ให้เรียนวิชาต่าง ๆ ที่อยากรู้ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณ อะไรอย่างนี้ เข้าไปแล้วรู้สึกสบายใจ อย่างบางโรงเรียนก็อาจมีเข้าไปแล้วแบ่งพรรค แบ่งพวก แต่ธรรมศาสตร์ให้ความเสมอภาคกันหมด สบายใจ วิชาที่เรียนเป็นวิชาที่ รักและสนใจ"
    ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นายปรีดีต้องหนีตายออกนอกประเทศ รัฐบาลเผด็จการทหารได้ตัดคำว่า "การเมือง" ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย ยุบเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ เปลี่ยนมาเป็นตำแหน่งอธิการบดีแทน ขายหุ้นธนาคารทั้งหมด จนมหาวิทยาลัยต้องกลับมาขอเงินงบประมาณและตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล
    หนังสือ ธรรมจักร พิมพ์เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓ มีผู้เขียนท่านหนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า "๑๔๕๕๙" กล่าวว่า
    "ครั้นเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ประมุขของมหาวิทยาลัยต้องลี้ภัยการเมือง ไปยังต่างประเทศ อาจารย์ถูกจับกุมคุมขัง การสอบไล่ของนักศึกษา ในบางลักษณะวิชาต้องทำการสอบกันใหม่เนื่องจากกระดาษคำตอบของนักศึกษา ถูกใช้เป็นเป้าสำหรับประลองความคมของดาบปลายปืน ขณะนั้นเป็นเวลาปิด สมัยการศึกษาประจำปี ซึ่งโดยปรกติมหาวิทยาลัยก็เงียบเหงาอยู่แล้ว แต่โดย เฉพาะอย่างยิ่งในขณะนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าและทึบทะมึน แม้ดวงอาทิตย์จะแจ่มกระจ่างปานใดก็ตาม แต่นักศึกษาที่ย่างเท้าเข้าไป ในมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ก็รู้สึกประหนึ่งว่าดวงอาทิตย์นั้นไร้แสง เพราะยอดโดม ที่เคยตระหง่านท้าทายเมฆดูคล้ายประหนึ่งว่าจะพลอยเศร้าไปกับนักศึกษาด้วย เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกโดยสัญชาตญาณว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป วาระที่เขาจะต้องกัดฟันเผชิญกับมรสุมและพายุร้ายได้มาถึงแล้ว"

  อ่านต่อคลิกที่นี่Click Here to Continue
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา

นักศึกษากับ การประกวดนางงาม โอกาสที่ยั่งยืน หรือเย้ายวน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ๑๐๐ ปีของสามัญชนนาม ปรีดี พนมยงค์ | ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ | ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ท่านปรีดีฯ และกรณีสวรรคต | บาร์ออกซิเจน | เพศที่ทำงานหนัก | "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" : ปฏิบัติการลับของ สื่อมวลชน | ยูคาฯ ๗.๕ แสนไร่ : การรุกคืบครั้งใหญ่ ของพืชเจ้าปัญหา | เฮโลสาระพา

Pridi Banomyong, an Ordinary Man: A Hundred Years | Use Thai Cloth
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail