Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ จ า ก บ ร ร ณ า ธิ ก า ร
คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาของ นายจำกัด พลางกูร อดีตเสรีไทยซึ่งเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคยเล่าถึงความคิดของอาจารย์ปรีดีที่ท่านพูดไว้เมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน แต่ยังเป็นความคิดที่ทันสมัยเสมอว่า

    "มีเหตุการณ์หลายอย่างในยุคปัจจุบันนี้ ที่ชวนให้ดิฉันคิดถึงท่าน เช่นเรื่องป่าไม้ ท่านเคยเตือนนายกรัฐมนตรี ในสมัยสงครามว่า ไม้สักในประเทศไทยกำลังจะหมดไป ฉะนั้นควรจะถือเป็นเรื่องด่วน ที่จะรณรงค์ปลูกไม้สักใหม่ในทันที หาไม่แล้วอีก ๕๐ ปีจะไม่มีเหลือเลย คำตอบที่ท่านได้รับก็คือ
"ใช่ อาจารย์เอาอะไรมาพูด อีก ๕๐ ปีเราจะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ พูดเรื่องเดี๋ยวนี้ดีกว่า นั่นเอาไว้คนอื่นเขาทำทีหลังแล้วกัน !"

      และเมื่อท่านกลับจากไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หลังสงคราม ท่านเล่าว่าได้ไปเห็นการทำนาข้าว ซึ่งอเมริกากำลังเริ่มเป็นการใหญ่ ท่านคาดว่า อีกราว ๆ ปีกว่า หรือสองปี เขาจะผลิตข้าวได้จำนวนมหึมา เราจะต้องรีบจัดการเตรียมพร้อม ไว้รับมือเขา จะต้องปรับปรุงแก้ไข ลดค่าผลิต ให้ต่ำลงให้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อสู้ด้านราคา และจะต้องเตรียมหาตลาดใหม่ ๆ ฯลฯ    
    อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ดิฉันได้พบกับนายทหารอากาศชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองไม่เคยรู้จักสนิทชิดเชื้อ กับท่านปรีดีมาก่อน ไม่เคยสนใจในความคิดของท่านปรีดี ในเรื่องอื่น แต่มาชอบใจ ที่บังเอิญได้พบท่าน เมื่อตอนเสร็จสงครามใหม่ ๆ และท่านบอกว่าต่อไปนี้กรุงเทพฯ จะต้องเป็นศูนย์กลาง ของการบินที่สำคัญแห่งหนึ่ง ควรจะต้องเร่งจัดการปรับปรุงสนามบินเดิม หรือสร้างขึ้นใหม่ ให้ทันสมัย ขืนทิ้งไว้จะไม่ทันการ จะสู้เพื่อนบ้านเขาไม่ได้ เขาบอกว่าท่านเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ได้อย่างถูกต้องจริง ๆ เมื่อตัวท่านเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เท่าไร ก็ถูกมรสุมการเมือง ซัดกระหน่ำเสียจนแทบตั้งตัวไม่ติด ท่านจึงยังไม่มีโอกาส ได้กระทำสิ่งที่ท่านต้องการทำเลย น่าเสียดายจริง ๆ"
      ห้าสิบปีผ่านไป คำเตือนของอาจารย์ปรีดี ก็เป็นจริง ป่าไม้ของไทยซึ่งสมัยนั้น มีมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ประเทศ พากันลดลง เหลือไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ประเทศ ป่าสักผืนใหญ่ตามธรรมชาติ ถูกทำลายจนเกือบหมด ยกเว้นบริเวณป่าสักผืนใหญ่ เนื้อที่ ๒ หมื่นกว่าไร่ในอุทยานแห่งชาติ แก่งเสือเต้น ซึ่งนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย กำลังผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนบริเวณนั้น
    ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ประเทศสหรัฐฯ จะเป็นผู้ค้าข้าวคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดโลก แต่ยังมีจีน เวียดนาม เป็นคู่แข่งสำคัญ ทำให้ข้าวที่ชาวนาเคยขายได้ สูงถึงเกวียนละ ๗,๐๐๐ บาทเมื่อปีที่แล้ว ตกต่ำมาเหลือเพียง เกวียนละไม่ถึง ๕,๐๐๐ กว่าบาท จนชาวนาต้องออกมาประท้วง ปิดถนนกันเมื่อเร็ว ๆ นี้
      สนามบินหนองงูเห่า ที่คิดว่าจะเป็นสนามบินนานาชาติ ก็ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปี ที่โครงการนี้เกิดขึ้น ด้วยเหตุผล เพราะนักการเมืองที่ผลัดเวียนกันเข้ามา ดูแลอภิมหาโปรเจ็กต์นี้ ตกลงผลประโยชน์หมื่นล้าน กับนักธุรกิจไม่ลงตัวสักที
    ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ อาจารย์ปรีดีมีโรงพิมพ์เล็ก ๆ ของท่านเองชื่อ โรงพิมพ์นิติสาส์น พิมพ์ตำราออกจำหน่าย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนเรียกได้ว่าท่านมีเงินมีทองทีเดียว ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว อาจารย์ปรีดีก็ยกโรงพิมพ์ ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายได้ทางเดียว จากตำแหน่งทางการเมือง พอถูกทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ หนีตายไปสิงคโปร์ ก็ต้องไปขอยืมเงินกัปตันเรือน้ำมัน ตอนลี้ภัยไปเมืองนอก มีเงินจากบำนาญ เดือนละสามพันกว่าบาท ลูกเต้าที่ติดตามไปอยู่ด้วย ต้องทำงานหนักเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ไม่มีเงินทองใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เหมือนลูกนักการเมืองคนอื่น ๆ
เมื่อกรีนพีซ ยกพลมาเมืองไทย (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
เมื่อกรีนพีซ ยกพลมาเมืองไทย
    อาจารย์ปรีดีเป็นนักการเมือง ที่กล้าเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อบริหารบ้านเมือง ตามอุดมคติของคณะราษฎร ที่ต้องการให้ราษฎรอยู่ดีกินดี ประเทศชาติมีอธิปไตย และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตลอดเวลา ๑๕ ปี อาจารย์ปรีดี ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เกือบครบทั้งตำแหน่ง ท่านได้วางรากฐานสำคัญ ๆ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ การกระจายการปกครอง ไปสู่ท้องถิ่น ผลักดันศาลปกครอง ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ เลิกอากรที่นา สถาปนา "ประมวลรัษฎากร" ซึ่งรวมบทบัญญัติภาษีอากร ที่เป็นธรรมแก่สังคม เจรจากับสัมพันธมิตร ให้ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง ตั้งธนาคารชาติ และที่สำคัญคือ การเป็นหัวหน้ากู้ชาติไทยไม่ให้ "เสียกรุง" เป็นครั้งที่ ๓ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฯลฯ เรียกได้ว่า ท่านทำงานหนักตลอดเวลา ด้วยความฉลาด ด้วยความกล้า และอย่างมีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่สักแต่มีอาชีพ เป็นนักการเมือง ได้มีโอกาสเวียนเป็นรัฐมนตรี ตามกระทรวงต่าง ๆ แต่ทำอะไรไม่เป็นเลย ทว่ากลับมีทรัพย์สินพอกพูนขึ้นทุกวัน
    กลับไปมองประวัติศาสตร์ใหม่ ศึกษาชีวิตอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้ถ่องแท้ แล้วเราจะรู้ว่า นักการเมืองที่ยิ่งใหญ่นั้นเป็นอย่างไร

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
Vanchai@Sarakadee.com
vanchait@hotmail.com

 
 
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา

นักศึกษากับ การประกวดนางงาม โอกาสที่ยั่งยืน หรือเย้ายวน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ๑๐๐ ปีของสามัญชนนาม ปรีดี พนมยงค์ | ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ | ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ท่านปรีดีฯ และกรณีสวรรคต | บาร์ออกซิเจน | เพศที่ทำงานหนัก | "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" : ปฏิบัติการลับของ สื่อมวลชน | ยูคาฯ ๗.๕ แสนไร่ : การรุกคืบครั้งใหญ่ ของพืชเจ้าปัญหา | เฮโลสาระพา

Pridi Banomyong, an Ordinary Man: A Hundred Years | Use Thai Cloth

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail