Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
ค น ไ ม้ ข า ว เ ต่ า ม ะ เ ฟื อ ง
วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ : เรื่องและภาพ

   ไม่ไกลจากแผ่นป้ายกำหนดวันลูกเต่ามะเฟืองออกจากไข่ ซากเต่าตนุขนาด ๘๐ กิโลกรัม ถูกทิ้งอยู่กลางหาด ช่องท้องมีรอยถูกผ่าเป็นแผลยาวเพื่อเอาไข่

 

(คลิกดูภาพใหญ่)

    อาจ ๑๐๐ หรือ ๑๒๐ ฟอง-เท่านั้น
   เช้าแห่งความหดหู่จู่โจมหาดไม้ขาวทันทีที่คนไปเจอซากของมัน ถูกคลื่นซัดมาติดชายหาดหน้าพรุเจ๊ะสัน ๒ กิโลเมตรเหนือบ้านไม้ขาว คนที่นี่ปักใจเชื่อว่าแม่เต่าตนุกำลังเตรียมขึ้นวางไข่ตอนหัวรุ่ง แต่ติดเบ็ดราวชาวประมง เลยถูกเอาชีวิตกลางทะเล
   "น่าเสียดาย" 
   "กรณีอย่างนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้วในหาดไม้ขาว" 
   "มันโหดร้ายเกิน"
   
ชาวบ้านที่มาดูระบายความรู้สึกผ่านคำพูดและแววตา
    และเป็น "บังหมาด" ที่พูดขึ้นว่า "ระหว่างชาวบ้านอยู่ในบรรยากาศการเฝ้าระวัง ช่วยกันอนุรักษ์เต่าทะเล แต่มีคนฆ่าเต่าเพื่อเอาไข่"
    คืนที่ผ่านมา เขากับอาสาสมัครชาวไม้ขาวเดินตรวจหาเต่ามะเฟืองตลอดแนวหาดตามปรกติ เหมือนเช่นอีกหลาย ๆ คืน... ตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นฤดูกาลวางไข่ของเต่ามะเฟือง ช่วงน้ำใหญ่--ข้างขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำไปจนค่ำสาม วันดีเดย์ตามความคาดหมายว่าเต่าจะขึ้นนั้น พวกเขาแทบจะนอนเฝ้าหาดกันเลย
    ผู้นำชาวบ้านหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ตกเย็น ผู้ใหญ่บ้านก็นิมนต์พระมาสวดมนต์กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แม่เต่า แล้วก็ฝังลงตรงนั้น ปฏิกิริยาของชาวบ้าน ๕๐ คนรวมทั้งเด็ก แปรสถานะลานทรายธรรมชาติเป็นลานพิธีกรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก... ในห้วงสนธยาซึ่งเข็มนาฬิกาได้หยุดลงชั่วขณะ 
    ชายหาดที่ใช้ฝังซากเป็นหาดที่แม่เต่าเชื่อตามสัญชาตญาณว่า สงบปลอดภัยพอจะฝากลูก ๆ ให้ดูแลสักสองเดือน พอฟักจากไข่ก็จะขึ้นมาเหนือทราย... มุ่งหาทะเล ที่ซึ่งคลื่นลูกแรกในชีวิตจะกระเตงมันออกไป...
   แม่เต่าไม่มีโอกาสทำเช่นนั้นอีกตลอดไป
    หากความหวังของหาดทรายยังไม่ดับวูบเสียทีเดียว ขณะพวกเด็ก ๆ ปักดอกไม้ลงบนหลุมฝังซากเต่า เราได้ยินผู้ใหญ่บ้านพูดว่า "เต่าตัวนี้จะบันดาลให้เราโชคดี" และแทนที่เด็กหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งจะแยกย้ายกันกลับบ้าน พวกเขากลับไปยืนออรอบ ๆ ตาข่ายแปลงเพาะฟักเต่ามะเฟือง จนพระอาทิตย์ลับหายลงในอันดามัน เห็นเพียงเงาเคลื่อนไหวซ้อนม่านตาข่าย-- กับแสงแดงฉานที่กำลังถูกดูดกลืนสู่ประตูแห่งรัตติกาล
   พิธีกรรมเกี่ยวกับเต่าทะเลวันนี้ไม่ได้จบลงที่การฝัง


(คลิกดูภาพใหญ่)

    ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓, ตรงกับพระจันทร์ ๒ ค่ำ
   เพื่อนของเราพาซ้อนมอเตอร์ไซค์เข้าหมู่บ้านไม้ขาว ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งอันดามันของอำเภอถลาง เกาะภูเก็ต ทางลาดยางตัดผ่านเขา และร่มเงาสวนยางพารา ถัดลงมาเป็นที่ลุ่มทุ่งนาของหมู่บ้าน และตัวหมู่บ้านขนาด ๔๐๐ กว่าหลังคาเรือน เราเลี้ยวเข้าถนนเล็ก ๆ สู่สันทรายชายหาด ริมทางช่วงนั้นเต็มไปด้วยฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง สภาพแวดล้อมก่อนถึงสันทรายน่าสนใจด้วยเป็นพื้นที่พรุย่อม ๆ ยังประโยชน์ในฐานะแหล่งปลาน้ำจืดของหมู่บ้าน
   ชาวไม้ขาวคนหนึ่งอวดถิ่นฐานของตัวว่า "ที่นี่คุณจะเห็นความสมบูรณ์ตั้งแต่ทะเลจนไปถึงสันเขา"
   หาดไม้ขาววันนี้ โรงแรม ร้านค้า บาร์เบียร์ยังมาไม่ถึง สิ่งก่อสร้างอย่างเดียวที่ปรากฏคือเรือนไม้ซอมซ่อสองหลัง เรียกว่าทับอวน หรือโรงอวนของ "ป๋าเฉ่ง" เคียงคู่อยู่กับโรงต้มปลากะตัก ทั้งสอง "โรง" จะตื่นนอนแต่เช้า รับชาวประมงพื้นบ้านกลับคืนฝั่ง และจะเช้ากว่า...คึกคักกว่าถ้าเต่ามะเฟืองขึ้น
   ถัดจากโรงปลาหน่อยเดียวจะเห็นป้ายชื่อขนาดใหญ่-- "อุทยานแห่งชาติหาดไนยาง" ซึ่งที่จริงควรเปลี่ยนเป็น "อุทยานแห่งชาติสิรินารถ" ตามอย่างทางการเสียนานแล้ว เขตอุทยานฯ นั้นครอบคลุมพื้นที่จากหลังสนามบินภูเก็ตไปจรดท่าฉัตรไชย โดยสภาพพื้นที่จะโป่งออก บริเวณหาดไนยางด้านทิศใต้ ตรงไม้ขาวจะคอดกิ่วเข้ามาเหลือเฉพาะที่ชายหาด แล้วค่อยโป่งออกอีกทีใกล้ท่าฉัตรไชย ส่วนเหนือสุดของเกาะ ชายหาดบริเวณนี้อาจมีชื่อเรียกขานต่างกันไป ภายใต้เครื่องหมาย "สิรินารถ" แต่ในความคิดของชาวบ้าน "พื้นที่ไม้ขาว" กินอาณาเขตตั้งแต่เวิ้งหาดไนยางด้านหัวสนามบิน, หาดไม้ขาว ต่อเนื่องถึงหาดทรายแก้ว ระยะทางราว ๘.๕ กิโลเมตร หรือเกือบทั้งหมดของ "ชื่อเรียกขานที่ต่างกัน" ข้างต้น
   นี่คือพื้นที่ทางการต่อสู้ของนักอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาว เชิงรูปธรรม

(คลิกดูภาพใหญ่)     หาดสีนวล ทรายละเอียดยิบที่เห็นคือ หาดไม้ขาว แหล่งชุมนุมของเต่าทะเลนับร้อยนับพันในอดีต เมื่อถึงฤดูเต่าวางไข่
อันที่จริง หากนับเวลา ๒๐ ปีย้อนหลัง แทบทุกหาดของภูเก็ตทางฝั่งอันดามัน ไม่ว่า หาดกมลา ไนทอน ป่าตอง กะรน กะตะ ไนหาน รวมทั้งท้ายเหมือง พังงา ล้วนเป็นแหล่งเต่าทะเลอย่างเต่าหญ้า เต่าตนุ และเต่ามะเฟือง ความที่ไข่เต่าหรือ "ไข่จะละเม็ด" มีมาก เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทางราชการจึงให้ประมูลสัมปทานไข่เต่า (ทุกชนิด) โดยเงื่อนไขจะต้องนำไข่เต่าส่วนหนึ่งประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เพาะฟักปล่อยกลับสู่ทะเล เพื่อทดแทนพันธุ์เต่าทะเลในธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกเต่าที่ปล่อยกลับสู่ทะเลไม่สามารถชดเชยการทำลายพันธุ์ในธรรมชาติได้ เต่าทะเลจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
      รายงานของผู้สัมปทานทำให้มองเห็นภาพคร่าว ๆ ว่าในปี ๒๕๒๒ มีเต่าขึ้นทำรังวางไข่ที่เกาะพระทอง ๒๓๘ หลุม ท้ายเหมือง ๒๒๗ หลุม และภูเก็ต ๑๒๕ หลุม ไข่เต่าที่ประมาณการจากจำนวนหลุมน่าจะอยู่ที่ ๖ หมื่นฟอง ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขอย่างต่ำ เพราะโดยทั่วไปผู้สัมปทาน จะแจ้งจำนวนเต่าขึ้นวางไข่น้อยกว่าความเป็นจริง ทว่าในปี ๒๕๓๖ เต่าขึ้นมาวางไข่ที่เกาะพระทองเพียง ๓๑ หลุม หรือเหลือเพียง ๑๓ เปอร์เซ็นต์ของปี ๒๕๒๒ เท่านั้น
   ภูเก็ตมีสัมปทานสองเขต คือทางฝั่งตะวันตกและทางตอนเหนือบริเวณหาดไม้ขาว ฝั่งตะวันตกหมดสัมปทานในปี ๒๕๒๘ และไม่มีการขอสัมปทานต่อ ทางหาดไม้ขาวซึ่งผู้ได้รับสัมปทานรู้จักกันในนาม "หลวงอานุพาส" หมดสัมปทานในปี ๒๕๒๕ ปีต่อมาจึงได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติไนยาง 
   สาเหตุที่ต้องเลิกสัมปทาน "นักเดินเต่า" -มือเก็บไข่เต่าเก่า ๆ บอกว่า "มีเต่าขึ้นน้อย ทำแล้วไม่คุ้ม" แต่ระหว่างนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า คนเดินเต่าผู้เคยรับจ้างบริษัทสัมปทานก็ยังออกหาไข่เต่า และนำไปขายอย่างสม่ำเสมอ
(คลิกดูภาพใหญ่)    เรานัดกับ วิโชติ ไกรเทพ เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ที่ทับอวนด้วยเรื่องเต่ามะเฟือง แต่เวลานั้นเต่าตนุทำให้เขาต้องวิ่งวุ่นส่งข่าวให้หนังสือพิมพ์ จึงยังไม่เจอเขา เราเอาของเก็บในเต็นท์ ก่อนจะออกไปทำความรู้จักกับไม้ขาวเพิ่ม
   จะว่าไป งานรณรงค์ไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งไหน นอกจากจะต้องถึงสื่อมวลชนแล้ว จะต้อง "ถึง" หน่วยราชการที่รับผิดชอบ แบบที่แกนนำชาวบ้านบอกเราว่า ถ้าไม่ติดเป็นวันอาทิตย์ จะพากันขนซากเต่าตนุไปประท้วงที่ประมงจังหวัด... ให้รู้กัน (อีกที) ว่ายังมีเรือประมงอวนลาก และเบ็ดราวละเมิดกฎหมายอยู่ตลอดเวลา เมื่อสองปีก่อน พวกเขาก็ตีเกราะเคาะไม้บอกคนทั้งหลายว่า ช่วงฤดูเต่าวางไข่ อาสาสมัครและชาวบ้านพบเห็นเต่าตายถึง ๑๔ ตัว เฉพาะบริเวณหาดไม้ขาว กรณีนี้ไม่นับรวมการซื้อขายเต่าทะเลเพื่อบริโภคและอุปโภค ซึ่งรู้ ๆ กันอยู่ว่าทุกวันนี้ยังมีอยู่แถวท่าเรือคลองท่าจีน สิเหร่ และราไว
      บนสันทราย...เลยเต็นท์ที่กางเรียงกันห้าหลังของอาสาสมัครเดินเต่าไม่ไกล เป็นแปลงเพาะฟักเต่ามะเฟืองขนาด ๒x๓ เมตร ล้อมตาข่ายสี่เหลี่ยม กันสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำหรือขโมยกินไข่ ด้านหน้ามีบอร์ดรูปภาพกิจกรรมของชาวบ้าน เกี่ยวเนื่องกับเต่าทะเล บอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเลในน่านน้ำไทยจำนวนห้าชนิด จาก แปดชนิด ที่พบทั่วโลก (บ้างก็ว่าเจ็ดชนิด) --เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวฆ้อน และเต่ามะเฟือง แน่ละ...ตอนท้ายมีข้อความคุ้นตาว่า "ปัจจุบันเต่าทะเลจัดเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง"
   น่าสังเกตว่า การจำแนกชนิดเต่า ระบบของท้องถิ่นคนรุ่นเก่า ๆ ที่นี่เขาจัดแบ่งเต่าทะเลเป็นสามพวก คือ "เต่าเล็ก" หมายรวมถึงเต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า "เต่ามะเฟือง" และ "เต่าใหญ่" (เต่าใหญ่ เป็นเต่าทะเลในความทรงจำของเฒ่าคนแก่ว่าเคยพบเห็นเมื่อสมัย ๔๐ ปีก่อน แต่ไม่ปรากฏในรายงานของนักชีววิทยา ลักษณะคล้ายเต่าตนุ แต่ขนาดใหญ่กว่าเต่ามะเฟือง น้ำหนัก ๘๐๐-๙๐๐ กิโลกรัม สำหรับเต่าหัวฆ้อนหรือเต่าตาแดง คาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยนานแล้ว)
   ภายในแปลงเพาะฟักใหญ่มีแผ่นป้ายกำหนดวันเกิดลูกเต่าปักอยู่หลายอัน เนื่องจากยังเหลือที่รอแตกจากไข่อีกห้าหลุม ๕๐๐ กว่าฟองด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีแปลงเพาะฟักขนาดเล็กอยู่อีกหนึ่ง ตรงชายหาดต่ำลงไปเป็นแปลง ๑๐๕ ฟองของแม่เต่ามะเฟืองที่มาเยือนเมื่อคืน ๒๘ มกราคม หรือตัวที่เพิ่งมาล่าสุด ชาวบ้านย้ายมันมาจาก "รังธรรมชาติ" เลยไปทางเหนือสัก ๓๐๐ เมตร ถ้าอาศัยเกณฑ์ที่ว่าไข่เต่ามะเฟืองใช้เวลาฟัก ๖๐-๖๕ วัน หรือนานกว่าเต่าเล็กหนึ่งสัปดาห์ ลูกเต่ารังหลังสุดจะเกิดแถว ๆ วันที่ ๓ เมษายน
 (คลิกดูภาพใหญ่)    ฤดูกาลนี้ไม่มีเต่าหญ้า หรือเต่าอื่น ๆ ขึ้นวางไข่ หากมีเต่ามะเฟืองขึ้นมาแล้วเก้าหลุมหรือเก้ารัง 
   เต่ามะเฟืองเลือกทำรังวางไข่บนหาดที่เงียบสงบ ในยามค่ำคืน โดยจะเริ่มหลังหมดมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน ไปสิ้นสุดเอาเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไป เพื่อให้ไข่ของมันปลอดภัยจากมรสุม ไข่หลุมสุดท้ายก็จะฟักเป็นตัวก่อนคลื่นลมมรสุมจะกลับมาอีกนั่นเอง
   รายงานของนักวิชาการทั้งฝรั่งและไทยบอกว่า เต่ามะเฟืองตัวหนึ่งสามารถขึ้นวางไข่ได้ห้าถึงเจ็ดครั้งต่อฤดู โดยเว้นช่วงตั้งแต่ ๑๒-๔๐ วัน จำนวนครั้ง, ความดกของไข่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่เต่า วางไข่แล้วจะเว้นไปหนึ่งถึงสามปีจึงกลับมาใหม่
   แต่จากประสบการณ์ ชาวบ้านเชื่อว่าแม่เต่ามะเฟืองตัวหนึ่งจะขึ้นวางไข่ฤดูกาลละสามครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ ๑๐ วัน โดยครั้งที่ ๒ และ ๓ จำนวนไข่จะลดลงเล็กน้อย ถ้าอาหารการกินสมบูรณ์ ไม่ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือประมง ปีหน้าฟ้าใหม่แม่เต่าตัวนั้นก็จะกลับมา
      ภูมิความรู้ผสมความเชื่อของคนชายเล ทำให้พวกเขาคาดหมายว่าไข่เต่าเก้ารังที่หน้าหาด มาจากแม่เต่าสี่ ตัว (ดูตารางสถิติการขึ้นวางไข่) แม่เต่าสามตัวแรกให้ไข่แปดรัง หรืออาจมากกว่าแต่สำรวจไม่พบ แม่เต่าตัวที่ ๔ น่าจะเพิ่งมาเมื่อคืนวันที่ ๒๘ มกราคม นั่นเป็นหลุมแรก เพราะจำนวนไข่มีถึง ๑๐๕ ฟอง
   หลุมที่ ๒, สิบวันจากครั้งแรกก็ควรเป็นวันที่ ๖-๗ กุมภาพันธ์ พอดีตรงกับวันขึ้น ๒ และ ๓ ค่ำ-- ช่วงน้ำใหญ่พอดี โอกาสที่จะได้เจอเต่ามะเฟืองจึงค่อนมาก
   เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยในทะเล แม้ครั้งหนึ่งจะเคยอาศัยบนบกแต่ก็วิวัฒนาการกลับลงไปอยู่ในทะเลนับร้อยล้านปีแล้ว วงจรชีวิตส่วนใหญ่ก็อยู่ในทะเล แต่เต่ายังต้องทำรังวางไข่บนบก ดังนั้น ด้วยรูปร่างซึ่งโตเต็มที่ได้ยาว ๒ เมตรกว่า น้ำหนักปาเข้าไป ๙๐๐ กิโลกรัม หรือราว ๆ รถเก๋งหนึ่งคัน--ที่อาจว่ายน้ำอย่างรวดเร็วและทรงพลังจากทะเลเขตร้อนขึ้นไปถึงมหาสมุทรอาร์กติก แต่มันไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตปรกติบนบก จึงคลานผ่านทรายด้วยความลำบาก แถมยังต้องแบกท้องอุ้ยอ้ายอีกต่างหาก
(คลิกดูภาพใหญ่)    น้ำทะเลที่ขึ้นสูงสุดในรอบเดือนและสูงสุดในแต่ละคืนช่วยให้เต่ามะเฟืองประหยัดพลังงานที่ใช้พาตัวเองขึ้นหาดได้เยอะ ยิ่งได้ชายหาดชัน น้ำลึกและคลื่นแรงอย่างหาดไม้ขาว จะยิ่งช่วยเต่าขนาดยักษ์อย่างมันผ่อนแรง ผ่อนระยะทางได้มาก นอกจากนี้ แนวน้ำขึ้นสูงสุด ยังทำให้แม่เต่ารู้สึกปลอดภัย ว่าเมื่อได้ปฏิบัติภารกิจวางไข่ไปแล้ว น้ำทะเลจะไม่ท่วมไข่ของมันเสียหาย เว้นเสียแต่จะมีพายุหลงฤดูเท่านั้น เต่ามะเฟืองจึงเลือกช่วงเวลา ๑๕ ค่ำต่อถึง ๓ ค่ำ ผิดกับเต่าเล็กที่ขึ้นได้จนถึง ๔-๖ ค่ำ
   ในคืนดังกล่าว กรณีพระจันทร์เต็มดวง แม่เต่าจะขึ้นฝั่งในช่วงเวลาที่พระจันทร์กำลังขึ้น และกลับลงไปก่อนพระจันทร์ตก คนเดินเต่ารู้จักพฤติกรรมของแม่เต่าดีพอสมควร จึงเรียกเวลานั้นว่า "ชิงเดือนขึ้น" และ "ลงชิงเดือน"
     ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓, พระจันทร์ ๒ ค่ำตกไปตั้งแต่บ่าย
   คืนนี้น้ำขึ้นเต็มที่ประมาณห้าทุ่ม เริ่มลงเอาหลังตีสองไปแล้ว 
   อาสาสมัครทยอยมารวมกันรอบ ๆ ตะเกียงหน้าเต็นท์ แต่สองทุ่มครึ่ง ไปจนสามทุ่มเศษก็นับว่ายังไม่สายเกินไป พวกเขาจะมีเวลาบนหาดอีกร่วมห้าชั่วโมงนับจากนี้
   นอกจากผู้มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาวอย่างนายสมบัติ แซ่อิ๋ว หรือป๋าเฉ่งแล้ว ไม่ช้าเราก็พบโกอุ่น โกนัย โกแดง พล ไข่ บังโหมด โจห่าน กอล์ฟ ติ๊ก และสมาชิกคนอื่น ๆ ของกลุ่ม สมทบด้วยวิโชติและบังหมาด อายุไล่ตั้งแต่ ๑๖ ปีถึง ๖๐ ปี ทั้งเด็กหนุ่มที่ไม่เคยเห็นเต่ามะเฟืองมาก่อน และคนเฒ่าที่ อดีตเคยหาไข่เต่ามาอย่างโชกโชนแล้วหันมาอนุรักษ์เต่าทะเลเต็มตัวภายหลัง เรื่องราวของพวกเขาเมื่อรวมกันจึงเป็นเรื่องมิรู้จบตลอดคืน
     กิจกรรมที่เรียก "เดินเต่า" นี้ โกอุ่น-มานพ คิดสร้าง ประธานกองทุนอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาว เล่าว่า เป็นประเพณีดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นภูเก็ต-พังงา ชาวบ้านจะออกเดินตามชายหาดตอนกลางคืน ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับช่วงเต่าขึ้นวางไข่ อาจเดินเพื่อเก็บหาไข่เต่าจริง ๆ หรือเดินเล่นโดยไม่ได้หวังผล แล้วพลอยได้ไข่เต่าติดไม้ติดมือกลับบ้าน ด้วยความที่ไข่เต่ามีมากถึงคืนละ ๒๐-๓๐ รัง แต่ทุกวันนี้ ไข่เต่าไม่ได้หาง่าย ๆ อีกต่อไป ความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจจึงเหลือแค่การมาเที่ยว มาพักผ่อนประสาครอบครัว หรือหนุ่มสาวมาจีบกันริมหาดในช่วงฤดูกาลเดิม ๆ เท่านั้น
   ส่วนกิจกรรม "เดินเต่า" ที่โกอุ่นและพรรคพวกทำอยู่นี้ เดินเพื่อป้องกันการลักลอบขโมยไข่เต่า, เก็บไข่เต่ามะเฟืองมาเพาะฟักยังที่ปลอดภัย และสะดวกในการดูแลรักษา, ดูแลชายหาดให้ปลอดภัยและเหมาะกับการวางไข่ของเต่า--อาจเป็นการสร้างแบบแผนประเพณีเดินเต่าแบบใหม่ขึ้นมาก็ได้

(คลิกดูภาพใหญ่)     "คุณอย่าไปหวังมากว่าต้องเจอ เขาเป็นสัตว์ใหญ่ การเจอตัวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเขามา... เราเจอแน่" โจห่านสะกิดเราไปคุยสองต่อสอง เมื่อเห็นถามถึงแต่เต่ามะเฟือง
   และบอกด้วยว่า ของแบบนี้ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าตั้งใจจะไม่พบ แต่ถ้าทำลืม ๆ แล้วจะพบเอง กับคนเก็บรังนกที่เราเคยเจอเมื่อหลายปีก่อน พวกเขาก็เสนอตรรกะทำนองแบบนี้
   "แกล้งไม่นึกถึง" อาจช่วยให้ผ่อนคลาย อาจเป็นการเตือนตัวเองให้หยุดคิดถึงสิ่งที่กำลังทำชั่วขณะ และคิดถึงความจริงบางอย่างที่พ้นออกไป หรือจริง ๆ แล้วพวกเขาอาจจะอยากพูดว่า "เวลานี้ไม่ใช่เวลาพูดถึงเต่ามะเฟือง" แต่จงคิดเรื่องการเดิน, พรายน้ำ, ดวงดาว หรือจักรวาลอะไรก็ได้ (เพราะเราควรสำนึกดูแลรักษาธรรมชาติมาตั้งนานแล้ว ถ้าไม่ดูแลก็อย่าได้หวังว่าจะเจอ...ไม่ว่าเต่าอะไรทั้งนั้น)
   ---ซึ่งมันก็น่าจะดีอยู่หรอก ถ้าโจห่านไม่พูดขึ้นตอนท้ายว่า
   "แต่ผมมีเซนซ์ว่าคืนนี้เราต้องเจอ ผมได้กลิ่นเขาแล้ว"
    เสียงกีตาร์เพลงเพื่อชีวิต เสียงพูดคุยเบาบางลง เมื่อทีมเดินเต่าแยกย้ายกันออกทำงาน 
    "โกนัย" หัวหน้าฝ่ายเฝ้าระวังชายหาด จัดคนเดินไปตามหาดด้านเหนือสองชุด ด้านใต้สองชุด ที่เหลือ stand by อยู่ที่เต็นท์ โดยให้ชุดแรกของทั้งสองสายออกเดินล่วงหน้าไปก่อน ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมชัยภูมิสำคัญ ๆ ที่แม่เต่าเคยขึ้นมาวางไข่ ตรวจหาดจนถึงที่หมายแล้วก็เฝ้ารอ จากนั้นชุดที่ ๒ จะตามไปเส้นทางเดิม ถึงครึ่งทางแล้วหยุดพัก...รอจนกระทั่ง "น้ำลงครึ่งหาด" ทั้งสองชุดค่อยถอนตัวกลับ 
    คนเดินเต่าจะมีไฟฉายประจำตัวกับวิทยุสนาม ไม่นับผ้าขาวม้าเอาไว้ปูนอน ห่มกันน้ำค้าง ข้อสำคัญ ถ้าเจอเต่ากำลังขึ้นหรือกำลัง "ตีลาน" หาที่เหมาะสมวางไข่ จะต้องดับไฟอยู่นิ่ง ๆ รอจนขุดหลุมเสร็จและเริ่มวางไข่จึงสามารถฉายไฟดู แล้วส่งสัญญาณไฟหรือวิทยุบอกคนอื่น ๆ 
ชาวบ้านเล่าว่า พอเต่าเริ่มวางไข่จะไม่สนใจอะไรทั้งนั้น แม้คนขึ้นไปขี่หลัง (ซึ่งไม่ควรทำ) ก็จะไข่ต่อไปจนหมด แต่ถ้าถูกรบกวนตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มวางไข่ หรือไปถูกก้นระหว่างวางไข่ แม่เต่าจะหันหัวกลับลงทะเลทันที ด้วยพลังอันมหาศาล จะไม่มีอะไรมาฉุดรั้งมันไว้ได้
    และ "ถ้าถูกรบกวน หาแหล่งวางไข่ไม่ได้ แม่เต่าจะปล่อยไข่เหล่านั้นทิ้งกลางทะเล" 

 (คลิกดูภาพใหญ่)     พอน้ำเริ่มลง เราเดินตามบังหมาดและพลไปทางเหนือ ผ่านจุดที่แม่เต่าขึ้นวางไข่เมื่อ ๑๐ วันก่อน ซึ่งว่ากันว่าเป็นลานทรายที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม ความกว้างของหาดจากป่าสันทรายถึงแนวน้ำขึ้นสูงสุดประมาณ ๑๐๐ เมตร ขณะที่หาดบางช่วงแคบ หรือไม่ก็เป็น "โหน" หรือเนินทราย ไม่เหมาะกับเต่ามะเฟือง
    พลพูดขึ้นว่าแม่เต่ามะเฟืองตัวนี้แปลก ขึ้นมาเยือนหาดไม้ขาวตอนเที่ยงคืนกว่า เมื่อน้ำลงไปถึงครึ่งหาด จึงมีคนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น "แม่เต่าสาว" (ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในการวางไข่) หลายคนจึงรอคอยจะพิสูจน์ว่าเป็นแม่เต่าสาวไม่ประสาหรือผู้มีประสบการณ์กันแน่
    "แม่เต่าสาว" หรือเต่าที่โตพอจะเริ่มแพร่พันธุ์ได้ สำหรับเต่ามะเฟืองน่าจะมีอายุระหว่าง ๒๐-๒๕ ปี ขนาดไม่ต่ำกว่า ๑.๕ เมตร
    เวลาเราพูดถึงพฤติกรรมของเต่ามะเฟือง คงต้องมีคำว่า "น่าจะ" อยู่ข้าง ๆ เกือบทุกครั้ง เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ ในประเทศไทยไม่มีอยู่เลย แม้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเองก็ยังมีความรู้น้อยมาก แน่ละ...ข้อมูลที่มีมากที่สุดคือช่วงเต่าขึ้นวางไข่
    แต่ว่ามันทำอะไรมาบ้างก่อนหน้านั้น, หลังจากวางไข่แล้วไปไหน เรายังไม่รู้แน่ชัด
    จากการศึกษาของนักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสในเฟรนช์เกียนา พบข้อมูลที่น่าสนใจเบื้องต้นว่า เต่ามะเฟืองแต่ละตัวมี "ลายนิ้วมือ" บนหัว ระบุลักษณะเฉพาะของมัน จึงทำบัตรประชาชนโดยถ่ายรูปหัวเต่ามะเฟืองแต่ละตัวเก็บไว้ เพื่อติดตามพฤติกรรม
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ในบรรดาเต่าทะเลด้วยกัน เต่ามะเฟืองเดินทางไกลที่สุด ไม่ว่าการไปยังแหล่งอาศัยหลังการวางไข่ หรือเคลื่อนย้ายถิ่นตามแหล่งอาหาร จากการติดแท็ก (tag) ติดตามเต่ามะเฟืองในมหาสมุทรแอตแลนติกพบว่า เต่าเคลื่อนย้ายหากินแมงกะพรุน- อาหารโปรดจากเฟรนช์เกียนา ขึ้นไปถึงรัฐนิวเจอร์ซีย์ (จากชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกถึงสหรัฐฯ) ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวเป็นระยะทางถึง ๔,๕๐๐ กิโลเมตร
   เต่ามะเฟืองซึ่งเป็นสัตว์เลือดเย็น สามารถเคลื่อนย้ายถิ่นจากน่านน้ำในเขตร้อน สู่บริเวณที่อากาศเย็นจัดได้ เพราะมันมีระบบปรับอุณหภูมิในร่างกายอย่างเยี่ยม โดยอาศัยระบบไหลเวียนของเลือดในตัวแบบพิเศษ ชนิดที่สัตว์เลื้อยคลานอื่นทำไม่ได้นั่นเอง
    นอกจากเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งกาจแล้ว เต่ามะเฟืองยังเป็นนักดำน้ำชั้นยอดอีกด้วย เต่าสามารถดำน้ำลึกเกือบ ๑,๐๐๐ เมตร ลงไปจับแมงกะพรุนยักษ์กินได้ตลอดทั้งวัน และกลับขึ้นมาอยู่บริเวณผิวน้ำอีกที ตอนโพล้เพล้ ใต้ผิวหนังหนา ๔ เซนติเมตร ของเจ้าเต่ามะเฟืองเป็นชั้นไขมันหนาเตอะ ไขมันนี้เอง ถูกใช้เป็นฉนวนปกป้องร่างกายจากน้ำที่เย็นจัด ขณะดำลงไปใต้มหาสมุทร รวมทั้งช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากความกดอากาศ นอกจากนั้นมันยังดึงเอาออกซิเจนที่สะสมไว้ในกล้ามเนื้อ มาใช้ในการหายใจใต้นั้นอีกด้วย
    เมื่อถึงฤดูวางไข่ เต่ามะเฟืองตัวเมียที่เจริญเติบโตพอจะแพร่พันธุ์ได้ จะเดินทางจากแหล่งอาศัย หรือแหล่งอาหารไปยังแหล่งผสมพันธุ์ ซึ่งจะมีแหล่งที่แน่นอน และคาดว่าไม่น่าจะไกลจากแหล่งวางไข่มากนัก เต่าตัวเมียจะสามารถเก็บน้ำเชื้อตัวผู้ไว้ในรังไข่จำนวนมาก พอที่จะผสมกับไข่ได้ตลอดฤดู การวางไข่แต่ละครั้งจึงไม่ต้องกลับมาผสมพันธุ์กันใหม่อีก เต่าตัวผู้เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว จะเดินทางกลับสู่แหล่งอาหารทันที ในขณะที่เต่าตัวเมียจะเดินทางไปสู่แหล่งวางไข่ ซึ่งนักชีววิทยามีหลักฐานยืนยันค่อนข้างแน่ชัด ว่าเป็นแหล่งเดิมที่เต่ากำเนิด
    เต่ามะเฟืองรวมทั้งเต่าทะเลชนิดอื่นเดินทางไกลมาราธอนโดยใช้สนามแม่เหล็กบนพื้นท้องมหาสมุทรนำทาง ช่วยให้เต่าไม่หลงออกนอกเส้นทาง ส่วนปริศนาที่ว่าเต่าจำแหล่งกำเนิดได้อย่างไรนั้น นักชีววิทยาสันนิษฐานว่า เต่าจดจำสภาพทางเคมีของน้ำทะเลและสภาพแวดล้อม "ละแวก" นั้นไว้อย่างแม่นยำแต่แรกเกิด พอถึงเวลา นาฬิกาชีวภาพอันเที่ยงตรงในตัวจะนำพาเต่ากลับมา
    ตามความหมายนี้ "ละแวก" เป็นอะไรที่กว้างกว่าหาดที่มันเกิด เต่าตัวที่มาเยือนไม้ขาว ไม่จำเป็นต้องเกิดที่หาดไม้ขาว หาดไนยางหรือหาดทรายแก้วโดยเฉพาะ แต่อาจเป็นท่านุ่น ท้ายเหมือง เกาะพระทองก็ได้ ในทางชีววิทยา แนวหาดด้านเหนือของภูเก็ต ข้ามสะพานสารสินไปถึงพังงา ระยะทาง ๒๐-๓๐ กิโลเมตรถือว่าสภาพทางเคมีใกล้เคียงกัน
(คลิกดูภาพใหญ่)     คืน ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๒, ๒๑.๓๐ น.
    ใครต่อใครกำลังเฉลิมฉลองสหัสวรรษใหม่ ชาวบ้านไม้ขาวก็จัดงานรื่นเริงปีใหม่ ชื่อ "ต้อนรับเต่ากลับบ้านไม้ขาว"
    เต่าขนาดประมาณ ๖๐๐ กิโลกรัม ซึ่งกระดองเป็นแผ่นหนังหนาสีดำ เป็นสันนูนตามแนวยาวจากส่วนหัวถึงท้ายเจ็ดสันกำลังตีลานเตรียมวางไข่ โกนัยกับทีมเยาวชนสองสามคนไปพบเข้าพอดี บริเวณทางใต้ของทับอวน ห่างไม่ถึง ๕๐๐ เมตร เขาคิดว่าเต่ามะเฟืองน่าจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที คลานขึ้นมาจากทะเลถึงจุดที่ปลอดภัย ตีลานและขุดหลุมเป็นโพรงลึก ๗๕ เซนติเมตร ใช้เวลาร่วม ๓๕ นาที
    ขณะเต่าใช้เท้าหลังขุดทรายดัง "ครือ ๆ " เจ็บท้องใกล้ไข่เต็มที ความสับสนอลหม่านก็บังเกิด เมื่อฝูงชนที่เกิดจากการบอกปากต่อปาก เริ่มมุงดูหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ จาก ๑๐๐ เป็น ๒๐๐ คน อาสาสมัครชาวไม้ขาวห้ามได้อย่างเดียวคือ "ไม่ให้ฉายไฟ" กับส่งคนไปคอยสกัดมอเตอร์ไซค์ไม่ให้บึ่งลงมากลางหาด พอเต่าเริ่มวางไข่ ก็ต้องคอยยื้อยุดฉุดกระชาก กับคนที่ต้องการเข้าใกล้ชิดเต่ามะเฟืองให้มากที่สุด รวมทั้งพวกคนเมา คนงานใกล้เคียง นักท่องเที่ยวที่มาหลบมุม ซึ่งไม่เคยพบเคยเห็น ไม่เข้าใจพฤติกรรมเต่าว่าควรระมัดระวังอย่างไร
    เต่าตัวนี้เป็นเต่ามะเฟืองตัวแรกในรอบหลายปีที่คนไม้ขาวได้เห็นขณะวางไข่ เพราะนอกจากนี้เป็นการตรวจพบรังภายหลังเกือบทั้งหมด สิ่งดี ๆ คือเยาวชน เด็ก ๆ หลายคนได้เห็นภาพ ตั้งแต่แม่เต่าเริ่มใช้ตีนหน้าและหลังสลับกันพุ้ยทรายไปข้างหลัง เพื่อขุดหลุม เห็นไข่เต่าสีคล้ายทรายใบกลมโต ๒ นิ้วที่ดูมีชีวิต ผิดจากไข่เต่าที่เคยเห็นพ่อแม่กิน เห็น "น้ำตา" ของแม่เต่า อันเป็นธรรมชาติของการปรับความสมดุลเกลือ และของเหลวในร่างกาย ซึ่งใครบางคนอาจเห็นว่ามันเจือน้ำตาที่หลั่ง เพราะความเจ็บปวดปนปีติก็ได้
    จวบจนเห็นเต่ากลบหลุมไข่ และใช้ตีนหลังและกระดองหน้าอกตบทรายให้แน่น เกลี่ยทรายรอบ ๆ ให้เรียบเป็นวงกว้างเพื่ออำพรางหลุมไข่ที่แท้จริง... ปกป้องลูกของมัน บางคนบอกว่าแม่เต่าจะหยุดพักเหนื่อยครู่หนึ่ง ก่อนกลับลงสู่ทะเล
    งานต้อนรับเต่ากลับบ้านไม้ขาวคืนนั้นกลายเป็นงานรับขวัญแม่เต่ามะเฟืองจริง ๆ แม้กลุ่มอนุรักษ์จะเรียกมันว่า "สัตว์ที่พลัดหลงมาสู่สหัสวรรษใหม่" อันแสดงถึงความวิตกกังวล เชิงยอมรับว่า เต่าทะเล ไม่เฉพาะแต่เต่ามะเฟืองเท่านั้น เป็นชื่อที่เริ่มพรากจากเราไปเรื่อย ๆ ก็ตาม
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ไข่ ๑๐๕ ฟองถูกนำมาฝากไว้ในอ้อมอกแห่งชายหาดไม้ขาว รอให้แดดเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ให้ไออุ่นครบ ๖๐ วัน ลูกเต่าจะใช้ปุ่มเล็ก ๆ คล้ายจะงอยตรงปลายจมูกเจาะเปลือกไข้ให้แตก เหมือนลูกนกเอาหัวกระแทกเปลือกไข่ ออกมาอยู่ใต้ผืนทราย พักรอจนแข็งแรงดี และเมื่อประสาทสัมผัสถึงอากาศเย็นตอนหัวรุ่ง ลูกเต่ารู้ว่าหากขึ้นสู่ผิวทรายตอนนี้ โอกาสรอดจากผู้ล่าอย่างนก หรือตะกวดมีสูงกว่าเวลาอื่น จึงขยับตัวพร้อมกันในหลุมใต้ทรายแล้วขึ้นสู่ผิวทรายเกือบพร้อม ๆ กัน ลูกเต่าหมุนตัวไปรอบ ๆ ราวกับจะเก็บบันทึกอะไรบางอย่างไว้ในความทรงจำ จากนั้นมันจะกระจายกลุ่ม ใช้ขาคู่หน้าตีกรรเชียงพร้อมกันเหมือนนกกระพือปีก คลานไปหาคลื่นลูกแรกในชีวิต ลูกเต่าจะว่ายน้ำสู่ทะเลลึกอย่างเต็มที่ ต่อเนื่องกันไม่หยุดพักสามถึงห้าวัน ระยะนี้เต่าจะใช้ไข่แดงที่ยังมีสะสมอยู่ในตัวเป็นอาหาร เมื่ออาหารสะสมหมดจึงหยุดพักลอยตัวและหาอาหารกิน
    ชาวประมงบางหมู่บ้านยังเชื่อว่า วันครบกำหนดที่ลูกเต่าออกจากไข่พากันตรงดิ่งสู่ทะเลและว่ายน้ำอย่างเอาจริงเอาจังนั้น คืนนั้นจะมีแม่เต่ามารอรับลูกของมัน
    แต่ ! ในความเป็นจริง หรือจากตัวเลขที่พอจะยืนยันได้โดยนักชีววิทยา เต่ามะเฟืองในธรรมชาติ ๑ ตัว ใน ๒,๕๐๐ ตัว หรือ ๐.๐๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พาชีวิตรอดพ้นอันตรายจนเติบโตพอจะแพร่พันธุ์ได้ ตัวเลขนี้เป็นอัตราที่สูงและมองโลกในแง่ดี เพราะบางคนบอกว่า เพียง ๐.๐๐๕ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑ ใน ๒๐,๐๐๐ ตัวเท่านั้นที่รอด 
    "ผมคิดว่าอัตราการอยู่รอด (ต่อไปในโลก) ของเต่ามะเฟืองคือ ๕๐/๕๐ วิกฤตของเผ่าพันธุ์จริง ๆ จะเกิดขึ้นภายในอีก ๒๐ ข้างหน้า" นักวิจัยชาวตะวันตกคนหนึ่งบอกไว้ ปัจจุบันคาดว่าประชากรเต่ามะเฟืองตัวเมียที่โตพอจะแพร่ขยายพันธุ์คาดว่าเหลืออยู่ ๗๐,๐๐๐-๑๑๕,๐๐๐ ตัวทั่วโลก
 

    ดังนั้นสิ่งที่น่าตื่นเต้นต่อจากการเฝ้าดูเต่าวางไข่สำหรับกลุ่มอนุรักษ์แห่งไม้ขาว คือการเก็บรวบรวมไข่เต่าอย่างเร่งรีบ ภายในห้าชั่วโมงนับจากแม่เต่าไข่ เพื่อนำไปฝังยังแปลงเพาะฟักริมหาด หากเคลื่อนย้ายช้ากว่านี้ โอกาสที่ไข่เต่าจะเสียมีมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากส่วนของไข่แดงเกาะกับผนังแล้ว
   กลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาวมิใช่เพิ่งริเริ่มดูแลรักษาเต่าทะเล พวกเขาลงมือลงแรงและกำลังทรัพย์มานานถึงเก้าปี โดยมีศูนย์เพาะเลี้ยงฯ สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเลคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้าง ๆ 
   โกอุ่นเล่าถึงการก่อตัวของกลุ่มชาวไม้ขาวว่า ระหว่างปี ๒๕๓๒-๒๕๓๓ ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภูเก็ตรณรงค์คัดค้านกรณีนักลงทุน บรูซ แรพพาพอร์ต จะขอเช่าที่ราชพัสดุ (ในขณะนั้น) เกือบ ๓,๐๐๐ ไร่ บริเวณท่าฉัตรไชยทำที่พักตากอากาศในระยะเวลา ๙๙ ปี เหตุผลหนึ่งของการคัดค้านคือ หาดทรายแก้ว (ซึ่งอยู่ติดกับหาดไม้ขาว) เป็นหาดสาธารณะเพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลือให้คนภูเก็ตได้พักผ่อนโดยไม่ต้องเป็นคนแปลกหน้า และมีเต่าทะเลขึ้นวางไข่ การคัดค้านครั้งนั้นได้รับชัยชนะ ทางราชการไม่อนุญาตให้มีการเช่าที่ดินดังกล่าว และต่อมาได้รับการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ
   ช่วงปี ๒๕๓๔ ชมรมอนุรักษ์ฯ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ จัดทำโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลที่บ้านไม้ขาว โดยเริ่มรวบรวมไข่เต่ามาเพาะฟัก และปล่อยลงทะเลในเดือนเมษายน ฤดูกาลแรกได้ไข่เต่าเพียง ๑ หลุม ๙๔ ฟอง พอฤดูกาลที่ ๒ ปี ๒๕๓๔/๒๕๓๕ รวบรวมได้ ๔ หลุม ๔๕๒ ฟอง และมีการทอดผ้าป่าไข่เต่า จัดตั้งกองทุนอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาวได้รับเงินสนับสนุนจากสาธารณชนเกือบ ๘ หมื่นบาทเป็นทุนดำเนินกิจกรรม
   ฤดูกาลที่ ๓ ปี ๒๕๓๕/๒๕๓๖ มีเต่าขึ้นวางไข่ ณ หาดไม้ขาว ๑๕ หลุม เป็นเต่ามะเฟือง ๑๑ หลุม เต่าหญ้า ๔ หลุม รวม ๑,๐๐๐ ฟอง ฤดูกาลต่อมามีเต่าวางไข่ถึง ๑๗ หลุม มากกว่าทุก ๆ ปี
   ถึงเวลานั้นประตูบ้านไม้ขาวถูกเปิดออกเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ไข่และลูกเต่าเป็นประจักษ์พยานว่า ไม้ขาวยังมีเต่าทะเลขึ้นวางไข่จริง โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง สัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ที่สุด และคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

 (คลิกดูภาพใหญ่)     ชมรมอนุรักษ์ฯ และชาวไม้ขาวใช้วิธีดึงดูดใจคนเก็บไข่เต่า โดยการรับซื้อไข่เต่ามาเพาะฟัก ในราคาหลุมละ ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ บาท หรือฟองละ ๓๕ บาทสำหรับไข่เต่ามะเฟือง และจัดอาสาสมัครลงพื้นที่ ในฤดูเต่าวางไข่เพื่อเก็บไข่เต่ามาดูแลเพาะฟักอีกทางหนึ่ง โดยใช้เทคนิคเพาะฟักในกล่องโฟมใส่ทราย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเลผลัดเปลี่ยนกันมาอบรมชี้แนะ อนุบาลไว้พอแข็งแรงก็ปล่อยลงทะเล
    ชาวไม้ขาวอาศัยกิจกรรมปล่อยเต่าที่จัดขึ้นในวันสงกรานต์หารายได้เข้ากองทุนฯ คิดค่าตัวลูกเต่าจากคนที่มาท่องเที่ยวตัวละ ๓๐๐ บาท แต่ก็เฉพาะเต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้าเท่านั้น สำหรับเต่ามะเฟืองเพาะได้แล้วก็ต้องปล่อยลงทะเลเพราะเลี้ยงยาก กระดองที่เป็นหนังมักติดเชื้อจนเสียชีวิตภายในสองสามเดือน
    แต่แล้วในช่วงสองปีต่อมา เต่าขึ้นวางไข่น้อยมาก เต่ามะเฟืองไม่มีเลย ชาวบ้านคิดว่าเต่ามะเฟืองคงหมดไปจากหาดไม้ขาวแล้ว ในชุมชนเองก็มีปัญหาให้ต้องแก้ไขหลายเรื่อง งานอนุรักษ์เต่าจึงชะงักไป
    เวลาเก้าปีที่ "เหมือนทดลองกับความจริง" มาตลอดสำหรับชาวไม้ขาว และมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชฯ พวกเขาไม่เพียงแต่คอยลุ้นข่าวเต่าวางไข่ ข่าวเต่าตายขึ้นมาเกยหาดก็มีมาสม่ำเสมอ ยังมีคนเก็บไข่เต่าขาย เรืออวนลาก เบ็ดราวยังคงมาอวดศักดาใกล้แนวฝั่งเกินกว่า ๓ กิโลเมตร ไม่ต้องคาดหวังถึงขนาด ๕ กิโลเมตร อันเป็นระยะห่างตามกฎหมายกำหนด สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือหวังให้เรืออวนติดเครื่องมือแยกเต่าทะเล TED (Turtle Excluding Device) ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการระยะสั้นบังคับใช้ กับเครื่องมืออวนลากกุ้งของไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ กันหรอก
(คลิกดูภาพใหญ่)     ซ้ำร้าย ชาวบ้านยังถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย ในข้อหาเคลื่อนย้ายไข่เต่า เพาะฟัก มีไว้ในครอบครอง และขายลูกเต่า รวมทั้งการเดินเต่าในเขตอุทยานแห่งชาติ
   ทุกคนรับรู้ถึงปัญหา และอาจมีความเห็นคล้อยตามอดีตมือเก็บไข่เต่า ผู้กลายมาเป็นตัวหลักในการอนุรักษ์อย่างป๋าเฉ่ง ว่า "ปีไหนเราไม่ได้เอาใจใส่ดูแลเต่า พวกเขาก็จะไม่ขึ้นวางไข่ เหมือนเช่นปี ๒๕๓๘ ถึงปี ๒๕๔๐" ดังนั้นเมื่อคนเก่า ๆ กลับมารวมตัวรื้อฟื้นกิจกรรมอนุรักษ์เต่าที่บ้านไม้ขาวอีกครั้ง ฤดูกาล ๒๕๔๐/๒๕๔๑ มีเต่าขึ้นวางไข่ถึง ๑๕ หลุม รวบรวมไข่เต่ามะเฟืองได้กว่า ๑,๐๐๐ ฟอง 
   เรื่องฝ่าฝืนกฎหมายอุทยานแห่งชาติ กองทุนฯ แก้ปํญหาด้วยการทำงานในลักษณะของความร่วมมือสามฝ่าย คือ ชาวบ้าน ราชการ (อุทยานฯ, สถาบันวิจัยชีววิทยาฯ, ประมงจังหวัด) และองค์กรเอกชน ประชุมตกลงกันว่า ชาวบ้านทำงานในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน คืออุทยานแห่งชาติสิรินารถ และได้ร่วมกับอุทยานฯ จัดอาสาสมัครลาดตระเวนชายหาด ระหว่างเดือนตุลาคม- พฤศจิกายน (ตามแผนจะดำเนินการทุกปี) เพื่อป้องกันการลักลอบขโมยไข่เต่า และนำไข่เต่ามาเพาะฟักดังที่กล่าวแล้ว โดยในครั้งนี้ได้เปลี่ยนวิธีเพาะฟัก จากเพาะในกล่องโฟม มาเป็นแปลงเพาะฟักหลุมทรายชายหาด ซึ่งใกล้เคียงสภาพธรรมชาติมากกว่า ส่วนกรณีขายลูกเต่า (วันสงกรานต์) ก็ให้ดูเจตนาของกองทุนฯ ที่ต้องหารายได้ด้วยวิธีรับบริจาค ลูกเต่าที่เพาะฟักบริเวณหาดไม้ขาว ส่วนใหญ่เป็นเต่ามะเฟืองจึงปล่อยลงทะเลทันที ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้
   ขณะนี้ กองทุนฯ และทางสถาบันวิจัยชีววิทยาฯ มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญ นั่นคือ ต้องลดการตายของแม่เต่าลงให้ได้ ภูเก็ตควรได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามซื้อขายไข่เต่า เนื้อเต่า ซากเต่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเต่าทะเล บริเวณหาดไม้ขาว หรือแหล่งที่เต่าขึ้นวางไข่ ควรได้รับการประกาศเป็นพื้นที่วิกฤตของเต่าทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูที่เต่าวางไข่  ประมงจำพวกอวนลาก อวนถ่วง อวนลอย และเบ็ดราว ควรห้ามจากพื้นที่นี้ตลอดฤดูกาลสามเดือน
(คลิกดูภาพใหญ่)    ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓, ขึ้น ๓ ค่ำ 
   คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายสำหรับฤดูกาลของเต่ามะเฟืองปีนี้ตามความนึกคิดของคนไม้ขาว และ..."เซนซ์" ของโจห่าน
   ตอนเช้าตรู่ เรืออวนของป๋าเฉ่งแล่นฉิวเลียบหาดไปทางทิศใต้ เพื่อสำรวจ "รอยเท้า" แม่เต่า เรือแล่นได้ใกล้หาดมาก เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าหาดไม้ขาวมีความลาดชันสูง (กว่าหาดทั่วไป) เหมาะสมกับเต่ามะเฟือง ช่วงฤดูเต่าวางไข่ ป๋าเฉ่งจะทำแบบนี้ทุกวันหลังกลับจากวางอวนปลากะตักหรืออวนกุ้งเคยหาเลี้ยงชีพ เผื่อว่าจะมีแม่เต่าแอบหนีไปขึ้นไกล ๆ หรือขึ้นตอนเช้ามืดโดยที่คนเดินเต่าไม่รู้ (ขึ้นตอนเช้า พระอาทิตย์โผล่แล้วก็เคยมี) ร่องรอยที่แม่เต่าเดินกลับลงทะเลก็จะปรากฏชัด
   พอเรือประมงกลับเข้าเทียบหาด ลูกเรือช่วยกันตากอวนจึงเห็นกอล์ฟ เด็กหนุ่มวัย ๑๖ ปี กับเพื่อนอีกสองคน ซึ่งไปเดินเต่าเมื่อคืน (ค่อนคืน) รวมอยู่ในกลุ่มลูกเรือของป๋าเฉ่งด้วย
   หลังจากคุยกับหลายคนจึงรู้ว่าคนเดินเต่าของเราล้วนมีอาชีพที่น่าสนใจ ไข่ต้องตื่นตีห้าครึ่งไปทำงานที่สนามกอล์ฟบลูแคนยอน บังโหมดตื่นเวลาเดียวกันเพื่อออกหาปู โกนัยทำสวนยางและไซล่อหมึกซึ่งจะทำไม่ได้ในหน้ามรสุม โกแดง หัวหน้าฝ่ายเพาะฟัก ขับรถสองแถวประจำทาง แล้วเราก็เพิ่งได้ยินพวกเขาเล่าว่า ปีนี้สมาชิกของกลุ่มเกือบทั้งหมดประกาศไม่ขอรับเงินค่าไข่เต่าเข้าตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตามปรกติ ทางกองทุนฯ จะจ่ายค่าตอบแทนให้คนที่พบไข่เต่ามะเฟือง ๓๕ บาทต่อฟอง
   เคยมีคนถามพวกเขาหลายครั้งว่าทำกิจกรรมนี้แล้วได้อะไร ป๋าเฉ่งบอกไปว่า ตัวแกเองตั้งแต่ร่วมกิจกรรมอนุรักษ์เต่าแล้ว รู้สึกทำมาค้าคล่อง ไม่เจ็บไม่ไข้ นอนหลับอย่างสบาย ยิ่งหากได้นอนใกล้ ๆ ทะเล
    ตอนแรกที่เรามาเห็นหาดไม้ขาว ได้ยินคนพูดว่า "ที่นี่คุณจะเห็นความสมบูรณ์ตั้งแต่ทะเลจนไปถึงสันเขา" ทำให้นึกอิจฉาเด็กที่เกิดที่นี่ แต่แล้วไม่นานก็พบว่าหมู่บ้านไม่ได้แปลกแยกจากเพื่อนรอบข้าง คนส่วนหนึ่งแทบไม่ได้ทำอะไรในวันหวยออก นอกจากนี้ยังมี "หวยหุ้น" ซึ่งในภูเก็ต (ดูเหมือนเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่มีหวยประเภทนี้) เล่นกันทุกวัน ทุกตำบล ทุกซอกซอย รวมทั้งบ้านไม้ขาว ประโยคทักทายในร้านค้าของหมู่บ้านทั้งยามบ่ายและเย็นคือ "จุดเท่าไหร่" --- หมายถึง ตัวเลขหลังจุดทศนิยมที่ใช้แทง วัยรุ่นฝันถึงรถมอเตอร์ไซค์ ทั้งยังมีคนบางคนเก็บไข่เต่าขายเพราะไม่มีอาชีพอื่นทำ เดินชายหาดยามค่ำคืนได้ยินเสียงเครื่องปั่นไฟสูบน้ำของบ่อเลี้ยงกุ้งดังสนั่น (อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ) และต้องระวังไม่ไปเตะเอาเหล็กปลายท่อคมกริบที่โผล่อยู่กลางหาดเป็นระยะ ที่ดินหลายแปลงใกล้ทะเลเปลี่ยนมือไปอยู่กับนักเก็งกำไร สุดท้ายก็มาหยุดอยู่กับนักธุรกิจโรงแรมที่หวังเอาเรื่องเต่าทะเลเป็นจุดขายของโรงแรม

 (คลิกดูภาพใหญ่)

   วงเดินเต่าคืนนี้เล็กลงถนัดใจ เรากับกอล์ฟมีหน้าที่รับผิดชอบชายหาดจากทับอวนไปถึงหัวแหลมหน้าพรุเจ๊ะสัน--ระหว่างสี่ทุ่มครึ่งถึงตีสอง
    ระหว่างทาง กอล์ฟหยุดเดินหลายครั้งเมื่อเห็นเงาตะคุ่มริมหาด เขาบอกว่า "ถ้าขยับเดินละก็...ใช่" บางครั้งเขาก็หยุด...สูดกลิ่น แล้วหันมาปรึกษา "พี่ได้กลิ่นคาวเหมือนคาวเลือดบ้างไหม" 
   ชาวบ้านพูดกันว่า กลิ่นคาวของเต่ามะเฟืองเป็นกลิ่นเดียวกับ "กัง" หรือปะการังที่อยู่ห่างฝั่งออกไป แม้ไม่มีเต่าอยู่บนชายหาด พวกเขาก็สามารถพูดได้ว่าได้กลิ่นคาว เพราะเชื่อว่าขณะนั้นมีแม่เต่าป้วนเปี้ยนในทะเล หาโอกาสและทำเลปลอดภัยเพื่อขึ้นวางไข่
    ก่อนเดินเราทำใจล่วงหน้าว่าไม่เจอเต่ามะเฟืองก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ครั้นไม่ได้เห็นจริง ๆ ก็รู้สึกผิดหวังอยู่บ้าง แม้จะมีข้อคิดปลอบใจที่ได้จากคนเดินเต่าไม้ขาว
   เวลานี้ไม่ใช่เวลาพูดถึงเต่ามะเฟือง
    เพราะเราต้องคิดถึงการรักษาทะเล...สิ่งแวดล้อมมาก่อนหน้านี้นานแล้ว


(คลิกดูภาพใหญ่)
ตารางสถิติ
เต่ามะเฟืองกลับมาสู่ไม้ขาวถิ่นกำเนิด ฤดูวางไข่ ๒๕๔๒/๒๕๔๓
รัง วัน/เดือน/ป จำนวน (ฟอง) เพาะฟัก (ฟอง) วันเกิด
๑. ๑๘ พ.ย. ๔๒ ๑๑๖ ๓๖ -
๒. ๒๖ พ.ย. ๔๒ ๑๑๐ ๕๐ ๒๙ ม.ค. ๔๓
๓. ๕ ธ.ค. ๔๒ ๙๙ ๘๖ ๓ ก.พ. ๔๓
๔. ๑๔ ธ.ค. ๔๒ ๑๑๐ ๙๖ ๑๒ ก.พ. ๔๓
๕. ๒๓ ธ.ค. ๔๒ ๙๔ ๘๙ ๒๑ ก.พ. ๔๓
๖. ๓๑ ธ.ค. ๔๒ ๑๐๕ ๑๐๕ ๒๙ ก.พ. ๔๓
๗. ๑๐ ม.ค. ๔๓ ๑๐๖ ๑๐๐ ๑๐ มี.ค. ๔๓
๘. ๑๙ ม.ค. ๔๓ ๘๖ ๘๕ ๑๙ มี.ค. ๔๓
๙. ๒๘ ม.ค. ๔๓ ๑๐๕ ๑๐๕ ๒๙ มี.ค. ๔๓
รวม   ๙๓๑ ๗๕๒  

   เต่ามะเฟือง แตกต่างจาก เต่าทะเลชนิดอื่น อย่างชัดเจนตรงที่ มีขนาดใหญ่มาก กระดองไม่เป็นเกล็ด ลักษณะเป็นแผ่นหนังหนาสีดำมีแต้มสีขาวประทั่วตัว ตามชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า leatherback turtle กระดองเป็นสันนูนตามแนวความยาวจากส่วนหัวถึงท้ายจำนวนเจ็ดสัน ไม่มีเกล็ดปกคลุมส่วนหัว ขนาดโตเต็มที่มีความยาวกระดองถึง ๒.๖ เมตร น้ำหนักกว่า ๙๐๐ กิโลกรัม ที่พบขึ้นมาวางไข่ ขนาดจะไม่ต่ำกว่า ๑.๕๐ เมตร หรืออายุระหว่าง ๒๐-๓๐ ปี เต่าตัวเดียวจะขึ้นวางไข่สามสี่ครั้งในฤดูกาลหนึ่ง และอาจไม่ขึ้นวางไข่ทุกปี


      ขอขอบคุณผู้เป็นแหล่งข้อมูล
สุพจน์ จันทราภรณ์ศิลป์ 
วิโชติ ไกรเทพ ดนัย ยาดี 
พี่เคน-ชาญชัย พุฒิกานนท์
และชาวบ้านไม้ขาว
 
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
โครงการ ขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้าย ของนักลงทุน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สิบปีเขื่อนปากมูล การต่อสู้ของกบฏคนจน | คนไม้ขาว เต่ามะเฟือง | ปลาร้าไร้พรมแดน | หลงทางและปากหนัก | เชิญดอกไม้ "ดอกว่านสี่ทิศ" | โลกสีดำของเหยื่ออุตสาหกรรม | "ดอนหวาย" ตลาดโบราณริมแม่น้ำท่าจีน | จับตาธุรกิจการพนันต่างชาติ และการพนันในประเทศไทย | เฮโลสาระพา | ซองคำถาม

Ten Years' Fighting for the Mun River | Leatherback Turtles Return | Sikkim and Years of Change on the Himalayan Ridges
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail