บทเรียนสงครามกลางเมืองจากศรีลังกา

กล่าวกันว่ามนุษย์ที่เรียกว่า สัตว์ประเสริฐสามารถฆ่ากันเองได้ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ด้วยเหตุผลสองประการคือ เรื่องความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อทางการเมือง

เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมามีคนไทยฆ่ากันเองด้วยความโกรธและความเกลียดชังกลางถนนราชดำเนิน จนเกือบจะเป็นสงครามกลางเมือง ชวนให้นึกถึงสงครามกลางเมืองในประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองของชาวพุทธ ระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬ ซึ่งสู้กันมาหลายสิบปีแล้วไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ

ชาวสิงหลเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นประชากรร้อยละ 74 อพยพจากทางภาคเหนือของคาบสมุทรอินเดียมาตั้งรกรากบนเกาะศรีลังกา สร้างอาณาจักรนามอนุราธปุระ ส่วนประชากรชาวทมิฬซึ่งมีอยู่ราวร้อยละ 18 ของประเทศ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออกของเกาะ แบ่งเป็นสองพวก พวกแรกคือทมิฬศรีลังกา อพยพจากตอนใต้ของอินเดียข้ามทะเลมาอยู่บนเกาะตั้งแต่สมัยโบราณ พวกที่สอง คือ ทมิฬอินเดีย ชาวอังกฤษเมื่อครั้งปกครองศรีลังกา ได้เกณฑ์ทมิฬจำนวนมากจากอินเดียตอนใต้มาเป็นแรงงานในไร่ชา

ราวพุทธศตวรรษที่ 21 นักล่าอาณานิคมจากยุโรป ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ผลัดกันเข้ายึดครองเกาะศรีลังกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 อังกฤษได้ให้เอกราชแก่ชาวศรีลังกา พรรคการเมืองของชาวสิงหลได้คะแนนเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมีพรรคการเมืองของชาวทมิฬเป็นพรรคฝ่ายค้าน

ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองเชื้อชาติเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เพราะเมื่ออังกฤษปกครองศรีลังกาผู้ปกครองอังกฤษมักเลือกคนทมิฬอันเป็นชนกลุ่มน้อยมาใช้งาน เพราะคนทมิฬพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนสิงหล เนื่องจากพวกมิชชันนารีมาตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นถิ่นของคนทมิฬ

พอศรีลังกาประกาศเอกราช พวกทมิฬที่เป็นคนกลุ่มน้อยแต่การศึกษาดีกว่าจึงเป็นชนชั้นนำในสังคม ได้เป็นข้าราชการ บางส่วนก็เป็นนักธุรกิจอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ เวลานั้นชาวทมิฬยังกุมเศรษฐกิจของประเทศด้วย ขณะที่ชาวสิงหลส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน หรือชนชั้นระดับล่าง ในใจลึก ๆ ชาวสิงหลจึงไม่ค่อยพอใจพวกทมิฬที่เป็นชนกลุ่มน้อยแต่มีสถานะทางสังคมดีกว่า

เพื่อนศรีลังกาของผมคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า

“การที่คนอังกฤษนิยมใช้งานชาวทมิฬมากกว่าชาวสิงหล น่าจะเป็นวิธีแบ่งแยกและปกครองของพวกเจ้าอาณานิคมในสมัยนั้น ที่ไม่ต้องการให้ชาวสิงหลซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีอำนาจ”

ความแตกต่างทางชนชั้นและรายได้ เป็นชนวนความแตกแยกที่ฝังรากลึกลงไปเรื่อย ๆในสังคม

ภายหลังประกาศเอกราช รัฐบาลชาวสิงหลได้ขึ้นปกครองประเทศ ก็พยายามสร้างเงื่อนไขบีบบังคับให้ชาวทมิฬต้องค่อย ๆ ออกจากระบบราชการ ในทางเศรษฐกิจก็ออกระเบียบจุกจิกทำให้พ่อค้านักธุรกิจชาวทมิฬมีความลำบากในการประกอบธุรกิจ และยังกีดกันไม่ให้ชาวทมิฬมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นในปี พ.ศ. 2499 เมื่อรัฐบาลประกาศให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการ เพื่อให้ชาวสิงหลได้เปรียบในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง บังคับให้โรงเรียนทุกโรงเรียนสอนหนังสือด้วยภาษาสิงหล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีโรงเรียนที่สอนหนังสือด้วยภาษาทมิฬ นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามผลักดันให้ศาสนาพุทธของชาวสิงหลเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ชาวทมิฬที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูไม่พอใจ ออกมาเดินขบวนคัดค้าน เรียกร้องให้แยกดินแดนทมิฬทางตอนเหนือออกเป็นอิสระ เกิดการจลาจล ผู้คนล้มตายกันมากมาย ชาวทมิฬจำนวนมากพากันอพยพไปอยู่เมืองจาฟนา เมืองสำคัญของชาวทมิฬทางตอนเหนือของเกาะศรีลังกา มีการก่อตั้งขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ มีกองกำลังติดอาวุธของตัวเองเรียกว่า กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ เรียกร้องให้มีการแยกประเทศ และแม้ภายหลังทางการจะประกาศให้ภาษาทมิฬเป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะสายเกินไปเสียแล้ว

สงครามกลางเมืองจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินและส่งทหารเข้าไปโจมตีหัวเมืองทางเหนือ ฐานที่มั่นใหญ่ของพวกทมิฬ ขณะที่พวกทมิฬที่มีกำลังน้อยกว่าได้ตอบโต้ด้วยการวางระเบิดตามเมืองใหญ่ ๆ ทำให้ผู้คนเสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

คนทมิฬที่อยู่ในกรุงโคลัมโบถูกพวกสิงหลขวาจัดดูถูกเหยียดหยามมาก บางคนถูกทุบตี ทำร้ายร่างกายอย่างไร้เหตุผล เพียงเพราะเป็นคนต่างเชื้อชาติ

กล่าวกันว่าระเบิดพลีชีพครั้งแรกในโลกเกิดขึ้นที่ศรีลังกา

ทนกันไม่ได้ ก็ต้องจับอาวุธมารบกันยี่สิบกว่าปี ผู้คนในประเทศทั้งสองฝ่ายล้มตายไป 6 หมื่นกว่าคน

เพื่อนของผมบอกว่า

“ ตอนแรกที่เกิดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น มีพลังที่สามในสังคมแสดงความเห็นอันหลากหลาย เพื่อจะหาแนวทางยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และเป็นพลังที่คอยกดดันและต้านทานคู่ขัดแย้ง แต่พอมีการฆ่ากันตายมากขึ้น พวกพลังที่สาม หรือพวกที่อยู่ตรงกลางก็ค่อย ๆลดไปเรื่อย ๆ เพราะพวกนี้จะโดนกระทืบก่อนจากทั้งสองฝ่าย”

พอความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง ฝ่ายตรงกลางก็ถูกบังคับให้เลือกข้าง หรือไม่กล้าออกมาแสดงความเห็นอีกต่อไป เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
เพื่อนบอกว่า สังคมไทยตอนนี้ยังโชคดี ที่ยังมีพวกที่อยู่ตรงกลางคอยออกมาเตือนสติคู่ขัดแย้งในขณะนี้

แต่หากยังปล่อยให้เลือดนองถนนราชดำเนินไปเรื่อย ๆ อาจจะไม่มีที่ยืนให้พวกที่อยู่ตรงกลาง และ เมื่อนั้นแหละ สังคมไทยเข้าสู่สงครามกลางเมืองอย่างแท้จริง

Comments

  1. คนคู่

    จะกี่บทเรียนก็เถอะ คนไทยลืมง่าย
    และเชื่อว่าพวกตรงกลางนี้แหละจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ตราบใดที่บทเรียนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.