จากบรูด้า ถึง ออร์ก้า และนักท่องเที่ยวไทย

ระยะนี้หากใครสังเกต จะพบว่าในช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นปี วาฬบรูด้าร่วมสิบตัวจะติดตามฝูงปลาเข้ามาในอ่าวไทยเพื่อกินเป็นอาหาร

ผมนึกถึงฝูงสิงโตที่ติดตามฝูงกวาง ม้าลายที่หากินให้เติบใหญ่ในทุ่งหญ้าแอฟริกา เวลาหิวก็ออกไล่ล่าเหยื่ออย่างง่ายดาย พออิ่มหมีพีมัน ก็พักผ่อนกระดิกหางตามร่มไม้อยู่แถวนั้น และเคลื่อนไหวติดตามอาหารของตัวเองไปทุกย่างก้าวด้วยความสุข

นึกถึงคาวบอยขี่ม้าต้อนฝูงวัวให้หาหญ้ากินไปเรื่อย ๆ ในท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ของทวีปอเมริกา พอขุนจนอ้วน เติบโตได้ราคาก็ต้อนเข้าโรงฆ่าสัตว์ เป็นอาหารของมนุษย์

พฤติกรรมของสัตว์ใหญ่อย่างบรูด้าที่ติดตามฝูงปลา ก็คงไม่ต่างจากธรรมชาติของสัตว์ผู้ล่าทั้งหลายในโลกนี้

อันที่จริงนักดำน้ำ พบเห็นวาฬบรูด้าในอ่าวไทยมานานนับสิบปีแล้ว เพื่อนนักถ่ายรูปใต้น้ำคนหนึ่งเคยถ่ายวาฬบรูด้าใต้ทะเลได้เป็นคนแรก เอามาขึ้นปกสารคดีเมื่อสิบกว่าปีก่อนจนเป็นที่ฮือฮา และข่าวคราวของวาฬชนิดนี้ก็เงียบหายไป จนกระทั่งเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา วาฬบรูด้าได้ปรากกฏให้เห็นบ่อยมากขึ้น และผมเองมีโอกาสเห็นวาฬบรูด้าเป็นครั้งแรกในอ่าวไทย หลังจากออกเรือกับชาวประมงเมืองเพชรไปหลายชั่วโมง

กลางทะเลอันเวิ้งว้าง คุณลุงได้ชี้ให้เห็นฝูงนกนางนวลบินอยู่เหนือทะเลไม่สูงนัก เป็นสัญญาณว่าบรูด้าน่าจะอยู่แถวนั้น และลุงได้หันหัวเรือมุ่งไปตรงนั้น ไม่นานบรูด้าก็อ้าปากขนาดใหญ่กวาดฝูงปลาจากใต้ทะเลและโผล่ขึ้นมาเหนือพ้นน้ำ เห็นนกบินจิกปลาที่ถูกผลักขึ้นสู่อากาศ เป็นภาพงดงามครั้งหนึ่งในชีวิต

ทุกวันนี้การพานักท่องเที่ยวแห่กันมาดูวาฬบรูด้า ได้เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว แต่ละวันมีเรือหลายสิบลำลอยเรือกลางทะเลเพื่อหวังดูวาฬบรูด้า และดูเหมือนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มีแผนจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อหารายได้อย่างงาม

ตอนที่ไปดูวาฬครั้งนั้น ผมเห็นเรือท่องเที่ยวเหมาลำจากพัทยาหลายลำ พานักท่องเที่ยวมาดู เรือบางลำเป็นสปีดโบท เร่งเครื่องยนต์เสียงดึงกระหึ่มแล่นเรือโฉบเฉี่ยวเข้าไปใกล้ ดักหน้าดักหลังวาฬบรูด้าด้วยความคึกคะนอง ท่ามกลางการส่งเสียงกรีดร้องด้วยความสนุกสนานของบรรดาลูกเรือ

พอทราบข่าวเรื่องวาฬบรูด้ามาขึ้นกลางอ่าวไทย หลายคนรีบเดินทางมาเที่ยวชมปรากฏการณ์ด้วยความตื่นเต้น ด้วยความอยากรู้อยากเห็น และจากไปพร้อมกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า อาจจะทำให้วาฬบรูด้าอันตรธานหายไปจากอ่าวไทย ด้วยความรู้สึกถูกรบกวน ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

ที่ผ่านมาใครอยากจัดเรือพานักท่องเที่ยวไปดูวาฬบรูด้า สามารถทำได้อย่างเสรี ใครมีเรือก็ออกไปได้ ไม่มีกฎกติกา มารยาทใด ๆ

อันที่จริง การจัดเรือไปดูวาฬกลางทะเลนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ เขาทำกันมานานและทุกวันนี้ยังมีวาฬมาให้ดูอย่างต่อเนื่อง  เรือที่ทำธุรกิจพานักท่องเที่ยวออกไปชมวาฬ ต้องได้รับการกวดขันอย่างเข้มงวดจากทางการ

สองปีก่อน ผมมีโอกาสนั่งเรือท่องเที่ยวไปดูวาฬออร์ก้า วาฬเพชฌฆาต ในมหาสมุทรแปซิฟิก ผมนั่งเรือดูวาฬพร้อมนักท่องเที่ยวประมาณสิบคนจากเมืองท่าวิกตอเรีย รัฐบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา เลียบฝั่งมหาสมุทรไปประมาณสองชั่วโมง

บริเวณนี้เป็นเขตแดนติดต่อกับรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกว่าเขตมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ถือว่าเป็นแดนสวรรค์ของวาฬออร์ก้าประมาณสามร้อยตัว ที่มาหาอาหารกินบริเวณนี้อย่างหนาแน่น

ครั้งหนึ่งในชีวิตกับค่าโดยสารเรือ ๑๐๐ เหรียญสหรัฐเพื่อดูวาฬออร์ก้า  ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ จากฝีมือมนุษย์ที่จับมันมาเลี้ยงในอะควอเรียมโชว์ให้นักท่องเที่ยวดู และติดอวนของชาวประมงตายปีละหลายร้อยตัว

พอขึ้นเรือ กัปตันได้แนะนำให้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดกับการดูวาฬออร์ก้า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษา ด้วยการดูอย่างสงบ อย่าส่งเสียงดัง และอย่าเรียกร้องให้กัปตันขับเรือเข้าไปใกล้อีก เพราะเป็นการรบกวนเค้าเกินไป

ลมหนาวเย็นจัดผ่านเสื้อกันหนาวสองชั้นเข้าไปไล่ความอบอุ่นในร่างกาย จนเราสั่นสะท้าน แต่ก็กัดฟันยืนบนดาดฟ้าเรือ เมื่อกัปตันเรือให้สัญญาณว่า เห็นวาฬบรูด้าแล้วในระยะห่างออกไป  และกัปตันได้ลดความเร็วลงทันที อันเป็นกฏชัดเจนทุกครั้งที่เห็นออร์ก้า และเมื่อเรือเข้าไปใกล้ในระยะ ๔๐๐ เมตร ต้องแล่นด้วยความเร็วเพียง ๗ น็อต เพื่อไม่เป็นการรบกวนสัตว์น้ำตัวใหญ่ที่หากินเป็นฝูง

ออร์ก้าที่เราเห็นไม่ได้มีเพียงตัวเดียว แต่มากันเป็นครอบครัว ทั้งแม่ลูกสามสี่ตัว สีดำ ขาว ต้องแสงแดดเป็นประกายชัดเจน ออร์ก้ามีลักษณะเหมือนกันหมด จนแทบแยกไม่ออก นอกจากขนาดของมัน แต่กัปตันให้เราสังเกตดูครีบสีดำขนาดใหญ่ที่โผล่พ้นทะเล เป็นจุดสังเกตว่า ลักษณะครีบของแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ทำให้เราสามารถจำแนกได้ว่าออร์ก้าที่พบเป็นตัวเดียวกันหรือไม่

แต่ยอมรับว่าหากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญคงแยกไม่ออกหรอกว่า ครีบแต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ขณะที่กัปตันได้ชี้ให้ดูครีบออร์ก้าอีกตัวที่ว่ายเข้ามาในระยะใกล้ ว่าเป็นคนละตัวกับที่เห็นเมื่อครู่นี้

ตามข้อบังคับการออกเรือดูออร์ก้า เรือจะต้องห้ามเข้าใกล้เกินระยะ ๑๐๐ เมตร  ไม่แล่นตัดหน้า หรือแล่นดักหน้า ดักหลังอย่างเด็ดขาด และการดูนักล่าแห่งท้องทะเลชนิดนี้คือการแล่นเรือขนานไปกับตัวออร์ก้า

หากบังเอิญออร์ก้าโผล่ขึ้นมาในระยะไม่ถึงร้อยเมตร กัปตันต้องหยุดเครื่องเรือทันที ป้องกันอันตรายของออร์ก้าที่อาจจะเกิดจากใบพัดใต้ท้องเรือ

และข้อบังคับสำคัญที่สุดอีกประการคือ เมื่อเห็นฝูงออร์ก้าทั้งแม่ลูกแล่นตามกันมา ห้ามแล่นเรือเพื่อทำให้แม่กับลูกพลัดพรากหลงทางกันเด็ดขาด

ทุกครั้งที่ออร์ก้าโผล่ขึ้นมาหายใจ กัปตันจะเบาเครื่องยนต์ทันที รักษาระยะไม่นำเรือเข้าไปใกล้เกินร้อยเมตร ปล่อยให้เป็นความสามารถของบรรดานักท่องเที่ยวที่จะใช้กล้องส่องทางไกลดูกันตามชอบใจด้วยความสงบ

“ ผมรักษากฎ กติกามานานแล้ว เราจึงใช้เวลาไม่นานในการตามหาออร์ก้าบริเวณนี้ได้ตลอดทั้งปี หาไม่ยาก เพราะผมเชื่อว่า มันไว้ใจเรา”  กัปตันคุยกับนักท่องเที่ยวผู้อยากรู้ ก่อนจะชี้ให้ดูออร์ก้าตัวหนึ่งที่กระโดดขึ้นเล่นน้ำกลางอากาศ ก่อนจะทิ้งตัวลงมาจนน้ำแตกกระจาย ไม่ไกลจากชายฝั่ง

เราอยู่กับออร์ก้าได้เพียงครึ่งชั่วโมง กัปตันก็ขับเรือจากไปแม้ว่าออร์ก้ายังอยู่แถวนั้น ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากเรือลำอื่นได้มีโอกาสมาดู เพื่อไม่ให้เรือแถวนี้หนาแน่นเกินไป

ไม่แปลกใจนักที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือจึงเป็นสวรรค์ของวาฬออร์ก้า  เพราะผู้คนแถวนั้นมีกติกาชัดเจนในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับออร์ก้า

อ่าวไทยอาจเป็นสวรรค์ของวาฬบรูด้าในอนาคต หากพวกเรามีกฎ กติกา มารยาทอย่างแท้จริงในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับบรูด้า

สารคดี  สค. 55

 

 

Comments

  1. Tup

    http://www.pac.dfo-mpo.gc.ca/fm-gp/species-especes/mammals-mammiferes/view-observer-eng.htm

    ชอบมากครับที่นำเสนอสิ่งดีๆ ผมทำงานพานักท่องเที่ยวชมออก้า ที่แคนาดาครับ อยากให้บ้านเราสร้าง กฏหมาย เพื่อชมวาฬครับ

    http://siamfishing.com/board/view.php?list=all&tid=644161&begin=0 เป็นเรื่องราวที่ผมเคยนำเสนอในเวปตกปลาชั้นนำของเมืองไทย เมื่อปีที่แล้วครับ

  2. Pingback: ฉบับที่ ๓๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.