เหมืองเกลือเก่าแก่ที่สุดในโลก

“มนุษย์สามารถมีชีวิตได้โดยไม่ต้องมีทอง แต่ไม่อาจอยู่ได้หากปราศจากเกลือ”

คาสซิโอโดรัส (Cassiodorus) นักปรัชญาโรมันศตวรรษที่ ๖

ร่างกายคนปรกติต้องการเกลือวันละประมาณ ๓ กรัม  แม้สมัยนี้ผู้เขียนอาจมีปัญหากินเกลือมากเกินไป แต่สมัยก่อนเกลือมีค่ามากกว่าทองคำ เพราะหายากและจำเป็นสำหรับมนุษย์มาก

ในชีวิตเคยเห็นแต่เกลือที่นำมาจากทะเลหรือไม่ก็เกลือสินเธาว์แถบภาคอีสานของไทย แต่เมื่อกลางฤดูร้อนปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อยู่ในบ่อเกลือใต้ดินเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ประเทศออสเตรียมีเมืองท่องเที่ยวเล็กๆ แห่งหนึ่งริมทะเลสาบ ความงดงามนั้นโด่งดังไปทั่วโลก ถึงขนาดมีการจำลองเมืองนี้ในจีน ดึงดูดนักท่องเที่ยวอาตี๋อาหมวยจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ  เมืองเล็กๆ แห่งนี้ชื่อว่าฮัลล์ชตัทท์ (Hallstatt) ได้รับยกย่องว่าเป็นเมืองโรแมนติกแห่งหนึ่งของโลก เพราะมีความสวยงามแบบโปสต์การ์ดเมืองในฝัน คือมีหมู่บ้านบนเชิงเขาลดหลั่นลงมาถึงทะเลสาบ

นักท่องเที่ยวนิยมเดินชมความงามของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนอายุหลายร้อยปี โชคร้ายที่ตอนผู้เขียนไปเกิดหิมะถล่มภูเขาที่อยู่ติดทะเลสาบ ทำให้กองหินจากภูเขาพังทลายทับบ้านเรือนหลายหลัง

ทะเลสาบรอบเมือง Hallstatt ภูเขาด้านหลังเป็นแหล่งเกลือใต้ดินเก่าแก่ของโลก

นอกจากความน่ารักของภูมิประเทศดังกล่าว แถบนี้ยังเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานสำคัญของมนุษย์ยุคแรกๆ อันเนื่องมาจากมีแหล่งเกลือใต้ดินมหาศาลตั้งแต่ยุคสำริด อายุกว่า ๗,๐๐๐ ปี เก่าแก่ที่สุดในโลก

เกลือ (โซเดียมคลอไรด์) สมัยก่อนหายากพอๆ กับทองคำ จนได้ฉายาว่า ทองคำสีขาว  บริเวณใดมีแหล่งเกลือจะกลายเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ที่ใครๆ หมายจะครอบครอง เพราะเกลือมีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์มาก เปรียบเสมือนเครื่องหล่อลื่นอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอันจะขาดมิได้ ด้วยในเลือดของคนเรามีเกลือประมาณ ๕ ใน ๑,๐๐๐ ส่วน  ถ้ากล้ามเนื้อขาดเกลือจะทำให้เกิดอาการชัก

เกลือจำเป็นต่อระบบย่อยอาหารและการหายใจ หากขาดเกลือร่างกายจะไม่สามารถส่งอาหารและออกซิเจนไปได้  ในร่างกายของคนโตเต็มที่มีเกลือประมาณ ๒๕๐ กรัม ทว่าจะสูญเสียระหว่างการทำงาน จึงต้องได้รับทดแทน ถ้ามากเกินไปจะเป็นเหตุให้เกิดโรคหลายอย่าง อาทิ โรคความดันโลหิต โรคไต  แต่ถ้าขาดเกลือนานๆ ร่างกายจะหมดแรง ไม่นับรวมประโยชน์สำคัญในการถนอมอาหารสมัยก่อนซึ่งไม่มีตู้เย็นและยังผลิตน้ำแข็งไม่ได้

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเกลือจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ผู้ใดครอบครองเกลือนับว่ามีความมั่งคั่ง ในอดีตจึงเห็นการสู้รบกันมากมายเพื่อแย่งชิงเหมืองเกลือ

ผู้เขียนได้ขึ้นไปเหมืองเกลือบนภูเขาแห่งหนึ่งกลางเมืองฮัลล์ชตัทท์ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์เหมืองเกลือที่ได้รับการอนุรักษ์ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

หลังนั่งรถรางขึ้นไปบนเนินเขาแล้วเดินขึ้นเขาอีกไม่กี่ร้อยเมตร ก็ผ่านป้ายบอกเรื่องราวทำด้วยโลหะสะท้อนแสงที่ดูน่าสนใจ ตามรายทางจัดแสดงพิธีกรรม พร้อมเครื่องมือ เครื่องใช้ เสื้อผ้า อาวุธของชาวเซลต์ (Celt) ผู้เคยเป็นชาวเหมืองใต้ดิน  ชนเผ่าโบราณนี้ใช้ภาษาเซลติก ๓,๐๐๐ กว่าปีก่อนตั้งรกรากรุ่งเรืองในเยอรมนี ออสเตรีย ต่อมาถูกกองทัพโรมันโจมตีย่อยยับ ไม่อาจรวมเป็นอาณาจักรได้ ปัจจุบันหลงเหลือไม่มากบนเกาะอังกฤษ

ผู้เขียนเดินผ่านคอกหมูที่สาธิตกรรมวิธีการทำหมูแฮม จึงเริ่มเข้าใจว่าทำไมหมูแฮมของออสเตรียหรือเยอรมนีจึงมีชื่อไปทั่วโลก เพราะมีวิธีถนอมอาหารสดด้วยการใช้เกลือเป็นเวลาหลายพันปี กระทั่งค้นพบและถ่ายทอดสูตรเด็ดของการทำหมูแฮม โดยเฉพาะขาหมูอันลือชื่อ

พอถึงเหมืองเกลือซึ่งเป็นอาคารเก่าที่ได้รับการบูรณะ เจ้าหน้าที่จะนำชุดคล้ายคนทำงานในเหมืองมาให้เปลี่ยนเพื่อความปลอดภัยและย้ำให้ปฏิบัติตามไกด์อย่างเคร่งครัด เพราะภายในลึกมาก ต้องนั่งรอคิวเข้าอุโมงค์ที่เปิดให้ชมเป็นรอบๆ  เมื่อได้เวลาพวกเราเดินตามทางสู่ประตูเล็กๆ เข้าไปในอุโมงค์ตามเส้นทางที่คนงานเหมืองผ่านเข้าออกหลายพันปี  ยิ่งลึกอากาศยิ่งเริ่มหนาวขึ้น ทางก็แคบลงเรื่อยๆ

ภาพจำลองชีวิตคนงานเหมืองเกลือใต้ดินในอดีต

การเดินทางเข้าเหมืองเก่าแก่นี้ไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปเอง เพราะความซับซ้อนคดเคี้ยวและลึกหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งเหลือเชื่อว่าเป็นผลงานการขุดเหมืองลึกของคนงานรุ่นแล้วรุ่นเล่าตลอดระยะเวลา ๗,๐๐๐ กว่าปี

ไกด์สาวอารมณ์ดีอธิบายให้ฟังว่า บริเวณนี้เมื่อหลายล้านปีก่อนเป็นทะเล ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก แผ่นดินใต้ทะเลยกตัวขึ้น ขังน้ำทะเลบางส่วนไว้จนเกิดการระเหย และมีการทับถมของชั้นดินชั้นหินกลายเป็นแอ่งเกลือขนาดใหญ่จมใต้ภูเขา กระทั่งมนุษย์ ๗,๐๐๐ กว่าปีก่อนค้นพบ จึงเริ่มขุดเจาะทำเหมืองเกลือนับแต่นั้นถึงปัจจุบัน

ไกด์สาวพาคณะเดินลอดอุโมงค์ไปยังที่ตั้งของผลึกเกลือสีขาวขนาดใหญ่กว่าลูกฟุตบอลสมฉายาทองคำสีขาว  เธอฉายไฟตามผนังอุโมงค์ที่ค้ำด้วยเสาไม้  ผนังหินสีดำมีสายแร่สีขาวของผลึกเกลือแทรกเป็นระยะ  คนงานสมัยก่อนต้องขุดต้องสกัดและแบกใส่บ่าออกไป ก่อนจะมีเครื่องทุ่นแรงเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา

ไกด์เตรียมให้ลูกทัวร์ลงลึกไปชั้นใต้ดินด้วยสไลเดอร์ โดยนั่งคร่อมรางไม้ก่อนจะลื่นไถลอย่างเร็วลงไปในความมืดลึกกว่า ๑๐๐ เมตรด้วยความตื่นเต้น  อากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ ข้างหน้าคือทะเลสาบใต้ดินซึ่งมีหลายแห่ง สันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นร่องรอยของน้ำทะเลโบราณที่ยังรักษาสภาพไว้ได้

ผู้เขียนเดินต่อไปเรื่อยๆ ทางแคบๆ เห็นการจัดแสดงวิธีการทำเหมืองโบราณ ชีวิตชาวเหมืองแต่ละรุ่น ที่สำคัญมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณจำนวนมากซึ่งน่าจะเป็นชาวเซลต์ผู้ทำงานขุดเกลือในเหมือง พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้หลายพันชิ้นซึ่งมีอายุเกือบ ๓,๐๐๐ ปี ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจการค้าเกลือช่วงเวลานั้น ด้วยฝีมือของวิศวกรเหมืองแร่ โยฮันน์ เจออร์ก รัมเซาเออร์ (Johann Georg Ramsauer) ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ ซึ่งใช้เวลาหลายสิบปีอุทิศตนขุดเหมืองจนเขากลายเป็นผู้บุกเบิกวิชาใหม่ของโลกยุคเก่าที่เรียกว่าวิชาโบราณคดี

อันที่จริงมีการค้นพบมนุษย์โบราณหลายยุคหลายสมัยอายุตั้งแต่หลายพันปีถึงหลายร้อยปี ตลอดระยะเวลาการทำเหมืองเกลือชั้นใต้ดินมีคนตายมากมายเพราะความยากลำบาก บ้างขาดอากาศหายใจเพราะความลึก และบางครั้งเหมืองถล่ม  คนงานส่วนใหญ่เป็นเชลยสงครามหรือทาสที่ต้องทำงานขุดเกลือตลอดชีวิตจนวันตาย จึงมีชื่อเรียกศพเหล่านี้ว่า Man in Salt เป็นตำนานของที่นี่  ตามผนังบางช่วงจัดแสดงการขุดเจาะเกลือ มีหุ่นคนงานเหมืองสมัยก่อนทำท่าขุด พอมีคนเดินผ่านไฟจะสว่างและเสียงพูดของคนงานเหมืองก็ดังขึ้นทันที  หลายคนในคณะถึงกับร้องด้วยความตกใจ  นับเป็นการให้ความรู้อย่างน่าสนใจในบรรยากาศเหมืองใต้ดินแสนเงียบ หนาว และวังเวงดีแท้หากมาคนเดียว

ตลอด ๗,๐๐๐ ปีที่มีการขุดอุโมงค์เพื่อหาเกลือ มีผู้คนจำนวนมหาศาลเดินผ่านเข้าออกที่นี่  หากนักท่องเที่ยวคนใดหลงทางคนเดียวคงนึกภาพว่ามีเพื่อนมากมายในเหมืองแน่

ขากลับเรานั่งรถรางผ่านอุโมงค์ บางแห่งค่อยๆ ต่ำลงจากแรงบีบอัดของน้ำหนักภูเขา พอแค่ให้ตัวลอดได้ และออกมาสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เป็นครั้งแรกที่ได้เดินตามรอยมนุษย์ตั้งแต่ยุคโลหะถึงปัจจุบัน ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่คับแคบและล้มตายจำนวนมากเพื่อขุดหาทองคำสีขาว

จากนี้ไปเปิบเกลือทุกคราวคำคงรู้ว่ายากเย็นแสนเข็ญเพียงใด

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.