ศาลปกครองกับ มาบตาพุด การลอกคราบครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมไทย

tnews_1252428033_3328

“งานนี้เราได้เห็น แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์” เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยปากขึ้นมา หลังจากได้อ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่ง ให้ระงับ 76 โครงการลงทุนเพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุด เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานก่อนประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550

แจ๊คในที่นี้คือ ประชาชน และกลุ่มเอ็นจีโอตัวเล็ก ๆ ผู้ไม่ค่อยมีปากเสียง สามารถล้มยักษ์อุตสาหกรรมระดับหลายแสนล้าน น็อกกลางเวทีได้ชั่วคราว สร้างผลกระทบไปทั่วกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่า ผลของการตัดสินคดีจะลงเอยแบบนี้

สำหรับบรรดานักอุตสาหกรรม และนักลงทุนในตลาดหุ้น เรียกได้ว่าเกิด ฟ้าผ่ากลางมาบตาพุด โครงการที่ลงทุนไปแล้ว 3-4 แสนล้านบาท ต้องยุติลงชั่วคราว หุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และก่อสร้างหลายตัวในตลาดหลักทรัพย์โดนลูกหลงพากันดิ่งเหวไปตาม ๆ กัน

แต่สำหรับชาวบ้านแถวนั้น เรียกว่า ฟ้าได้เปิดแล้ว

ที่ผ่านมานักธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมประมาทเกินไป มั่นใจตัวเองเกินไป ถือว่าเป็นกลุ่มเสียงดังที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคม เพราะมีอาวุธสำคัญในมือคือ โครงการมูลค่าหลายแสนล้านบาท ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ การสร้างแรงงาน ที่รัฐบาล นักการเมืองและใครต่อใครพากันเกรงใจ เป็นเวลานาน แล้วที่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือความเจ็บป่วยของชาวบ้าน มักเดินตามหลังการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับที่พื้นที่มาบตาพุดเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนแถบนั้นเป็นเวลานับสิบปีแล้ว

แต่ครั้งนี้ศาลปกครองหาได้เกรงใจผู้ใดไม่ ตัดสินไปตามข้อเท็จจริงว่า ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณชุมชนมาบตาพุด มีอยู่จริง จนถึงต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ และมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จึงมีเหตุจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ ด้วยการระงับ 76 โครงการเป็นการชั่วคราว

พอเกิดเรื่อง บรรดาสภาอุตสาหกรรมก็ทุบโต๊ะตามประสาคนเสียงดัง ประสานเสียงว่า เงินจะหายไปสามแสนกว่าล้านบาท ทำให้คนตกงานนับแสนคน ต่างชาติจะถอนการลงทุน ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่เหตุผลของศาลปกครองในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่หมดไป ก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน

ผมคิดว่าการตัดสินของศาลปกครองครั้งนี้ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และมีทัศนคติแบบใหม่ต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของชุมชนและคงต้องทบทวนว่า สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมทำมาตลอดเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าเพียงพอหรือยัง

อย่าคิดแบบสำเร็จรูปจนเกินไปว่า ได้ใส่เงินไปหลายพันล้านบาทเพื่อติดตั้งอุปกรณ์กำจัดสารพิษชนิดต่าง ๆ ได้ตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวบ้าน หรือการท่องคาถาประจำใจว่า “เราทำตามกฎข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของกรมโรงงานอุตสาหกรรมทุกอย่างโดยเคร่งครัด”

ใส่”เงิน”ไปหลายพันล้านบาท และได้ใส่ ”ใจ”ลงไปดูแลปัญหาจริง ๆหรือไม่

สองเดือนก่อน ผมไปเดินเล่นริมทะเลในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ด้านหน้าเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บนพื้นที่ที่ยื่นออกไปจากการถมทะเล ทำให้หาดทรายชื่อดังแถวนั้นหายไปจนหมด ผมได้สนทนากับยามรักษาความปลอดภัยของโรงงานยักษ์แห่งหนึ่ง คุยไปสักพักจนถูกคอกัน แกบอกตามตรงว่า หากเลือกได้คงจะลาออกกลับไปอยู่บ้านแถวภาคอีสานแล้ว

ผมถามเหตุผลที่อยากลาออก แกบอกว่า ต้องเดินอยู่ข้างนอกทุกวัน ไม่ได้อยู่ในอาคารติดแอร์ ทนกลิ่นเหม็นไม่ค่อยไหว บางคืนดึก ๆ พรรคพวกก็แอบปล่อยน้ำเสียลงทะเล…วันก่อนโรงงานแห่งหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตอนเดินเครื่อง เสียงดังลั่น นึกว่าเครื่องจะระเบิดแล้ว

ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า แกป่วยเป็นโรคเม็ดเลือดแตกง่าย คนแถวบ้านก็เป็นโรคนี้กันมาก ทุกวันนี้เครียดเพราะกลัวเป็นมะเร็งเหมือนคนอื่น ๆ งานวิจัยของหน่วยงานรัฐหลายแห่งชี้ตรงกันว่า อัตราการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของคนระยองสูงกว่าคนจังหวัดอื่นถึงสองเท่า ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า โรคร้ายเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับปัญหามลภาวะในมาบตาพุดเพียงใด

แต่ความจริงที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับคือ มีคนตายและเป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครต้องการเกิดขึ้นจริง ๆ

ผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กล่าวกับผมว่า เขาปฏิบัติตามระเบียบของทางการโดยเคร่งครัด ค่ามลพิษต่าง ๆ ในโรงงานของเขาไม่เคยเกินมาตรฐานสักครั้ง และที่สำคัญคือองค์กรของเขาให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ทุ่มเทงบประมาณหลายพันล้านบาทเพื่อติตตั้งอุปกรณ์ทันสมัยในการลดการปล่อยมลพิษทุกชนิด

ผมเชื่อว่าปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่ตั้งใจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่โรงงานทุกแห่งที่มีแนวคิดเรื่องนี้ชัดเจน อย่าลืมว่าโรงงานในมาบตาพุดมีหลายร้อยโรงงาน แต่หากทุกโรงงานในมาบตาพุดไม่ได้ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ปัญหาก็ไม่จบสิ้น บางโรงงานอาจจะปล่อยมลพิษ ขณะที่โรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ปล่อย คงจะเข้าตำรา ปลาเน่าตัวเดียวทำให้เหม็นหมดทั้งข้อง เพราะอากาศเป็นพิษที่ถูกปล่อยขึ้นหรือน้ำเสียที่ลงทะเล เป็นภาพรวมที่ไม่สามารถระบุได้ว่า ต้นตอมาจากโรงงานใด

ยามรปภ. ไม่รู้หรอกว่ากลิ่นเหม็นเน่า หรือน้ำเสียมาจากใคร แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ และเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดยังไม่นิ่ง ยังมีปัญหาอยู่

เพื่อนสมัยนักเรียนที่เป็นวิศวกรใหญ่ในโรงงานแถวนั้น บอกว่า เอาเข้าจริงพวกนักลงทุนจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน หรือฝรั่ง ไม่ได้ใส่ใจมากมายกับมาตรการในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมหรอก เพราะถือว่าไม่ใช่บ้านของเขา ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้คุมกฎระเบียบก็หย่อนยาน มาตรวจโรงงานบ้างไม่ตรวจบ้าง และแอบกระซิบว่า อุบัติเหตุการรั่วไหลของสารพิษเกิดขึ้นเป็นเรื่องปรกติ ตามอายุการใช้งาน

พูดก็พูดเถอะ ผู้หลักผู้ใหญ่ในสภาอุตสาหกรรมก็ควรจะแอบลงพื้นที่มาบตาพุด พูดคุยกับชาวบ้าน ไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล ไปสูดดมอากาศสักอาทิตย์นอกห้องแอร์ ไม่ใช่รอรับรายงาน เห็นแต่ตัวเลขการลงทุน หรือดูแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ดูสถิติว่าค่ามลพิษมากขึ้นหรือลดลง

เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นการลอกคราบวงการอุตสาหกรรมไทยครั้งใหญ่ ที่เคยมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ แต่ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทุกฝ่ายต้องเปิดใจและร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมเดินหน้าไปได้

เริ่มต้นด้วยกาถอดสูทไปคุยกับยามในโรงงาน แล้วจะตาสว่าง รู้ปัญหาลึก ๆ เป็นชีวิตจริง ที่ตัวเลข กราฟ จอคอมพิวเตอร์ไม่สามารถบอกได้

มติชน 11 ตค. 52

Comments

  1. Pingback: Tweets that mention ศาลปกครองกับ มาบตาพุด การลอกคราบครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมไทย | -- Topsy.com

  2. คนคู่

    ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับทุกบทบาทหน้าที่ ที่ทำให้ความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีของประชาชนผุดขึ้นมาได้

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.