มาบตาพุด เมื่อฝ่ายอุตสาหกรรมถูกจับเป็นตัวประกันมั่ง

2174927908_e4d0f941ea

เชื่อไหมว่า

หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งระงับ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมแถบมาบตาพุด เพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุดเป็นการชั่วคราว อันเนื่องมาจากปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 แต่นักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อมั่นเดิม ๆว่าโครงการที่ถูกสั่งระงับ อีกไม่นานก็คงเปิดได้ตามปรกติ เดี๋ยวรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเหมือนทุกครั้ง

เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมักเกรงใจนักลงทุนที่ส่งเสียงดังมากกว่าชาวบ้าน ไม่อยากส่งผลกระเทือนต่อการลงทุนจากต่างประเทศเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท

หลายวันก่อน เพื่อนฝูงในภาคอุตสาหกรรมมาขอความเห็นเรื่องนี้ ผมบอกความเห็นไปว่า หลังจากศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่งมาแล้ว ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมไทย นับแต่นี้เป็นต้นไป ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เนื้อหาในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้ทำหน้าที่เป็นจระเข้ขวางคลองให้กับการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมว่าไม่ง่ายเหมือนในอดีตแล้ว โดยบัญญัติไว้ว่า

“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

สรุปสั้น ๆ ก็คือว่า ต่อแต่นี้เป็นต้นไป โครงการใด ๆที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องทำการบ้านสี่ข้อให้เสร็จก่อนคือ

1.ทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรารู้จักกันดีว่า EIA (Environmental Impact Assessment)

2.ทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA (Health Impact Assessment)ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับบ้านเรา

3.จัดให้มีการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย

4.ให้มีคนกลางคือ องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ให้ความเห็นประกอบ

ใครจะวิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย หรือล้าหลังกว่าฉบับปี 2540 แต่สำหรับบทบัญญัติเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วถือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก้าวหน้าและรัดกุมกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา

และฝ่ายประชาชนได้ใช้กฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม โดยที่ฝ่ายหลังชะล่าใจอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ฝ่ายประชาชนจึงฟ้องศาลปกครองว่า รัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 67  เพราะยังอนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 76 แห่งก่อสร้างต่อไปได้ในมาบตาพุด โดยการบ้านทั้งสี่ข้อยังทำไม่ครบถ้วน

ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมอาจจะทำการบ้านข้อ 1 กับ ข้อ 3 ซึ่งถือเป็นเรื่องเก่า แต่สำหรับข้อ 2 และข้อ 4 นั้นเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย  แน่นอนว่าการบ้านสองข้อนี้ภาคอุตสาหกรรมทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ

โดยเฉพาะข้อที่สี่ ต้องมีการออกพรบ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลควรจะทำมานานแล้วหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550  แต่ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เห็นความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือหากวิเคราะห์ให้ลึกลงไป รัฐบาลที่อยู่ภายใต้อำนาจของบรรดาเทคโนแครตและข้าราชการ ไม่อยากคายอำนาจของการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมมาให้กับภาคประชาชน

ดังนั้นเมื่อภาคประชาชนเห็นจุดอ่อนข้อนี้แล้ว จึงใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการฟ้องศาลปกครองว่า รัฐบาลว่า ไม่ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ก่อนจะมีคำพิพากษาออกมา คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นเทคโนแครตสำคัญของฝ่ายรัฐก็ยังออกมาให้ตีความกฎหมายให้ภาครัฐเดินหน้าอนุมัติโครงการต่าง ๆต่อไปได้ แม้ว่าจะทำการบ้านตามมาตรา 67 ไม่ครบถ้วน

พอศาลมีคำสั่งออกมา ผลเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นกับภาครัฐบาล แต่กระทบโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมหลายแสนล้านบาท ที่ประเมินว่า ที่ผ่านมาตัวเองทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ภายใต้การรับประกันของรัฐบาลมาโดยตลอด และรัฐบาลเองก็ไม่เคยส่งสัญญาณเตือนภัยในประเด็นของมาตรา 67

ขณะนี้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม เห็นตรงกันว่า ต้องรีบนำพรบ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ผ่านสภาโดยเร็วที่สุด ถ้าให้ดีหากสำเร็จก่อนปิดสภาในเดือนพฤศจิกายน ก็น่าจะทำให้กระบวนการต่าง ๆ คลี่คลายลงมาก

ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ไม่อยากทำอะไรให้ผิดกฎหมายอีกต่อไป ขณะที่ภาคประชาชนก็อยากให้ภาคอุตสาหกรรมทำให้ถูกกฎหมายจริง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิต

แต่ปัญหากำลังจะเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลได้ดึงดันรวบรัดจัดทำร่างแก้ไขพรบ.สิ่งแวดล้อม เพื่อจัดตั้ง องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้มีการรับฟังความเห็นของฝ่าย ต่าง ๆ โดยมีเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐบาลและข้าราชการอย่างชัดเจน อาทิเช่น

สำนักนโยบายและแผน หรือสผ. เป็นผู้คัดเลือกองค์กรอิสระเสียเอง แทนที่จะเป็นการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการคัดเลือก และที่สำคัญคือ ให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถถอดถอนองค์กรอิสระ ที่ให้ความเห็นไม่เป็นกลางหรือไม่เหมาะสม

หากถอดความง่าย ๆ ก็คือ ให้ข้าราชการเป็นคนตั้งตัวแทนองค์กรอิสระ และหากคนที่ตั้งมาทำงานไม่ได้ดังใจ  ก็ให้รัฐมนตรีถอดถอนเสียเลย สะท้อนให้เห็นว่า ซีกรัฐบาลยังไม่ยอมคายอำนาจการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม

แน่นอนว่าภาคประชาชนไม่ยอมให้ พรบ.ฉบับนี้ผ่านแน่นอน คงต้องมีการฟ้องร้อง หรือการประท้วงตามมาไม่จบสิ้น  และที่ผ่านมาภาคประชาชนก็เคยเสนอร่างพรบ.จัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ทางรัฐบาลพิจารณาแล้ว แต่เรื่องได้ถูกดองเค็มเอาไว้เรียบร้อย

เมื่อรัฐบาลและข้าราชการไม่ยอมคายอำนาจ ความขัดแย้งกับภาคประชาชนก็ยังไม่หมดสิ้น แต่คนที่เหงื่อตกเดือดร้อนมากที่สุด คราวนี้คงเป็นฝ่ายอุตสาหกรรม ที่ลงทุนลงแรงไปหลายตังค์แล้ว ดอกเบี้ยก็วิ่งทุกวัน ราคาหุ้นก็สาละวันเตี้ยลง นักลงทุนต่างชาติก็ชักไม่แน่ใจ  ยิ่งปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไป กฎหมายก็ยังไม่คลอด  ความเสียหายก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน จนมองไม่เห็นฝั่งว่า เรื่องราวจะยุติลงเมื่อใด ขณะที่โอกาสเจ๊งกันถ้วนหน้ามีสูง

คราวนี้ฝ่ายอุตสาหกรรมถูกจับเป็นตัวประกันในสงครามความขัดแย้งครั้งนี้  บรรดากุนซือของนักอุตสาหกรรมคงพลิกตำราแก้เกมแทบไม่ทัน เพราะบอกแล้วว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่ข้อดีของฝ่ายอุตสาหกรรมคือเป็นพวกที่ปรับตัวเร็วเพื่อการอยู่รอด

ไม่แน่นะครับ อีกไม่นาน เราอาจจะเห็นภาคอุตสาหกรรมยอมจับมือกับภาคประชาชน เพื่อเร่งแก้ปัญหาทุกอย่างในมาบตาพุดให้จบสิ้น  เพราะเวลากำลังจะพิสูจน์ว่า  รัฐบาลและกลไกของรัฐกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้

มติชน 1 พย. 52

Comments

  1. Pingback: Tweets that mention มาบตาพุด เมื่อฝ่ายอุตสาหกรรมถูกจับเป็นตัวประกันมั่ง | -- Topsy.com

  2. คนคู่

    หวังว่าเงินค่าไถ่จะไม่ไปอยู่ที่คนกลางตามพรบ.ที่เร่งคลอดหรอกนะ

  3. ป๋อง โป๊ยเซียน

    คนไทยเมื่อศึกษาและรู้กฎหมายแล้วมักชอบหาช่องทางในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่รู้ว่าถูกต้อง

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.