เมื่อคนญี่ปุ่นสร้างชาติจากการเข้าคิว

“วัฒนธรรมการเข้าคิวของคนญี่ปุ่น สะท้อนว่า พวกเขาเชื่อมั่นในความยุติธรรม พวกเขาเชื่อว่าสังคมญี่ปุ่นมีความยุติธรรมพอที่ทุกคนจะได้รับการจัดสรรสินค้าโดยทั่วถึงกัน และหมายรวมไปถึงความยุติธรรมในเรื่องอื่น ๆด้วย”

เพื่อนคนหนึ่งผู้เคยเรียนในประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความเห็น เมื่อผู้เขียนถามถึงเรื่องการเข้าคิวซื้อของของคนญี่ปุ่น ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเลด้วยความรุนแรงขนาด 9 ริกเตอร์ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงนับสิบเมตรถล่มเกาะญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554

ภาพคนญี่ปุ่นเข้าคิวรอซื้อสินค้า หรือรอรับการแจกของจากเจ้าหน้าที่นานนับชั่วโมงอย่างมีวินัยอดทนเป็นระเบียบเรียบร้อย หลังจากเพิ่งเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดในรอบสามร้อยปี สร้างความประทับใจให้คนทั้งโลกว่า คนญี่ปุ่นนิ่งและมีสติมั่นคงกับการเผชิญหน้ากับหายนะครั้งนี้ได้อย่างไรกัน

ภายใต้สถานการณ์อันตึงเครียด การขาดแคลนน้ำ อาหาร ไฟฟ้า ยารักษาโรค ภายใต้ความหวั่นวิตกกับสารกัมมันตภาพรังสี แต่เราไม่เห็นภาพคนญี่ปุ่นก่อการจลาจลแย่งชิงอาหาร ฉวยโอกาสปล้นร้านค้า ทำร้ายผู้เดือดร้อน จนทางการต้องส่งทหารตำรวจเข้ามาควบคุมความวุ่นวายเหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

เราไม่เห็นคนญี่ปุ่นตะโกนด่าทอรัฐบาล เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เห็นเพียงแต่ชาวญี่ปุ่นที่ยอมรับความสูญเสีย ก้มหน้ารับชะตากรรมที่เกิดขึ้น แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะเป็นชาติที่วางแผนเตรียมตัวมาดีที่สุดในโลกในการรับมือกับแผ่นดินไหว แต่ยอมรับว่าครั้งนี้สู้ไม่ได้ แต่คนญี่ปุ่นเป็นคนไม่ยอมพ่ายแพ้ เราจึงเห็นคนญี่ปุ่นทุกคนร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลืออย่างมีวินัย ไม่มีเสียงบ่น เสียงตะโกนด่าทอว่าเป็นความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เห็นความร่วมมือร่วมใจในการค้นหาผู้บาดเจ็บและสูญหายอย่างเป็นระเบียบ เห็นความสามัคคี ความอดทนของลูกหลานซามูไรเหล่านี้

ในเว็บข่าวหนึ่ง ได้มีคนอเมริกันเขียนข้อความแสดงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ครั้งนี้เปรียบเทียบกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในสหรัฐเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “ตอนที่พายุเฮอริเคนแคทรินาได้พัดถล่มอ่าวเม็กซิโก สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศโดยเฉพาะเมืองนิวออร์ลีนส์ ภาพที่ปรากฎเห็นชัดก็คือ เราเห็นคนอเมริกันออกมาโวยวายด่ารัฐบาล เห็นหัวขโมยออกมาฉกชิงวิ่งราว หยิบฉวยสิ่งของต่าง ๆ ไปจากร้านค้าจนถึงแย่งชิงสิ่งของจากผู้บริจาค แต่เราไม่เคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้ในประเทศญี่ปุ่นเลย แม้ขนาดความเสียหายจากสึนามิครั้งนี้จะมากกว่าอย่างเทียบไม่ได้เลย”

อีกด้านหนึ่งเราเห็นภาพข่าวคนไทยแย่งชิงน้ำมันปาล์มกันอย่างเอาเป็นเอาตายในซุปเปอร์มาเก็ต บางคนทะเลาะกัน ลงไม้ลงมือกัน บางคนแย่งกันยกขวดน้ำมันปาล์มไปทั้งกล่อง เพราะกลัวความขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารเพียงชั่วคราว ซึ่งห่างไกลจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น

ท่ามกลางการสูญเสียชีวิตนับหมื่นคน ท่ามกลางการสูญเสียนับแสนล้านเหรียญ แต่คนญี่ปุ่นได้ชนะใจคนทั้งโลกจากแววตาอันมุ่งมั่น จากความอดทนและการเข้าคิว

โศกนาฏกรรมครั้งนี้สอนให้เรารู้ว่า คนญี่ปุ่นสร้างชาติมาจากการเข้าคิว ที่แสดงความมีวินัย ความอดทน การรู้จักรอคอย

แต่วินัยในความหมายของคนญี่ปุ่น ไม่ได้มีความหมายแค่การทำตามคำสั่ง อาทิ นักเรียนทำตามคำสั่งครู ทหาร ตำรวจทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาแบบคนไทย หรือวินัยแค่การยืนตรงเคารพธงชาติตอนหกโมงเย็นเท่านั้น แต่วินัยของคนญี่ปุ่นคือการแสดงออกถึงการเคารพสิทธิของคนอื่น เคารพสิทธิของคนเข้าคิวก่อน เคารพการอยู่ร่วมกันในสังคม ทุกคนทำตามกติการของสังคมอย่างเสมอภาค

เวลาข้ามทางม้าลายในประเทศนี้ เพียงแค่เรามายืนอยู่ตรงริมถนน คนขับรถก็จะชะลอรถ หยุดให้คนเดินข้ามทางม้าลาย เพราะเคารพสิทธิของคนข้ามถนนก่อน ขณะที่หลายประเทศพอคนมายืนริมฟุตบาท คนขับรถกลับเหยียบคันเร่งทันที

ที่สำคัญคือ ในอดีตที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีพลเมืองอาศัยบนเกาะจำนวนมาก พื้นที่จำกัด ทรัพยากรจำกัด คนญี่ปุ่นจึงเข้าใจดีว่า การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎกติกาที่ทุกคนต้องเคารพร่วมกัน ไม่มีอภิสิทธิ์ชน หรือใครมีสีใครมีเส้นสามารถมีสิทธิเหนือคนอื่น ขับรถเปิดเสียงไซเรนฝ่าไฟแดงได้จนเห็นเป็นเรื่องปรกติเหมือนกับบางประเทศ

และคนญี่ปุ่นทราบดีว่าประเทศของตัวเองเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ว่าสึนามิ แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อการอยู่รอดของทุกคน ดังนั้นความคิดถึงส่วนรวม จึงมาก่อนความคิดถึงตัวเอง เพราะทัศนคติที่ว่า ส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตัวนั้น เป็นหลักสำคัญในการทำให้สังคมมนุษย์อยู่รอดได้

คนญี่ปุ่นปลูกฝังเรื่องที่ว่า “ส่วนรวมย่อมมาก่อนส่วนตัว”อยู่ในดีเอ็นเอของพวกเขามาช้านานแล้ว

คนญี่ปุ่นยังมีเลือดบูชิโดอยู่ในสายเลือดอย่างเต็มเปี่ยมและน่าสนใจว่าพวกเขาถ่ายทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร

บูชิโดเป็นจริยธรรมของนักรบซามูไร ช่วยให้ญี่ปุ่นมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะบูชิโดสอนให้คนมีความกล้าหาญ มีความเป็นสุภาพบุรุษ มีความรักชาติ มีความรักครอบครัวและเคารพต่อบรรพบุรุษ บูชิโดจึงเป็นดวงวิญญาณของนักรบ อยู่เหนือการศึกษาทั้งหลายของญี่ปุ่น

บูชิโดสอนและฝึกให้คนมีความอดทนต่อความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและทางใจ จะต้องสามารถซ่อนความรู้สึกไว้ภายในใบหน้า รู้จักข่มใจตนเอง ไม่ยอมปล่อยร่างกายตกเป็นทาสของความต้องการ ไม่ยอมย่อท้อต่อความยากลำบาก

และเลือดบูชิโดสอนให้คนญี่ปุ่นมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีสูงมาก มีความละอายต่อความผิดพลาดและการทำผิดของตน แทนที่จะไปกล่าวโทษคนอื่น และหากเกิดความผิดพลาดร้ายแรงขึ้นมา การแสดงความรับผิดชอบสูงสุดก็คือการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่พิธีฮาราคีรีหรือการคว้านท้องฆ่าตัวตายในอดีต มาจนถึงปัจจุบันที่สถิติการฆ่าตัวตายของชนชาตินี้สูงติดอันดับโลก ซึ่งเรามักจะได้ยินข่าวเด็กนักเรียนกระโดดตึกฆ่าตัวตายเพราะสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยบ่อย ๆ

การเข้าคิว ความอดทน วินัยและความรู้สึกหน้าบางละอายต่อความผิดของคนญี่ปุ่นสร้างชาติฉันใด การแย่งชิง ทะเลาะด่าทอกัน ความรู้สึกไม่เท่าเทียม และความหน้าหนาของคนในบางประเทศ ก็สามารถทำลายชาติได้ฉันนั้น

มติชน 20 มีนาคม 2554

Comments

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.