รำลึกการสังหารหมู่ที่เมืองอมฤตสา

ภาพจาก https://indianexpress.com/

          

2009 เป็นวาระครบรอบ 90 ปีแห่งการสังหารหมู่ครั้งประวัติศาสตร์ในประเทศอินเดีย

หากใครที่เคยดูภาพยนตร์ยิ่งใหญ่เรื่อง Gandhi เรื่องราวประวัติการต่อสู้ของมหาตมะ คานธี และรางวัลตุ๊กตาทองออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 1982  จากฝีมือกำกับการแสดงของริชาร์ด แอตเทนบูรก์ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน คงจำฉากสะเทือนใจฉากหนึ่ง เมื่อทหารอังกฤษกราดยิงชาวอินเดียตายไปจำนวนมากในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง

ปลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสมาเยือนสถานที่แห่งนี้ ในเมืองอมฤตสา เมืองสำคัญของแคว้นปัญจาบ ประเทศอินเดีย

แคว้นปัญจาบถือเป็นดินแดนของชาวซิกข์ ขณะเดียวกันในสมัยที่อินเดียตกอยู่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปัญจาบเป็นฐานที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของอินเดียในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการปกครองของอังกฤษ

ชาวซิกข์เป็นนักต่อสู้ชั้นยอด ในอดีตประวัติการต่อสู้อันดุเดือดของนักรบชาวซิกข์เพื่อให้หลุดพ้นจากการครอบงำของชาวมุสลิมเป็นที่เลื่องลือมาช้านาน และเมื่อเซอร์ไมเคิล โอไดเวอร์ ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบได้ออกกฎเหล็กให้ ชาวอินเดียที่ถูกกล่าวหาว่าปลุกระดมหรือก่อความวุ่นวาย จะถูกจับติดคุกโดยไม่ต้องมีการไต่สวน

กฎหมายฉบับนี้ได้ทำให้ชาวปัญจาบพากันโกรธแค้น และมีการชุมนุมประท้วงอย่างสงบเป็นระยะ ภายใต้แนวทางอหิงสา ของมหาตมะ คานธี ผู้กำลังเริ่มต้นการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ด้วยการจัดตั้งขบวนการสัตยเคราะห์ ซึ่งยึดถือความสัตย์หรือการแสวงหาความจริงด้วยจิตใจแห่งความรัก และไม่ใช้ความรุนแรง

ชาวซิกข์ ชาวมุสลิม และชาวฮินดูนับหมื่นคนได้รวมกันชุมนุมประท้วงกฎหมายอย่างสงบในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งชื่อ จาเลียนวาลา บาก เป็นเวลาหลายวัน จนกระทั่งวันที่ 13 เมษายน 1919 ก่อนพระอาทิตย์จะตกดินไม่นาน กองทหารอังกฤษ 90 คน ภายใต้การนำของพลจัตวาไดเออร์ ได้เดินเข้ามาปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่พูดจาใด ๆ หรือประกาศเตือนให้ผู้คนกลับบ้าน และนายพลได้สั่งให้ทหารทั้งหมดยิงอย่างไม่เลือกหน้า กองทหารทั้งหมดได้กราดปืนยิงผู้คนที่ไม่มีอาวุธล้มตายราวใบไม้ร่วง ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของผู้คน เด็ก ผู้หญิงที่ไม่มีทางสู้ได้

สวนสาธารณะแห่งนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงสูง คนที่พยายามปีนป่ายขึ้นไปถูกยิงศพแล้วศพเล่า ทหารใช้เวลาเพียง 10 นาทียิงกระสุนจนหมด มีคนตาย 378 คน เป็นเด็ก 41 คน และบาดเจ็บ 1,500 คน มีการประกาศเคอร์ฟิว ศพถูกทิ้งข้ามคืน ก่อนที่ชาวปัญจาบจะมาเที่ยวค้นหาญาติพี่น้องของตนเอง

ผมเดินเข้ามาในสวนสาธารณะแห่งนี้ ทางเข้าเป็นซอยแคบ ๆ พอให้คนเดินสวนกันได้ ซึ่งนับเป็นโชคดี เพราะวันนั้นพลจัตวาไดเออร์เอารถหุ้มเกราะติดปืนกลมาด้วยสองคัน แต่เข้าไม่ได้เพราะทางแคบ มิฉะนั้นอาจจะเห็นคนตายมากกว่านี้

ภายหลังเหตุการณ์ ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบออกมาปกป้องนายพลผู้นี้ว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว  ขณะที่นายพลไดเออร์ได้บอกว่า “เป็นการยับยั้งไม่ให้ฝูงชนกลับมารวมตัวกันอย่างได้ผล การลงโทษครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญไม่ให้เกิดการชุมนุมประท้วงอีกต่อไป”

แต่เมื่อข่าวนี้กระจายไปทั่วโลก อังกฤษถูกประณามจากคนทั่วโลก และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมานายพลไดเออร์ไม่เคยนอนหลับสนิท ฝันร้ายไปตลอดชีวิต

ส่วน เซอร์ไมเคิล โอไดเวอร์ ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบ ผู้มีส่วนสำคัญในการวางแผนสังหารหมู่ครั้งนี้ ได้เกษียนอายุราชการ กลับมาใช้ชีวิตในบ้านพักกรุงลอนดอนอย่างเงียบ ๆ และไม่เคยถูกใครขู่เอาชีวิต  จนกระทั่งในวันที่ 13 มกราคม 1940 นายอัดฮาม สิงห์ นักปฏิวัติหัวรุนแรงและได้รับบาดเจ็บในวันสังหารโหดเมื่อสามสิบปีก่อน ได้บุกเข้ามาลอบฆ่าชายชราผู้นี้ เขาถูกศาลอังกฤษตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเวลาต่อมา

ในวันตัดสินคดี อัดฮาม สิงห์กล่าวว่า “ข้าพเจ้ากระทำไปเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของชาวอินเดีย ที่ถูกชาวอังกฤษดูถูกเป็นเวลายี่สิบกว่าปี ไดเวอร์ได้เหยียบย่ำจิตใจของพวกเรามานาน ผมได้ทำหน้าที่ของผมแล้ว และกำลังจะตายเพื่อประเทศชาติ”

เมื่ออัฐของเขาถูกนำกลับประเทศอินเดีย อัดฮาม สิงห์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติ เป็นนักสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย ผู้ช่วยล้างแค้นแทนพี่น้องชาวปัญจาบ ภาพถ่ายและชื่อของเขาติดอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้ไปตลอดกาล

เหตุการณ์การสังหารหมู่ครั้งนั้น ได้ทำให้ชาวอินเดียพากันโกรธแค้นและตื่นตัวเข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของมหาตมะ คานธีเป็นจำนวนมาก  มีการชุมนุมและประท้วงบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ กดดันให้อังกฤษยอมให้เอกราชกับชาวอินเดียอีกยี่สิบกว่าปีต่อมา

ทุกวันนี้สวนสาธารณะแห่งนี้ได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ทางการยังอนุรักษ์รอยกระสุนนับร้อยรูตามกำแพงไว้ให้คนรุ่นหลังเห็นถึงความโหดร้ายของคนขาว และบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่มีผู้คนถูกยิงตกลงไปตายมากกว่าร้อยคน ถูกรักษาไว้ในสภาพเดิม เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้สึกและสะเทือนใจจริง ๆ

ผมไปตอนประมาณเกือบสองทุ่ม ยิ่งได้บรรยากาศแบบเดิม ๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยนมาร่วมร้อยปี

แต่ละวันมีชาวอินเดียนับพันคนจากทั่วสารทิศมาดูร่องรอยประวัติศาสตร์ของตัวเอง เด็กนักเรียนมากันเป็นคันรถบัส  คุณครูพา มาศึกษาเพื่อให้รู้ว่า กว่าอินเดียจะได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพและเอกราชนั้น ไม่ใช่ด้วยการร้องขอ  คนในอดีต ต้องเจ็บปวดและเสียสละชีวิตมากน้อยเพียงใด

ส่วนที่เมืองไทย นึกไม่ออกจริง ๆว่า จะไปดูสถานที่แบบนี้ได้ที่ไหน เพราะดูเหมือนผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัย อยากให้เด็กรุ่นหลังลืมประวัติศาสตร์ มากกว่าจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนจริง ๆ

Comments

  1. yuttipung

    นอกเรื่องเล็กๆ สกุลของผู้กำกับน่าจะเป็น แอทเทนเบอร์ราห์(หรือออกเสียงใกล้เคียง) มากกว่านะครับ

  2. คนคู่

    หรือเป็นเพราะว่าปัจจุบัน เเด็กรุ่นหลังเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ จากเทคโนโลยีมากกว่าประวัติศาสตร์มั้ง

  3. jiraprapha

    บางทีลูกหลานไทย(รวมทั้งผู้ใหญ่) น่าจะซึมซับความเสียสละ รักใคร่สามัคคีจากเหตุการณ์เรื่องนีสักครึ่งบ้านเมืองเราคงสงบสุขมิใช่น้อย

  4. Pingback: ทริปปัญจาบถึงหิมาจัล EP 2: Jallianwala Bagh | MotiGang.com

  5. Pingback: Jallianwala Bagh | MotiGang.com

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.