เขื่อนแก่งเสือเต้น การหากินบนคราบน้ำตาของชาวบ้าน

 

“ผมคิดว่าการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของผืนป่าทั้งหมด ที่มนุษย์มิอาจจะสร้างขึ้นมาใหม่ได้”

สืบ นาคะเสถียร

แก่งเสือเต้นเป็นชื่อเกาะแก่งของโขดหินในแม่น้ำยม  ช่วงที่ไหลผ่านแม่น้ำยมบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ยมมีความยาว 2 กิโลเมตร ชื่อของแก่งเสือเต้นมาจากปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ทำให้เกิดรอยเท้าเสืออยู่บนโขดหินก้อนหนึ่งบนหาดทรายริมแม่น้ำ

ลำพังแก่งเสือเต้นก็ไม่น่าจะมีใครรู้จักมากมายจนกระทั่งเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มีข่าวว่าจะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกั้นแม่น้ำยม ชื่อของแก่งเสือเต้นก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง บริเวณจังหวัดสุโขทัย หรือ จังหวัดแพร่ ข่าวการสนับสนุนให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็ดังสนั่นขึ้นจากปากของนักการเมืองทุกพรรคอย่างพร้อมเพรียงกันด้วยความเชื่อมั่นว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นยาสารพัดประโยชน์
สามารถป้องกันน้ำท่วมหรือฝนแล้งได้อย่างเด็ดขาด

ช่วงนี้พี่น้องชาวจังหวัดแพร่ สุโขทัยและอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือถูกภัยพิบัติซ้ำเติม โดนน้ำเอ่อล้นตลิ่ง
น้ำป่าไหลท่วมบ้าน เรือกสวน ไร่นาเสียหายยับเยิน ซึ่งน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง และควรจะได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและถูกวิธีจากรัฐบาล

สิบกว่าปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้ลงพื้นที่ป่าแม่ยมมาหลายครั้งแล้ว และอยู่ในบรรยากาศการขัดแย้งและโต้เถียงกัน
ระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อแรกเริ่มมีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น  ผู้ผลักดันโครงการคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเรื่องการผลิตไฟฟ้า 48 เมกะวัตต์ และการเพิ่มพื้นที่ชลประทานขนาด 300,000 ไร่ให้แก่เกษตรกร ส่วนการป้องกันน้ำท่วม การป้องกันอุทกภัยไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนเลย

พูดตามประสาชาวบ้านก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้น เหมาะที่จะลงทุนสร้างเพื่อผลิตไฟฟ้า และการสร้างพื้นที่ชลประทาน ส่วนเรื่องป้องกันน้ำท่วมเป็นผลพลอยได้มากกว่า  แต่เมื่อข่าวการสร้างเขื่อนถูกวิจารณ์มากๆ เจ้าภาพผู้รับผิดชอบการสร้างเขื่อนก็ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นกรมชลประทาน  ผู้หมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างเขื่อนแห่งแรกที่กั้นแม่น้ำยมขนาดความสูง 72 เมตรให้ได้

แต่ประเด็นการโต้แย้งจากผู้คัดค้านที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ หากมีการสร้างเขื่อนแล้วต้องสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 60,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายกว่า 20,000 ไร่ ที่ต้องจมน้ำไป  ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพออกจากบ้านเกิด  โดยที่ไม่แน่ใจว่าเขื่อนแห่งนี้จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งได้จริงหรือ

ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม้สักเป็นราชินีของไม้ทั้งหลายทั้งปวง เนื้อไม้สักทองถือว่าเป็นไม้คุณภาพดีและแพงที่สุดในโลก บ้านราคาแพงก็ใช้ไม้สักบ่งบอกฐานะ ส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ที่ประดับในรถยนต์หรู หรือ เครื่องบินโดยสารก็ใช้ไม้สักเป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยม และบนเรือบรรทุกเครื่องบินส่วนใหญ่ก็ใช้ไม้สักปูดาดฟ้าเรือ จากคุณสมบัติที่มีความคงทนต่อสภาพอากาศ น้ำทะเล และการยืดหดตัวน้อยกว่าไม้ชนิดอื่น

พระเจ้าได้ประทานไม้สักบนโลกนี้เพียงสามประเทศ คือ พม่า อินเดีย ไทย และที่เมืองไทย ป่าแม่ยมคือแหล่งสุดท้ายที่มีไม้สักทองตามธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุด

และไม้สักคุณภาพดีที่สุดคือไม้สักทอง เนื้อไม้สีเหลืองทองอร่ามตา หาใช่ไม้สักหยวก ไม้สักไข หรือไม้สักขี้ควาย

ที่ผ่านมาชาวบ้านและหน่วยงานรัฐหลายแห่งได้ช่วยกันป้องกันและรักษาให้ป่าสักทองผืนนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุกรรมไม้สักทองเพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานในอนาคต

แต่อีกด้านหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ก็ตกเป็นเป้าสายตาของบุคคลบางกลุ่มที่เห็นประโยชน์มหาศาลจากการได้สัมปทานตัดไม้สักทองร่วมสองหมื่นไร่แห่งนี้มาอย่างเงียบๆ  ซึ่งเป็นการยากที่จะได้ เพราะพื้นที่ป่าแห่งนี้อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยมมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเคร่งครัด

เมื่อมีข่าวการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นส่งผลให้ต้องมีการตัดไม้สักสองหมื่นกว่าไร่ดีกว่าจะจมน้ำเปล่า ๆ
ผลประโยชน์ร่วมกันจึงเกิดขึ้น

สมัยก่อนข้ออ้างการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือการชลประทานคงไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวบ้านเท่าที่ควรจนกระทั่งเมื่อดินฟ้าอากาศแปรปรวนหนักขึ้น มีข่าวน้ำท่วม ภัยแล้ง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอยู่ไม่เว้นแต่ละปี  การปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่จุดประสงค์ของการสร้างเขื่อนแห่งนี้ มีเพื่อไฟฟ้าและการชลประทานหาได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้งเลย

แต่โอกาสทองกำลังมาถึงแล้วการประโคมข่าวของบรรดานักการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่นที่เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้ชาวบ้านเกาะขอนไม้นี้  ด้วยความรู้สึกว่าเมื่อสร้างเขื่อนแล้ว  ชีวิตจะดีขึ้น น้ำจะไม่ท่วม  และใช้ความทุกข์ยากของชาวบ้านเป็นแรงขับเคลื่อนกดดันให้เกิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ขณะที่ทุกวันนี้ แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิต์ แม่น้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา หรือแม่น้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล
ขวางกั้นลำน้ำอยู่ แต่ชาวบ้านที่อยู่ใต้น้ำก็ยังประสบปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้งและดินถล่มอยู่เป็นประจำ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน จากปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตัดไม้ทำลายป่า

กรมชลประทานก็เคยศึกษาแล้วว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ร้อยละ 9.6 คือหมายความว่า ถ้าน้ำท่วมสูง 1 เมตรหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้น้ำลดลงได้แค่ 9.6 เซ็นติเมตร

คุ้มหรือไม่คุ้มกับการสร้างเขื่อนมูลค่า 12,000 ล้านบาท กับการเสียพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า
60,000 ไร่ เพื่อได้มาซึ่งการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งที่ไม่ถูกจุด

ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีทุกครั้งที่รัฐบาลจะผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็จะมีการตั้งคณะกรรมการและจ้างสถาบันวิชาการระดับประเทศเพื่อศึกษาวิจัยผลดีผลเสียของการสร้างเขื่อน และเกือบทุกครั้งก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า  การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมูลค่า 12,000 ล้านบาท  ไม่คุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะวัดด้วยอะไรก็ตามสู้เอางบประมาณเหล่านี้ไปหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่านี้ดีกว่า

ผู้เขียนเชื่อว่าหากเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างสำเร็จ น้ำก็ยังจะท่วมต่อไป แต่ป่าสักทองผืนสุดท้ายก็จะมลายหายไปพร้อมกับภาษีประชาชนกว่า 12,000 ล้านบาท

ขณะที่มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม
ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น  ตั้งแต่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ 77 สาขา โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายไปทั่ว และให้ชุมชนตลอดลุ่มน้ำมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ รวมไปถึงการขุดลอกตะกอนแม่น้ำอันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน

แต่แน่นอนว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ในสายตาของนักการเมืองแล้ว ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม  หาเสียงด้วยการสร้างเขื่อนกับหาเสียงด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กผลสะเทือนย่อมต่างกัน

ไม่รวมถึงผลประโยชน์จากการก่อสร้างมูลค่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งหากคิดจากปัญหาคอรัปชั่นในบ้านเราที่สูญเงินไประหว่างทางถึง 30-40 เปอร์เซนต์ของมูลค่าการก่อสร้างโครงการแห่งนี้จะได้เงินเข้ากระเป๋าใคร
เป็นจำนวนเท่าใด และใครจะได้สัมปทานตัดไม้สักทองผืนใหญ่นี้ คงพอนึกภาพกันออกว่าเป็นใครไม่ได้นอกจากนักการเมือง

ไม่น่าแปลกใจที่นักการเมืองทุกยุคทุกสมัยฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลไม่เคยทะเลาะกันเลยเรื่องการสร้างเขื่อน

21 สิงหาคม 2554
มติชน

Comments

  1. บุญล้อม

    คนบูชาเงิน หาผลประโยชน์ใส่ชีวิตจนตาย พวกนี้ไม่เคยพอ ใครทุกข์ยากก็ช่าง

  2. naritai

    เห็นด้วยครับ…

    เคยแวะเข้าไปในแก่งเสือเต้น สภาพป่าสวยมากๆ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.