ไม่เคยมีนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองใด ๆ

รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก มักขยันปั้มจีดีพีให้โตขึ้นทุกปี อันเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

เมืองไทยก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากการทำรัฐประหาร ต้องเร่งสร้างผลงาน หวังได้คะแนนเสียงจากชาวบ้านด้วยการเร่งการเพิ่มจีดีพีของประเทศในทุก ๆทาง

เป็นที่ทราบกันดีว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งมักจะบริโภคหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ แม่น้ำ ทะเล อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดมลพิษ มลภาวะอย่างรุนแรงทางอากาศ น้ำ อย่างรวดเร็วจากการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

รัฐบาลที่ผ่านมาจึงมีนโยบายเสียงดังฟังชัดเจนว่า จะมีวิธีการหรือมีโรดแม็บทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างไร มีรูปธรรมชัดเจน อาทิการสร้างถนน ทางด่วน รถไฟความเร็วสูง เขื่อน โรงไฟฟ้า ฯลฯ

แต่พอเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม จะพูดแบบเบาหวิว หรือ พูดรวม ๆ พอเป็นพิธี แต่ไม่มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนให้ปรากฏ

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง ส่วนใหญ่จึงเขียนแบบจับต้องไม่ได้ เขียนไว้ราวกับเป็นแบบไม้ประดับ ไร้ทิศทาง ไร้เสน่หา ไร้แนวทางชัดเจนชวนดึงดูด อาทิ

“มุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ แร่ธาตุ ทะเลและชายฝั่ง บนพื้นฐานของความสมดุล ของธรรมชาติ เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาแบบยั่งยืน”

หรือ
“เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจั ดการทรัพยากรธรรมชาติโดย การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการไปสู่ ส่ วนภูมิภาคและท้องถิ่น โดยส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน “
“สร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน ภาครั ฐ ภาคเอกชน ”

และหากจะโหนกระแสสิ่งแวดล้อมที่มาแรงทั่วโลก ก็จะมีนโยบายสวยหรูเอาไว้หาเสียงกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อาทิ ปลูกป่าลดโลกร้อน ส่งเสริมพลังงานทางเลือก สร้างเส้นทางจักรยาน รณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก

มีพักหนึ่งที่คนสนใจปั่นจักรยานมาก เกือบทุกพรรคมีนโยบายสร้างทางจักรยาน แต่พอได้เป็นรัฐบาลแล้ว นโยบายนี้ก็หายเข้ากลีบเมฆ

พอพรรคใดเป็นรัฐบาล ก็มักแย่งตำแหน่งรมต.กระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกระทรวงเกรดบี เกรดซี ที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ

ก่อนการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปีพ.ศ. 2554 นิด้าโพลได้ออกแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง ปรากฎว่า ร้อยละ 86 ของผู้ตอบบอกว่าไม่เคยได้ยินนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองสักพักใดเลย

ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไม่เคยมีจริง ๆจัง ๆ

นักการเมืองหลายคนพยายามพูดให้น่าฟังว่า จะรักษาความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เอาเข้าจริงแล้วพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดมีความเชื่อว่า นโยบายสิ่งแวดล้อม หาเสียงไม่ได้ นโยบายสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถสร้างผลงานเป็นรูปธรรมเพื่อใช้ในการหาเสียงได้ นโยบายที่หาเสียงได้คือนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ

ยิ่งรัฐบาลทหารในปัจจุบัน หากมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใด ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก็พร้อมที่จะใช้ม.44 เข้าจัดการ ยกเลิกการใช้กฎหมายบางมาตราทันที
ที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อม จึงเดินตามเศรษฐกิจเสมอมา

ตัวอย่างล่าสุด โครงการ EEC โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มูลค่าหลายล้านล้านบาท เพื่อยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กลายเป็น “World-Class Economic Zone” รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของเอเชียในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด และการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม

แต่ไม่มีการพูดถึงมาตรการในการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เคยมีบทเรียนอย่างหนักกรณีมลภาวะจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ผู้เขียนเชื่อว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีจริง จะ มีคำพูดซ้ำๆกันเยอะมาก เป็นคำพูดกลางๆ ที่ดูสวยหรูไม่เป็นพิษเป็นภัย อาทิเช่น คำว่า ปลูกป่า คัดแยกขยะ เศรษฐกิจพอเพียง ทางจักรยาน แก้ปัญหามลพิษ พลังงานทางเลือก สิ่งเหล่านี้มีแต่คำพูด แต่ไม่มีรายละเอียด ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก มีแนวปฏิบัติชัดเจน ในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับโลกร้อน การสร้างทางจักรยานเพื่อแก้ปัญหาการจราจร การคิดค้นพลังงานทางเลือกสะอาด การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างจริงจัง

แต่เมืองไทย ถึงเทศกาลทีหนึ่ง ผู้มีอำนาจก็จัดงานอีเว้นต์ ขี่จักรยานรักษ์โลก ลดโลกร้อน หรือปิดไฟฟ้าหนึ่งชั่วโมงลดการใช้ไฟฟ้า ถือว่าได้ทำความดีแล้ว
มารอดูว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ของพรรคการเมือง จะมีแค่จัดอีเว้นต์หรือไม่

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.