จากพืชจีเอ็มโอ สู่รัฐบาลจีเอ็มโอ

 

“หากประเทศไทยเป็นประเทศในแถบแอฟริกาที่ยากแก่การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นอาหาร ปลูกอะไรก็ปลูกไม่ขึ้น ก็ถือว่าสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่จะมีการผลักดันให้นำวิทยาการพืชดัดแปลงพันธุกรรมมาพัฒนาพันธุ์พืชพื้นเมือง เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ขณะที่จริงๆ แล้ว ประเทศไทยเรากลับมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์มาก จนสามารถส่งขายไปยังต่างประเทศ และเป็นครัวของโลกได้ แล้วเราจะทำไปเพื่ออะไร”

ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT)

…………………….

ศึก “จีเอ็มโอ” ระเบิดขึ้นอีกครั้งแล้ว

มุมแดงหรือฝ่ายสนับสนุนประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่เกษตรเป็นกองเชียร์ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนยกเลิกมติ ครม. วันที่ 3 เมษายน 2544 เพื่อเปิดทางให้มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอ ในระดับไร่นาก่อนจะนำไปสู่การอนุญาตเปิดการจำหน่ายพืชจีเอ็มโอทางการค้าในอนาคต

มุมน้ำเงินหรือฝ่ายคัดค้านประกอบด้วยนักวิชาการ เอ็นจีโอ และเครือข่ายเกษตรกร

ดูเหมือนศึกจีเอ็มโอคงต้องสู้กันอีกหลายยกทีเดียว ต่างฝ่ายต่างตั้งการ์ดหาเหตุผลสนับสนุนอย่างรัดกุม ไม่เพลี่ยงพล้ำกันง่ายๆ

พืชจีเอ็มโอ GMOs เป็นตัวย่อของคำว่า Genetically Modified Organisms อันมีความหมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ได้จากการดัดแปลงหรือตกแต่งสารพันธุกรรม

กล่าวอีกนัยก็คือ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม โดยการเปลี่ยนรูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักเจ้าสารพันธุกรรมก่อนว่ามีสองตัวสำคัญคือ “ยีน” และ “ดีเอ็นเอ”

ยีนคือหน่วยพันธุกรรมที่ถ่ายทอดลักษณะจากพ่อแม่สู่ลูกหลาน สั่งให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และอยู่ในรูปของสารเคมีที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ

มีการเปรียบเปรยว่า หากเรากำลังฟังเพลงเพราะๆ เพลงหนึ่ง ดีเอ็นเอก็เปรียบเสมือนตัวโน้ตบนแผ่นกระดาษที่นักดนตรีกำลังบรรเลง ขณะที่ยีนก็เปรียบเสมือนบทเพลงที่เราได้ยิน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราได้ยินเสียงเพลงหรือยีนผ่านตัวโน้ตต่างๆ ที่มีโครงสร้างชัดเจน

นักพันธุวิศวกรรมรู้มานานแล้วว่า ยีนแต่ละตัวทำหน้าที่เฉพาะทาง บางตัวทำหน้าที่ย่อยอาหาร บางตัวต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม จนกระทั่งในปี พ.ศ.2516 หรือ 30 กว่าปีก่อน นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาจึงประสบความสำเร็จในการตัดต่อยีนจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง

สหรัฐอเมริกาจึงเป็นเจ้าพ่อจีเอ็มโอมาตั้งแต่เริ่มแรก โดยมีพืชจีเอ็มโอชนิดแรก คือ “มะเขือเทศ” ที่ตัดต่อยีนจนทำให้สุกช้า ส่งไปตีตลาดทั่วโลกโดยไม่เน่าเสีย

ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วจะเกิดผลอะไรกับร่างกายมนุษย์

จากมะเขือเทศ ก็มีการทำพืชจีเอ็มโออีกหลายชนิด อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวเจ้า ข้าวสาลี มะละกอ ฯลฯ

ถั่วเหลืองที่นำมาทำน้ำเต้าหู้ให้บรรดาคนที่ดูแลสุขภาพทานกันนั้น ส่วนใหญ่เป็นถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เพราะไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ต่อมาก็มีการตัดต่อยีนในพืชเกษตรหลายชนิด เพิ่มความต้านทานต่อโรคและแมลง โดยมีพืชสำคัญคือ “ฝ้าย” โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยขายยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าเป็นผู้ผลิตรายสำคัญ

ความขัดแย้งระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับจีเอ็มโอกับผู้คัดค้านในประเทศไทยนั้น มีประเด็นสำคัญเหมือนกันทั่วโลกคือ ฝ่ายที่เห็นด้วยในการทำพืชจีเอ็มโอ มีฐานที่มั่นใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา โดยมีตัวละครสำคัญคือ นักพันธุวิศวกรรม บริษัทข้ามชาติเจ้าของสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ มีเหตุผลสนับสนุนคือ ทำให้เกิดการผลิตพืชทางการเกษตรขนาดใหญ่ สามารถเลี้ยงคนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นได้ และพัฒนาสายพันธุ์ที่ต้านทานโรค ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช

ฝ่ายที่คัดค้านในเรื่องนี้ มีฐานที่มั่นใหญ่คือ ยุโรป มีตัวละครสำคัญคือ เกษตรกรรายย่อย นักวิทยาศาสตร์และเอ็นจีโอ โดยมีเหตุผลคัดค้านสำคัญคือ ความปลอดภัยของอาหาร ไม่มีใครรู้ว่าพืชจีเอ็มโอจะส่งผลต่อร่างกายมนุษย์และจะปนเปื้อนในระบบนิเวศอย่างไร หากมีการปล่อยให้ปลูกได้ และที่สำคัญคือ ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ เพราะเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ทุกปี และมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ

องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติได้ประเมินว่า ร้อยละ 80 ของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูกในประเทศกำลังพัฒนาได้มาจากการที่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ของตัวเองไว้เพาะปลูกในปีถัดไป

ดังนั้น หากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้สามารถควบคุมเมล็ดพันธุ์พืชหลักๆ ของโลก อาทิ ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี ถั่วเหลือง โดยการจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ และส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วโลกใช้พืชจีเอ็มโอ บริษัทเหล่านี้จะสามารถควบคุมการผลิตอาหารของโลกมูลค่าปีละหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไว้ได้

ไม่ต่างจากที่โรงกลั่นน้ำมันส่วนใหญ่ของโลกตกอยู่ในมือของยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัท จนสามารถควบคุมราคาน้ำมันทั่วโลกได้ตลอดเวลา

ทุกวันนี้ ลองสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกจะพบว่า 97% ของคนยุโรปต้องการให้มีการระบุฉลากสินค้าจีเอ็มโออย่างชัดเจน และ 85% ไม่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอเลย 81% ของคนอเมริกันต้องการให้มีการติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอ

ประเทศในสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดให้ติดฉลากสินค้าที่มีจีเอ็มโอเกิน 1% และอนุญาตให้นำเข้าเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น

หันมาดูที่บ้านเรามั่ง นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ขณะนี้ จีน อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้พัฒนาพืชจีเอ็มโอถึงขั้นมีความรู้ มีเทคนิคเป็นของตัวเองแล้ว แต่ไทยยังคงอยู่ที่เดิมไม่ได้พัฒนาไปไหน หากไม่ปล่อยให้วิจัยทดลองในพื้นที่จริง ต่อไปไทยจะเป็นผู้ตาม เนื่องจากหลายประเทศได้ทดลองและทำในเชิงพาณิชย์ไปหมดแล้ว

ขณะที่นายสุนทร ศรีทวี อุปนายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เล่าให้ฟังว่า อังกฤษได้ปฏิเสธการนำเข้ามะละกอจีเอ็มโอจากสหรัฐ และหันมานำเข้ามะละกอจากไทยแทน แต่เมื่อมีข่าวว่าไทยประสบปัญหามะละกอจีเอ็มโอหลุดรอดออกนอกแปลงทดสอบ ปรากฏว่าห้าง TESCO ในอังกฤษปฏิเสธการสั่งซื้อมะละกอจากไทย และหากรัฐบาลเปิดทางให้ทดสอบพืชจีเอ็มโอ เกรงว่าจะทำให้ผู้ซื้อในตลาดโลกขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตในไทย และอาจจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เสี่ยงปนเปื้อนจีเอ็มโอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย

สอดคล้องกับความเห็นของนายสุรพงษ์ ปราณศิลป์ อธิบดีกรมการข้าว ที่บอกว่า หากมีข่าวว่าประเทศไทยทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอจะทำให้ลูกค้ากว่า 150 ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป หมดความเชื่อมั่นในข้าวไทยและหันไปสั่งซื้อจากประเทศคู่แข่งแทนเหมือนกับที่ประเทศยุโรปหมดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจีเอ็มโอ ที่มาจากการตัดต่อทำรัฐประหาร

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 9 กันยายน 2550

Comments

  1. อ้อม

    ทำไมตลาดถึงไม่ยอมรับGMOล่ะคะ แล้วหากได้รับในปริมาณมากจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

  2. I am greenpeace

    ใครใช้จีเอ็มโอ ก็เป็นทาสฝรั่งมัน โดยเฉพาะ บริษัทมอนซานโต้ของสหรัฐ นั่นเเหละ
    ตัวดี ถ้าคนไทยใช้มันเเล้ว จะเกิดผล เช่น สมมุตว่า ผมเอา ข้าวจีเอ็มโอมาปลูก ใกล้กลับ ข้าวไทยพันธุ์ดี ต่อมา ข้าวไทยพันธุ์ดี ก็จะกลายเป็นจีเอ็ม
    โอ เเล้ว ถ้าเราปลูกเเล้วต้องใช้ยาฆ่าหญ้า หรือ ยาอื่นๆ ของบริษัทมอนซานโต้เท่านั้น
    ถ้าไม่ใช้ เเล้วใช้ยาอื่นพืช จะตาย เเล้วถ้าใช้พืชจีเอ็มโอ โดยไม่บอกทางบริษัทมัน
    บริษัทจะปรับ เงิน ถ้าไม่มีเงิน ก็จะยึดพื้นดินนั้นเป็นของมัน

    ไม่อยากให้คนไทยต้อง เป็นทาส ฝร่ง มันคราบ
    เราพร้อมจะต่อต้านมันเสมอเพื่อให้คนไทยคงอยู่ด้วยความสมบูรณ์ต่อไป
    Greenpeace ประเทศไทย

  3. Tew

    GMO มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ
    ในฐานะที่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช ขอเพิ่มเติมบางส่วนครับ

    ชั้นตอนการวิจัยและผลิตสิ่งมีชีวิต GMO นั้น ไม่สามารถจะทำได้โดยบุคคลทั่วไป แต่จะเป็นการศึกษาของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆของเทคโนยีชีวภาพ เพื่อจะคิดค้นหาสิ่งที่อำนวยความสะดวกและมีประโยชน์แก่มนุษยชาติ ไม่งั้นเงินวิจัยก็คงเสียป่าวครับ เพราะทั้งสารเคมีและวัสดุอุปกรณ์ในการทำการศึกษาใช่ว่าจะถูกๆนะครับ ดังนั้น GMO ที่ถูก ออกแบบ มา ที่จะมีความปลอดภัยสูง
    หลายคนอาจเคยได้ยินที่ว่า พืช GMO สามารถต้านทานโรคและแมลงเองได้โดย อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงนั้นคือ สารต้านแมลงที่พืช GMO ผลิตจะมีผลกระทบต่อแมลงจำเพาะอย่างเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลต่อสัตว์ และมนุษย์ ผลผลิต GMO บางชนิดยังถูกออกแบบให้มีสารอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะ ขาดสารอาหาร ในพื้นที่กำลังพัตนา
    เนื่องจากมีการตรวจสอบละเอียดกว่าผลผลิตทางการเกษตอื่นๆ

    ถ้าจะบอกว่าผู้บริโภค GMO เป็น “ทาสฝรั่ง” เลยทีเดียวก็คงไม่ถูกต้อง ในวงการวิทยาศาสตร์ไทย มีการศึกษาและงานวิจัยด้าน GMO เป็นจำนวนไม่น้อยแพ้ชาติอื่น โดยจะมุ่งเน้นพืชการเกษตรของไทย เช่น ข้าว สบู่ดำ ระหุ่ง กล้วยไม้ ปาล์ม เปนต้น

    ส่วนข้อเสียนั้น จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากสิ่งมีชีวิต GMO นั้นมีโอกาศที่จะแทรกแทรงวัตจักรของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ

    การทำการเกษตร GMO หรือแม้กระทั่งการบริโภคผลิตภัณฑ์ GMO ควรจะเป็นสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภค มากกว่าครับ คล้ายๆกับที่คนเราเลือกที่จะขับขี่รถยนต์ หรือขับจักรยาน ใช่ว่าการดำเนินชีวิตประจำวันของเราจะไม่กระทบระบบนิเวศนี่ครับ

  4. Lookchaona

    ธรรมชาติดีที่สุดเราว่า
    อยู่กันแบบที่คนเก่าแก่เขาอยู่กันมานี่แหละ
    ความเจริญมีมาก แต่ใจคนต่ำลง ก็ขอไม่เอาดีกว่า

    รักเรา
    รักโลก
    รักเพื่อนร่วมโลก

  5. Pingback: ข้าวและข้าวโพดจีเอ็มโอ ก้าวใหม่หรือยุคมืดวงการเกษตรจีน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยใน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.