จากบรรณาธิการ 270 รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ

หลายเดือนที่ผ่านมา ผมหลบไปอยู่ตามป่าเขาในแถบยุโรปนานนับเดือน ไม่มีโอกาสได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง

แต่น่าแปลกใจเมื่อกลับมาเมืองไทย ผู้กระหายข่าวสารอย่างผมพบว่าตัวเองแทบจะไม่ได้ตกข่าวสำคัญประการใดเลย

เพราะข่าวพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์ ล้วนวนเวียนอยู่ ๒-๓ ประเด็น และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะเป็นข่าวการอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดย คตส.  ข่าวการประท้วงของ นปก.  ข่าวการร่างรัฐธรรมนูญ ข่าวความขัดแย้งของขั้วการเมืองสองฝ่าย และข่าวที่ไม่มีข่าวของบรรดารัฐมนตรีเกียร์ว่างที่โลกลืมทั้งหลาย
 
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ บ้านเมืองเราแทบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรใหม่ๆ ที่จรรโลงโลกจรรโลงใจ  ทุกคนต่างรอให้มีการเลือกตั้ง แล้วค่อยว่ากัน
 
ไม่น่าแปลกใจ ในมุมมองของชาวต่างชาติ เขาจึงไม่สนใจประเทศเล็กๆ นี้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งจริงๆ เกิดขึ้น

“ช่วยไม่ได้ เพราะพวกคุณแช่แข็งตัวเอง  รัฐบาลขิงแก่ก็ไม่เห็นจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” เพื่อนชาวต่างชาติที่สนใจเมืองไทยคนหนึ่งให้ความเห็น

กลับมาเมืองไทย เจอหน้าเพื่อนฝูงในวงสนทนา ประเด็นยอดฮิตในการพูดคุยก็คือ

“มึงจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐“

คนความรู้น้อยอย่างผมจึงขอเป็นผู้ฟังการสนทนาของทั้งสองฝ่ายก่อน

ฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลที่พอจะสรุปได้ว่า

เป็นการแสดงออกว่าไม่ชอบเผด็จการ ไม่ชอบทหารที่มาล้มประชาธิปไตย

ที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการรัฐประหาร จึงไม่มีความชอบธรรมใด ๆ

เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญยังเอื้อประโยชน์ให้แก่บรรดาชนชั้นสูง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจในการปกครองประเทศ มากกว่าตัวแทนของประชาชน  หรือที่เรียกกันว่า อำมาตยาธิปไตย

ขณะที่ฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลว่า

แม้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะมีที่มาจากการรัฐประหาร แต่ควรจะดูเนื้อหาด้วยว่า หลายมาตรามีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีความคล่องตัวมากกว่า

ทำให้ระบบสภาเข้มแข็งขึ้น และอำนาจฝ่ายบริหารลดลง

หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็จะเข้าทางของฝ่ายทักษิณที่ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ผมฟังทั้งสองฝ่ายแล้วนึกในใจว่า การลงประชามติครั้งแรกของบ้านเรากำลังถูกบีบให้เราเลือกฝ่ายกันหรือไม่

หากผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมอยู่ฝ่ายทักษิณ

ในขณะเดียวกัน หากผมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมชอบเผด็จการ

คนที่ไม่เลือกว่าจะอยู่ฝ่ายใดวางตัวลำบากยิ่งนัก

แต่บรรยากาศบ้านเมืองในขณะนี้ทำให้ผมเชื่อว่ามีคนที่ไม่อยู่ทั้งสองฝ่ายจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ทุกวันนี้ก็ได้แต่อ่านร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ อย่างละเอียด และนำมาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ที่ผู้มีอำนาจบ้านเราบอกว่าจะนำมาใช้หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการลงประชามติ

๑๙ สิงหาคม ก่อนออกจากบ้าน คงมีเหตุผลให้กับตัวเองชัดเจนแล้วว่า จะทำอย่างไรในคูหา

เกือบพันปีก่อน เมื่อครั้งสงครามครูเสดแย่งชิงกรุงเยรูซาเลมระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิม กษัตริย์แห่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เคยกล่าวว่า

“ชะตากรรมของตัวเรา เราเป็นผู้กำหนดเอง ไม่ใช่พระเจ้าหรอก”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
บรรณาธิการบริหาร
(vanchaitan@yahoo.com)

(จากนิตยสาร สารคดี ฉ. 270 สิงหาคม 2550)

Comments

  1. Amnat

    ผมว่าคุณวันชัยเก่งมากที่มองออกว่าเรากำลังเลือกข้าง
    ซึ่ง ณ วันนี้ ผมว่า เราถูกแบ่งเป็นสามส่วนคือฝ่ายคุณทักษิณ ฝ่ายคุณจำลอง และฝ่ายที่ยังไม่เข้าฝ่ายใด
    ทำอย่างไรให้สองฝ่ายแรกหยุดทะเลาะกัน
    เลือกนายกใหม่ก็มิใช่ทางออกที่ดี
    ยุบสภาก็ยังได้เหมือนเดิม
    น่าจะมีรัฐบาลแห่งชาติสักสามถึงห้าปีดีไหม
    เพราะผมเบื่อนักการเมืองรุ่นนี้แล้วหละขอบอก
    น่าจะส่งให้ไปทะเลาะกันกลางทะเลทั้งหมด

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.