เมื่อส้มหล่นใส่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

nuclear-1.jpg 

“พลังงานคืออำนาจ”

ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (1890-1970)

เพื่อนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งได้บอกผมว่า คำพูดของอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศฝรั่งเศสในทศวรรษที่ 50 กลายเป็นประเทศผู้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดในยุโรป คือ มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 59 โรง เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาที่มี 104 โรง

ในช่วงทศวรรษที่ 50-70 จึงเป็นยุคทองของการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันทั่วโลกถึง 400 กว่าโรง ด้วยเหตุผลคือเป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยมลภาวะ ราคาถูกกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ แม้จะหายังหาวิธีกำจัดกากนิวเคลียร์ไม่สำเร็จ บรรดานักสร้างนิวเคลียร์ในเวลานั้น มีความภูมิใจกันถ้วนหน้าว่ามันเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่มนุษย์สามารถควบคุมความปลอดภัยของมันได้ และเป็นคำตอบของแหล่งพลังงานอันยิ่งใหญ่ในอนาคต

แต่แล้วในปี ค.ศ.1979 ได้เกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนเกาะทรีไมล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โชคดีที่ยังไม่มีคนเสียชีวิต แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้คนเริ่มไม่มั่นใจความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามที่บรรดาบริษัทผู้สร้างเคยโฆษณาสรรพคุณเอาไว้

อีก 7 ปีต่อมา ผู้คนทั้งโลกในยุคนี้ก็ได้รับรู้ถึงพิษสงและความน่ากลัวของนิวเคลียร์ นับตั้งแต่เมื่อสหรัฐไปทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในจังหวัดฮิโรชิมา และนางาซากิ

ในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1986 ได้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน หรืออดีตสหภาพโซเวียต เตาปฏิกรณ์ที่ 4 ภายในโรงไฟฟ้าได้ระเบิดขึ้นสนั่นหวั่นไหว มีคนตาย 4,000 คน ส่งผลให้มีการแผ่กัมมันตภาพรังสีฟุ้งขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ และลมได้พัดพาไปทั่วยุโรป จากโปแลนด์ไปสู่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อิตาลี ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ โรมาเนีย และกรีซ

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ช่อง History ของ UBC ได้นำเอาสารคดีเรื่องอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์นาบิลมาฉายเตือนสติ ภาพที่สะเทือนใจก็คือ บรรดาคนงานและอาสาสมัครหลายพันคนที่ช่วยกันเข้ามาต่อสายฉีดน้ำดับไฟในโรงงานที่กำลังลุกลามไหม้ติดต่อกันหลายวัน โดยไม่ได้สวมชุดป้องกันอะไรเลย

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่รู้ดีว่า พวกเขาต้องตายด้วยผลจากการแผ่ของกัมมันตภาพรังสีเข้าไปในร่างกาย แต่ก็เสี่ยงเข้าไปดับไฟ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยชีวิตคนในเมืองและคนทั้งยุโรป

ไม่นาน วีรบุรุษนิรนามเหล่านี้ก็พากันป่วยล้มตายไปหมด ด้วยโรคมะเร็งตามที่คาดกันไว้ และล่าสุดทางการรัสเซียได้ออกมายอมรับว่า นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุครั้งนั้นเมื่อยี่สิบปีก่อน มีผู้คนค่อยๆ ล้มตายจากการแผ่รังสีถึง 200,000 คน ไม่นับเด็กๆ ที่เกิดมาพิการ ได้รับความทรมานแสนสาหัสอีกจำนวนมาก

เป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ใกล้เคียงกับเมื่อครั้งเกิดสึนามิในเอเชียเมื่อสามปีก่อน

สหประชาชาติออกมารายงานว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งนั้นประมาณ 7 ล้านคน

หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์นาบิลแล้ว ดูเหมือนยุคทองของการสร้างโรงไฟฟ้าแบบนี้ค่อยๆ หายไป ฝันร้ายยังปกคลุมผู้คนโดยเฉพาะในยุโรป ที่รับรู้พิษภัยมาด้วยตนเอง มีการยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งทั่วโลก

แต่เมื่อน้ำมันดิบเชื้อเพลิงสำคัญของการผลิตไฟฟ้า ได้ถีบราคาสูงขึ้นจนเกือบจะถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลล์ ทำให้ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น และปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า กลายเป็นประเด็นสำคัญของโลกในเวลานี้ ได้ทำให้ยักษ์นิวเคลียร์ตื่นจากหลับทันที

ทั่วโลกพยายามแสวงหาพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังลม พลังงานก๊าซชีวภาพ

บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็พยายามสร้างภาพ ประโคมทำโฆษณาว่า พลังงานนิวเคลียร์ก็เป็นพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน

nuclear-2.jpg

ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในสหรัฐอเมริกาและมีอยู่ไม่กี่บริษัท และผู้บริหารเหล่านี้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของทีมงานประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้พยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์กลับมาครองโลกอีกครั้งหนึ่ง

ภารกิจสำคัญคือ การพยายามขายเทคโนโลยีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่งออกให้กับประเทศในเอเชียหรือประเทศที่กำลังพัฒนา

อย่าลืมว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีราคาแพงมหาศาล ราคาค่าเทคโนโลยีของฝรั่งสูงมั่กๆ เพราะผูกขาดกันอยู่ไม่กี่แห่ง

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทุกวันนี้มีข่าวการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 50 โรงทั่วโลก แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ขณะที่ไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าแบบนี้ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปผู้นำทางเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์เลย เพราะประเทศเหล่านี้พากันพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นอย่างจริงจังมากกว่า

อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงแทบจะไม่ต่างจากอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธ คือ เป็นเทคโนโลยีราคาแพง บริษัทผู้ผลิตมีน้อยราย แต่ได้กำไรมหาศาล และกลุ่มลูกค้ามักเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา

และประเทศไทยเองก็ได้บรรจุเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกประการหนึ่ง ตามแผนการพัฒนาผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550-2564 หน่วยงานที่รับผิดชอบพยายามที่จะผลักดันให้มีการสร้างให้สำเร็จ

ทั้งๆ ที่ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกเฉลี่ยปีละครั้ง ไม่ว่าที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น สวีเดน สหราชอาณาจักร ฮังการี

ขณะที่ประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างทราบดีว่า กากนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นและถูกฝังอยู่นั้นไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้ในอนาคต เฉพาะที่สหรัฐอเมริกามีสารพิษปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีถึง 80,000 ตัน ถูกฝังอยู่ข้างๆ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เหล่านั้น

เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบด้านพลังงานของประเทศ บอกว่า ปัญหาเวลานี้คือจะต้องเร่งทำประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนคนไทย เพื่อให้รู้ว่า พลังงานนิวเคลียร์ปลอดภัย เป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณทำโฆษณาประชาสัมพันธ์นับร้อยล้านบาท เพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ป่านนี้บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์คงน้ำตาคลอเบ้าด้วยความตื้นตันใจ

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2550

Comments

  1. pion

    แหมง เลว เลว เลว ทำไมเราไม่พัฒนาการผลิตไฟ้ฟ้าด้วยวิธีอื่นๆ
    มีมหาวิทายาลัยไว้ทำปวยไรวะ แค่ช่วยกันคิดหาหนทางที่ดีที่สุดโดยที่ไม่ต้องใชนิวเคลีย
    บ้าบอ ให้บางคนมันได้ผลประโยชร์ ช่วยกันหน่อยนะคร้าบคนไทย

  2. tON

    ถ้าเรื่องพลังงาน
    ผมบังเอิญรู้เรื่องนี้มาจากเพื่อนรุ่นพี่ซึ่งเป็นนักเขียน ไม่ทราบว่าคุณวันชัย เคยทราบมาก่อนแล้วหรือยัง

    http://en.wikipedia.org/wiki/General_Motors_EV1

    ตามลิ้งก์เลยครับ

    บางทีฮีโร่ก็โดนสังหารตั้งแต่แรกคลอดแบบนี้แหละครับ … อ่านแล้วเศร้าจายยย

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.