ความฝันของชาวบางสะพานกับความฝันของสหวิริยา ฯ

” ฆ่ากันตายอีกแล้วหรือ “

เพื่อนนักธุรกิจคนหนึ่งเอ่ยปากถามขึ้น เมื่อเห็นข่าวความขัดแย้งของชาวบ้านที่คัดค้านโรงถลุงเหล็ก ที่อำเภอบางสะพาน จนนำมาสู่ความตายของชาวบ้านคนหนึ่ง


ในสังคมไทยทุกวันนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ยังไม่รุนแรงถึงฆ่ากันตาย แต่ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตลอดเวลา ความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนการฆ่ากันตายถือเป็นเรื่องปรกติ

คู่ความขัดแย้งกรณีที่เกิดขึ้นที่อำเภอบางสะพาน เป็นตัวอย่างล่าสุดที่น่าสนใจ

มุมน้ำเงิน คือบริษัทอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ของประเทศ ชื่อว่า บริษัทสหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในชื่อย่อว่า SSI ด้วยทุนจดทะเบียนถึง 13,000 ล้านบาท มี ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เป็นประธานกรรมการบริษัท มีตระกูล วิริยประไพกิจ ตระกูลชื่อดังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และกรรมการบริษัทเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในสังคม

บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งในปีพ .ศ. ๒๕๓๓ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน รายใหญ่ของประเทศ และกลุ่มทุนนี้ได้เข้ามายึดพื้นที่หลายแห่งในอำเภอบางสะพาน จนกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเวสเทิร์นซีบอร์ด มีทั้งโรงถลุงเหล็กและท่าเรือน้ำลึกเป็นของตัวเอง และยังเป็นอุตสาหกรรม ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ

เรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมที่รัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ ทุกยุคทุกสมัยต้องให้ความเกรงใจ

จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2548 รัฐบาล ได้อนุมัติโครงการใหม่ของบริษัทสหวิริยาฯ ที่จะสร้างโรงถลุงเหล็ก โดยใช้งบลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงถลุงเหล็กครบทั้งหมดในอำเภอบางสะพาน โดยใช้เวลาดำเนินการนาน 15 ปี ซึ่งถึงเวลานั้นบริษัทก็จะมีรายได้ถึง 2 แสนล้านบาท

ถือเป็นอภิมหาโครงการที่ใครก็ฉุดไม่อยู่แล้ว หน่วยราชการและรัฐต้องช่วยกันสนับสนุน ตามทิศทางการพัฒนาของประเทศ
ส่วนมุมแดง หรือคู่กรณี ย่อมหนีไม่พ้นชาวบ้านบางสะพานผู้ไม่มีใครรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อมาก่อน เพียงแต่ว่า พวกเขาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขตามธรรมชาติมาช้านาน ไม่รวย ไม่จน อาจจะแต่งตัวปอน ๆ อาจจะดูไม่ค่อยฉลาดในสายตาของคนเมือง แต่พวกเขาก็อยู่ด้วยความสุข ไม่อยากได้โรงงานใหญ่ ๆ หรือสิ่งแปลกปลอมมาอยู่ใกล้บ้าน เพราะกลัวว่าอากาศจะไม่บริสุทธิ์ น้ำจะเน่า

ชาวบางสะพานศึกษาบทเรียนมาแล้วว่า ทุกครั้งที่มีอุตสาหกรรมขนาดยักษ์เกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้ต้องทนทุกข์ทรมานจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเต็ม ๆ ก็คือชาวบ้านรอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ชาวบางสะพานเริ่มไม่สบายใจ เมื่อได้ข่าวว่ามีนายทุนค่อย ๆ มากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อสร้างโรงถลุงเหล็กบนพื้นที่พันกว่าไร่ พวกเขา รู้ดีว่าความไม่สงบสุขกำลังมาเคาะประตูบ้านแล้ว และสุดท้ายพวกเขาก็ทนไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของเขาในนามของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน เมื่อรู้ว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าพรุแม่รำพึง อันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญและอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศและเป็นของสาธารณะมานาน อยู่ดี ๆก็มีการออกเอกสารสิทธิแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน และสุดท้ายทางบริษัทสหวิริยา ฯ ก็เป็นผู้ครอบครอง

บริษัทฯ อ้างว่าทำถูกกฎหมาย แต่วิธีการที่ได้เอกสารสิทธิมา สร้างความประหลาดใจยิ่งนัก

ป่าพรุแม่รำพึง เป็นป่าสาธารณะที่ชาวบ้านแถวนี้ร่วมกันใช้ประโยชน์ เก็บปู ปลา เก็บผักหญ้า สมุนไพร และเป็นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติ และเป็นแหล่งรับน้ำหรือแก้มลิงธรรมชาติของชาวบางสะพานก่อนไหลลงสู่ทะเลมาเป็นเวลานาน

หากคิดเป็นเงินตรา มูลค่าของป่าพรุแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยป่าเสม็ดขาวและกระจูด มีปลา 46 ชนิดและนกน้ำ 73 ชนิด อาจจะไม่ได้มีราคาเป็นร้อยหรือพันล้านบาท แต่มันมีค่ามากสำหรับชาวบางสะพานที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มาตลอดชีวิต

ถ้าพูดอย่างเชย ๆ ก็คือ เป็นวิถีชีวิตแบบพอเพียงของพวกเขา

นายวิฑูรย์ บัวโลย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้คัดค้านโรงงาน แต่ต้องการรักษาป่าพรุผืนนี้ไว้

สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ เมื่อเริ่มเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ แทนที่บางคนหรือบางกลุ่มจะพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่คัดค้านอย่างจริงใจ ใช้การเจรจาอย่างสันติวิธีเพื่อลดความขัดแย้ง แต่กลับใช้วิธีแบบโบราณ คือสร้างความแตกแยกในชุมชนที่อยู่กันมานาน ด้วยการเอาผลประโยชน์เข้าล่อ ใช้เงินซื้อ และจ้างอันธพาล นักเลงหัวไม้ออกข่มขู่ชาวบ้าน จนทุกวันจะมีเสียงปืนดังในบริเวณนั้นคืนละหลายสิบนัด เพื่อเป็นการกดดันไม่ให้ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมแพ้

ล่าสุดเมื่อชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ได้ออกมาคัดค้านการถมดินของทางโรงงาน เพราะรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการนี้ ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การปะทะและมีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย

ทุกวันนี้แกนนำฝ่ายคัดค้านโครงการ ไม่กล้าเข้าพื้นที่ เพราะถูกหมายหัวเอาไว้แล้ว

ความร้าวฉานของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่เป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกันมาหลายสิบปี เกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างโรงงานแห่งนี้ และมันบาดลึกเกินกว่าจะสมานแผลได้

ขณะที่ในเว็บไซต์ของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ได้ประกาศชัดเจนว่า

“บริษัทมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะดำเนินธุรกิจ อย่าง มีคุณธรรมและจริยธรรม อันเป็นวิถีทาง การดำเนินธุรกิจ ที่ดี โดยจะดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส และยุติธรรม และให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนา ควบคู่กันไป ”

นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเคยพูดกับสว.บางคนที่ลงพื้นที่ว่า ” โครงการนี้เดินหน้ามาขนาดนี้แล้ว เงินลงทุนเยอะขนาดนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องสร้างให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ”

ขณะที่ความขัดแย้งในพื้นที่ยังคุกรุ่นอยู่ มีรายงานข่าวว่า นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ได้ประกาศผลการดำเนินงานงวดปี 2550 มีกำไรสุทธิ 952.97 ล้านบาท ลดลง 64.57% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,690.13 ล้านบาท ผลงานที่ลดลงมาจากรายได้จากการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงจาก 3.46 หมื่นล้านบาท เมื่อปี2549 เหลือเพียง 2.78 หมื่นล้านบาท

กำไรที่ลดลงของปีนี้ ดูจะเป็นปัจจัยกดดันให้บริษัทต้องรีบเปิดโรงงานถลุงเหล็กให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ

ความฝันของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ในอนาคต คือก้าวไปสู่ความเป็น 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมเหล็กของโลก

ขณะที่ฝันของของชาวบางสะพานกำลังสลายลง

คนในตระกูลวิริยประไพกิจยอมลงมาเปิดอกคุยกับพวกเขาได้ไหม

Comments

  1. แทนขวัญ

    ดูแล้วไม่เห็นความเป็นไปได้เลยในประเทศที่เงินเป็นใหญ่ แต่คนมีเงินใหญ่กว่า

  2. SRN

    เพิ่งจะสมัครงานบริษัทนี้ไปเมื่อต้นเดือน…เราก็เด็กสิ่งแวดล้อมคนนึง ระหว่างอุดมการณ์และอนาคต สิ่งไหนดีเรา???

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.