เขตสวนสาธารณะ จักรยานห้ามเข้า

เมื่อหลายวันก่อน มีข่าวเล็ก ๆ ลงทางหนังสือพิมพ์ว่า ทางกทม.จะไม่อนุญาตให้ขี่จักรยานในสวนลุมพินีตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 53 เป็นต้นไป โดยอ้างว่า ที่ผ่านมา การขับขี่จักรยานทำให้ผู้ที่มาออกกำลังกาย มาวิ่งเล่นในสวนอาจได้รับอันตราย และที่ผ่านมาก็ได้รับการร้องเรียนจากคนออกกำลังกายว่าเคยประสบอุบัติเหตุมาบ้างแล้ว

เป็นข่าวเล็ก ๆ ที่สะท้อนวุฒิภาวะของผู้บริหารกทม. ในการใช้อำนาจแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
วันหนึ่งหากมีผู้ใช้ถนนมาร้องเรียนว่า ได้รับอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชนขณะกำลังข้ามทางม้าลาย  ทางกทม.จะบ้าจี้ออกกฎไม่ให้มีการขับขี่รถยนต์บนท้องถนนอีกต่อไปหรือไม่

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า คนปั่นจักรยานในเมืองใหญ่หรือกทม.ที่ปั่นจักรยานไปทำงาน หรือใช้เป็นทางเลือกในการเดินทางมีสภาพไม่ต่างอะไรจากลูกเมียน้อย

จะขี่บนถนนก็ถูกบรรดาผู้ขับขี่รถยนต์ค่อนขอดว่ากีดขวางการจราจร

จะปั่นจักรยานชิดริมฟุตบาท ก็ถูกรถที่อยู่เลนซ้ายอย่างรถเมล์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ตะโกนต่อว่า ข้อหาเกะกะเลนของพวกเขา

เลนจักรยานบางถนนในกทม.ที่ควรจะเป็นทางจักรยาน ก็กลายเป็นที่จอดรถ หรือที่วางขยะ
ครั้นจะมาปั่นบนทางเท้าที่ตีเส้นเป็นเลนจักรยาน ก็ถูกแม่ค้าหาบเร่จับจอง หรือส่งสายตาไม่เป็นมิตรว่า ขึ้นมาขี่จักรยานบนฟุตบาทได้อย่างไร

นักปั่นจักรยานหลายคนพยายามพยายามหลีกเลี่ยงถนนใหญ่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยการใช้ทางลัดเลาะหรือทางเชื่อมต่าง ๆ ตามตรอก ซอกซอย หรือขับผ่านสวนสาธารณะเพื่อความปลอดภัย กลายเป็นว่า สวนสาธารณะส่วนใหญ่ในกทม.ห้ามจักรยานผ่านเข้าไป ยกเว้นสวนรถไฟ และสวนลุมพินี ด้วยเหตุผลเดิม ๆว่า ป้องกันไม่ให้คนที่วิ่งหรือ เดินออกกำลังกายถูกรถจักรยานชน

ล่าสุดสวนลุมพินีก็กลายเป็น เขตจักรยานห้ามเข้า

อีกหน่อยคงมีป้ายหรือเครื่องหมาย เขตสวนสาธารณะ จักรยานห้ามเข้า ติดทั่วสวนสาธารณะทุกแห่ง

เพื่อนหลายคนพยายามจูงรถจักรยานผ่านสวนสาธารณะ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่รปภ.ห้ามเข้าไปอย่างเคร่งครัดราวกับเป็นพาหนะอันน่ารังเกียจ

นักปั่นจักรยานหลายคนเคยบ่นให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่รปภ.พอเห็นรถจักรยานในสวนสาธารณะ มักจะทำตัวเป็นโปลิสจับขโมย เห็นคนเหล่านี้เป็นเหยื่ออันโอชะ  ขี่จักรยานมารุมไล่ต้อนคนที่ปั่นจักรยานราวทำความผิดร้ายแรง

สาวนักปั่นจักรยานหลายรายอุตส่าห์ฟันฝ่าการจราจรมาจากแดนไกล หวังมาพึ่งอากาศบริสุทธิ์ในสวนสาธารณะ แต่กลายเป็นเขตห้ามเข้า แม้จะขอร้องรปภ.อย่างไรก็ไม่เป็นผล

บางคนแอบมาปั่นจักรยานช่วงหนึ่งทุ่มที่ไม่มีคนวิ่งแล้ว ก็ถูกรปภ.เป่านกหวีดไล่ออกไป ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น โดยอ้างระเบียบอย่างเคร่งครัด

อันที่จริงหากคิดว่า การปั่นจักรยานในสวนสาธารณะอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับคนที่มาออกกำลังกาย ก็น่าจะแสวงหาทางแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายสบายใจมากกว่า อาทิ การตีเส้นเลนจักรยาน ทำทางจักรยานโดยเฉพาะ จัดทำป้ายเตือน แบ่งพื้นที่การปั่นจักรยาน เหมือนอย่างสวนสาธารณะในประเทศทางยุโรป ที่เคารพทั้งสิทธิ์ของคนปั่นจักรยานและผู้ที่มาวิ่งหรือเดินออกกำลังกาย

ไม่ใช่แก้ปัญหาของฝ่ายหนึ่ง แต่ไปสร้างปัญหาหรือจำกัดสิทธิ์ของฝ่ายหนึ่งโดยไม่จำเป็น
อย่าลืมว่าการปั่นจักรยานก็เป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากการวิ่งหรือเดินออกกำลังกาย

อย่าลืมว่า ทุกวันนี้รัฐบาลหลายประเทศต่างรณรงค์ให้ประชาชนหันมาปั่นจักรยาน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง เป็นการประหยัดน้ำมัน ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ ลดปัญหาการจราจร ลดปัญหามลภาวะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาจากรถยนต์ถึงร้อยละ 40 และทำให้ประชาชนได้ออกกำลังมีสุขภาพแข็งแรง

จนเรียกได้ว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษแห่งจักรยาน

รัฐบาลในยุโรปและอเมริกาต่างสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาปั่นจักรยานกันเต็มที่ ตั้งแต่การเก็บเงินค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่ขับผ่านเข้าไปในเมือง การสร้างทางจักรยานให้เชื่อมต่อกันได้อย่างปลอดภัย

ในกรุงอัมสเตอร์ดัมมีผู้ปั่นจักรยานไปทำงานถึงร้อยละ 40 ของประชากรเมือง ในกรุงโคเปนเฮเกนมีชาวเมืองร้อยละ 37 ปั่นจักรยานไปทำงาน เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองใหญ่ในยุโรปและอเมริกา

การมีคนปั่นจักรยานมากขึ้น ทำให้ลานจอดรถในหลายเมืองไม่ค่อยมีรถยนต์ไปใช้บริการ กลายเป็นลานซิเมนต์โล่ง ไม่เป็นประโยชน์กับใคร ๆ  ผลที่ตามมาก็คือลานจอดรถหลายแห่งได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะไปโดยปริยาย เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมืองทางอ้อม

การเพิ่มคนปั่นจักรยาน จึงมีส่วนเกื้อหนุนให้เกิดสวนสาธารณะตามเมืองใหญ่ขึ้นอีกหลายแห่ง  เราจึงเห็นคนปั่นจักรยานในสวนสาธารณะขับผ่านคนที่วิ่งออกกำลังกายเป็นภาพที่ชินตา
แต่ผู้บริหารกทม. ยังติดความเคยชินแบบเก่า ๆ ที่พอมีปัญหาขึ้นมา ก็ใช้วิธีง่าย ๆ คือใช้อำนาจของตัวเอง สั่งห้ามการปั่นจักรยานเด็ดขาดในสวนสาธารณะ ( ยกเว้นรปภ.และเจ้าหน้าที่กทม.ที่มีสิทธิ์ปั่นจักรยานได้)

มีวิธีจัดการความขัดแย้งและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย หากคิดให้ละเอียดสักนิด

อำนาจที่ได้รับมอบหมายมา หากใช้อย่างมักง่าย ไม่พิจารณาให้รอบคอบอาจจะหันกลับมาทิ่มแทงผู้ใช้

ระวัง อาจจะถูกชาวจักรยานทนไม่ไหวมารวมตัวกันกระชับพื้นที่สวนลุมพินีก็ได้นะครับ

กรุงเทพธุรกิจ 18 พย. 53

Comments

  1. ออมรัก

    เห็นด้วยที่ให้แยกเส้นทางจักรยานกับทางเดินวิ่ง ไม่ควรห้ามจักรยานหมด ขณะเดียวกัน ก็ต้องสอนมารยาทคนปั่น (ตามแฟชั่น) ด้วย เพราะเวลาไปปั่นในสวน จะเจอเด็กวัยรุ่นมากันเป็นฝูง โหวกเหวกเสียงดัง นึกจะหยุดก็หยุดกันเป็นแผงไม่สนใจคนอื่น มีอยู่ทีนึง คุณพ่อมาลูกมาสอนปั่นพร้อมสอนกฎจราจร แต่กลับปล่อยรถคุณลูกเข้าวงเวียน (ที่เส้นทางแคบมาก) ตัดหน้ารถเราเฉยเลย ทั้งที่ๆ ตามกฏต้องรอให้รถในวงเวียนไปก่อนและข้างหลังเราก็ไม่มีใคร เหมือนคนบ้านเราไม่ค่อยเข้าใจมารยาทการแบ่งปันความสุขแห่งสาธารณะ

  2. เสือจุ่น

    เห็นด้วยเรื่อง “มารยาท” ของทั้งผู้ขี่จักรยาน และ คนขับรถ

    สมัยก่อนมี ใบขับขี่จักรยาน เพื่อให้คนขี่จักรยานได้เรียนรู้กฏจราจร และมีวุฒิภาวะ (เพราะต้องได้รับการอบรมเรื่องการใช้ทาง ใช้ถนนก่อน)

    สมัยนี้ไม่มีแล้ว คนขี่จักรยานกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

    เรื่องที่ ยามขี่จักรยานไล่ คนขี่จักรยาน มานึกๆ ดู อ้าว เขาห้ามขี่จักรยาน แต่ทำไมยามขี่ได้

    บางทีผมยังเคยเห็นผู้บริหารระดับเล็กๆ ของ กทม. ขี่จักรยานกันอยู่เลย พนักงานของ กทม. หลายคนก็ขี่จักรยาน

    อยากรู้จริงๆ ว่า ทางกทม. นี่ แต่ละฝ่ายเขาไม่คุยกันเลยหรือไง หรือว่า ข้าราชการกทม. จะประท้วงนักการเมือง ประจำกทม. น่าสงสารจริงๆ เล่นการเมืองภายใน แต่ชาวบ้านเดือดร้อน

  3. Pingback: Tweets that mention วันชัย ตัน » Blog Archive » เขตสวนสาธารณะ จักรยานห้ามเข้า -- Topsy.com

  4. winyoochabnok

    บนบาทวิถีพอกทม.ทำทางลาดอย่างดีให้จักรยานหรือประชาชนที่จำเป็นต้องใช้รถเข็น ก็กลับกลายเป็นทางให้มอเตอร์ไซด์วิ่งสวนทางไปมา ตกลงจักรยานไม่มีพื้นที่จริงๆ

  5. annaniki

    เห็นด้วยคะที่ควรจะมีเลนสำหรับจักรยาน เพราะจักรยานก็ถือว่าเป็นพาหนะชนิดหนึ่งที่ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ แอนเคยเห็นรายการทีวีสักช่องได้นำเสนอและเปรียบเทียบการขี่จักรยานในกทม และ ต่างประเทศที่เค้ามีไฟสัญญาณจราจรสำหรับจักรยาน ดูแล้วอยากให้มีอย่างนี้ในเมืองไทย อากาศที่เป็นพิษก็คงไม่มีใครอยากไปปั่นจักรยานบนท้องถนน แล้วนี่ยังคิดจะไม่ให้จักรยากเข้าสวนลุมอีก คิดแล้วเศร้าจังเลยคะ

  6. อ้วน

    การรณรงค์ถีบจักรยานคงเป็นเหมือนงานโชว์เพื่อถ่ายรูปให้เป็นข่าวแล้วก็จบไป ผมก็พยายามที่จะถีบจักรยานเพื่อการเดินทางในเมืองระยะสั้น แต่ไม่ไหวจริงพี่
    มันไม่ใช่เรื่องของอากาศเสีย แต่เป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ไม่มีของคนใช้รถใช้ถนนของเรามากกว่า จิตสาธารณะไม่มี น้ำใจไม่มี
    อีกสักพักก็คงมีรูปข่าวรณรงค์ถีบจักรยานโดยผู้ว่ามาให้ดูอีก ถ่ายรูปเสร็จก็ขึ้นรถกลับบ้านไป จบข่าว

  7. คนคู่

    ไอ้โรคเกาไม่ถูกที่คันเนี่ย มันเป็นโรคติดต่อเรื้อรังของกลุ่มอาชีพนักการเมืองจริงๆ สมควรที่ทางการแพทย์จะต้องเฝ้าระวังแล้ว เพราะมันอาจกำเริบถึงหลอดเลือดหัวใจตีบได้(ถ้าถูกนักปั่นนัดกระชับพื้นที่)

  8. ป๋อง โป๊ยเซียน

    เคยไปขี่จักรยานที่สวนหลวง ร.๙ แล้วถูกห้ามขี่เหมือนกันครับ

  9. กรงเทพ

    ทีมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ไม่เห็นจัดการ วันนั้นเพิ่งโดนกระชากกระเป๋า ก็จากไอ้มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้านี่แหละ

  10. ถูกใจ

    เห็นด้วยค่ะ เพราะบางทีมันก็ไร้เหตุผลเกินไป เคยปั่นจักรยานเข้าไปในสวนพระนครเพื่อหลบทางรถจากถนนใหญ่ทะลุไปออกอีกประตูหนึ่ง ระยะทางไม่ถึง500เมตร (เพราะหน้าสวนฟุตบาทแคบมาก แค่คนเดินสวนยังไม่มีที่) แต่กลับถูกไล่เหมือนหมูเหมือนหมา ให้เข็นจักรยานย้อนกลับไปทางเดิม ทั้งที่เราก็ไม่ได้ปั่นบนพื้นหญ้า หรือทางคนเดินแคบๆในสวน แล้วก็ไม่มีคนออกกำลังกายอยู่แถวนั้นด้วย ทำให้เราก็แอบสงสัยว่า อีกไม่กี่ก้าวจะออกประตูแล้ว แต่กลับให้เราย่ำซ้ำกลับไปก็เท่ากับจักรยานวนในสวนสองรอบ เพื่อ??? และเช่นเดียวกัน ยามปั่นจักรยานได้??? แล้วจะต่างกันตรงไหน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.