จากมาตรา 67 ถึง พรบ.คุ้มครองต้นไม้แห่งชาติ

“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและ สุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน…”

มาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติเอาไว้

หลายวันที่ผ่านมา มีข่าวการแสดงความเห็นคัดค้านการตัดต้นไม้ใหญ่ในซอยสุขุมวิท 35 เพื่อเปลี่ยนเป็นศูนย์การค้าเอ็มโพเรียล 2

ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุ หากใครได้เคยเข้าไปเดินเล่นภายในซอยสุขุมวิท 28 มักจะแปลกใจที่ยังเห็นมีต้นไม้ขนาดใหญ่อายุสี่ห้าสิบปีตลอดสองข้างทางให้ความร่มรื่นย์กับผู้คน โดยเฉพาะต้นก้ามปูหรือจามจุรี จนกลายเป็นสวนสาธารณะเล็ก ๆ ให้คนจากซอยอื่นมาวิ่งออกกำลังกายตอนเย็น

แทบไม่น่าเชื่อว่ายังมีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่ในซอยต้น ๆ บนถนนสุขุมวิท

แต่การดำรงอยู่ของต้นไม้ใหญ่กลางเมืองเหล่านี้ ได้ผ่านการต่อสู้มาพอสมควร

เมื่อสามปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในซอย 28 ได้เห็นป้ายประกาศจากทางกรุงเทพมหานคร ว่าจะมีโครงการปรับปรุงพื้นผิวถนน ขยายพื้นที่การจราจรและปรับปรุงท่อระบายน้ำภายในซอย ด้วยการตัดต้นไม้ใหญ่ในซอย เปลี่ยนเป็นพื้นซิเมนต์ เพิ่มพื้นที่จอดรถ

พอชาวบ้านได้ทราบเรื่องว่าจะมีการตัดต้นไม้ที่พวกเขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ และที่ผ่านมาซอยแถวนี้ก็ไม่มีปัญหาน้ำท่วม และไม่เห็นความจำเป็นในการขยายผิวจราจร จึงพากันรวมตัวลงชื่อ และโทรไปแจ้งให้ทางเขตทราบว่า พวกเขาขอใช้สิทธิตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550

เมื่อเจ้าหน้าที่เขตรับสาย ก็ทำสีหน้าแปลกใจ บอกว่าเป็นครั้งแรกที่มีคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

พวกเขาบอกว่าขอให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านแถวนี้ที่มีส่วนได้เสียก่อนว่า อยากได้การขยายถนน อยากให้มีการปรับปรุงท่อระบายน้ำ โดยการแลกกับการตัดต้นไม้ใหญ่สองข้างทางหรือไม่

ตอนแรกเจ้าหน้าที่ทาง กทม.มาเจรจาว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะยกเลิกโครงการ เพราะไปเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว คนในซอยจึงตั้งคำถามว่า ก่อนจะดำเนินโครงการใด ๆ ทำไมไม่ถามความต้องการของคนในชุมชนนี้เสียก่อน และยืนกรานว่าคนแถวนี้ไม่เห็นด้วยกับการตัดต้นไม้ใหญ่

ชาวบ้านบางคนลงทุนไปซื้อจีวรพระ และเอามาช่วยกับผูกไว้กับต้นไม้ใหญ่ เพื่อเป็นการบวชต้นไม้ และเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ กทม.ต้องคิดหนัก บางคนหาช่องทางไปพูดคุยกับทางผู้ใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ท่านได้ทราบถึงข้อเท็จจริง

ตอนนั้นเฟสบุ๊กหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ยังไม่ได้เกิดขึ้นหรือแพร่หลายจริงจังเหมือนทุกวันนี้ คนในซอยช่วยกันคนละไม้คนละมือ จนในที่สุดทางเขตยอมยกเลิกโครงการ เมื่อเห็นว่าคนเหล่านี้ตั้งใจจะรักษาต้นไม้ใหญ่ที่พวกเขาหวงแหนอย่างจริงจัง ต้นไม้ใหญ่ในซอย 28 จึงอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้

ห่างออกไปไม่กี่ซอย บริเวณซอย 35 ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียล ต้นก้ามปูรุ่นราวคราวเดียวกันหลายต้น บนที่ดินของเอกชนกำลังจะถูกโค่นลง เพื่อพัฒนาที่ดินให้เป็นห้างสรรพสินค้าสุดหรูและอาคารอัจริยะทันสมัยอีกแห่งในประเทศ กลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์ก “บิ๊กทรี” (BIG Trees Project) เกือบ 5,000 คน และชาวบ้านใกล้เคียงผู้หวงแหนได้รวมตัวกัน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยในการตัดต้นไม้ยักษ์เป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์

ในต่างประเทศหลายแห่ง การตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่ว่าจะอยู่บนที่ดินของเอกชนหรือที่สาธารณะ เป็นเรื่องที่ลำบาก ประเทศออสเตรเลีย มีกฎหมายระบุว่า ต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปในที่ดินเอกชน เจ้าของที่ดินทำได้เพียงตัดกิ่งไม้ ไม่อนุญาตให้ตัด นอกเสียจากได้ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ และถ้าเป็นต้นไม้เฉพาะถิ่น คือมีเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย ไม่สามารถตัดได้เด็ดขาด

ในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา การตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ในที่ดินเอกชน ต้องมีทำประชาพิจารณ์และได้รับความเห็นชอบจากคนในชุมชนเสียก่อน ในประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น ล้วนให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่ไม่ว่าจะขึ้นในที่ดินส่วนรวมหรือที่ดินส่วนตัว ใครฝ่าฝืนมีบทลงโทษรุนแรง

ประเทศเหล่านี้ล้วนให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่ ด้วยเหตุผลคล้ายกันว่า “ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุนานแม้ว่าจะขึ้นในที่ดินของเอกชน แต่ถือว่าเป็นสมบัติของสาธารณะ เพราะถือว่าต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา เป็นที่ฟอกปอด ผลิตอากาศบริสุทธิ์และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แก่คนส่วนรวม หากเจ้าของที่ดินจะมีการรื้อถอน หรือปรับปรุงต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาคมบริเวณนั้นด้วย เพราะการตัดต้นไม้ใหญ่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรวม”

เพื่อนอเมริกันชาวเมืองซีแอตเติ้ล ซึ่งถือเป็นเมืองสีเขียว เมืองน่าอยู่อันดับต้น ๆ ของโลก เล่าให้ฟังว่า ในบ้านมีต้นไม้หลายต้น การตัดต้นไม้ต้องขออนุญาตทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความจำเป็นเพียงใด หากเป็นต้นไม้ใหญ่ต้องทำประชาพิจารณ์จากคนแถวนั้นด้วยว่าอนุญาตหรือไม่ “ใครแอบตัดต้นไม้ใหญ่ในบ้านตัวเอง หากมีคนพบเห็นไปแจ้งความตำรวจ ถือเป็นเรื่องใหญ่โดนทั้งปรับทั้งจำ เพราะเขาถือว่าทำผิดกฎหมายที่บัญญัติว่า ประชาชนมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ”

แม้ว่าทุกวันนี้ ประเทศเรายังไม่มี พรบ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการขนาดใหญ่ สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 67 เพื่อปกป้องต้นไม้ใหญ่ได้

นี่อาจจะเป็นครั้งแรก ๆในสังคมไทย ที่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพมหานคร จะใช้รัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่ต่างจากชาวบ้านในต่างจังหวัดที่ใช้มาตรา 67 ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของเขาเอง อาทิ  กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพวกเขาจะเรียนรู้ว่า การใช้สิทธิตามกฎหมาย การเรียกร้อง การรวมตัว เป็นจุดเริ่มต้น เพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้งในอนาคต

แน่นอนว่า ระหว่างทางในการต่อสู้ นอกจากจะเปลืองตัวแล้ว หนทางไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ เป็นเรื่องผลประโยชน์มหาศาล ของมูลค่าที่ดินหลายร้อยล้านบาท แต่การต่อสู้ครั้งนี้กำลังจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมเมือง คือการให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่ในเมือง และอาจนำไปสู่การออกพรบ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในอนาคต

ครั้งหนึ่ง คุณสืบ นาคะเสถียรเคยบอกว่า ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า เพราะสัตว์ป่ามันพูดไม่ได้ แต่ต้องหลบหนีจากการไล่ล่าของมนุษย์ ต้นไม้พูดไม่ได้ หนีก็ไม่ได้ ไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่ให้ร่มเงา ให้อากาศ ให้ ความรื่นรมย์กับมนุษย์มาโดยตลอด สุดท้ายก็ถูกตัด ถูกฟันด้วยน้ำมือของมนุษย์

วันนี้เรากำลังจะมีคนกล้าที่พูดในนามของต้นไม้ใหญ่

มติชน 5 ธค.53

Comments

  1. noopau

    ทุกวันนี้หนูยังคิดว่าก่อนที่จะมีเรื่องของการคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ ควรมีเรื่องของการปลูกจิตสำนึกของคนก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตสำนึกในเรื่องของส่วนรวม และส่วนตัว ต้นไม้ที่ขึ้นในบ้านเค้าเป็นของเค้า แต่อากาศที่ต้นไม้ฟอกออกมาเป็นของทุกคน ปลูกจิตสำนึกให้แต่ละบ้านทุกบ้านมีต้นไม้ปลูกต้นไม้หาปอดให้ตัวเองก่อน ก่อนที่คิดจะไปขอยืมปอดของชาวบ้านมาหายใจ แต่ละบ้านไม่จำเป็นต้นไม้ใหญ่ก็ได้ แค่ให้ทุกบ้านมีก่อน แล้วพรบ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่จะเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและเข้าใจได้ ไม่ต้องมาอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวและส่วนรวม

    ถ้าคนไม่มีิจิตสำนึกในเรื่องนี้ หนูคิดว่ามันต้องมีบ้างแหล่ะสักบ้านที่ตัดต้นไม้ก่อนที่จะใหญ่ เพราะกลัวคนอื่นจะมายุ่งในต้นไม้ของเค้า สังคมเราเดี๋ยวนี้ยังมองเห็นเรื่องส่วนตัว เรื่องของใครของมันมากกว่าเรื่องส่วนรวม บางคนมองเห็นในเรื่องส่วนรวม แต่ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างมักจะทำให้มีคำว่า “ไม่ใช่เืรื่อง” ออกมาให้เห็น

    เรื่องต้นไม้ในซอย 35 หนูก็ไม่เห็นด้วยที่ไปตัด แต่หนูคงไม่ไปด่าประณามเจ้าของที่เค้าเพราะหนูยังมองในสิทธิของเค้าอยู่ เห็นคนไปด่าเค้าด้วยวาจาหยาบคายแล้วเซ็งแทน คุณมีสิทธิหวงแหนในอากาศบริสุทธิ์ที่คุณจะได้จากต้นไม้ แต่คุณไม่มีสิทธิ์ไปใช้วาจาหยาบคายกับคนอื่น

    บ่นจบแล้วสบายใจ ขอบคุณบอสที่เขียนเรื่องดี ๆ มาให้อ่านตลอด ^__^

  2. โสภณ พรโชคชัย

    โปรดอ่าน
    คุ้มหรือที่จะอนุรักษ์ต้นจามจุรี อายุ 100 ปี
    http://www.prachatai3.info/journal/2010/12/32163

    ตามที่มีข่าวว่าจะมีการตัดต้นจามจุรี (ก้ามปู ฉำฉา) ยักษ์อายุนับร้อยปีจำนวนหลายต้นและต้นไม้ขนาดใหญ่อื่น ในพื้นที่ใกล้ปากซอยสุขุมวิท 35 และก็มีกลุ่มคน Bigtrees Project ที่มีสมาชิก 5,723 ราย (นับถือขณะเขียนบทความ) ออกมาปกปักรักษาต้นไม้กันใหญ่ ก่อนที่จะคิดทำอะไรต่อ ผมในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจึงขอประมาณการต้นทุนการอนุรักษ์ต้นจามจุรีดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายได้พิจารณา

    ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่ห่างจาก ถ.สุขุมวิท 35 ตรงข้ามห้างเอ็มโพเรียมประมาณ 100 เมตร มีสภาพทิ้งรกร้างเป็นป่า มีต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีอยู่หลายต้น ตามข่าวบอกว่าเจ้าของที่ดินคือกลุ่มไบเทค และจะนำที่ดินดังกล่าวไปสร้าง ‘เอ็มโพเรียม 2’

    ได้มีข้อเสนอให้ย้ายต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ออกนอกพื้นที่แทนที่จะตัดทิ้ง อย่างไรก็ตาม หากจะย้ายต้นไม้จริง ต้องริดกิ่งที่แผ่กิ่งก้านในรัสมี 30 เมตร เหลือสภาพคล้าย ‘ธูป’ การย้ายต้นไม้เช่นนี้ ต้นไม้มีโอกาสรอด 20% และหากต้นไม้รอดตาย ก็เสียกิ่งก้านที่สวยงาม และต้องใช้เวลานานนับเดือน

    หนทางเดียวที่จะรักษาต้นไม้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ก็คือการไม่ตัดต้นไม้ ซึ่งหมายความว่าต้องมีการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาทำเป็นป่าหรือสวนสาธารณะ และปรับปรุงทัศนียภาพ ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อชุมชนบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง

    อย่างไรก็ตามในการนี้ ต้องมีต้นทุนค่าดำเนินการ ซึ่งต้นทุนหลักคงเป็นต้นทุนด้านที่ดิน ส่วนต้นทุนการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เป็นเช่นสวนสาธารณะ ค่าดำเนินการ สิ่งอำนวยความสะดวก การดูแลรักษา คงเป็นเงินไม่มากนักเมื่อเทียบกับค่าที่ดิน
    จากการสำรวจต่อเนื่องของ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งดำเนินการสำรวจราคาที่ดินต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 พบว่า ราคาที่ดินติดถนนสุขุมวิทในบริเวณติดรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์นี้ เป็นเงินตารางวาละ 800,000 บาท

    สำหรับที่ดินในซอย เช่นที่ดินแปลงนี้อาจเป็นเงินตารางวาละประมาณ 500,000 บาท อย่างไรก็ตามหากสามารถนำมาเชื่อมต่อกับแปลงหน้าเพื่อก่อสร้างเป็น ‘เอ็มโพเรียม 2’ ราคาที่ดินทั้งผืนที่ติดถนนและผืนที่เป็นป่ารวมกันคงเป็นเงินไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 600,000 บาท หากที่ดินแปลงนี้มีขนาด 1,000 ตารางวา มูลค่าที่ดินหรือต้นทุนที่ดินในการทำสวนสาธารณะคงเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท

    เงิน 500 ล้านบาทนี้ ใครควรเป็นผู้จ่าย ชาวบ้านหรือเจ้าของที่ดินใกล้เคียงที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง จะยินดีจ่ายหรือไม่ ชาวกรุงเทพมหานครหรือกลุ่มอนุรักษ์จะสามารถระดมเงินมาจ่ายหรือไม่ กรุงเทพมหานครสมควรจ่ายหรือไม่ เพราะผู้ได้ประโยชน์อาจอยู่ในพื้นที่เขตคลองเตยและเขตวัฒนาเป็นสำคัญ

    หากรัฐบาลส่วนกลางเป็นผู้จ่าย ก็เท่ากับการจ่ายเงินจากภาษีอากรของประชาชนคนไทยทั่วประเทศ เพื่อคนที่ได้รับประโยชน์จำนวนหนึ่งเป็นสำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมในอีกแง่หนึ่ง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรพิจารณาให้รอบคอบ

    อย่างไรก็ตามปัญหานี้เป็นผลของปัญหาการไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะหากมีภาษีประเภทนี้ เจ้าของที่ดินก็คงไม่เก็บที่ดินให้รกร้างว่างเปล่ามานับร้อยปีจนต้นไม้มีอายุนับร้อยปี เพราะจะต้องเสียภาษีอย่างน้อย 0.5% ต่อปี ยิ่งในต่างประเทศก็คงเสียภาษีมากกว่านี้คือประมาณ 1-2% ต่อปี

    หากมีกฏหมายการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเจ้าของที่ดินไม่ได้จ่ายภาษีมาถึงทุกวันนี้ ก็เท่ากับที่ดินแปลงนี้น่าจะตกเป็นของรัฐ หรือของประชาชนโดยรวมไปแล้ว ไม่ใช่กลายเป็นการทิ้งไว้ให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นและได้ประโยชน์เฉพาะเจ้าของที่ดิน (โดยเฉพาะรายใหญ่) เช่นที่เกิดขึ้นเช่นนี้

    อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่หนึ่งต้นจามจุรีนี้ใช่ว่าจะมีแต่ประโยชน์ เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งหักง่าย เป็นอันตรายต่อคนอยู่ใกล้ เรียกว่าเป็นต้นไม้สง่างามที่ ‘สวยแต่รูป จูบไม่หอม’ ถ้าเราคิดจะอนุรักษ์ไว้โดยไม่ใช้เงินจากกระเป๋าของเรา ก็อาจถือเป็นความดีที่ไร้รากนะครับ

  3. แค่ทางผ่าน

    อ่านบทความและข้อเขียนของทุกคนแล้วเจ็บปวดใจ

    ตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างศูนย์การค้า
    คนไม่มีจิตสำนึก ต้องปลูกจิตสำนึกก่อนปลูกต้นไม้
    และต้นไม้ไม่คุ้มค่ากับเงินที่จะเสียไป

    เจ็บปวดใจจนพูดอะไรไม่ออกเลยค่ะ

    แต่สงสัยว่า สถาปนิกหรือผู้ออกแบบอาคารจะทำการออกแบบ ให้ตึกอยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่บ้างไม่ได้เชียวหรือคะ

  4. ป๋อง โป๊ยเซียน

    ถ้าจำไม่ผิด….
    เคยเห็นอาคารวานิสสาบนถนนชิดลมรักษาต้นไม้ใหญ่หน้าตึกไว้ได้อย่างสวยงาม

    ไม่ได้เห็นพื้นที่ในซอย 35 ที่พูดถึงนี้
    เลยไม่แน่ใจว่าทางเจ้าของจะพอช่วยรักษาต้นไม้บางส่วนไว้ได้มั้ยครับ

  5. Pingback: Tweets that mention วันชัย ตัน » Blog Archive » จากมาตรา 67 ถึง พรบ.คุ้มครองต้นไม้แห่งชาติ -- Topsy.com

  6. แค่ทางผ่าน

    ถึงคุณป๋อง โป๊ยเซียน
    ต้นไม้เหล่านั้นถูกตัดไปเรียบร้อยแล้วค่ะ
    มีคลิปที่ถ่ายเก็บไว้ ดูได้ที่ BIG Trees (หาดูได้ใน youtube)
    Y_Y

  7. Pingback: คุณวันชัย ตัน และการมีชีวิตอยู่ (เพื่อ) « Organicmixer's Blog

  8. วิชัย นาพัว

    เมื่อไรเขาจะยกเลิกกฏหมายที่ ห้ามตัดไม้ยางนาซึ่งชาวบ้านปลูก เพราะถ้าเราส่งเสริมให้คนรักต้นไม้ ก็ควรให้โอกาสกับการปลูกต้นไม้เพื่อใช้ประโยชน์ด้วย จะได้ทั้งต้นไม้ หรืออาจจะได้ป่าไม้เพิ่มขึ้นด้วย ชาวบ้านบอกไม่กล้าปลูก เพราะกลัวถูกจับ ต้นไม้ยางช่วยทำให้ชาวบ้านมีเห็ดกินด้วย เขาก็อยากแต่ก็กลัวมากกว่า ฝากด้วยจ้า

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.