Home

 
 

เที่ยวทั่วไทยไปกับนายรอบรู้
นายรอบรู้ชวนเที่ยว
ล่องเรือเที่ยว
เกาะช้าง  
 
รู้หรือไม่(รู้)
ทำไมมัสยิด ต้องสร้างเป็นโดม มีดาวและเดือนเสี้ยว ?
หาดทรายเกิดขึ้นได้อย่างไร
ครั้งหนึ่งเคยเป็น
วัดอรุณ  
 
ซอกแซกท่องเที่ยว  

นายรอบรู้ตอบปัญหา  

โลกรายเดือน

ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก (พระโขนง-ประเวศบุรีรมย์) กับกรุงเทพมหานคร

เดือนนี้อากาศยังคงร้อนอบอ้าว เพื่อเป็นการคลายร้อนจึงพาล่องเรือ เที่ยวคลองพระโขนงและ คลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำฝั่งตะวันออกที่ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว กทม. ร่วมกับสำนักงานเขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตวัฒนา และ ส.ก. เขตวัฒนา--คุณกิตพล เชิดชูกิจกุล เปิดใหม่สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

คลองพระโขนงเป็นคลองธรรมชาติที่มีลักษณะคดเคี้ยว ต่างไปจากคลองประเวศฯ ซึ่งเป็นคลองขุดคลองแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเสียค่าขุดคลอง โดยได้รับผลประโยชน์จากการจับจองที่ดินสองฝั่งคลองเป็นการตอบแทน วันนี้สองฝั่งคลองทั้งสอง จึงหนาแน่นไปด้วยลูกหลานของผู้ที่เข้ามารับจ้างขุดคลอง บุกเบิกพื้นที่เกษตรทำมาหากิน คู่ไปกับกลุ่มเชลยสงคราม ที่ในหลวงรัชกาลต่าง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มชาวมุสลิมจากหัวเมืองปัตตานี ที่ถูกกวาดขึ้นมาเมื่อครั้งศึกเจ็ดหัวเมืองในรัชกาลที่ ๓ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่สุดที่เติบโตขยายชุมชน ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของสองฝั่งคลอง ดังปรากฏมัสยิดถึงสี่แห่ง ขณะที่กลุ่มชนอื่นๆ อย่างมอญ เขมร ไม่เหลือความเป็นชุมชน คงทิ้งร่องรอยเพียงวัดวาอารามที่ถูกเล่าขานว่าสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนเหล่านี้ เช่น ชาวมอญสร้างวัดต้นไทรย์ ชาวเขมรสร้างวัดขจรศิริหรือที่คนพื้นที่เรียก วัดขอม

ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก
ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก

เส้นทางท่องเที่ยวสายนี้เริ่มตั้งแต่บริเวณสะพานข้ามคลองพระโขนงไปจนถึงบริเวณใต้สะพานวงแหวนรอบนอก โดยมีจุดนัดหมายลงเรือที่ท่าเรือใต้สะพานพระโขนง (ติดกับตลาดพระโขนง) ตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ น. เรือที่จะนำคณะล่องคลองเป็นเรือหางยาวลำใหญ่ที่มีชูชีพทุกที่นั่งเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร เมื่อเรือเริ่มออกจากท่า มัคคุเทศก์จากศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของ กทม. กับประชาคมชุมชนในคลองทั้งสองก็ชี้ชวน บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับชุมชนตลอดสองฝั่งคลอง ช่วงต้นคลองใกล้กับตลาดพระโขนงน้ำดำเน่าเสีย ส่งกลิ่นไม่น่าอภิรมย์นัก แต่เมื่อผ่านบริเวณสวนหลวงคุณภาพน้ำในคลองดีขึ้น ชาวบ้านสองฝั่งคลองจึงทำแพปลูกผักบุ้ง เลี้ยงปลาในกระชัง และยกยอจับปลา

ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก
ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก

วัดตามริมคลองแม้เป็นวัดเก่าปลายสมัยอยุธยาหลายวัด แต่ศิลปกรรมไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับวัดตามคลองย่านฝั่งตะวันตก แต่ก็มีของดีที่น่าชมอยู่หลายแห่ง เช่น วัดใต้ ซึ่งเป็นจุดแวะแรก ที่นี่มีพระสงฆ์เก็บสะสมฉลากกลักไม้ขีดไฟของเก่า อันเป็นฉลากที่พิมพ์ในญี่ปุ่น หาชมได้ยากยิ่ง จุดแวะที่ ๒ วัดมหาบุษย์ หรือวัดแม่นาคพระโขนง มีผู้คนมาไหว้ขอหวยเนืองแน่น ศาลย่านาคจึงเต็มไปด้วยของถวายอย่างพวงมาลัยเจ็ดสี ชุดไทย ของเล่นเด็ก ขนม ผลไม้ ฯลฯ และที่น่าสนใจบนศาล จะเปิดทีวีให้ย่านาคชมตลอดทั้งวัน ที่ฝั่งตรงข้ามกับศาลาท่าน้ำของวัด จะเห็นหมู่เรือนไม้ปลูกอยู่กลางน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า เกาะปันหยีŽ เพราะมีสภาพคล้ายหมู่บ้านเกาะปันหยีที่จังหวัดพังงา ชาวบ้านเล่าว่าเดิมที่แห่งนี้เป็นแหลมยื่นเข้าไปในคลอง เป็นที่ตั้งของที่ทำการอำเภอพระโขนงเก่ากับโรงสีข้าว ต่อมาที่ว่าการอำเภอย้ายไป ชาวบ้านจึงอพยพเข้ามาเช่าที่ปลูกบ้าน ต่อมาน้ำกัดเซาะที่ดินหมดไป จึงเหลือเพียงบ้านปลูกอยู่กลางน้ำอย่างที่เห็น

วัดกระทุ่มเสือปลา จุดแวะที่ ๓ ซึ่งเป็นจุดขึ้นพักกินอาหารกลางวัน ที่ชาวบ้านจัดทำได้ถึงเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นแกงเผ็ดหรือของหวานอย่างลอดช่องน้ำกะทิ ก็หวานมันหอมใบเตยแท้ ๆ อิ่มหนำสำราญแล้ว จึงขึ้นไปแวะชมศาลาการเปรียญของวัดที่สร้างแบบไทยประเพณีทำด้วยไม้ จากนั้นชมและสักการะหุ่นไฟเบอร์ของพระเกจิอาจารย์ที่ทางวัดจัดทำไว้ถึง ๑๐ รูป อาทิ หลวงปู่ทวด สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (โต พรหมรังสี) ฯลฯ ก่อนลงเรือเดินทางย้อนกลับเส้นทางเดิม ไปแวะลอยเรือให้อาหารปลาที่หน้าวัดขจรศิริหรือวัดขอม ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยชาวเขมรที่ถูกให้อพยพมาพำนักอยู่ริมคลองแห่งนี้

ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก
ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก

จุดแวะสุดท้ายคือ วัดยาง ที่นี่มีหลวงพ่อโต--พระพุทธรูปไม้หุ้มห่อด้วยปูนที่ชาวบ้านศรัทธาว่าศักดิ์สิทธิ์ ทำนายทายทักได้อย่างแม่นยำ และที่แปลกวัดนี้สร้างที่บรรจุกระดูกจัดแบ่งเป็นห้อง มีการตกแต่งตามแต่ผู้ซื้อ ซึ่งบางห้องแต่งเหมือนบ้านอาศัย ไถ่ถามราคาตกห้องละ ๙๙๙,๙๙๙ บาท

บริเวณสองฝั่งคลองประเวศฯ เป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิมเก่าแก่ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการแวะเยียนชมวิถีชีวิตพี่น้องชาวมุสลิมเลย หาก กทม. จะเพิ่มเติมจุดแวะชม การเที่ยวคลองสายนี้ก็คงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก
ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก

การเดินทางเที่ยวลำคลองสองสายนี้ใช้เวลาเดินทางไป/กลับราว ๖ ชั่วโมง คือ ตั้งแต่ ๘.๓๐-๑๕.๐๐ น. ในราคาค่าบริการคนละ ๓๐๐ บาท โดยคิดรวมค่าประกันอุบัติเหตุ อาหารกลางวันและอาหารว่างเช้า-บ่ายอีกสองมื้อ จองที่นั่งหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว กทม. โทร. ๒๒๕-๗๖๑๒-๔ หรือจะไปเที่ยวเองโดยนั่งเรือโดยสารของชาวบ้าน จากท่าเรือใต้สะพานพระโขนง ค่าโดยสารคนละ ๕ บาทตลอดสาย มีเรือออกทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๒๐.๓๐ น. วันเสาร์เลิกบริการเร็วกว่าครึ่งชั่วโมง ส่วนวันอาทิตย์ เริ่ม ๐๘.๐๐-๑๙.๐๐ น. เรือออกทุกครึ่งชั่วโมง หากเป็นชั่วโมงเร่งด่วนจะออกทุก ๑๕ นาที

 

Home