ดนตรีคลาสสิกให้อะไร

ผมชอบฟังดนตรีทุกประเภท ตั้งแต่เพลงป็อป แจ๊ส ลูกทุ่ง มาร์ช คลาสสิก หมอลำซิ่ง นิวเอจ หรือเวิลด์มิวสิก

ทุกวันนี้ผมฟังเพลงบอยแบนด์ วงยอดนิยมจากเกาหลีใต้ เพลงเบลลีแดนซ์จากอียิปต์ ไปจนถึงเสียงขลุ่ยผิวของอินเดียนแดงเผ่าซู

ผมอาจโชคดีตอนวัยเด็กได้อยู่ในแวดวงดนตรี ได้ฟังเพลงหลากหลายชนิดที่คนรุ่นเดียวกันน้อยคนจะมีโอกาส

อาทิ เพลงจากสหรัฐอเมริกา ของนายจอห์น ฟิลิป ซูซา นักแต่งเพลงมาร์ชชื่อดัง เพลงซิมโฟนีของบีโธเฟน เพลงเทศกาลคริสต์มาส

สาเหตุสำคัญของการฟังบ่อยๆ คือเพื่อเล่นดนตรีตามเสียงเพลงให้ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นการหัดเล่นเพลงนั้นได้เร็วที่สุด แต่เป็นนิสัยไม่ดีที่นักดนตรีด้วยกันทราบ เพราะไม่ยอมแกะโน้ตด้วยตัวเอง คล้ายกับการลอกการบ้าน แทนที่จะทำการบ้านเอง

ฟังเพลงทุกชนิดต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ก็พบว่าเพลงแต่ละประเภทไพเราะกันคนละแบบ และยิ่งกระหายอยากเก็บเงินไว้ซื้อเทปเพลงนานาชนิด  จำได้ว่าสมัยก่อนยอมอดอาหารเพื่อซื้อเทปเพลงฝรั่งยี่ห้อ peacock จนสะสมได้ร่วมพันม้วน ก่อนจะตัดใจแจกบ้าง ทิ้งบ้าง เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนมาเป็นแผ่นซีดีและดิจิทัล

ฟังเพลงมากๆ ทำให้พอเข้าใจว่า ทำไมเพลงบางประเภทอายุถึงสั้นไปตามแฟชั่นหรือการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ขณะที่เพลงบางเพลงฟังเมื่อสี่ห้าร้อยปีก่อน ปัจจุบันยังมีคนฟังหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

ฟังเพลงมากๆ ผมยิ่งตระเวนหาเพลงคลาสสิกระดับตำนาน เพราะอยากรู้ว่าทำไมเพลงเหล่านี้ถึงอยู่ได้นานหลายร้อยปี

ฟังเพลงรัก serenade ได้ยินเสียงไวโอลินเพราะบาดใจ จนนึกถึงภาพอ้ายหนุ่มอิตาลีมาแอบสีไวโอลินจีบสาวผมบลอนด์แก้มแดงตรงหน้าบ้าน

ฟังเพลงซิมโฟนีหมายเลข ๕ ของบีโธเฟน ตอนท่อนฮิตอมตะ “ตั๊นๆๆ ต่าน ตันๆๆ ต่าน” นึกถึงความหมายที่บีโธเฟนเคยบอกว่า เป็นเสียงเคาะประตูของยมทูต  มันช่างรู้สึกแบบนั้นจริงๆ

เวลาฟังเพลงเหล่านี้และทอดอารมณ์ไปตาม ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้จินตนาการตามความฝันของผู้แต่งเพลง และได้ซึมซับในดนตรีอันแสนจะไพเราะ ไม่ว่าจะเป็นห้วงอารมณ์แห่งความหวานซึ้ง ความรัก ความเศร้า ความโกรธ  โน้ตดนตรีช่างละเอียดและละเมียดจริงๆ

แค่ฟังเสียงเชลโลลากสายยาวๆ เพียงโน้ตตัวเดียวก็อาจขนลุกแล้ว

การมีสมาธิกับบทเพลงที่บรรเลงจากเครื่องดนตรีหลายสิบชิ้น สอดประสานความไพเราะจากตัวโน้ตที่แตกต่างกัน ถือเป็นสิ่งที่ดีในชีวิต

ผมไม่เคยรู้สึกว่าการฟังเพลงคลาสสิกระดับตำนานซึ่งยังมีคนทั้งโลกฟังมาเนิ่นนานนี้ ต้อง “ปีนบันไดฟัง”

แน่นอนว่า สมัยก่อนแผ่นเสียง ม้วนเทป ของเพลงคลาสสิกอาจมีราคาแพง และจำกัดการเข้าถึงของผู้ฟังจำนวนมาก  แต่ทุกวันนี้ราคาแผ่นซีดี เอ็มพีสาม ช่วยทำให้คนทั่วไปเข้าถึงเพลงคลาสสิกง่ายกว่าเดิมมาก

สองสามปีก่อน ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเพื่อนที่เมืองวิกตอเรีย บนเกาะแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา และโชคดีที่เย็นวันอาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคมทุกปี เป็นเทศกาลแห่งการแสดงคอนเสิร์ตเพลงซิมโฟนีกลางแจ้งที่เรียกว่า Victoria Symphony Splash

เทศกาลนี้ถือเป็นการแสดงดนตรีกลางแจ้งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ ๒๒ ปีก่อน เป็นการแสดงคอนเสิร์ตครบรอบ ๕๐ ปีของวงออร์เคสตราให้ชาวเมืองชมฟรีที่ท่าเรือ สร้างความประทับใจให้ผู้ฟังมาก  จนกลายเป็นเทศกาลที่ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวต่างรอคอย

เย็นวันอาทิตย์ พื้นที่บริเวณท่าเรือถูกจับจองโดยชาวเมืองกว่า ๔ หมื่นคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ บนพื้นน้ำมีคนพายเรือแคนูนับร้อยลำลอยอยู่หน้าเรือบรรทุกลำใหญ่ซึ่งเปลี่ยนเป็นเวทีคอนเสิร์ตชั่วคราว

ผมเดินไปซื้อของที่ระลึก อาหาร เครื่องดื่ม และสังเกตเห็นชาวเมือง นักท่องเที่ยว ต่างเตรียมตัวมาปิกนิกกันเต็มที่  ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอฟังการบรรเลงดนตรีจากวง Victoria Symphony วงออร์เคสตราประจำเมือง

คนมากจริงๆ ครับ

ว่ากันว่างานนี้ไม่ต้องประชาสัมพันธ์กันให้มาก ชาวเมืองทราบดีว่าพวกเขามีนัดกันในวันอาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคมของทุกปี

ผู้นำของเมืองวิกตอเรียเห็นความสำคัญของการแสดงดนตรีคลาสสิกให้ประชาชนฟัง จึงลงทุนจัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในเมือง และรับอาสาสมัครหลายร้อยคนมาช่วยจัดงาน  ถือเป็นการคืนกำไรให้ผู้คนในสังคมได้เสพสิ่งดีๆ ที่หาดูได้ไม่ง่าย

แต่ที่สำคัญคือคนเมืองนี้ทราบดีว่า การฟังดนตรีดีๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เป็นคนที่มีความละเอียดอ่อน

สังคมโดยรวมน่าจะต้องการพลเมืองผู้มีจิตใจละเอียด มากกว่าพลเมืองผู้มีจิตใจหยาบกร้าน มิใช่หรือ

พลันที่โฆษกประกาศแนะนำวาทยกรบนเวที คนฟังหลายหมื่นคนเริ่มเงียบลงหลังเสียงปรบมือ และเมื่อบทเพลง Tchaikov-sky’s 1812 Overture ดังกระหึ่มขึ้นจากเครื่องดนตรีนับร้อยชิ้น ณ ขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าตรงขอบทะเล  ผมขนลุกในบรรยากาศแสงและเสียงเพลงซึ่งบรรเลงอย่างเร้าใจไปตลอดเวลาร่วม ๒ ชั่วโมง

ผมเหลียวมองรอบข้าง เห็นชาววิกตอเรียมานั่งปิกนิกกันเป็นครอบครัว หนุ่มสาวนอนหนุนตักฟังเพลงกันอย่างมีความสุข

นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเห็นวงออร์เคสตราเล่นคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกท่ามกลางคนดูครึ่งแสน เพราะเคยเห็นแต่คอนเสิร์ตเพลงป็อปที่มีแฟนเพลงหนาตาได้เช่นนี้  จำได้ว่าเมื่อกรุงเทพมหานครจัดการแสดง “ดนตรีในสวน” มีวงดนตรีบางกอกซิมโฟนี ออร์เคสตรา มาบรรเลงที่สวนลุมพินีในช่วงฤดูหนาวเป็นประจำทุกปี ดูเหมือนมีคนฟังหลักร้อย

อาจเพราะการอ่อนประชาสัมพันธ์หรือสาเหตุใดๆ ที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป แต่ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากอยากฟังคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกดีๆ แต่ไม่ค่อยมีโอกาส

ลองใหม่สิครับ ในคืนวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ วางแผนดีๆ นำวงออร์เคสตรามาจัดเต็มบนเวทีท้องสนามหลวง มีฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวัง ให้ประชาชนมีทางเลือกในการฟังเพลงดีๆ เตรียมเข้าสู่ปีใหม่ มากกว่าบรรยากาศงานเคาต์ดาวน์สนั่นกรุงที่เซ็นทรัลเวิลด์

สังคมทุกวันนี้เปิดพื้นที่ให้ดนตรีบางประเภทมากเกินไป และเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงดนตรีอีกหลายประเภทน้อยเกินไป

จิตใจคนจึงไม่ค่อยละเอียดอ่อนอย่างที่มนุษย์ควรจะเป็น คุณว่าไหม

Comments

  1. หมี่เย็น

    หมี่เย็นก็ชอบฟังเพลงมากค่ะ ^^ โดยเฉพาะเเนวป๊อป ร๊อค หรือเพลงคลาสลิกก็ตาม เวลาได้ฟังทีไรรู้สึกว่าผ่อนคลาย เเละจิตใจสงบ เราก็นึกภาพในหัวไปต่างๆนาๆ ว่าเพลงนี้มันจะเป็นฉากเเบบไหนนะ หมี่เย็นเองก็อยากหาโอกาสไปฟังเพลงคลาสลิกที่บรรเลงโดยวงออร์เคสตรามานานเเล้ว เเต่ก็ไม่เคยมีโอกาศไปฟังซักที อย่างที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ก็พึ่งมีจัดไปเองค่ะ เเต่เราก็ไม่ได้ไปอีกละ ซึ่งน่าเสียดายมากๆ ต้องขอบคุณตันมากเลยค่ะที่ได้มาเเชร์ประสบการณ์เล่าสู่กันฟัง(เราเองก็อยากไปตางประเทศมั่ง :D)

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.