โลกวิทยาศาสตร์กับมุสลิม (ตอนที่ ๑)

ลูกโลกจำลองซึ่งสร้างจากแผนที่โลกโบราณตั้งอยู่หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ในกรุงอิสตันบูล

ผู้มีความรู้ ๑ คนนั้นเข้มแข็งกว่าผู้ศรัทธา ๑,๐๐๐ คน

อัลกุรอาน

ก่อนจะมาเยือนกรุงอิสตันบูล เมืองหลวงเก่าของประเทศตุรกี ผู้เขียนเคยได้ยินว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในโลกปัจจุบันหลักๆ ล้วนมีรากฐานจากชาวยุโรปผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่น้อยคนจะรู้ว่าชาวมุสลิมมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก่อนชาวยุโรปมาหลายร้อยปีแล้ว

เครื่องมือดาราศาสตร์โบราณ ภายใน The Istanbul Museum of the History of Science and Technology in Islam

ผู้เขียนไม่เคยจริงจังกับเรื่องนี้สักที แต่เนื่องจากชอบเดินชมพิพิธภัณฑ์ วันหนึ่งจึงมีโอกาสย่างกรายเข้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอิสลามแห่งอิสตันบูล (The Istanbul Museum of the History of Science and Technology in Islam) แล้วความรู้อีกด้านก็ปรากฏ เหมือนที่รู้สึกทุกครั้งว่า “ยิ่งมีโอกาสเดินทางไปในโลกกว้าง ยิ่งรู้สึกว่าเราไม่ค่อยรู้อะไรเลย”

อิสตันบูลในอดีตคือกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออก หรืออีกชื่อว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ เป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๓ มานานนับพันปี กระทั่ง ค.ศ. ๑๔๕๓ สุลต่านเมห์เมดที่ ๒ บุกยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลและเปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูล สถาปนาจักรวรรดิออตโตมัน ดินแดนแห่งนี้จึงตกอยู่ใต้อารยธรรมแบบมุสลิมเป็นเวลาร่วม ๕๐๐ ปี ก่อนจะกลายเป็นประเทศตุรกีและย้ายเมืองหลวงมากรุงอังการาในปัจจุบัน

อิสตันบูลจึงเป็นนครเก่าแก่ที่เคยเป็นเมืองหลวงมายาวนานกว่า ๑,๖๐๐ ปี มีอดีตหลายอย่างชวนให้ค้นหา ทั้งร่องรอยอารยธรรมของคริสต์และอิสลามอันทับซ้อนกันมาตลอด และหนึ่งในนั้นคือการเปิดพรมแดนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วงยุคทองของชาวมุสลิม

ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในสวนกุหลาบ (Rose Garden) มีแผนที่โลกทรงกลมขนาดใหญ่ จำลองจากแผนที่โลกโบราณซึ่งสร้างประมาณ ค.ศ. ๘๐๐ โดยบัญชาของกาหลิบ (ผู้นำศาสนา) อัลมามุนให้แก่กลุ่มนักดาราศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิมแห่งนครแบกแดด  ลูกโลกนี้ใช้สีน้ำเงินแทนมหาสมุทร ส่วนที่เป็นทวีปทำด้วยแผ่นทองเหลือง น่าอัศจรรย์ตรงที่มีความแม่นยำด้านภูมิศาสตร์ในการทำแผนที่อย่างเหลือเชื่อจากความรู้ของนักวิทยาศาสตร์เมื่อ ๑,๐๐๐ กว่าปีก่อน เราจึงเห็นว่าซีกโลกใต้เป็นมหาสมุทรสีน้ำเงินทั้งหมด แทบจะไม่มีแผ่นดินเลย ยกเว้นทวีปแอฟริกา เพราะสมัยนั้นการสำรวจยังไปไม่ถึงทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอนตาร์กติกา หรือทวีปอเมริกาจึงไม่ปรากฏ

ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซึ่งเคยเป็นโรงม้าขนาดใหญ่ของสุลต่านในอดีต กลายเป็นที่รวบรวมผลงานจำลองสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญของนักวิทยาศาสตร์มุสลิมช่วงศตวรรษที่ ๙-๑๖ อันถือเป็นยุคทองของการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ของพวกเขา ตั้งแต่เครื่องมือด้านดาราศาสตร์ การเดินเรือ การก่อสร้าง เรขาคณิต เคมี เครื่องมือวัดระยะต่างๆ อาวุธยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ การรักษา การผ่าตัดต่างๆ ซึ่งหลายเรื่องเคยคิดว่าเป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรป แต่กลายเป็นว่านักวิทยาศาสตร์ยุโรปนำไปต่อยอดดัดแปลงมากกว่า

ในยุคที่ชาวมุสลิมรุ่งเรืองขึ้น คำสั่งสอนของอัลลอฮ์ส่งเสริมให้ชาวมุสลิมทั้งมวลขวนขวายหาความรู้ นอกจากคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ด้วยความรู้ของตัวเองแล้ว พวกเขายังอ่านภาษากรีก ฮินดี และอินเดีย (โบราณ) รวมถึงแหล่งอารยธรรมของโลกโบราณ เช่น ปโตเลมี (Ptolemy) อาร์คิมิดีส (Archimedes) ฯลฯ เพื่อร่นระยะเวลาการแสวงหาความรู้และต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ (คงไม่ต่างจากญี่ปุ่นหลังสมัยสงครามโลก ที่เร่งแปลตำราต่างๆ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้คนของเขามีความรู้โดยเร็วที่สุด ก่อนจะต่อยอดจากความรู้นี้จนกลายเป็นมหาอำนาจในเวลาอันรวดเร็ว)  เมื่อชาวมุสลิมมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น เมืองสำคัญของประเทศอิสลามขณะนั้นจึงเต็มไปด้วยห้องสมุดและวิทยาการ

ห้องแรกที่ผู้เขียนเดินเข้าไป เห็นสิ่งประดิษฐ์และผลงานวิทยาศาสตร์มากมาย สิ่งโดดเด่นที่สุดคือความรู้และสิ่งประดิษฐ์ด้านดาราศาสตร์ หรืออัลฟาลักในภาษาอาหรับ เป็นวิชาการศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้า โดยใช้พื้นฐานกฎเกณฑ์ธรรมชาติและการคำนวณทางวิทยาศาสตร์เป็นคำตอบ เช่นการคำนวณหาเวลาการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แม้กระทั่งวันเวลาที่จะเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ทางดาราศาสตร์ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา

สาเหตุประการหนึ่งที่ชาวมุสลิมชำนาญวิชาดาราศาสตร์ เนื่องจากการปฏิบัติศาสนกิจแต่ละวันล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้ดังกล่าว อาทิ การละหมาดห้าเวลาต่อวันจะใช้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ขึ้น-ตกเป็นหลัก หรือการกำหนดวันเริ่มต้นเดือนกอมารียะฮ์ (เดือนใหม่) โดยสังเกตจันทร์เสี้ยวแรกเพื่อกำหนดวันเริ่มต้น

เครื่องวัดตำแหน่งดวงดาวจำลอง สร้างใน ค.ศ. ๑๕๕๒

ภายในห้องเราเห็นแผนที่ดวงดาวบนท้องฟ้าหลายแบบ จำลองจากแผนที่สมัยโบราณยุคต่างๆ สลักบนแผ่นทองเหลือง เครื่องมือวัดองศาเอียงของแกนโลก อาคารหอดูดาวจำลองหลากแบบหลายยุค  ชาวมุสลิมน่าจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่สร้างหอดูดาว  ผู้เขียนทึ่งกับหอดูดาวที่จำลองจากหอดูดาวแห่งหนึ่งในกรุงแบกแดด สร้างประมาณ ค.ศ. ๑๒๗๐ เนื่องจากมีขนาดย่อส่วนจากของจริงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง ๒๘ เมตร ซึ่งนักดาราศาสตร์ต้องการสร้างเครื่องมือเพื่อทดสอบ ศึกษาการวัดระยะทาง และปรากฏการณ์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องสร้างหอดูดาวขนาดใหญ่  สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์ของชาวมุสลิม เพื่อศึกษาและคำนวณหาตำแหน่งการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์บนท้องฟ้า

ในสมัยของเคาะลีฟะฮ์อัลมะมูน (ค.ศ. ๗๘๖-๘๓๓) อันถือเป็นยุคทองด้านสติปัญญาของอารยธรรมอิสลาม พระองค์สร้างเมืองแบกแดดและเมืองดามัสกัสให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ราช-สำนักเปิดรับนักวิทยาศาสตร์ นักอักษรศาสตร์ กวี แพทย์ และนักปรัชญาอย่างกว้างขวาง  ด้านดาราศาสตร์นั้นเจริญรุ่งเรืองมาก มีการสร้างหอดูดาวและสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สร้างเครื่องมือค้นคว้าหาดวงดาว หาตำแหน่งดาว เครื่องมือหาความเอียงของดวงอาทิตย์ เป็นต้น

นักดาราศาสตร์มุสลิมคือผู้พัฒนาวิชาพีชคณิตและตรีโกณมิติเพื่อวัดระยะทางในอวกาศ ความสนใจดาราศาสตร์ของชาวมุสลิมยังนำไปสู่การพัฒนาตรีโกณมิติด้วย คำว่าอัลจีบรา (algebra) หรือพีชคณิตมาจากชื่อหนังสือของ อัล-ควาริซมี (Al-Khwarizmi) ที่ชื่อ Al-Jabr wa-al-Muqabilah และชาวยุโรปก็รับทั้งหมดไปต่อยอดความรู้ในเวลาต่อมา

นักวิทยาศาสตร์มุสลิมเชื่อว่าโลกกลมและแกนโลกเอียงไม่ได้แบนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๙ ก่อนชาวยุโรปจะค้นพบเกือบ ๕๐๐ ปี โดยนักดาราศาสตร์นาม อิบน์ ฮัซม์ (Ibn Hazm) เคยตั้งข้อสังเกตว่า “ดวงอาทิตย์อยู่แนวตรงกับพื้นโลกตลอดเวลาหรือ”  ช่วงเวลานั้นนักดาราศาสตร์มุสลิมได้คำนวณเส้นรอบวงของโลกซึ่งมีความยาว ๔๐,๒๕๓.๔ กิโลเมตร น้อยกว่าของจริงในปัจจุบันเพียง ๒๐๐ กิโลเมตร และ อิควาน อัลซะฟาฮฺ (Ikhwa-n al-safa-’) นักวิทยาศาสตร์มุสลิมคนสำคัญก็บันทึกไว้ว่า “การค้นพบแรงโน้มถ่วงของ ไอแซก นิวตัน ก็มีพื้นฐานมาจากความรู้ของมุสลิม”

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราคงพอทราบว่า ในยุคมืดของยุโรปนักวิทยาศาสตร์หรือนักปราชญ์หลายคนหากค้นพบความรู้ที่ขัดแย้งต่อคำสั่งสอนของคริสต์ศาสนจักร ก็อาจถูกกักขัง ถูกเผาทั้งเป็นหรือทรมานจนตาย ดังเช่นกาลิเลโอ  แต่ตรงกันข้าม กษัตริย์หรือสุลต่านของมุสลิมกลับส่งเสริมให้ประชาชนแสวงหาความรู้ทุกสาขา สอดคล้องกับคำสั่งสอนของศาสดาที่ถือว่าความรู้เป็นสิ่งประเสริฐและจำเป็นต่อมนุษย์ ทำให้ชาวมุสลิมก้าวสู่ยุครุ่งเรืองทางวิทยาการในช่วงระยะเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ (ระหว่าง ค.ศ. ๘๐๐-๑๕๐๐)  กล่าวกันว่าตั้งแต่อิรักไปถึงสเปนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของมุสลิม มีมหาวิทยาลัยตั้งเรียงรายอยู่ตลอดก่อนหน้ามหาวิทยาลัยของชาวคริสต์ และห้องสมุดแห่งหนึ่งในสเปนมีหนังสือถึง ๖ แสนเล่ม

จงอ่านเถิด, ด้วยพระนามของพระผู้อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงสร้าง (สากลจักรวาล) ผู้ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด  จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้าทรงเอื้อเฟื้อยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา (ให้มนุษย์รู้จักการขีดเขียน) ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ (ให้รู้จักค้นคว้า)  

อัลกุรอาน, 96 : 1-5)  

Comments

  1. Pingback: Ready made drapery panels

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.