อนาคตทีวีดิจิทัล

Internet-apps-on-TV

 

นับเป็นเวลาสี่เดือนกว่าแล้วที่ประเทศไทยได้เริ่มมีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล มีผู้ประมูลทีวีได้ 24 ช่อง

สมัยนี้การเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ไม่ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อนที่ออกอากาศในระบบอนาล็อก เพราะหากเป็นแบบเดิม เจ้าของสถานีโทรทัศน์นอกจากผลิตรายการ ทำข่าว มีสตูดิโอเองแล้ว ยังต้องมีสถานี เสาอากาศส่งสัญญาณไปทั่วประเทศ

แต่ปัจจุบันการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ไม่ต้องลงทุนสร้างเสาอากาศ มีแค่สตูดิโอผลิตรายการ ทำข่าว ห้องควบคุมการออกอากาศ และเชื่อมสัญญาณไปยังหน่วยงานที่รับจ้างถ่ายทอดสัญญาณไปทั่วประเทศอย่าง สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ช่อง 5 ช่อง 11 และ ThaiPBS ที่ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิทัลจากกสทช. เป็นผู้รับผิดชอบการออกอากาศไปทั่วประเทศ

สี่เดือนผ่านไป สถานีโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาต สามารถติดตั้งเสาส่งสัญญาณได้ประมาณร้อยละ 50 ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ คาดว่าภายในสิ้นปีหน้า โครงข่ายน่าจะครอบคลุมทั่วประเทศ นั่นหมายความว่าประชาชนไทยมีโอกาสได้ดูทีวีดิจิทัลโดยถ้วนหน้ากัน

ภาคการส่งสัญญาณจะออกอากาศครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่หากภาครับสัญญาณอาจจะมีปัญหาไม่ทั่วถึง กล่าวคือกสทช. ได้ประกาศแจกคูปองซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิทัลอย่าง Set top Box ให้กับ 22.9 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ มูลค่าราคากล่องละ 690 บาท แต่มีการร้องเรียนว่าน่าจะแจกคูปองมูลค่ากล่องละ 1,000 บาท ซึ่งปัญหายังไม่จบสิ้น

คาดว่ากว่าผู้ชมทั่วประเทศสามารถมีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้ อย่างน้อยคงต้องสองสามปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคนดูจะรับชมรายการผ่านโทรทัศน์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ยอดขายโทรทัศน์ทั่วโลกตกมาตลอด ในขณะที่จำนวนของครัวเรือนที่ไม่มีเครื่องรับโทรทัศน์เลย กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจ และคนดูรุ่นใหม่จะดูรายการโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทางคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ฯลฯ

ทุกวันนี้หากไปถามเด็กวัยรุ่นว่า อยากได้อะไรเป็นของขวัญมาประดับห้องนอน แทบไม่มีใครอยากได้ทีวีจอแบนเหมือนในอดีต แต่เด็กอยากได้แท็บเล็ต โน้ตบุ้คหรือสมาร์ทโฟนกันทั้งสิ้น
และเมื่อมีทีวีหลายช่องให้คนได้เลือกชมแล้ว สิ่งที่จะตามมาในอนาคตคือ พฤติกรรมคนดูจะเปลี่ยนไปดังนี้

1. หมายเลขช่องจะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะคนจะไม่ค่อยจำเบอร์ช่อง แต่จะจดจำรายการที่ชอบแทน
2. คนดูที่เคยเปิดทีวีบางช่องแช่ไว้ และดูทั้งวัน จะน้อยลง เพราะจะเลือกดูรายการที่ชอบแทน
3. แต่ก่อนสถานีโทรทัศน์เป็นคนจัดรายการให้เราดู ว่าแต่ละช่วงเวลามีอะไรบ้าง แต่ในอนาคตคนดูจะเป็นคนจัดรายการเอง อาทิ 6 โมงเช้าจะดูรายการไหน ช่องใด 7 โมงจะดูรายการใด 9 โมงจะดูรายการใดช่องใด และจะตั้งโปรแกรมอัตโนมัติ หรือผู้บริโภคสามารถเลือกรับชมเนื้อหาออนดีมานด์ โดยสามารถเลือกดูรายการที่ชอบได้ในเวลาที่ต้องการผ่านยูทูบ
4. การแข่งขันด้านความนิยมและคุณภาพจะมีมากขึ้น เพราะรายการคุณภาพดีหรือยอดนิยมเท่านั้นที่จะตรึงคนดูได้ อาทิหากดูข่าวจะดูช่องนี้ ดูสารคดีดูอีกช่อง ดูละคอนจะดูช่องไหน
5. รายการโทรทัศน์จะมีความเป็นอินเทอร์แอคทีฟมากขึ้น ไม่ใช่เอาไว้ดูอย่างเดียว คนดูสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับรายการผ่านโซเชียลมีเดียได้ในขณะดูรายการ อาทิกำลังดูทีมวอลเล่ย์บอลสาวไทยถ่ายทอดสดอยู่ในแท็บเล็ต ก็สามารถดูคลิปย้อนหลังอิริยาบถของนักกีฬาที่ชื่นชอบได้ทันที หรือสามารถแชทกับเพื่อนได้ตอนแข่งขัน

ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนขอทำนายว่า อีกสองสามปี บรรดาทีวีดิจิทัลที่ประมูลได้ 24 ช่อง น่าจะมีเหลือไม่ถึง 10 ช่อง เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าที่คิด การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่เรตติ้งของช่อง 3 และ 7 ที่เคยครองผู้ชมมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 70 คงจะลดลง โอกาสจะเห็นทั้งสองช่อง โกยรายได้จากโฆษณาเป็นกอบเป็นกำเหมือนสมัยก่อน คงยากมากขึ้น เพราะขนมเค้กหรืองบโฆษณาทีวีปีละแสนล้านบาท ไม่น่าจะชิ้นใหญ่ขึ้น แต่มีทีวีหลายช่องมาขอแบ่งก้อนเค้กเพิ่ม

และอัตราค่าโฆษณาบ้าเลือดนาทีละห้าแสนบาท คงเห็นได้ยากจากคู่แข่งที่มากและตัดราคากัน ปัจจุบันค่าโฆษณาราคานาทีละหลักหมื่นมีให้เห็นแล้ว และเป็นโอกาสให้โฆษณาแบบบ้าน ๆ จะมีให้เห็นมากขึ้นบนหน้าจอทีวีจากราคาที่จ่ายได้

ปีนี้และปีหน้าเรื่องราวของทีวีดิจิทัลยังไม่นิ่งอย่างแน่นอน มีความผันแปรสูง และฝุ่นยังตลบอยู่อีกนาน

กรุงเทพธุรกิจ 21/8/57

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.