2554 ถนนกลายเป็นคลอง 2558 คลองกลายเป็นถนน

 

Korat_News19feb2013_zps53051508

เรายังคงจำได้ดีว่า กลางปี 2554 บริเวณภาคกลางของประเทศ ได้ประสบน้ำท่วมใหญ่มากสุดเป็นประวัติการณ์ ถนนหลายแห่งน้ำท่วมหนักจนกลายเป็นคลอง ห่างกันแค่สี่ปี มาถึงปี 2558 ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำแล้งจัดที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม่น้ำ คลองหลายแห่งแห้งสนิทกลายเป็นถนน น้ำประปาในจังหวัดสระบุรีและปทุมธานีเริ่มขาดแคลน
ไม่น่าเชื่อว่า จากมวลน้ำมหาศาลที่เคยไหลเอ่อนองไปทุกคูคลอง ตอนนี้มีแต่ดินแตกระแหง
บ้านเราย่างเข้าสู่หน้าฝนมาหลายเดือนแล้ว แต่ฝนก็ทิ้งช่วงอย่างผิดปรกติ ไม่ตกตามฤดูกาล คาดว่ามาจากปัญหาโลกร้อน หลายคนเริ่มสังเกตความผิดปรกติของดินฟ้าอากาศ เห็นเมฆดำก้อนใหญ่ ลมกรรโชกแรงบ่อย ๆ แต่สุดท้ายฝนไม่ตก

นักวิทยาศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า อุณหภูมิของพื้นผิวร้อนขึ้น ทำให้เมฆไม่สามารถกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้ เพราะความเย็นไม่เพียงพอหรือไม่

ขณะที่น้ำในเขื่อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนป่าสัก มีการจัดการน้ำผิดพลาดอย่างรุนแรงแต่ละแห่งเหลือน้ำใช้ได้แค่ร้อยละ 3 สาเหตุคือต้นปี 2554 มีการกักเก็บน้ำไว้เยอะ พอฝนตกลงมามหาศาลจึงต้องรีบระบายน้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ หลังจากปีนั้น ทางการจึงลดปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำหากมีพายุฝนเข้ามา จะได้ไม่ต้องรีบระบายน้ำออกเพื่อป้องกันน้ำในพื้นที่ตอนล่าง

แต่ปรากฎว่าเมื่อเกิดภัยแล้งไม่มีฝนมาเติมในอ่างเก็บน้ำ น้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำที่สุด น้ำถูกปล่อยออกจากเขื่อนได้น้อยมาก
ซ้ำร้ายเมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลาย น้ำที่เคยไหลเข้ามาในอ่างเก็บน้ำตลอดปีก็มีปริมาณลดลงอย่างชัดเจน

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำวิจัยพบว่า น้ำในลำธารหรือแม่น้ำที่เรามีอยู่มาจากป่าต้นน้ำถึงร้อยละ 90 มาจากน้ำฝนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เวลาฝนตกบนภูเขา หากมีป่าต้นน้ำสมบูรณ์ น้ำจะถูกเก็บไว้บนภูเขา 90 % ที่เหลือถูกปล่อยลงมา

ในหน้าแล้งที่ไม่มีฝน เราก็จะมีน้ำค่อย ๆไหลรินลงมาสู่แม่น้ำ ลำธารด้านล่าง แต่หากภูเขาเป็นเขาหัวโล้นเวลาฝนตก น้ำ 90 % จะไหลทะลักลงมาด้านล่างทีเดียว

ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 5 ล้านไร่ เกินครึ่งหนึ่งเคยเป็นป่า ถูกบุกรุกจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น เมื่อฝนตกลงมา ก็ไหลลงด้านล่างหมด ไม่มีน้ำค่อย ๆ ไหลออกมาหล่อเลี้ยงสายน้ำด้านล่างตลอดปีทำให้อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวหลายล้านไร่ประสบภัยแล้ง ต้นข้าวกำลังจะยืนต้นตาย และน้ำประปาในเมืองหลวง ที่ใช้ในครัวเรือนและภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมก็อาจจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันในไม่ช้า

จากนี้ไปผู้เขียนเชื่อได้แน่ว่า การขาดแคลนน้ำจะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปทุกปีและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ดูเหมือนรัฐบาลเองไม่มีมาตรการที่ชัดเจนอะไรออกมาเลย นอกจากการเรียกร้องให้ชาวนาลดการปลูกข้าวและเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย

หากไปดูแผนการใช้น้ำของกรมชลประทาน จะพบว่า หากน้ำทั้งหมดมี 100 ส่วน เอาไปใช้ทำน้ำประปาให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และให้คนกรุงและตามหัวเมืองต่าง ๆใช้อุปโภคบริโภค ประมาณครึ่งหนึ่ง และที่เหลือเอาไปใช้ในภาคการเกษตร

แต่ดูเหมือนที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามบอกว่า ให้ผู้ใช้น้ำภาคเกษตรเป็นผู้เสียสละฝ่ายเดียว คือ ให้ลดพื้นที่การทำนา หรือเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็มี

เชื่อไหมคนกรุงเทพ หรือตามหัวเมืองใหญ่ใช้น้ำวันละ 200 ลิตร ชักโครก อาบน้ำแปรงฟัน ซักผ้า ล้างจาน หุงอาหารและดื่ม 2 ลิตร แต่คนต่างจังหวัดใช้น้ำวันละ 50 ลิตร

สถานอาบอบนวด ใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 200,000 ลิตร ทั่วประเทศมีไม่ต่่ำกว่าพันแห่ง วันหนึ่งใช้น้ำ 200 ล้านลิตร เดือนหนึ่ง 6 พันล้านลิตร รถยนต์คันหนึ่งใช้น้ำล้างรถครั้งละ 40 ลิตร กรุงเทพมีรถประมาณ 8 ล้านคัน หากล้างอาทิตย์ละครั้ง ใช้น้ำเดือนละ 1,280 ล้านลิตร ทั่วประเทศมีประมาณ 30 ล้านคัน ใช้น้ำล้างรถเดือนละ 4,800 ล้านลิตร สนามกอล์ฟขนาด 18 หลุมหนึ่งแห่ง ใช้น้ำรดหญ้าเดือนละ 1,000,000 ลิตร

ทั่วประเทศมี 200 แห่ง เดือนละ 200 ล้านลิตร แต่เรายังบอกให้คนต่างจังหวัดเสียสละอยู่ร่ำไป

ในประเทศอังกฤษเมื่อเกิดวิกฤติภัยแล้ง รัฐบาลยอมให้ประชาชนด่า เมื่อประกาศมาตรการเด็ดขาดโดยห้ามไม่ให้ประชาชนล้างรถ ห้ามรดน้ำสนามหญ้า จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราหรือใครแจ้งมาจะโดนลงโทษอย่างจริงจังเพราะถือว่าวิกฤติแล้วทุกคนต้องร่วมมือกันเต็มที่

แต่รัฐบาลบ้านเรายังไม่ทำอะไรสักอย่างเลย แม้กระทั่งการณรรงค์ให้คนประหยัดน้ำ

หากไม่รีบทำอะไร การแย่งชิงน้ำอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามไปด้วยการจลาจลและความวุ่นวายต่าง ๆ

เพราะในอนาคตสงครามในอนาคต อาจจะไม่ใช่เรื่องการเมือง ศาสนา แต่คือสงครามแย่งชิงน้ำ

วันชัย ตัน กรุงเทพธุรกิจ 16 กค. 58

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.