เบื้องหลังเหมืองทองคำ

4444

“ทองคำจะเป็นอะไรอื่นไม่ได้ นอกจากวัตถุป่าเถื่อนที่ตกทอดมาจากอดีต”

จอห์น เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ เคยให้คำจำกัดความทองคำไว้อย่างน่าคิดว่าเหตุใด มนุษย์ถึงหลงใหล ตามล้างตามล่า ปรารถนาจะได้ครอบครองวัตถุป่าเถื่อนชนิดนี้มาเป็นเวลา 6,000 กว่าปี เราทุกคนคงทราบดีว่า ทองคำเป็นสินแร่หายากและมีคุณสมบัติพิสดารกว่าแร่ชนิดอื่น
แม้ทองคำจะอายุกี่พันปี แต่ยังคงความสุกใสเหลืองอร่ามเป็นนิรันดร์

เพราะทองคำไม่ทำปฏิกิริยากับอากาศหรือกรดทุกชนิด (ยกเว้นกรดกัดทอง)มันจึงไม่เป็นสนิมสีเขียวอย่างทองแดง ไม่ดำคล้ำดั่งเงิน ไม่ขึ้นสนิมเหมือนเหล็ก ดังนั้นไม่ว่าจะถูกหมักโคลนจมน้ำนับพันนับหมื่นปี ทองคำไม่รู้จักคำว่าหมอง

ทองคำที่ขุดพบจากสุสานฟาโรห์ตุตาคาเมน ของอียิปต์เมื่อหลายพันปีก่อนจึงยังเหลืองอร่ามมาจนทุกวันนี้ หรือไม่แน่ว่า ทองคำที่เราซื้อขายในตลาดทองเยาวราชอาจจะเคยถูกหลอมเป็นทองแท่งสืบทอดมาจาก ทองคำที่พวกทหารสเปนไปปล้นลอกทองมาจากอาณาจักรอินคาในทวีปอเมริกาใต้เมื่อศตวรรษที่ 16 ก็เป็นได้

เชื่อหรือไม่ว่า หินบนเปลือกโลกในปริมาณน้ำหนัก 1 ล้านกิโลกรัม จะมีแร่ทองคำเจือปนอยู่เพียง 4 กรัมและ ในน้ำทะเลปริมาณหนัก 9 ล้านกิโลกรัม จะมีแร่ทองคำปนอยู่เพียง 1 กรัมเท่านั้น

นับแต่มนุษย์เริ่มขุดทองคำมาใช้เมื่อ 6,000 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ขุดทองขึ้นมาเพียงแสนกว่าตันเท่านั้น และปัจจุบัน แม้จะมีเทคโนโลยี เครื่องทุนแรงอันทันสมัย แต่ทั่วโลกสามารถขุดได้แค่ปีละพันกว่าตัน

บางคนจึงกล่าวไว้ว่า

“พระเจ้าหยิบยื่นทองคำให้มนุษย์เพียงน้อยนิด เพื่อทดสอบความโลภและตราบาปของมนุษย์”

ทองคำเป็นแร่ที่มีอายุเก่าแก่ ส่วนใหญ่พบในหินอายุ 600 ล้านปี อันเป็นหินชั้นที่ถูกแปรสภาพจากความร้อนและกดดันสูง และความร้อนใต้ผิวโลกค่อย ๆ ดันให้แร่ทองคำที่หลอมเหลว ค่อย ๆ แทรกซึมอยู่ในช่องว่างของเม็ดแร่ต่าง ๆ อันประกอบกันเป็นก้อนหิน และเมื่อกาลเวลาผ่านไป หินจะค่อย ๆ ผุพัง บรรดาทองเศษเล็ก ๆ ก็จะปรากฎให้เห็น บ้างก็ถูกฝนชะล้าง ไหลรวมทับถมอยู่ในห้วย ลำธาร จนมีชาวบ้านไปพบ ที่เรียกว่า การร่อนทอง

ส่วนสายแร่ทองคำ ที่ต้องมีการทำเหมืองกันนั้น ส่วนใหญ่ทองจะแทรกอยู่ในหินควอทซ์จนเป็นสายแร่มีขนาดความยาวตั้งแต่สองสามเซ็นติเมตร ไปหลายกิโลเมตร

เมื่อนักสำรวจพบว่า มีสายแร่พอจะคุ้มค่าการขุดขึ้นมาได้ ก็จะขออนุญาตจากรัฐบาล เพื่อเปิดการทำเหมืองแร่ทองคำ

การทำเหมืองแร่ทองคำมีการเปิดพื้นที่หลายพันไร่ ต้องระเบิดหิน บริเวณที่มีสายแร่ออกมาเป็นก้อนเล็กและส่งไปโรงแต่งแร่ เพื่อบดและโม่ด้วยเครื่องจักรกลชนิดต่าง ๆ จนก้อนแร่ป่นเป็นแป้ง

จากนั้นแร่จะถูกส่งไปกวนกับสารละลายไซยาไนต์ เพื่อละลายทองคำ หลังจากนั้นจะมีกระบวนการแยกแร่อื่น ๆ ออกจากแร่ทองคำ คือแร่เงิน ทองแดง เหล็ก เป็นขั้นตอนสุดท้าย

เชื่อหรือไม่ว่า การทำเหมืองแร่ทอง ต้องระเบิดหิน 1,000 กิโลกรัม ถึงได้ทองหนัก 1 สลึง หรือ3.8 กรัม ไม่รวมการใช้สารไซยาไนต์ ซึ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล

หลายปีที่ผ่านมา บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ผู้ทำการขุดเหมืองทองคำในอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตรสามารถขุดทองคำขึ้นมาได้ประมาณ 4 ตัน นั่นหมายความว่า ต้องมีการระเบิดหินออกมาไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านกิโลกรัม หรือล้านตัน ส่วนปริมาณไซยาไนต์เท่าไร มิอาจคำนวณได้

แม้ว่าทางเหมืองแร่จะมีบ่อกักน้ำที่ปนเปื้อนไซยาไนต์ แต่ปี 2553 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดออกประกาศเตือนประชาชนไม่ให้ดื่มน้ำจากห้วย และน้ำประปาบาดาล

จากการเก็บตัวอย่างเลือดของประชาชน พบว่า ประชาชนหลายคน มีปริมาณสารไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐาน

ต้นทุนการลงทุนทำเหมืองทองคำอาจจะสูง แต่ปัจจุบันต้นทุนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจะมีมูลค่าสูงกว่ามาก ดังนั้น ประเทศที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั่วโลก จึงไม่ค่อยนิยมทำเหมืองทองคำ เพราะไม่คุ้ม

เหลือแต่บรรดารัฐบาลบางประเทศที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของผู้คน ที่อนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ทองคำโดยไม่สนใจติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านอย่างจริงจัง

กรุงเทพธุรกิจ 22 ตค.58

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.